Skip to main content
sharethis

วง Blurred Vision จากสองพี่น้องชาวอิหร่านพลัดถิ่น แปลงเพลง Another brick in the wall (Part 2) ของวงดนตรีระดับโลก Pink Floyd เพื่อประท้วงรัฐบาลอิหร่านที่เคยปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อปีที่ผ่านมา

แปลจาก
'Ayatollah, leave those kids alone' – Pink Floyd get an Iranian twist
By Jerome Taylor
9 July 2010
The Independent

(หมายเหตุ : ผู้แปลแก้ไขข้อมูลบางส่วนของบทความต้นฉบับให้มีความแม่นตรงมากขึ้น เช่นเพลง Another brick in the wall วงอิหร่านดัดแปลงเฉพาะ part 2 เท่านั้น)

หญิงสาวในผ้าคลุมหน้าสีแดงพุ่งผ่านประตูเข้ามาในห้องมืด เธอถูกตามล่าโดยครูสอนศาสนาที่กำลังฉุนเฉียว เธอนำโทรศัพท์มือถือออกมา พยายามกดเรียกร้องความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่มีสัญญาณ

ฉากที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ฟังดูเหมือนคลิปวิดิโอลับที่นักกิจกรรมหนุ่มสาวลักลอบเผยแพรไปภายนอกอิหร่าน ซึ่งพวกเขาคงเข้าร่วมการประท้วงรัฐบาลของประชาชนหลายแสนคนตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว (2009) ที่ถือเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีการปฏิวัติอิหร่าน

แต่ทว่าฉากนี้เป็นฉากเปิดของวิดิโอเพลงของวงร็อคอิหร่าน ที่นำเพลง "Another Brick in the wall (Part 2)" ของวง Pink Floyd มาขับร้องใหม่ จนกลายเป็นเพลงประจำของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งแต่เดิมเองเพลง Another Brick in the Wall (Part 2) ของ Pink Floyd ก็เป็นเพลงที่มีเนื้อหาประท้วงระบอบการศึกษาแบบอำนาจนิยม

วงดังกล่าวคือ Blurred Vision เป็นวงร็อคเรียบ ๆ ของสองพี่น้องชาวอิหร่านที่ครอบครัวอพยพออกจากประเทศไปอาศัยอยู่ที่โตรอนโตในช่วงราว 30 ปีก่อน และพวกเขานำเพลงสุดคลาสสิคสมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาดัดแปลงใหม่ สมาชิกวงให้ชื่อว่าเซปป์ และ โซห์ พวกเขาไม่ให้ชื่อจริงเพื่อปกป้องญาติส่วนหนึ่งของพวกเขาที่ยังอยู่ในอิหร่าน สองพี่น้องถ่ายทำวิดิโอเพลงโดยไม่มีทุนรอนใด ๆ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากบาบัก ปายามี คนทำภาพยนตร์ชาวอิหร่านที่ตอนนี้อาศัยอยู่ในออสเตรีย และเทอร์รี่ บราวน์ โปรดิวเซอร์เพลงร็อคที่มีชื่อเสียงจากแคนาดา

วิดิโอเพลงชุดนี้มีการตัดต่อภาพเข้ากับการประท้วงปีที่ผ่านมา (2009) จนกลายเป็นกระบอกเสียงสะท้อนความรู้สึกไม่พอใจของหนุ่มสาวชาวอิหร่านและมีท่อนสำคัญที่แปลงเนื้อเดิมจากฉบับ Pink Floyd เป็น "Hey Ayatollah, leave those kids alone!" (เฮ้ อยาตอลเลาะห์ ปล่อยเด็กพวกนั้นไป!)

 

มีการเผยแพร่วิดิโอเพลงใน Youtube และมีผู้เข้าชมแล้ว 100,000 ฮิต พวกเขาได้ไปแสดงในเทศกาลภาพยนตร์ที่จัตุรัสโซโหของอังกฤษ ในคาเฟ่ใจกลางกรุงลอนดอนสองพี่น้องอธิบายว่าเพลงของพวกเขาเป็นการนำเสนอเรื่องราวของหนุ่มสาวชาวอิหร่านในประเทศที่ดนตรีร็อคถูกแบน "พวกเราได้รับข้อความจากชาวอิหร่านจำนวนมากบอกว่าพวกเขาใช้เพลงนี้ช่วยส่งเสียงเรียกร้องในการประท้วงของพวกเขา" โซห์สมาชิกวงคนพี่อายุ 35 ปีกล่าว

เซปป์ สมาชิกคนน้องอายุ 28 ปีเสริมว่า "ข้อความนี้ได้มาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตอนที่โซห์แปลข้อความนี้น้ำตาเขาก็ไหล มันเป็นข้อความจากแฟนเพลงในอิหร่าน แล้วเขาก็พูดซ้ำ ๆ ว่า 'รักษาเสียงของเราให้มีชีวิตชีวาเข้าไว้ หากไม่ทำก็จะไม่มีใครฟังเรา"

"ในตอนแรกเราก็กังวลว่าจะมีคนโกรธไหม" เซปป์กล่าวถึงการนำเพลงของ Pink Floyd มาร้องใหม่ "ถ้าเป็นผม ผมก็คงโกรธที่มีใครพยายามจะมาเทียบชั้นกับ Pink Floyd แต่เนื้อเพลงก็เข้ากับเรื่องราวในอิหร่านได้เป็นอย่างดี"

ทั้งสองคนเริ่มอัดเพลงและส่งไปให้โรเจอร์ วอเตอร์ส "พวกเราไม่อยากทำมันออกมาโดยไม่ได้รับการยอมรับจากเขา แล้วก็อีเมลล์ตอบกลับมาว่า 'จากนี้ไป เพลงในเวอร์ชั่นนี้เป็นของพวกเธอ'"

ทางวงมีความหวังว่าเพลงนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประท้วงชาวอิหร่าน เหมือนเช่นที่ครั้งหนึ่งนักกิจกรรมต่อต้านการเหยียดสีผิวในแอฟริกาใต้เคยนำเพลงนี้ไปใช้ประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวในโรงเรียน

โซห์หวังว่าการปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อปีที่แล้วจะช่วยให้ภาพลักษณ์ของอิหร่านเปลี่ยนไปจากสายตาของชาวตะวันตก จากที่เห็นว่าอิหร่านเป็นรัฐอิสลามที่ต้องการอาวุธนิวเคลียร์เป็นประเทศที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับที่เคยเกิดในแอฟริกาใต้ "มองเผิน ๆ แล้วเหมือนว่าผู้ประท้วงจะถูกบดขยี้ แต่ตอนนี้พวกเขาได้เปิดประตูไปสู่หนทางที่อาจหลีกเลี่ยงแล้ว" เขากล่าว "ผมว่าความคิดเห็นของชาวตะวันตกกำลังเปลี่ยนแปลง พอถึงเวลาประชาชนจะเป็นปากเสียงให้กับชาวอิหร่าน มันจะช่วยทำให้โลกตะวันตกกับโลกตะวันออกมีช่องว่างน้อยลงบ้าง หวังว่าเพลงนี้จะมีส่วนช่วยบ้างสักเล็กน้อยก็ยังดี"
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net