Skip to main content
sharethis

มูลนิธิศักยภาพชุมชน และเครือข่ายไทย–พม่ารากหญ้า จัดงานรำลึกครบรอบ 63 ปี นายพลออง ซาน ผู้นำการประกาศเอกราชของพม่าซึ่งถูกลอบสังหาร พร้อมส่งกำลังใจถึงประชาชน-ชนกลุ่มน้อยในพม่าให้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อเจตจำนงของประชาธิปไตยสมบูรณ์

วานนี้ (19 ก.ค.53) มูลนิธิศักยภาพชุมชน และเครือข่ายไทย–พม่ารากหญ้า จัดงานรำลึกครบรอบ 63 ปี นายพลออง ซาน ผู้นำการประกาศเอกราชของพม่าซึ่งถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2490 (ค.ศ.1947) พร้อมด้วยรัฐมนตรี 6 คน และเจ้าหน้าที่ 2 คน ก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราชจากอังกฤษเพียง 6 เดือน ณ มัสยิดกลาง รามคำแหงซอย 2

ภายในงานระลึก มีกิจกรรมประกอบด้วย การประกาศเจตนารมณ์นายพลอองซาน และแนวทางการสืบทอดเจตนารมณ์นายพลออกซาน การจำลองเวทีสมัชชาชนกลุ่มน้อย “ปางโหลง” ย้อนยุคสภาการประชุมร่วมของนายพลอองซาน โดยตัวแทนจาก มอญ กระเหรี่ยง ฉาน โรฮิงยา และนักศึกษาพม่า การกล่าวถึงพม่าในอนาคต และวิเคราะห์การเลือกตั้งในพม่า รวมทั้งการออกแถลงการณ์ในภาษาไทย ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ

 
ที่มาภาพ: http://sayaba.blogspot.com/2007/07/bogyoke-aung-san.html
 
ทั้งนี้แถลงการณ์ระบุรายละเอียดดังนี้
 
 
แถลงการณ์รำลึก 19 กรกฎาคม 2490
การลอบสังหาร นายพล อู ออง ซาน บิดาแห่งเอกราชพม่า
 
เป็นที่น่าสลดใจ อย่างยิ่งกับ 63 ปีการจากไปของนายพล อู ออง ซาน บิดาแห่งเอกราชพม่าที่ถูกลอบสังหารในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2490 ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่สับสน วุ่นวายและคลุมเครือของพม่า หกสิบสามปีที่ไม่มีการรำลึกถึงเจตนารมณ์ที่ยิ่งใหญ่ของท่านผู้นำผู้นี้ ให้เป็นที่ประจักษ์ มูลนิธิศักยภาพชุมชนและเครือข่ายไทย-พม่ารากหญ้า ขอคารวะและแสดงความเคารพอย่างสูงสุดถึงภารกิจที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติและต่อประชาชนพม่าที่ท่านนายพล อู ออง ซานได้กระทำไว้ให้กับประชาชนชาวพม่า และชนกลุ่มน้อยต่างๆ เช่น คะฉิ่น ฉาน และฉิ่น
 
การเกิดขึ้นและการลงนามในสนธิสัญญาปางโหลง เป็นการตกผลึกผสมผสานทางความคิด จิตวิญญาณ และประสบการณ์การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติครั้งสำคัญ เป็นการแสดงถึงจิตสำนึกทางการเมืองที่สูงส่งของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เช่นนายพล อู ออง ซาน “สนธิสัญญาปางโหลง” เป็นสนธิสัญญาที่แสดงถึงความเคารพ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของพี่น้องชนกลุ่มน้อยในพม่า เป็นสนธิสัญญาที่ยืนยันถึงวิถีชีวิตของพี่น้องชนกลุ่มน้อยต่างๆอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกับประชาชนชาวพม่า ความหลากหลายทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม ของพี่น้องชนกลุ่มน้อยต่างๆทำให้การจัดการเพื่อเอกราชในประเทศพม่าเป็นไปอย่างยากลำบากไม่ง่ายดายเลย สนธิสัญญาปางโหลง เป็นสนธิสัญญาที่ก้าวหน้า เคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่งดงามที่สุดฉบับหนึ่ง
 
เราขอสนับสนุน ยืนยัน เคารพในเจตนารมณ์สมบูรณ์ของการเป็นสหพันธรัฐของพม่าตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสนธิสัญญาปางโหลงเมื่อ 63 ปีที่แล้ว และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการสูญเสียครั้งสำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าทางการเมืองของพม่า เราขอแสดงความปรารถนาดี ความรัก ความห่วงใยและขอส่งกำลังใจถึงประชาชนชาวพม่าและพี่น้องชนกลุ่มน้อยทั้งปวงในพม่าให้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อเจตจำนงของประชาธิปไตยสมบูรณ์ของพวกท่านทุกคน
 
มูลนิธิศักยภาพชุมชน
เครือข่ายไทย –พม่ารากหญ้า
19 กรกฎาคม 2553
 
 
ส่วนในประเทศพม่าพิธีรำลึกจัดขึ้นทุกปีที่สุสานใกล้ฐานของเจดีย์ชเวดากองในกรุงย่างกุ้ง แต่รัฐบาลทหารพม่าค่อย ๆ ลดความสำคัญของพิธีนี้ นับตั้งแต่นางออง ซาน ซู จี บุตรสาวของนายพลออง ซาน เริ่มโดดเด่นทางการเมือง ในปี 2531 จากเหตุการณ์ลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตย 
 
ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่างดการตีพิมพ์อัตชีวประวัติของ นายพล ออง ซาน และรัฐมนตรีที่ถูกลอบสังหาร ยกเว้นข้อความที่คัดลอกมาจากสุนทรพจน์ และในปีนี้ไม่มีแม้กระทั่งบทความหรือบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์รายวันของรัฐบาลที่เขียนเกี่ยวกับนายพล ออง ซาน กองทัพพม่าใช้โอกาสวันรำลึก นายพลออง ซาน ถูกลอบสังหารย้ำเตือนประชาชนถึงบทบาทของกองทัพในการรักษาความเป็นเอกราชของประเทศชาติ
 
ในปีนี้พิธีการรำลึกจัดขึ้นอย่างเงียบๆ ทางการพม่าได้ลดธงครึ่งเสาที่สุสาน โดยมีเจ้าหน้าที่ บุคคลในครอบครัวและนักการทูตร่วมกันวางพวงหรีดหน้าหลุมศพ และมีนายออง เต็ง ลิน นายกเทศมนตรีนครย่างกุ้งเป็นเจ้าหน้าที่สูงสุดที่เข้าร่วมพิธี ทั้งนี้ ในอดีตพิธีนี้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ต่อมาลดลงมาเหลือรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน โดยนางออง ซาน ซูจี ไม่ได้เข้าร่วมพิธีนาน 8 ปีแล้ว เพราะถูกกักบริเวณในบ้านพัก มีเพียงนายออง ซาน อู พี่ชายคนโต ซึ่งมีอาชีพวิศวกรและไม่มีบทบาททางการเมืองเหมือนน้องสาว และภริยาร่วมพิธีวางพวงหรีดที่หลุมศพ
 
 
 
ที่มาภาพ: http://sayaba.blogspot.com/2007/07/bogyoke-aung-san.html
 
วีรบุรุษ อู ออง ซาน บิดาแห่งเอกราชพม่า
 
ในอาณาจักรพุกามอันเก่าแก่ หลังการล้มตายของนักต่อสู้เพื่อเอกราชด้วยรูปแบต่างๆ นับแสนชีวิต ช่วงที่อังกฤษเข้าไปพัวพันกับสงครามโลกครั้งที่ 2 วีรบุรุษชาวพม่ารายหนึ่งก่อกำเนิดขึ้นอย่างเต็มภาคภูมิ เขาเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง ในหมู่ผู้รักเอกราชในพม่า ตั้งแต่เขายังเป็นแค่นักศึกษาปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัย ปู่ของเขาเคยเป็นผู้นำกองโจรกบฏมาก่อน และถูกประหารชีวิตไปก่อนหน้านั้น นักศึกษาหนุ่มผู้นี้มีชื่อว่า “ อู ออง ซาน “ นักศึกษาประวัติศาสตร์พม่า กล่าวถึงบุคคลิกภาพของเขาว่า “ อู ออง ซาน เป็นผู้ที่มีความจริงใจ มีบุคคลิกลักษณะที่เป็นผู้ใหญ่กว่าอายุสำหรับชายหนุ่มเช่นนั้น แม้แต่นักศึกษารุ่นราวคราวเดียวกันก็ยกย่องให้เขาเป็นหัวหน้า “
 
สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้อังกฤษไม่ไว้วางใจบรรดาผู้เรียกร้องเอกราชในพม่า และสั่งจับทำลายขบวนการต่างๆอย่างรุนแรง อู ออง ซานไม่มีแผนการใดๆเลยในการกวาดจับของอังกฤษ เขาปลอมตัวลงเรือสินค้าของจีนไปขึ้นบกที่เมือง “เอ้หมึง” ว่ากันว่าเดิมที อู ออง ซาน พยายามติดต่อกับพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของจีน ที่กำลังเรียกร้องเอกราชอยู่แต่บุคคลิค ของ อู ออง ซานนั้นทำให้พันเอก ซู ซู กิ สายลับญี่ปุ่น ในพม่า ที่ปลอมตัวเป็นนักหนังสือพิมพ์มีความประทับใจ เดินทางมาติดต่อ อู ออง ซานที่เมืองเอ้หมึง และนำ อู ออง ซานมาที่เมืองโตเกียว หลังจากนั้นก็คัดเลือกบรรดาผู้นำนักศึกษาหรือคนหนุ่มที่รักชาติอีก 29 คนเดินทางไปญี่ปุ่นร่วมกับ อู ออง ซาน จัดตั้งขบวนการทางการเมืองที่เรียกว่า “คณะพรรคสามสิบ” ไม่ใช่แค่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คนเหล่านี้ยังได้รับการฝึกอาวุธที่เกาะไต้หวันที่ญี่ปุ่นยึดครอง เตรียมแผนการรบที่จะปลดปล่อยพม่าจากอังกฤษ
 
คณะพรรคสามสิบ ของ อู ออง ซาน ได้เปลี่ยนภารกิจกลายเป็น “กองทัพพม่าอิสระ” เมื่อญี่ปุ่นบุกเข้าโจมตีอังกฤษในพม่าเพื่อยึดเส้นทางยุทธศาสตร์ ร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นในการผลักดันอังกฤษให้แตกพ่าย แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก อู ออง ซานเริ่มคลางแคลงใจต่อ “ชาวเอเชีย” ด้วยกันเองเนื่องจากญี่ปุ่นเริ่มแสดงตัวให้เห็นการเข้ามาเป็นผู้นำคนใหม่ ญี่ปุ่นหน่วงเหนี่ยวการประกาศเอกราชของพม่าตามที่ได้สัญญาเอาไว้ ไม่วายึดพม่าใต้ได้เบ็ดเสร็จแล้ว ย่างกุ้งแตกแล้ว เครื่องบินญี่ปุ่นทิ้งระเบิดทำลายเมืองต่างๆของพม่าแหลกยับ ญี่ปุ่นไม่ได้ปฏิบัติต่อพม่าเหมือนกับเป็น “คนเอเชียด้วยกัน” ญี่ปุ่นต้องการให้ดินแดนนี้และประชากรทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นแปร “กองทัพพม่าอิสระ” เป็น “กองทัพพิทักษ์พม่า” ให้ อู ออง ซานเป็นแม่ทัพ แต่คำสั่งทั้งหมดอยู่ใต้การชี้นำของคณะที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่น
 
อู ออง ซานได้แสดงให้เห็นว่า จุดประสงค์ของเขาไม่ใช่เพียงแค่เพื่อ “ มีอำนาจ” จากอดีตนักศึกษาปีสุดท้าย กลายมาเป็นแม่ทัพแห่งกองทัพพิทักษ์พม่าเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ ออง ซาน ปลาบปลื้ม ปิติแต่อย่างใด กับความเป็นหัวหน้าทาสของญี่ปุ่น เมื่อไม่มีทางเลือก อู ออง ซานก็หันหน้าไปหา “ศัตรูของศัตรู” เขาได้ตัดสินใจส่งสหายคู่ใจ “ตะขิ่นเตียนปีมยิน” เดินทางลับๆไปอินเดีย เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่อังกฤษทำการจัดตั้ง “ขบวนการพม่าเสรีต่อต้านญี่ปุ่น” ขึ้นทันที
 
ท่าทีทำนองนี้เป็นไปคล้ายๆ กันทั้งสิ้นสำหรับการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินโดจีนและกระทั่งชาวอินโดจีนส่วนใหญ่ การเผชิญหน้ากับผู้กดขี่ สองรายพร้อมๆกัน ในระยะเวลาคาบเกี่ยวกับหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลงภายในแผ่นดินของตัวเอง การดิ้นรนออกจากเงื้อมมือประเทศ
 
ตะวันตก พร้อมๆกับการมองเห็นมหาอำนาจเอเชียพยายามเข้ามาครอบครองแผ่นดินของตัวเองในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ความเป็น “ชาตินิยม” ของคนในแหลมอินโดจีนนั้น ไม่ได้เป็น “ชาตินิยม” แบบเยอรมัน หรือญี่ปุ่น ที่อาศัยพลังชาตินิยมเพื่อขยายอาณาจักรตัวเองออกไปรุกรานผู้อื่น ชาตินิยมของประเทศในแหลมอินโดจีนนั้นเป็นไปเพื่อ “ปลดปล่อยประเทศตัวเอง” เป็นไปเพื่อเอกราชตัวเอง ไม่ใช่เพื่อมุ่งหมายทำลายเอกราชของชาติอื่นๆ
 
ความพยายามยืดเวลาการให้เอกราชพม่าของอังกฤษ และยุแหย่ให้ชาวพม่ากันเองแบ่งแยกความเป็นชนชาติออกจากกัน นำเอาอดีตมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยกร้างฉานของขบวนการเอกราช และใช้ประสบการณ์ที่เยาว์วัยของของบรรดาวีรบุรุษที่เติบโตมาจากรากฐานสร้างความเกลียดชังกันเองภายในขบวนการเอกราช อู ออง ซานเพิ่งเดินทางกลับจากการตกลงในเรื่องเอกราชกับนายกรัฐมนตรีแอตลีย์ของอังกฤษไม่นานนัก ข้อตกลงของเขาไม่สามารถทำให้สมบูรณ์ที่สุดได้เนื่องจากความไม่สำนึกของชาวอังกฤษที่จะคลายมือออกจากผลประโยชน์ในพม่า ความสำเร็จของ อู ออง ซานถูกให้ค่าน้อยมากจากพันธมิตรขบวนการเอกราชพม่า วันที่ 19 กรกฎาคม 1947 ขณะที่ อู ออง ซานกำลังประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่ในห้องประชุมของรัฐบาล นักแม่นปืน 3 คนชาวพม่า บุกเข้าไปยิงกราดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อู ออง ซานตายคาที่ เชื่อกันว่าผู้อยู่เบื้องหลังแผนพิฆาตคือ “อูซอ” พันธมิตรในขบวนการเอกราชที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับ อู ออง ซาน มาตั้งแต่เขายังเป็นนักศึกษานั่นเอง เลือดของชาวพม่าได้ไหลนองด้วยน้ำมือของเผ่าพันธุ์เดียวกัน เพียงเพราะต้องการ “อำนาจ” ที่หอมหวนเท่านั้น
 
 
 
เก็บความจากบทที่ 35 และ 36 “วีรบุรุษยุคใหม่” หนังสือ “สุวรรณภูมิ เกมพระราชา” โดยชัชรินทร์ ไชยวัฒน์
สำนักพิมพ์สมาพันธ์ มิถุนายน 2541
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net