Skip to main content
sharethis
1 ส.ค.53 จากกรณีที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พยายามให้สำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ไปร่วมลงนามร่างบันทึกความตกลง (MOU) การป้องกันและปราบปรามยาที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า โดยในวันอังคารที่ 3 ส.ค.นี้ จะมีการเรียกประชุม 11 หน่วยงานอีกครั้งก่อนการลงนามในปลายเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.นิยดา เกียรติยอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำหนังสือคัดค้านการลงนามใน MOU ดังกล่าว โดยระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะขยายนิยาม “ยาปลอม” ที่เป็นปัญหาด้านความปลอดภัย ไปสู่ยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ซึ่งดร.นิยดาเสนอแนะว่าขอสร้างความชัดเจนเรื่องคำนิยาม “ยาปลอม” ที่ต้องแยกแยะระหว่าง “คุณภาพและความปลอดภัย” และ “การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา” เพราะหากมีการขยายนิยาม “ยาปลอม” ให้ครอบคลุมเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จะก่อให้เกิดการสับสนและความเข้าใจผิด และเป็นการสกัดกั้นการแข่งขันของยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพและถูกต้องกฎหมาย ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ราคายาถูกลงและเป็นธรรมมากขึ้น และช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้เพิ่มขึ้น
 

 
วันที่ 1 สิงหาคม 2553
 
เรื่อง       ร่างบันทึกความตกลงการป้องกันและปราบปรามยาที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า
เรียน       รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร)
 
                                ตามที่มีการประชุมระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขและทรัพย์สินทางปัญญา และอุตสาหกรรมยาต่างประเทศและในประเทศ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 มีการให้ความหมายอย่างชัดเจนในเรื่อง “ยาปลอม” ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยยา พ.ศ. 2510 (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2530) และไม่รวมถึงยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาคอยกำกับดูแลอยู่ แต่ต่อมาในการประชุมเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ได้มีการเสนอร่างบันทึกความตกลงการป้องกันและปราบปรามยาที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า ที่พบว่ามีส่วนที่อาจเชื่อมโยงกับงานด้านคุณภาพยา ด้วยนั้น
 
ในฐานะที่หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยวิชาการที่ติดตามและศึกษาวิจัยระบบยามาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่กำกับดูแลเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย ที่แยกจากระบบทรัพย์สินทางปัญญาอยู่แล้ว หน่วยงานของรัฐจึงควรที่จะบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและให้เป็นไปภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ   จึงใคร่ขอเสนอแนะให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความชัดเจนในเรื่องคำนิยาม “ยาปลอม” ที่แยกแยะระหว่าง “คุณภาพและความปลอดภัย” และ “การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา” หากมีการขยายนิยาม “ยาปลอม” ให้ครอบคลุมเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จะก่อให้เกิดการสับสนและความเข้าใจผิด และสกัดกั้นการแข่งขันจากยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพและถูกต้องกฎหมาย ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ราคายาถูกลงและเป็นธรรมมากขึ้น และช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้เพิ่มขึ้น อนึ่งในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ครั้งล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 นี้ ได้มีมติที่เกี่ยวกับการนิยาม คำว่า ’ยาปลอม’ ว่าให้มุ่งเน้นเฉพาะด้านคุณภาพยาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เท่านั้น มิใช่ความหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งประเทศไทยก็ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ในครั้งที่ผ่าน ๆ มาด้วยเช่นกัน
 
ดังนั้น ความพยายามของฯพณฯรัฐมนตรีที่จะดึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านคุณภาพและความปลอดภัยของประชาชนและมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวข้องกับระบบยา มาลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องของทรัพย์สินเอกชน เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆจึงไม่สมควร
 
นอกจากนี้ ความผิดของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งร่วมทั้งการละเมิดเครื่องหมายการค้า เป็นความผิดเฉพาะบุคคล ซึ่งต้องมีเจ้าของสิทธิไปแจ้งความกล่าวโทษเจ้าหน้าที่จึงจะสามารถไปจับกุมด้วย ต่างกับฐานความผิดที่ สำนักงาน อย.ดูแลอยู่ที่สามารถจับกุมเมื่อมีการกระทำผิดได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งความกล่าวโทษ เพราะเป็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น จึงไม่ควรบีบบังคับให้ อย.ต้องทำหน้าที่ “ตำรวจทรัพย์สินทางปัญญา” เท่ากับเป็นการสร้างภาระทั้งด้านต้นทุนการดำเนินงานจัดการที่เป็นภาษีแผ่นดินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา  
 
ดังนั้น ขอให้ฯพณฯรัฐมนตรี และกรมทรัพย์สินทางปัญญาทบทวนเรื่องดังกล่าว และจัดให้มีการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความพยายามในการดึงหน่วยงานด้านยามาทำหน้าที่การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ และสังคม ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม ยินดีสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนิยาม ‘ยาปลอม’ ตลอดจนการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ทำงานร่วมกับแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
                                จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
                                                                                                ขอแสดงความนับถือ
 
                                                           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร. นิยดา เกียรติยอังศุลี        
                                                                     หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม
                                                                       คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net