สื่อนอกแฉ แรงงานพม่าที่ถูกส่งกลับ โดน "ขู่-ข่มขืน"

มติชนออนไลน์ รายงานข่าวอ้างสำนักข่าวเอบีซีว่า ทางการพม่าส่งชุดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อสอบสวนกรณีชาวพม่าที่ถูกรัฐบาลไทยส่งกลับมากล่าวหาทหารรักษาชายแดนว่าขู่กรรโชก ทำร้าย และข่มขืนกลุ่มแรงงาน

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยถูกวิจารณ์อย่างหนักในข้อกล่าวหาดังกล่าวเนื่องจากการปราบปรามแรงงานพม่าที่ลักลอบเข้าประเทศแบบผิดกฎหมายทำให้พวกแรงงานพม่าทั้งหลายถูกส่งกลับบ้าน แรงงานพม่าที่ถูกส่งกลับมาบางคนเล่าว่าตนถูกทำร้าย ทุบตี หรือแม้กระทั่งถูกเกณฑ์ให้เข้าไปเป็นทหารบ้างก็มี

ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากแม่สอด ชายแดนไทย-พม่าว่า ในแต่ละวันมีแรงงานพม่ามากกว่า 600 คนรอถูกส่งตัวกลับไทยที่ศูนย์กักตัวแรงงานพม่า ซึ่งรัฐบาลไทยเองเริ่มดำเนินการปราบปรามแรงงานพม่า โดยเมื่อเดือนที่แล้วมีแรงงานผิดกฎหมายกว่า 5 หมื่นคนถูกส่งมาที่ศูนย์แห่งนี้ก่อนที่จะถูกส่งตัวกลับไป

อาจกล่าวได้ว่า พม่าเป็นแรงงานข้ามชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในไทย แม้ว่าแรงงานกว่า 9 แสนคนจะมีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่พวกเขาเหล่านั้นก็ยังคงถูกส่งตัวกลับประเทศอยู่ดี ในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติจำเป็นต้องมีพาสปอร์ตเพื่อเข้ามาทำงานในไทยซึ่งพวกเขาก็ต้องกลับไปที่บ้านของตัวเองเพื่อทำพาสปอร์ตดังกล่าว

กระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดนายหน้าจัดหาพาสปอร์ตให้แรงงานพม่าเข้ามาทำงานในไทย แต่ปัญหาก็คือแรงงานพม่าจะได้พาสปอร์ตก็ต่อเมื่อพวกเขามีเงินพอจ่ายให้บริษัทนายหน้า ในตอนนี้มีบริษัทที่ทำธุรกิจดังกล่าวไม่น้อยกว่า 10 บริษัท โดยค่าใช้จ่ายตกอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาทต่อคน

สำหรับแรงงานที่มีเงินพอจะทำพาสปอร์ตก็สามารถข้ามฝั่งไปทำงานได้ แต่สำหรับคนที่ไม่สามารถทำเอกสารได้อย่างถูกต้องก็ต้องถูกกรรโชกต่างๆนานาๆ และเมื่อสามารถข้ามไปอีกฝั่งได้แล้วอาจโดนหนักยิ่งกว่าถูกขู่กรรโชกด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ จุดตรวจที่ชายแดนถูกตั้งขึ้นแบบไม่เป็นทางการโดยกองทหารกระเหรี่ยงพุทธและเรียกเงินจำนวนกว่า 40 ดอลลาร์เป็นค่าผ่านทางซึ่งแน่นอนว่าแรงงานส่วนมากไม่มีปัญญาจ่าย

สาวแรงงานพม่าคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังหลังจากเพิ่งถูกปล่อยตัวออกมาเพราะถูกทางการไทยจับส่งกลับมาว่า หลังจากที่ตนถูกตำรวจไทยจับส่งกลับมา ตนก็ถูกขังที่คุกของทหารอยู่หลายวันจนเพื่อนมาประกันตัวเธอออกไป ซึ่งเพื่อนที่ยังคงถูกขังอยู่อาจถูกเกณฑ์ไปเข้ากับกองกำลังทหารหากไม่มีเงินจ่ายค่าประกันตัว

กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานก็กล่าวในทำนองเดียวกับแรงงานพม่าคนดังกล่าวโดยระบุว่า ทางการไทยเองก็มีการหาเงินจากกรณีดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ กระบวนการปราบปรามแรงงานผิดกฎหมายของไทยยังถูกกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังจากแรงงานที่ถูกจับรายงานว่า ตนถูกทำร้ายหรือแม้กระทั่งถูกข่มขืน

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วหนทางหลุดจากความยากจนของคนพม่าก็คือการย้ายมาหางานทำที่ฝั่งไทยอยู่ดี แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับการถูกจับส่งกลับมาเริ่มต้นใหม่ที่บ้านเกิด ส่วนทางการไทยเองก็เตรียมจัดส่งแรงงานกลับบ้านอีกกว่า 3 แสนคนในเดือนหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท