Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ครู! ครู! บ้านผมอยู่ในพื้นที่สีแดง ถ้างั้นครอบครัวผมเป็นโจรใช่ไหมครู! ”

นี่เป็นหนึ่งในคำถามที่ถูกถามขึ้นอย่างเสียงดังด้วยภาษาไทย (ทองแดง) ของเด็กนักเรียนชั้น ป.5 ในวิชาอิสลามศึกษาของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส

ถึงแม้มันจะเป็นคำถามแค่หนึ่งคำถามจากเด็กประถมแค่หนึ่งคนแต่เมื่อเรามาครุ่นคิดวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่า เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหา แน่นอนปัญหามันมีมากมายแต่ในบริบทนี้มันสะท้อนถึงปัญหาความหวาดระแวงของสังคมในภาวะสงคราม  เป็นภาวะสงครามเพราะรัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึก เพราะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะประกาศเคอร์ฟิว เพราะส่งกำลังพลติดอาวุธสงครามเฉียดแสนลงมา หากไม่เรียกว่าภาวะสงคราม เขาเรียกว่าภาวะอะไร ? เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาและเรื่องไม่ใช่เรื่องตลก

มันไม่ธรรมดาซิ! เพราะว่าจะส่งผลต่อระยะยาวต่อเด็กๆที่จะเป็นผู้ใหญ่ในสังคมสันติภาพแห่งนี้ในอนาคต พวกเขาจะได้รับผลเสียหายอย่างร้ายแรงจากภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ และมันอาจจะยืดเยื้ออีกใช่ไหม ? หากใช่! แน่นอนเด็กๆในพื้นที่จะตกอยู่ในเบ้าหลวมความรุนแรงของสงครามซึ่งส่งผลเสี่ยงต่อการเป็นสังคมอาชญากรรมในอนาคต ซึ่งมันจะขัดแย้งกับนโยบายการสร้างสังคมสันติสุข ใช่ไหม?  เพราะกลัวว่าจะเป็นเด็กมีปัญหาเหมือนเด็กๆในอูกันดาหรือไม่ก็เหมือนเด็กในรวันดา

เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในภาวะสงครามที่เขาสามารถมองเห็นและสามารถสัมผัสได้ เช่น จากการใช้ความรุนแรงของกองกำลังไม่ทราบฝ่ายเป็นผลให้ครูของพวกเขาถูกยิงเสียชีวิต  โรงเรียนถูกเผา  ไปจนถึง  พ่อแม่หรือญาติใกล้ชิดถูกกองกำลังของทางการควบคุมตัวด้วยข้อหาต้องสงสัยว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน  ซึ่งเหล่านี้เป็นผลให้เด็กเกิด ภาวการณ์แค้นฝังใจ  ซึ่งสอดคล้องกับรายงานผลวิจัยของ UNICEF พบว่าเด็กชายแดนภาคใต้มีอารมแก้แค้นและรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม

การตั้งฐานกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐในบริเวณโรงเรียนมันเป็นผลตามมาจากที่ได้กล่าวข้างต้น ด้วยเหตุผลบางส่วนคือ เพื่อปกป้องโรงเรียนจากการถูกเผาและดูแลบุคคลากรทางการศึกษา ดูแล้วเหตุผลน่าฟัง ใช้ได้ และเหมาะสมในหน้าที่ของการเป็นทหาร

แต่หากมามองในมุมกลับกัน (หรือมุมข้างๆก็ได้) การตั้งฐานทหารในโรงเรียนจะส่งผลต่อเด็กๆในสังคมในพื้นที่นี้ตกอยู่ใน  วงจรความรุนแรงเต็มรูปแบบ  คือ  เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการทางอาวุธถึงแม้ว่าเด็กๆเหล่านั้นไม่ใช่เป้าหมายหลักแต่มีโอกาสเสี่ยงสูงและเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองตื่นตระหนก  ตัวอย่างเช่น  โรงเรียนบ้านปากาลือซง  อ.หนองจิก  จ.ปัตตานี  เมื่อสองปีที่ผ่านมาเด็กนักเรียนจำนวนมากไม่กล้าไปเรียนเพราะเกรงจะได้รับอันตรายจากการปะทะเนื่องจากทหารเข้าไปตั้งฐานภายในโรงเรียน  และในพื้นที่ดังกล่าวก็เกิดเหตุความรุนแรงบ่อยครั้ง กรณีนี้เบื้องต้นผู้ปกครองนักเรียนก็ได้เคยร่วมกันเข้าพูดคุย  ทำความความเข้าใจปัญหาเรื่องผลกระทบดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ทหารและครูในโรงเรียน  แต่เจ้าหน้าที่ทหารก็ยืนยันที่จะตั้งฐานต่อด้วยเหตุผลเพื่อรักษาความปลอดภัยในชุมชน  ภายหลังคณะครูก็ได้ไปทำความเข้าใจให้ผู้ปกครองให้ส่งลูกไปเรียนตามปรกติซึ่งบางครอบครัวก็ส่งลูกไปเรียนตามปรกติแต่ก็มีหลายครอบครัวตัดสินใจส่งลูกเรียนที่โรงเรียนใกล้เคียงแทนด้วยเหตุผลความปลอดภัยของลูก เช่นกัน

ยาเสพติดก็เป็นหนึ่งในปัญหาของเด็กและเยาวชนไม่แพ้กันซึ่งมันวิ่งอยู่ในวงจรความรุนแรงนี้เช่นกัน  เมื่อสิบปีก่อนสถิติผู้ติดยาเสพติดในหมู่บ้านโดยเฉลี่ยแล้วต่ำมากเพราะความเป็นชุมชนมุสลิมเคร่งครัดเข้มแข็งยังสามารถดูแลจัดการได้  ต่อมาภายหลังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ซึ่งอยู่ในภาวะความไม่สงบ  ยาเสพติดประเภทใบกระท่อมผสมยาแก้ไอ  และยาเสพติดอื่นๆ มันแทรกเข้าไปทุกที่  ทุกมุมของหมู่บ้าน  ขนาดหลังมัสยิดก็ยังมีการต้มกิน มันขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างกับผื่นคันหรือกลาดเกลื้อนและมันยิ่งหาซื้อกันง่ายด้วยซ้ำ  ทั้งๆที่ในพื้นที่ถูกคุมเข้มทุกตารางนิ้ว  ใช่ไหมครับพี่น้อง

สำนักข่าวอัลจาซีราห์  รายงานเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่าเยาวชนในชายแดนใต้ติดยาเสพติดจำนวนมากและมันเป็นเชื้อไฟที่เติมความรุนแรงเพิ่มขึ้น  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ไม่หวังดีใช้โอกาสในสถานการณ์ความรุนแรงเอายาเสพติดมามอมเมาเยาวชนไม่ใช่เพราะเยาวชนติดยาสถานการณ์ไฟใต้จึงเกิดขึ้น ขอรับ

เรื่องที่ได้กล่าวมาข้างต้นเรากำลังคุยถึงปกป้องเด็กจากวงจรความรุนแรงแต่เรายังไม่พูดถึงการพัฒนาเด็กในสภาวะสงครามอีกซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาเด็กเหล่านี้เป็นสองเท่าของเด็กที่อยู่ในภาวะปรกติทั้งด้านการศึกษา  สภาพจิตใจ  และอื่นๆ ดังนั้นเรื่องนี้ชุมชุนและผู้นำชุมชนจะต้องคิดหนัก ชุมชนจะต้องเป็นตัวนำในการ ทำการจัดการ เรื่องของเด็กเหล่านี้เป็น วาระแห่งชาติของชุมชน ถึงแม้ว่ารัฐบาลมีนโยบาลชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แต่ลำพังจะรอการจัดการขององค์กรภาครัฐมันต้องใช้เวลาและเข้าถึงยากแต่หากรัฐมีงบประมาณมากก็เอาไปให้ชุมชนใช้จัดการปัญหากันเองดีกว่าเพราะมันจะได้ผลมากกว่าและช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันของชาติด้วย ครับผม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net