Skip to main content
sharethis

 

เมื่อเวลา 18.10 น. วันที่ 30 ก.ค.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออก ณ  ห้องประชุม ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร นำคณะผู้บริหารสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวม 12 คน เฝ้าฯกราบบังคมทูลรายงานสรุปสถานการณ์น้ำประเทศไทยปี พ.ศ. 2552 และเดือน ม.ค.-มิ.ย. ปี พ.ศ. 2553 การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การคาดการณ์สภาพอากาศประเทศไทย ปีพ.ศ. 2553 การปรับปรุงสถานีโทรมาตร ตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติและระบบโทรมาตร เพื่อสนับสนุนการจัดการปัญหาภัยแล้ง และผลการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 3 กับรับพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถาบันฯ
   
ในการนี้ รายงานสรุปสถานการณ์น้ำในประเทศไทยนั้น รวมรวบข้อมูลโดยการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการและหน่วย งานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541 และระบบดังกล่าวสามารถ  ใช้งานได้จริงในปี พ.ศ. 2545 ปัจจุบันได้ขยายผลการดำเนินงานเพิ่มเติม โดยการ  พัฒนาระบบคลังข้อมูล สภาพอากาศประเทศไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ของประเทศ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่    จำเป็นในการนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการ ในปีที่ผ่านมานั้นพบว่า มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,403 มิลลิเมตร ซึ่ง  ขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 2 ในช่วงเดือน   ม.ค.-ส.ค. พ.ศ. 2552 มีปริมาณน้ำฝนมาก และต่ำลงในช่วงปลายปี เนื่องจากอิทธิพลของเอลนินโญ่ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรม    ชาติอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยแล้ง น้ำท่วม และรูปแบบของฝน และอุณหภูมิที่มีการผันแปรในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อีกทั้ง  ฝนที่ตกหนักจากพายุเพียงหนึ่งครั้ง ถูกพายุไต้ฝุ่นกฤษณา เป็นเหตุให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพลสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ 311 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนในปีนี้ นับตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึงเดือน มิ.ย. พ.ศ. 2553   พบว่ามีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 381 มิลลิเมตร  ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 22 เนื่องจาก อิทธิพลของเอลนินโญ่ต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา
   
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงพสกนิกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนเหลือน้อย ซึ่งได้พระราชทานฝนหลวงพิเศษ เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยการติดตั้งสถานีโทรมาตร ตรวจวัดสภาพอากาศ  ปริมาณน้ำฝน และวัดระดับน้ำเสริมระบบโทรมาตรเดิมบริเวณเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อน ป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี รวมทั้งพัฒนาระบบรายงานสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงพระราชทานใน 4 เขื่อนดังกล่าว และต่อเชื่อมข้อมูลในระบบโทรมาตรเดิม ในพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
   
โดยแสดงผลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถืออีกทางหนึ่งด้วย ด้วยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่พบว่าเกิดปรากฏการณ์เอลนินโญ่และลานิน ญ่าซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิน้ำในมหา สมุทรแปซิฟิกผิดปกติไปจากค่าเฉลี่ย คือ หากอุณหภูมิในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณ    ใกล้ประเทศฟิลิปปินส์สูงกว่าปกติก็จะเป็นปรากฏการณ์ลานินญ่า ประเทศไทยก็จะมีฝนตกหนัก ในทางตรงกันข้าม หากอุณหภูมิบริเวณนั้นต่ำกว่าปกติ ก็จะเป็นปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ประเทศไทยก็จะมีฝนน้อย
   
สำหรับการปรับปรุงสถานีโทรมาตร ตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติได้ดำเนินการ  ปรับปรุงแล้ว 439 สถานีทั่วประเทศ ใน  จำนวนนี้มีสถานีโทรมาตรในพื้นที่ จ.นราธิวาส   จ.ปัตตานี และจ.ยะลา 31 สถานี แล้วยังติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความเร็วลม 110 ชุด ในสถานีโทรมาตรดังกล่าว เพื่อนำข้อมูลไปประมวลผลจัดทำแผนที่ลมติดตามการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อไป ส่วนผลการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริครั้งที่ 3 ซึ่งมีชุมชนทั่วประเทศร่วมกันประกวดได้พบ 6 แบบอย่างความสำเร็จของชุมชนที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้จนเกิดผลสำเร็จ ได้แก่ การจัดผังน้ำ และระบบส่งน้ำชุมชน การจัดทำฝายชะลอน้ำรูปแบบต่าง ๆ การรักษาแหล่งน้ำด้วยการทำการเกษตรอินทรีย์ การจัดการน้ำของชุมชนบริเวณป่าต้นน้ำด้วยการปลูกหญ้าแฝก การรักษาป่าต้นน้ำด้วยภูมิปัญญาและประเพณีตามวิถีชุมชน รวมทั้งการจัดการป่าต้นน้ำเพื่อประโยชน์สูงสุด           

ทางด้านนายเฉลิมเกีรยติ แสนวิเศษ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเรื่องการบริหารจัดการน้ำโดยทรงมีพระราชประสงค์ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำทั้งประเทศ ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อเตรียมวางแผนร่วมกันรับมือปัญหาน้ำที่จะขาดแคลนมากขึ้น โดยให้มุ่งเน้นการบริหารน้ำและบริหารแหล่งน้ำที่มีอยู่ให้มีการจัดการที่ร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะขณะนี้น้ำสำรองของประเทศมีอย่างจำกัด หากทุกหน่วยงานไม่มองภาพรวมว่าจะประหยัดน้ำกันอย่างไร ในอนาคตจะเกิดปัญหาหนักมากขึ้น ทั้งน้ำที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และน้ำเพื่อการเกษตร ต้องมองหาจุดที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่งมากไป นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเรื่องการสร้างประตูกันลำน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ได้ทั้งหน้าแล้งและระบายออกแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ปล่อยน้ำทิ้งออกทะเลหรือลงสู่แม่น้ำโขงโดยสูญเปล่า รวมทั้งการสร้างแหล่งน้ำชุมชน ฝายชะลอน้ำให้เกิดความชุ่มชื้นและให้สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
   
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงว่า กระทรวงเกษตรฯเตรียมทำโครงการหนึ่งแหล่งน้ำหนึ่งจังหวัด เพื่อให้การจัดหาแหล่งน้ำเป็นไปอย่างทั่วถึงและตรงตามความต้องการของชุมชนทั้งประเทศ โดยได้สั่งการให้   เกษตรและสหกรณ์จังหวัดไปทำงานบูรณาการ  กับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งหมดในแต่ละจังหวัดเพื่อร่วมกันจัดหาพื้นที่สร้างแหล่งน้ำในแต่ละจังหวัด ภายใต้โครงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรระดับจังหวัด โดยให้แต่ละจังหวัดทำแผนเบื้องต้นในการปฏิบัติการตามโครงการดังกล่าวกลับมาที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงฯภายในวันที่ 20 ส.ค. โดยวางเป้าให้โครงการดังกล่าวสามารถเริ่มขับเคลื่อนได้ภายในงบประมาณปี 2554 นี้ หรืออย่างช้าต้นปี 2554 จะต้องมีการเริ่มโครงการได้ทันที โดยจะนำร่อง 2 เขต 9 จังหวัดที่มีความพร้อม ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก สมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด ซึ่งการจัดหาแหล่งน้ำในจังหวัดเหล่านี้อาจจะไม่ใหญ่มาก แต่เน้นในเรื่องการขยายระบบการกระจายน้ำในพื้นที่ชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพและใช้น้ำได้เต็มศักยภาพ 
   
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนา สามารถเริ่มปลูกข้าวนาปีได้แล้ว เนื่องจากสถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลายในบางพื้นที่เพราะมีฝนตกลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางมีฝนตกหนักมากกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รวมทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศเริ่มมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำเข้า  มาจากพายุโกนเซิน อีก 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อดูจากการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศนานาชาติเชื่อว่าปรากฏการณ์ลานินญ่า จะส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น ในหลายพื้นที่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม และฝนตกมากกว่าค่าปกติ ทำให้มั่นใจว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากและสามารถส่งน้ำสนับสนุนการทำนาได้ในทุกพื้นที่

ที่มาข่าว:

รับสั่งให้แก้ปัญหานํ้าแบบบูรณาการ รัฐบาลผุดโครงการ 1 จังหวัด 1 แหล่งนํ้า (เดลินิวส์, 30-7-2553)
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=562&contentID=82003

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net