สิทธิในการฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีประเด็นข่าวเกี่ยวกับการออกมาเรียกร้องให้มี การออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้เสียหายจากการให้บริการทางการแพทย์ และมีการออกมาประท้วงต่อต้านจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มีการแต่งดำเผา ดอกไม้จันทน์ ฯลฯ

ถามว่าร่างกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้เสียหายจากการให้บริการทางการ แพทย์ทั้ง 6 ฉบับ จะส่งผลเสียหรือส่งผลดีต่อประชาชน ประเด็นนี้ก็คงไปถกเถียงกันได้ต่อไป แต่ประเด็นที่ถูกหยิบยกหรือนำมาเป็น “ข้ออ้าง” หนึ่งในการต่อต้านของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์คือ ประเด็นในเรื่องของสิทธิในการฟ้องคดีทั้งในส่วนของคดีอาญา และคดีแพ่ง(ทั้งนี้ไม่รวมแนวความคิดเห็นแบบสุดโต่งของคุณหมอบางกลุ่มบางคน ที่ออกมาเขียนบทความต่อต้านร่างกฎหมายดังกล่าว ถึงขนาดที่ผู้เขียนในฐานะประชาชนคนหนึ่งได้อ่านแล้วมีความผิดหวังอย่างมาก ไม่นึกว่าความคิดแบบเด็กๆ ยืนยันกระต่ายขาเดียว และประชดประชันแบบสุดโต่งจะเป็นความคิดของคนที่ร่ำเรียนมาห้าหกปี)

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของสิทธิในการฟ้องคดีของผู้เสียหายที่เกิด จากการให้บริการทางการแพทย์และไม่เกิดความสับสน จึงจำเป็นที่จะต้องขอเรียนต่อเพื่อนประชาชนให้ทราบถึงสิทธิตามกฎหมาย ปัจจุบันที่ใช้บังคับอยู่ตามลำดับดังนี้

1. หากท่านเห็นว่าท่านได้รับความเสียหายจากการให้บริการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดจากแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ จักษุแพทย์ โรงพยาบาล ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดจากการให้บริการทางการแพทย์ที่ภาครัฐหรือภาค เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ

ท่านในฐานะผู้เสียหาย มีสิทธิที่จะดำเนินการฟ้องร้องให้มีการรับ ผิดได้ตามฐานของกฎหมายที่มีอยู่ทั้งในส่วนของ คดีแพ่งในส่วนของเรื่องละเมิดตามมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และคดีอาญาตามประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา(ซึ่งมีบทกำหนดฐานความผิดไว้หลายมาตรา โดยเฉพาะในลักษณะ 10 ของประมวลกฎหมายอาญา ที่กำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายเอาไว้ในมาตรา 288 – 309)

ดังนั้น หากท่านได้รับความเสียหายจากการให้บริการทางการแพทย์ ท่านสามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ตามสิทธิของท่านไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเรียก ร้องในกฎหมายแพ่ง และกฎหมายอาญาได้ ทั้งนี้สิทธิในการฟ้องร้องดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบรรดาร่างกฎหมาย เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้เสียหายฯ ที่เป็นประเด็นในหน้าหนังสือพิมพ์แต่ประการใด

ทั้งนี้ หากความเสียหายเกิดขึ้นจากบริการทางการแพทย์หรือโรงพยาบาลของรัฐ ในการฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนนั้น จะมีความพิเศษตรงที่ท่านจะฟ้องหมอ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ โดยตรงไม่ได้ ท่านจะต้องฟ้องนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่บุคคลนั้นๆ สังกัดอยู่ ทั้งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ปี 2539 (ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้สิทธิในการฟ้องคดีทางแพ่งของท่านเปลี่ยนแลงไปแต่ประการใด นั่นคือยังฟ้องได้อยู่แต่ต้องฟ้องให้ถูกคนเท่านั้นเอง)

ดังนั้นสรุปได้ว่า ถ้าท่านได้รับความเสียหายจากการให้บริการทางการแพทย์ ท่านสามารถดำเนินคดีฟ้องร้องเอาผิดต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นคนกระทำความ ผิดนั้นได้ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา การที่จะมีกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายฯ หรือไม่นั้น ไม่ได้ทำให้สิทธิในการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาของท่านเปลี่ยนแปลงไปแต่ประการ ใด

2. ในส่วนของประเด็นความโต้แย้งไม่พึงใจของพวกคุณหมอ ทั้งหลายที่ออกมาคัดค้านต่อต้าน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่า

2.1 กฎหมายที่จะออกมาจะทำให้คนฟ้องบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น
ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริงประการใด เพราะไม่ว่าจะมีกฎหมายนี้หรือไม่ ประชาชนผู้รับบริการก็สามารถฟ้องได้อยู่แล้วตามกฎหมายปัจจุบันที่มีอยู่ตาม ที่กล่าวไว้ใน ข้อ 1. ซึ่งหากจะพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่าการฟ้องบุคคลากรทางการแพทย์จะเพิ่มขึ้น หรือลดลงไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านตัวบทกฎหมายแต่ประการใด หากขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสิทธิในการฟ้องคดีของผู้ได้รับ ความเสียหายมากกว่า

2.2 กฎหมายที่จะออกมากำหนดภาระให้บุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น
ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีการอ้างถึงความสัมพันธ์อันดีของคนไข้กับ บุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ แต่เหตุผลสำคัญอันหนี่งที่ไม่ค่อยหยิบยกมาอ้างเท่าไหร่นัก ทั้งๆที่เป็นเหตุผลสำคัญอันหนึ่งในการคัดค้านคือการกำหนดให้มีการส่งเงิน เข้ากองทุน พูดง่ายๆ ตามประสาชาวบ้านคือ “หมอไม่อยากจ่ายเงินเข้ากองทุน” นั่นเอง และหมอบางคนก็อาจคิดต่อไปว่า ถ้าจ่ายเงินเข้ากองทุนแล้ว ทำไมหมอจะต้องโดนฟ้องในดคีแพ่งคดีอาญาอีกล่ะ ก็จ่ายเงินไปแล้วจะเอาอะไรอีก แม้ว่าบางคนจะออกมาพูดว่าเรื่องเงินไม่เกี่ยวหรอกเพราะถ้าทำงานให้รัฐก็ไม่ ได้เสียเองอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าส่วนใหญ่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายก็จะมีไปเปิดคลี นิก ร้านขายยา ฯลฯ ส่วนตัวอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนนี้จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนต่างหากเพราะถือเป็นสถานพยาบาลที่มี หน้าที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนนั่นเอง

การต่อต้านของหมอจะไม่มีเกิดขึ้นเลยถ้ามีกฎหมายที่เขียนว่า “หากผู้เสียหายได้รับเงินตามกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายฯ แล้ว ผู้เสียหายไม่สามารถไปดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดต่อหมอได้อีกทั้งในคดีแพ่งและ คดีอาญา” ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยเพราะสิทธิในการฟ้องร้องเป็นสิทธิ ที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญไม่มีกฎหมายไหนที่จะมาตัดสิทธิดังกล่าวได้

ทั้งๆ ที่หากพิจารณาถึงเนื้อหาของร่างกฎหมายต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การฟ้องคดีอาญานั้นโดยเฉพาะในร่างฯ ที่เสนอโดยผู้เสียหายนั้น บุคลากรทางการแพทย์จะได้รับประโยชน์ในการที่จะมีกฎหมายดังกล่าว เพราะ ร่างพ.ร.บ.ฯ ได้กำหนดระบุถึงการพิจารณาการกำหนดโทษโดยศาล โดยในมาตรา 45 กำหนดให้ศาลในคดีอาญาฐานกระทำการโดยประมาทที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการ สาธารณสุข หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิด ให้ศาลนำข้อเท็จจริงต่างๆของจำเลยเกี่ยวกับประวัติ พฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความผิด การที่ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ การชดใช้เยียวยาความเสียหาย และการที่ผู้เสียหายไม่ติดใจให้จำเลยได้ รับโทษ ตลอดจนเหตุผลอื่นอันสมควร มาพิจารณา ประกอบด้วยในการนี้ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใด หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ นอกจากนั้นในมาตรา 46 ได้กำหนดโทษของการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการ คณะกรรมการอุทธรณ์ หรือคณะอนุกรรมการ ตามมาตรา 18 ซึ่งการฝ่าฝืนดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประเด็นสำคัญที่คุณหมอจะต้องทำความเข้าใจคือหากผู้เสียหายเห็นว่าคุณหมอ ทำผิดกฎหมายอาญา ผู้เสียหายก็ย่อมใช้สิทธิในการฟ้องให้รับผิดทางอาญาได้อยู่แล้วตามประมวล กฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และหากพิจารณาเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่าไม่มีบทมาตราไหนเลยที่กล่าวถึงสิทธิในการฟ้องศาล อาญาโดยอาศัยบทบัญญัติตามร่างพ.ร.บ.ฯ นี้ จะมีก็เพียงแต่บทบัญญัติมาตรา 45 ที่กำหนดบังคับให้ศาลกรณีที่ผู้ให้บริการสาธารณสุขถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดี อาญาฐานกระทำโดยประมาทที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสาธารณสุข(ซึ่งเป็น สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีได้ตามประมวลกฎหมายอาญาได้อยู่แล้วตามที่ได้ ชี้แจงไว้ใน ข้อ 1.) และหากศาลเห็นว่าจำเลย(คุณหมอทั้งหลาย/บุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายที่โดน ฟ้องคดีอาญา)กระทำผิด และในการกำหนดโทษในส่วนของการกำหนดโทษ ร่างพ.ร.บ.ฯ นี้ได้กำหนดให้ศาลคำนึงถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 45 เพื่อที่จะนำมาเป็นเหตุลดโทษเพื่อที่จะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมาย(ประมวลกฎหมาย อาญา)กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้

หากอ่านมาตรานี้แล้วเห็นว่ามาตราดังกล่าวเป็นโทษต่อจำเลย(คุณหมอทั้ง หลาย)แล้วนั้นก็ไม่อาจหาคำอธิบายใดๆ มาเพิ่มเติมได้แต่ประการใด เพราะมาตราดังกล่าวเป็นคุณอย่างยิ่งต่อคุณหมอทั้งหลาย เช่น คุณหมอ ก. ถูกฟ้องคดีอาญาฐานกระทำโดยประมาทอันเป็นเหตุทำให้ผุ้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท(มาตรา 291 ประมวลกฎหมายอาญา) ด้วยผลของมาตรา 45 ของร่างพ.ร.บ.ฯ นี้แล้วนั้น ศาลมีทางเลือกสองทางคือลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด(ในกรณีของมาตรา 291 ประมวลกฎหมายอาญานี้โดยตัวของมาตราดังกล่าวกำหนดแต่โทษขั้นสูงเอาไว้เท่า นั้น นั่นหมายความว่าศาลสามารถใช้ดุลพินิจลงโทษได้ไม่เกินจำนวนโทษสูงสุดที่กำหนด ไว้ได้อยู่แล้ว) และอีกทางเลือกหนึ่งคือศาลจะไม่ลงโทษเลยก็ได้นั่นคือศาลสามารถตัดสินแต่ไม่ กำหนดโทษไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือโทษปรับแต่อย่างใดนั่นเอง

บทบัญญัติในร่างพ.ร.บ.ฯ ที่กล่าวถึงโทษทางอาญาเอาไว้อีกมาตราหนึ่งคือในมาตรา 46 ซึ่งเป็นกรณีของการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการในเรื่องของการ ให้แสดงเอกสารพยานหลักฐานหรือการให้ถ้อยคำตามมาตรา 18 นั่นเอง ซึ่งก็มีความเห็นบางความเห็นที่เห็นว่าคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการมีอำนาจ ถึงขนาดสั่งให้คนที่ฝ่าฝืนคำสั่งเข้าคุกได้เอง ซึ่งกรณีนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะหากมีการฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตราดังกล่าวจริง คณะกรรมการจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อดำเนินคดีต่อผู้ที่ฝ่าฝืนต่อไป คณะกรรมการไม่ใช่ศาลที่จะสั่งขังได้ทันทีแต่ประการใด

ดังนั้น เพื่อนประชาชนทั้งหลาย อย่าได้สับสนและตระหนกถึงท่าทีของบุคลากรทางการแพทย์ที่ออกมาแต่งดำประท้วง ขัดค้านกฎหมายดังกล่าว ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามหากท่านในฐานะผู้ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ ทางการแพทย์ ท่านสามารถใช้สิทธิในการฟ้องร้องได้ทั้งในส่วนของคดีแพ่งและคดีอาญา ตามกฎหมายปัจจุบันที่ใช้บังคับอยู่ การที่จะมีกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายฯ ออกมาหรือไม่นั้นไม่ได้มีผลกระทบต่อ “สิทธิ” ในการฟ้องร้องดังกล่าวของท่านแต่ประการใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท