Skip to main content
sharethis
 
สั่งปิด โรงงานจิวเวลรี่อยุธยา ทำสารเคมีรั่วสังเวยแรงงาน 1 ชีวิต
 
จากกรณีโรงงานผลิตเครื่องประดับเพชรพลอย ของบริษัท แมริกอท จิวเวลรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ถนนสายเอเชีย เลขที่ 200 หมู่ 1 ต.บ้านเลน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดการรั่วไหวของสารเคมีจากท่อระบบบำบัดมลพิษ 2 ครั้งซ้อน ในวันที่ 15 และ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้พนักงานร่วม 4,000 คน ต้องหนีตายอลหม่าน และมีพนักงานที่สูดดมสารเคมีเข้าไปถูกนำส่งโรงพยาบาลหลายคน และมีผู้เสียชีวิต 1 คนนั้น
 
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม นางวิมล ไชยวัฒน์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ต้องปิดโรงงานทุกสายการผลิต เพื่อให้วิศวกรของโรงงานดำเนินการแก้ไข โดยเฉพาะในห้องบำบัดสารเคมีที่เกิดเพลิงไหม้ นอกจากนี้ยังให้ตรวจสอบแก้ไขระบบท่อระบายอากาศและระบบท่อทั้งหมดของโรงงาน ให้ปลอดภัยตามมาตรฐาน และจะต้องไม่มีกลิ่นสารเคมีที่เกิดจากการเผาไหม้ท่อพีพีตกค้าง โดยคณะกรรมการทุกฝ่ายจะเข้าตรวจสอบว่าแก้ไขถูกต้องและปลอดภัยหรือไม่ ในวันที่ 19 กรกฎาคม หากเห็นว่าผ่าน ก็สามารถเปิดโรงงานได้ แต่หากไม่ผ่านก็ต้องแก้ไขให้ได้มาตรฐานในทุกๆ ด้าน
 
ด้าน พ.ต.อ.ธนภณ โพธิสุข ผกก.สภ.บางปะอิน กล่าวว่า กรณีนายมาโนช หอมบางจาก อายุ 28 ปี คนงานของบริษัท เกิดแน่นหน้าอกและเสียชีวิตนั้น ได้ส่งศพไปชันสูตรที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ รังสิตแล้ว ขณะนี้กำลังรอผลการตรวจสอบอยู่ เพราะทางโรงงานให้ข้อมูลว่า นายมาโนช ไม่ได้เป็นทำงานในจุดเกิดเหตุ ขณะที่คนงานคนอื่นที่ทำงานใกล้ที่เกิดเหตุมากกว่า ถึงแม้ต้องหามส่งโรงพยาบาลก็ไม่มีใครเสียชีวิต ดังนั้นจึงต้องรอผลตรวจสอบก่อน
 
(แนวหน้า, 18-7-2553)
 
สสส.จัด กิจกรรม ลด ละ เลิก แอลกอฮอล์ในกลุ่มแรงงาน
 
กระทรวงแรงงาน มูลนิธิเพื่อนหญิง เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดงานรณรงค์ "แรงงานไทยร่วมใจ งดเหล้าเข้าพรรษา" เพื่อรณรงค์ให้แรงงานรุ่นใหม่เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งทำให้เกิด ปัญหาสุขภาพส่งผลกระทบต่อการทำงาน และปัญหาความรุนแรงตามมา โดยมีนางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ซึ่งภายในงานมีการจัดกิจกรรมรณรงค์มากมาย อาทิ การปฏิญาณตนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวน 200 ราย เพื่องดเหล้าเข้าพรรษา การเปิดตัวครอบครัวคนงานต้านน้ำเมา การแสดงละครชุด "ปีศาจน้ำเมา ทำร้ายแรงงานไทย" พร้อมทั้งแจกสื่อรณรงค์เชิญชวนให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปงดเหล้าเข้า พรรษา
 
นายจะเด็จ เชาว์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิงกล่าวว่า ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการสูญเสียในหลายด้าน จากข้อมูลการศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ ของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ในส่วนที่เกี่ยวกับแรงงาน ปี 2549 พบว่า แอลกอฮอล์ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 156,105 ล้านบาท หรือประมาณ 2,391 บาทต่อราย และยังก่อให้เกิดการขาดประสิทธิภาพในการทำงาน มีมูลค่าถึง 45,500 ล้านบาท นอกจากนี้ สถิติกลุ่มแรงงานที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มี มากถึง 40,000 ราย ซึ่งผู้ที่ดื่มหรือเคยดื่มจะขาดงานเพราะปัญหาสุขภาพ ทำให้ประสิทธิภาพขณะทำงานลดลงกว่าผู้ไม่ดื่มถึง 1.7-5.7 %
 
"ปัญหาดังกล่าว ทางมูลนิธิเพื่อนหญิงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงถือโอกาสใช้เทศกาลเข้าพรรษาในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันงดดื่มสุราแห่งชาติ เป็นจุดเริ่มต้น นำไปสู่จุดเปลี่ยนของการลด ละ เลิกเหล้า และอบายมุข ของผู้ใช้แรงงาน โดยจะเน้นรณรงค์ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เน้นให้กลุ่มเพื่อนในโรงงานมีบทบาทสำคัญชวนเพื่อนเลิกเหล้า พร้อมทั้งการปฏิญาณตนว่าจะเป็นคนงานรุ่นใหม่ไร้แอลกอฮอล์ ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานร่วมปฏิญาณตนแล้วจำนวน 200 ราย จากโรงงาน 80 แห่งทั่วประเทศ" นายจะเด็จ กล่าว
 
นายพิทักษ์ เสียงหอม นายจ้าง บริษัท บางกอกรับเบอร์ สหรัตน จำกัดกล่าวว่า พนักงานที่บริษัทส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากถึง 80% จึงไม่ค่อยมีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเพียงผู้ชายบางส่วนเท่านั้นที่ยังมีพฤติกรรมการดื่มจนไม่สามารถมาทำงานได้ พนักงานบางคนถึงขั้นขาดงาน เข้างานสาย และแอบหลับในเวลาทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เพราะมีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้มีการว่ากล่าวตักเตือนและส่งเสริมให้เกิดค่านิยมที่ช่วยให้ลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าการลงโทษให้พนักงานพักงาน หรือออกจากงาน ทั้งนี้ ในช่วงงานบุญเข้าพรรษาตลอด 3 เดือนนี้ บริษัทได้เชิญชวนให้พนักงานทุกคนปฏิญาณตนเพื่องดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่จะไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยง เทศกาลประจำปี
 
ด้าน นายราคิต สร้อยสูงเนิน ประธานสหภาพแรงงานน้ำใจไทยสัมพันธ์ และพนักงานบริษัท ยางโอตานิ จำกัด กล่าวว่า พนักงานในบริษัทส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ซึ่งมีมากกว่า 70% ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และดื่มเหล้าขาวมากที่สุด ทั้งนี้ จากการสอบถามคนงานที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ยอมรับว่า เขาต้องสูญเสียรายได้ไปกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกือบ 500 บาทต่อสัปดาห์ บางครั้งเงินเดือนที่ได้รับไม่เพียงพอกับรายจ่ายในครอบครัว และยังพบปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหาหย่าร้าง ครอบครัวแตกแยก ดังนั้น การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาจึงเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตนเชื่อว่ามีผู้ใช้แรงงานหลายคนที่ต้องการเลิกดื่มแอลกอฮอล์ และคงไม่มีบริษัทนายจ้างที่ไหนต้องการแรงงานดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานควรมีมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานประกอบการด้วย
 
(บ้านเมือง, 18-7-2010)
 
ร้องช่วย 84 คนงานไทยคูนเลิกจ้าง
 
 
นายชัชวาล สมเพชร ประธานสหภาพแรงงานบริษัท ไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตลวดเหล็กสัญชาติไต้หวัน ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงานกรณีพนักงานจำนวน 84 คน ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา
 
ทั้งนี้ นายธานินทร์ ใจสมุทร ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน เป็นผู้รับหนังสือแทน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากคำร้องของพนักงานทั้งหมดต้องการให้ รมว.แรงงาน ตรวจสอบกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน และเรียกร้องให้บริษัทรับพนักงานกลับเข้าทำงานด้วย ซึ่งทางกระทรวงแรงงานเตรียมส่งเจ้าหน้าที่แรงงานเข้าเจรจากับบริษัทในวันที่ 20 ก.ค.นี้
 
ปัจจุบันบริษัท ไทยคูน เวิลด์ไวด์กรุ๊ป (ประเทศไทย) เลขที่ 99 หมู่ 1 ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ระยองเจ้าของเป็นชาวไต้หวัน มีพนักงานทั้งหมดประมาณ 1,000 คน แยกเป็นคนงานไทยราว 600 คน ส่วนที่เหลือเป็นแรงงานต่างด้าว
 
ก่อนหน้านี้ ได้เกิดข้อพิพาทแรงงานขึ้นภายในโรงงาน และพนักงานเพิ่งกลับเข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 ก.ค. แต่ปรากฏว่าแค่วันแรกที่เริ่มงาน บริษัทก็มีคำสั่งเลิกจ้างพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพ 13 คน โดยอ้างเหตุผลว่าพนักงานกลุ่มนี้แสดงความก้าวร้าวต่อผู้บังคับบัญชา แต่ยอมจ่ายเงินชดเชยให้ และในช่วงที่ผ่านมายังโยกย้ายพนักงานไปในแผนกต่างๆ ที่ไม่ใช่ตำแหน่งเดิมด้วย
 
ต่อมาวันที่ 6 ก.ค. ทางสหภาพได้จัดประชุมเพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ สมาชิกสหภาพ พร้อมร่วมให้กำลังใจเพื่อนร่วมงานที่ถูกเลิกจ้าง จนสร้างแรงกดดันต่อพนักงานที่เป็นสมาชิกของสหภาพ
 
กระทั่งบริษัทได้มีหนังสือเลิกจ้าง พนักงานชุดล่าสุดอีก 84 คน โดยยกเหตุผลว่าได้รวมกลุ่มกันก่อความไม่สงบ ติดตั้งเครื่องเสียง โดยกล่าวหาว่านายชัชวาลเป็นผู้กล่าวให้ร้ายบริษัท ซึ่งการกระทำดังกล่าวผิดกฎระเบียบบริษัท โดยการเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทไม่จ่ายค่าชดเชยแก่สมาชิกของสหภาพ ทำให้พนักงานเดือดร้อนหนัก แม้ว่าได้เข้าร้องเรียนสำนักงานสวัสดิการแรงงานจังหวัดระยองแต่ก็ไม่คืบหน้า
 
 โพสต์ ทูเดย์ (17-7-2553)
 
สมานฉันท์แรงงานไทยเร่งหารือปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 10บ./วัน
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เตรียมเรียกสมาชิกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 10 บาทต่อวันให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ หลัง ครม.ไฟเขียวขึ้นเงินเดือนข้าราชการ
 
(เนชั่นแช นแล, 17-7-2553)
 
โรงงานอัญมณีอยุทธยาสารเคมีรั่วรอบ 2 คนงานเสียชีวิตแล้ว 1 ราย
 
เกิดการรั่วของสารเคมีรอบ 2 ในโรงงานของบริษัท บริษัท แมริกอท จิวเวลลี่ (ประเทศไทย)   จำกัด   ภายในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคจ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากที่เมื่อวานรั่วครั้งแรกมีคนงานถูกนำส่งโรงพยาบาลจำนวน 300 คน   แต่ในวันนี้โรงงานกลับเปิดสายพายการผลิตอีกครั้ง โดยทำงานได้ไม่นานเกิดเคมีรั่วไหลอีก จนต้องนำคนงานกว่า 50 คนส่งโรงพยาบาลโรงพยาบาลนวนคร 2    โรงพยาบาลบางปะอิน   โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และโรงพยาบาลราชธานีเพื่อช่วยเหลือชีวิตอย่างเร่งด่วน
 
อย่างไรก็ตามการนำส่งเป็นไปด้วยความ ยากลำบากเพราะเจ้าของโรงงานและรปภ.ไม่อนุญาตให้คนภายนอกและมูลนิธิเข้าไปนำ คนเจ็บออกจากโรงงาน ขณะที่ทางจังหวัดใบ้กิน ไม่สามารถบอกได้ว่าสารที่รั่วไหลออกมาคือสารอะไรแต่ที่แน่ชัดคนงานทุกคนมี อาการเกร็ง ชักกระตุก หายใจไม่ออก
 
พนักงานรายหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อวานเกิดสารเคมีรั่วไหลออกมาแต่ทางโรงงานอ้างว่าเป็นท่อบำบัดมลพิษของ โรงงานแตกเพราะผลกระทบจากการก่อสร้างขยายโรงงานเท่านั้นโดยเมื่อวานช่วงบ่าย ( 15 ก.ค. ) พนักงาน 4,000 กว่าคนต้องวิ่งหนี้ตายมีคนเจ็บกว่า 300 คนถูกนำส่ง รพ.เจ้าของโรงงานกลับไม่ยอมหยุดงานในวันนี้ ให้พนักงานมาทำงานตามปกติโดยวันนี้มีพนักงานกว่า 3,000 คน มาทำงาน
 
โดยโรงงานดังกล่าวได้เปิดโรงงานในช่วง 08.00 น. และในเวลา 10.00 น.ก็เกิดเหตุแบบเมื่อวานทุกประการ โดยมีกลิ่นเหม็นของสารเคมีและพนักงานเป็นลมและมีอาการเมื่อวานเมื่อทุกอย่าง ซึ่งพนักงานมีการแจ้งให้มูลนิธิช่วยนำส่ง รพ. แต่ รปภ.และผู้บริหารโรงงานไม่ยอมให้คนภายนอกเข้าโรงงานเพื่อช่วยเหลือคนงานที่ รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทำให้เกิดความลำบากในการนำส่ง โรงพยาบาล เพื่อนคนงานต้องช่วยกันนำคนเจ็บออกจากโรงงานและนำมาขึ้นรถมูลนิธิที่จอดหน้า โรงงาน เพื่อนนำส่ง รพ.และในจำนวนคนที่เจ็บครั้งนี้มีคนงานที่ตั้งครรภ์อยู่ด้วย
 
ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัย ระบุว่า ในวันนี้ผู้บริหารบริษัท ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าไปภายในเพื่อนำพนักงานที่บาดเจ็บส่งรักษา ตัวยังโรงพยาบาลโดยไม่ทราบเหตุผล
 
ส่วนภายในบริษัทฯ ขณะนี้เจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมจังหวัดตัวแทนจากสำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดฯตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเข้าไปตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นในครั้ง นี้เกิดจากสาเหตุใด
 
อย่างไรก็ตามในวันนี้เวลาประมาณ 13.00 น. นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรมจะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น   นอกจากนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีพนักงานของบริษัทดังกล่าวเสียชีวิต แล้ว 1 ราย คือ นายมาโนช   หอมบางจาก หลังจากสูดดมเคมีและถูกนำส่งเข้ารับการรักษาที่ รพ.ช่วงเย็นวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมาที่โรงพยาบาลบางปะอินและเสียชีวิต
 
ขณะนี้ศพถูกส่งไปที่โรงพยาบาลธรรม ศาสตร์ รังสิต เพื่อรอญาติมารับในเวลา 13.00 น. วันนี้ อย่างไรก็ตามทางภาครัฐยังไม่ออกมายืนยันว่านายมาโนชหอมบางจาก พนักงานของบริษัทเสียชีวิตเพราะสารเคมี
 
(โพสต์ทู เดย์, 16-7-2553)
 
ตัวเลขว่างงาน พ.ค.53 สูงกว่า เม.ย.ถึง 1.35 แสนคน
 
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ถึงผลการสำรวจการทำงานของประชากร ประจำเดือน พ.ค.2553 พบว่า มีจำนวนผู้ว่างงาน 586,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.5% และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปี 2552 มีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 70,000 คน หรืออัตราการว่างงานลดลง 0.2% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 135,000 คน หรือจาก 451,000 คน เป็น 586,000 คน โดยเมื่อพิจารณาผู้ว่างงานจากประสบการณ์การทำงาน พบว่าผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 201,000 คน ลดลง 36,000 คน ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน มีจำนวน 385,000 คน ลดลง 34,000 คน จากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการผลิต 185,000 คน ภาคการบริการและการค้า 114,000 คน และภาคเกษตรกรรม 59,000 คน
 
(ไทยรัฐ, 16-7-2553)
 
ไทย-พม่า ร่วมหารือนำเข้าแรงงานเพิ่มแก้ปัญหาขาดแคลน-หลบหนีเข้าเมือง
 
เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยก่อนหารือกับนายหม่อง มิ้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศพม่า ว่า ไทยและพม่าจะพิจารณาข้อตกลงร่วมกันเพื่ออนุญาตให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ แรงงานพม่าในไทยต่อไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกฝ่าย ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง อาจพิจารณาเพิ่มจุดพิสูจน์สัญชาติให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าพิสูจน์สัญชาติให้ได้ 600,000-700,000 คนในปี 2555 และยังจะหารือถึงการนำแรงงานพม่ารายใหม่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานพม่าและยังทำให้แรงงานพม่าได้รับการคุ้ม ครองตามกฎหมายด้วย โดยการนำเข้าแรงงานพม่าอย่างถูกต้องอาจเป็นระบบ G to G รัฐบาล 2 ฝ่ายตกลงกันเรื่องระยะเวลาจ้างงาน การรับประกันที่อยู่ให้แรงงานอยู่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีแรงงานพม่านำเข้าเป็นระบบแล้ว 534 คน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ทอดทิ้งแรงงานไทยเพื่อรองรับแรงงานที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต กระทรวงฯ ได้เร่งจัดอบรมเพิ่มทักษะให้แรงงานไทยโดยเฉพาะสาขาช่าง รองรับภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้น.
 
 
(สำนัก ข่าวไทย, 15-7-2553)
 
รง.ทั่ว โลกจ่อทะลักคาด 5 ปีขาดกว่า 3 แสนคนปั๊มแรงงานฝีมือป้อนค่ายรถ
 
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสถาบันยานยนต์ว่า สถาบันอยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศญี่ปุ่นในการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรด้าน ยานยนต์ร่วมกันตามข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับ ญี่ปุ่น (เจเทป้า) โดยมีเป้าหมายพัฒนาบุคลากร 3 แสนคนภายใน 10 ปี (53-62) เพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และการเข้ามาลงทุนเพิ่มของ ค่ายรถยนต์ทั่วโลกในไทย โดยเบื้องต้น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ ได้เตรียมงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ในการพัฒนาบุคลากร ส่วนญี่ปุ่นให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและการฝึกอบรมเพราะหากไม่เร่งดำเนินการ เชื่อว่า 3-5 ปี กลุ่มยานยนต์จะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมืออย่างหนัก
 
นายวิฑูรย์กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์จะทำให้สองประเทศได้รับประโยชน์ ร่วมกันอย่างมาก เพราะผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน ในไทย 80% ต้องผลิตให้ค่ายรถยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่ง ช่วงที่ผ่านมาทั้งสองประเทศมีการเจรจาจัดทำแผนร่วมกันแล้ว แต่ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ ของญี่ปุ่น (ไจก้า) และเจโทร ยังไม่สามารถหาข้อสรุปถึงแนวทางที่จะช่วยเหลือไทย
 
"แผนงานดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการ 1 ต.ค.53 ดังนั้น จึงอยากให้ฝ่ายญี่ปุ่นเร่งจัดทำแผนงานในการช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นแม้ว่าฝ่ายไทยจะสามารถดำเนินการ เช่น การพัฒนาช่างยนต์ ช่วงการผลิต การทดสอบ การบริหาร และการวิจัยพัฒนา แต่สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นให้กับ แรงงานยานยนต์ และมั่นใจว่าแผนการพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่นจะทำให้แรง งานยานยนต์เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงกว่าแรงงานภาคอุตสาหกรรมกลุ่มอื่นแน่นอน และในอนาคตก็จะทยอยเลื่อนขั้นตำแหน่งแก่ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรม 300,000 คน ในการคุมงานต่อไป"
 
นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ด้านการพัฒนาบุคลากรนั้นทางฝ่ายญี่ปุ่นต้องการที่จะช่วยพัฒนาบุคลากรใน 2 อุตสาหกรรม ประกอบด้วยยานยนต์และเหล็ก ซึ่งการพัฒนาคุณภาพแรงงานจะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นในไทยได้รับประโยชน์อย่าง มาก เพราะ ผู้ผลิตรถยนต์ 80% เป็นของญี่ปุ่น
 
ทั้งนี้ การเพิ่มศักยภาพแรงงาน สถาบันยานยนต์ได้ตั้งเป้าให้แรงงาน 1 คน สามารถผลิตรถยนต์จาก 3 คัน เป็น 6 คันต่อปี ภายในปี 2559 เพราะปัจจุบันศักยภาพการผลิตรถของไทยยังต่ำเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตรถ ยนต์รายใหญ่ของโลก เช่นญี่ปุ่น ที่มีแรงงานด้านนี้ 700,000 คน แต่ผลิตรถยนต์ปีละ 10 ล้านคัน หรือเฉลี่ย 1 คน ผลิตรถได้ 11-12 คันต่อปี "ปัจจุบันแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอยู่ที่ 450,000 คน ส่วนใหญ่ เป็นแรงงานระดับล่าง 70% และที่เหลืออีก 30% เป็นระดับช่างและผู้บริหาร ดังนั้น จำเป็นต้องฝึกอบรมเพื่อเพิ่มช่างเทคนิคให้มากขึ้น เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่".
 
(ไทยรัฐ, 14-7-2553)
 
รม ต.ไทย-พม่าเยี่ยมศูนย์พิสูจน์สัญชาติ ระนอง
 
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทย พร้อมนายหม่องมิ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศพม่า พร้อมนายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เดินทางตรวตเยี่ยมศูนย์พิสูจน์สัญชาติและออกหนังสือเดินทางชั่วคราวที่ทาง การพม่าได้ย้ายสำนักงานจาก จ.เกาะสองมายังบริเวณแพปลาโกฟุก ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงานพม่าที่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ พร้อมทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ หลังจากที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้กับแรงงานพม่าได้วันละ 800 คน
 
นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ทางการพม่าเปิดให้บริการศูนย์พิสูจน์สัญชาติและออกหนังสือเดินทางชั่วคราว ที่จังหวัดระนอง ซึ่งถือเป็นการบริการโดยเฉพาะการออกหนังสือเดินทางชั่วคราวบนฝั่งไทยเป็น ครั้งแรก และพื้นที่แรกที่มีการดำเนินการในลักษณะนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้งสองฝ่ายได้พยายามหารือร่วมกันเพื่อหาทางในการร่วม มือในเรื่องดังกล่าว เพื่อลดขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ
 
"การจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรง งานพม่า ที่จังหวัดระนอง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมที่เมืองพุกามประเทศพม่า ซึ่งทางฝ่ายไทยมีความเป็นห่วงในเรื่องของความปลอดภัยของแรงงานที่ต้องเดิน ทางไปพิสูจน์สัญชาติฝั่งพม่า ในช่วงฤดูมรสุม จึงได้เสนอให้ทางการพม่าส่งเจ้าหน้าที่มายังฝั่งไทย ซึ่งทางการพม่าได้รับข้อเสนอ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่มาดูสถานที่และประชุมร่วมกัน คาดว่าศูนย์ดังกล่าวสามารถเริ่มเปิดให้บริการได้ภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ไปสิ้นสุดประมาณเดือนตุลาคม 2553 โดยจะส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่จังหวัดระนองประมาณ 20 คน สามารถพิสูจน์สัญชาติได้วันละ 800 คน ส่วนในอนาคตจะมีการขยายเวลาหรือไม่ต้องมีการหารือกันต่อไป และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.แม่สาย จ.เชียงรายในอนาคตด้วยก็เป็นได้"
 
 (เนชั่นแชนแล, 14-7-2553)
 
เครือ ข่าย ปชช.ตะวันออก นำชาวบ้านยื่นเรียกร้องหน้า รง.อูเบะ รับผิดชอบกรณีปล่อยสารเคมี
 
นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นำชาวบ้านกว่า 50 คน เดินทางไปรวมตัวกันที่บริเวณหน้าบริษัท อูเบะ เคมิคอลส์(เอเชีย) จำกัด(มหาชน) กลุ่ม อูเบะ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด หมู่ 4 ต.ตะพง อ.เมืองระยอง ชูป้าย” อูเบะ รั่วตลอด ปอดใคร ชิบหาย” “หยุดของเก่ายังไม่ดี มีแต่เพิ่ม” “อูเบะ ก๊าซรั่วซ้ำซาก เลิกพัฒนาบนน้ำตาประชาชน”
 
นายสุทธิ กล่าวว่า วันนี้ชาวบ้านเดินทางมายื่นหนังสือผู้บริหาร บริษัท อูเบะ เคมิคอลส์ เอเชีย จำกัด(มหาชน) ให้แสดงความรับผิดชอบกรณีเกิดเหตุคนงานบริษัทรับเหมาก่อสร้าง สูดดมควันพิษจากการเปิดฝาหัวฉีดเตาเผากำมะถันเหลวต้องหามส่งรพ.กรุงเทพระยอง รวม 9 คนเหตุเกิดเมื่อเช้าวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมารวม 6 ข้อ มีนายสุริยน วันเพ็ญ กรรมการรองผู้อำนวยการ บมจ. อูเบะ เคมิคอลส์(เอเชีย) จำกัด เป็นผู้รับหนังสือ
 
1.ให้บริษัท อูเบะ เคมิคอลส์ (เอเชีย ) จำกัด(มหาชน) ปรับปรุงแก้ไขระบบอุ่นเตาเผากำมะถันเหลวจากระบบเปิดเป็นระบบปิด ควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ , 2.ส่งผลรายงานการตรวจสอบประสิทธิภาพและการแก้ไขข้อบกพร่องระบบมลพิษทางอากาศ ของเตาเผากำมะถันเหลว(ในรอบ 6 เดือน) ให้เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและประชาชนโดยเร็ว 3. ชี้แจงเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียดถูกต้องกับความเป็นจริง , 4. แสดงความรับผิดชอบ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ , 5.กำหนดมาตรการแผนฟื้นฟู และมาตรการป้องกันมิให้เกิดซ้ำอีก , 6. เข้าสู่ความรับผิดชอบทั้งอาญาและทางแพ่ง
 
เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า โรงงานในฐานะผู้รับผิดชอบ ขาดประสิทธิภาพในการบริหารงาน จึงขอให้หยุดการขยายโรงงานไว้ก่อนและให้ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 57,66,และ67 เพื่อไม่เป็นการละเมิดกฎหมายสูงสุดและเป็นการสร้างมาตรฐานน่าเชื่อถือในการ พัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต
 
(เนชั่นแชนแล, 14-7-2553)
 
มาเลย์หวังดึงแม่บ้านไทย เสียบแทนแรงงานอินโด
 
ปัญหามึนตึงระหว่างประเทศ รวมถึงการเจรากับอินโดนีเซียยังไม่ได้ข้อยุติ รัฐบาลมาเลเซียเตรียมหาทางออก แสวงหาแรงงานจากภาคใต้ของไทยและฟิลิปปินส์แทน...
 
ความพยายามเจรจาตกลงกันต่อปัญหาแรง งานแม่บ้าน ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับมาเลเซียยังไม่ได้ข้อยุติ หลังเกิดเรื่องร้องเรียนบ่อยครั้ง กรณีแม่บ้านอินโดนีเซียถูกนายจ้างใน มาเลเซียปฏิบัติด้วยอย่างไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหามึนตึงระหว่างประเทศ ทำให้อินโดนีเซียหยุดการส่งแรงงานแม่บ้านเข้ามาเลเซียมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีท่ีแล้ว
 
ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียเตรียมหาทางออก ด้วยการแสวงหาแรงงานใหม่จากพื้นที่ภาคใต้ของไทยและฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ มาเลเซียระบุแต่ละปีมีเรื่องร้องเรียนกรณีแม่บ้านราว 50 ราย แต่อินโดนีเซียระบุมีเรื่องมากราว 1,000 กรณี.
 
(ไทยรัฐ, 13-7-2553)
 
แห่ พิสูจน์สัญชาติหลังทางการพม่าเปิดด่านเมียวดี-แม่สอด
 
ชาวพม่าที่เข้ามาค้าแรงงานในไทยกว่า 1,200-1,500 คน ได้เดินทางข้ามจากฝั่งไทยไปพิสูจน์สัญชาติที่จังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า ที่บริเวณด่านพรมแดนไทย – พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก หลังจากที่ทางการพม่า ได้เปิดด่านพรมแดนให้ชาวไทย และชาวพม่าสามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ ขณะที่ชาวพม่าบางส่วนต้องรีบเข้ามาซื้อสินค้าเพื่ออุปโภค – บริโภค แบบรายย่อย ในเมืองแม่สอด แต่ยังห้ามรถยนต์จากฝั่งไทยเข้าไป
 
ขณะที่นักธุรกิจทั้งชาวไทยและพม่ายังไม่มั่นใจที่จะนำสินค้ามาส่ง เพราะยังหวั่นว่าพม่าอาจจะปิดพรมแดนซ้ำอีก จะมีเพียงการนำลังหรือถังใส่อาหารทะเล เพื่อนำข้ามไปรับอาหารจากทะเลอันดามัน มาจำหน่ายที่ อ.แม่สอด เท่านั้น ส่วนสินค้าที่จะส่งออก-นำเข้า ซึ่งเป็นสินค้าเครื่องอุปโภค-บริโภค คาดว่าจะเริ่มมีการส่งออกในวันพรุ่งนี้เมื่อนักธุรกิจมีความมั่นใจมากขึ้น ที่จะนำสินค้ามาส่งออก
 
(โพสต์ทูเดย์, 13-7-2553)
 
รมว.แรงงาน เตรียมร่วมสังเกตการณ์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าในไทย
 
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ว่า ที่ประชุมอยู่ระหว่างการหารือถึงการเบิกจ่ายสวัสดิการของพนักงานสำนักงานธนา นุเคราะห์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยพิจารณากรณีเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของตนและครอบครัว ซึ่งจะต้องตีความความหมายของคำว่า “ครอบครัว” ว่าครอบคลุมถึงบุคคลใดบ้าง โดยยังไม่มีข้อสรุปในการประชุมครั้งนี้ พร้อมกันนี้ นายเฉลิมชัย ยังกล่าวถึงกำหนดการในการพิสูจน์สัญชาติแรงงานชาวพม่าในประเทศไทย ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้ ที่จังหวัดระนอง ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงาน จากเดิมที่แรงงานจะต้องเดินทางด้วยเรือไปพิสูจน์สัญชาติที่เกาะสองของประเทศ พม่า ซึ่งในขณะนี้เป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากเป็นฤดูมรสุม แต่ในปีนี้เจ้าหน้าที่พม่าจะเดินทางมาให้บริการที่ประเทศไทย ทำให้เชื่อว่าจะได้จำนวนแรงงานมาพิสูจน์สัญชาติมากขึ้น ซึ่งตนจะร่วมเดินทางไปสังเกตการณ์พิสูจน์สัญชาติดังกล่าวด้วยตนเอง ร่วมกับรัฐมนตรีแรงงานของพม่า
 
(สำนักข่าวไทย, 12-7-2553)
 
เตรียมตั้งสหภาพข้าราชการออกเป็น พ.ร.ฎ.
 
นายนนทิกร กาญจนะจิตรา รองเลขาธิการ ก.พ. เปิดเผยว่าในวันที่ 12 ก.ค. เวลา 14.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน โดยจะการเสนอร่างพ.ร.ฏ.การจัดตั้งสหภาพข้าราชการ พ.ศ....ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ก่อนนำร่างกฎหมายเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป
 
ร่างพ.ร.ฎฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มข้าราชการที่ผ่านการศึกษาวิจัยและความ เห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการรวมกลุ่มปกป้องสิทธิและสวัสดิการตามกรอบกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนกำหนด
 
หากกระทรวง ทบวง กรมใดต้องการจดทะเบียนสหภาพข้าราชการสามารถดำเนินการได้โดยทางเลขาธิการ ก.พ.จะเป็นนายทะเบียนให้
 
ขณะเดียวกันการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 ก.ค.นี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ 2552 ให้แก่ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่มีเงินเหลือจ่ายประจำปี 2552
 
ทั้งนี้เป็นไปตามตามมติของก.พ.ร.ที่ เสนอให้ครม.ใช้เงินงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐที่คงเหลือจากการจัดสรร เงินรางวัลและเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหารก่อนปีงบประมาณ 2552 ซึ่งมีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีและขยายเวลาการเบิกจ่ายเงินไว้แล้ว วงเงิน 1,073 ล้านบาท เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการพัฒนาองค์กรและการพัฒนาบุคลากร
 
อย่างไรก็ดี ก.พ.ร. เสนอให้จัดสรรเงินรางวัลให้แต่ละหน่วยงานตามความเหมาะสม โดยยึดตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลงานตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้า ราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนด โดยให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติและไม่ควรนำเงินรางวัลที่ได้รับ จัดสรรไปหารเฉลี่ยให้เท่ากันทุกคน
 
ทั้งนี้ต้องมีการประเมินผลการ ปฏิบัติราชการและควรให้กับผู้ที่มีความร่วมมือในการสร้างผลงานให้ส่วนราชการ รวมทั้งผู้ที่มีความทุ่มเทและมีผลงานบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติราชการและ ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปี
 
(โพสต์ทู เดย์, 12-7-2553)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net