บัวแก้วเตรียมแจงจม.ที่ปรึกษากษัตริย์กัมพูชา-สุขุมพันธุ์ยันMOU ปี43 ปกป้องไทยไม่เสียดินแดน

4 ส.ค.53 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีเจ้าชายสีโสวัฒน์ โทมิโก ที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชา ส่งจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วง และอยากให้เกิดความปรองดองเรื่องเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ในปัญหาปราสาทพระวิหารว่า นายกรัฐมนตรีได้รับจดหมายดังกล่าวแล้ว เข้าใจว่าเป็นจดหมายในนามส่วนตัว คาดว่า ภายใน 1-2 วันกระทรวงต่างประเทศจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมในจดหมายนี้ได้

โดยรวมเนื้อหาในจดหมายเป็นการยืนยันความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-กัมพูชา พร้อมแสดงความเป็นกังวลเรื่องผลกระทบของการปักปันเขตแดนที่ไม่ชัดเจนในอดีต และแสดงความเป็นกังวลและไม่สบายใจในช่วงที่กัมพูชาถูกปกครองโดยรัฐอาณานิคม ทำให้เกิดปัญหาตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาตามมา โดยเห็นว่า จะเกิดประโยชน์หากไทย-กัมพูชาจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา นอกจากนี้เนื้อหาในจดหมายยังตั้งข้อสังเกตถึงสนธิสัญญา แผนที่บางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนของทั้งสองประเทศต้องไปพูดคุยกัน ซึ่งหวังว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไทย-กัมพูชา จะช่วยพาให้ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ส่วนกังวลหรือไม่ว่า จดหมายดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมืองการเมือง นายปณิธานตอบว่า ไม่กังวล เพราะเนื้อหาในจดหมายมีความปรารถนาดี

 
สุขุมพันธุ์ย้ำMOU ปี 43 ป้องไทยไม่เสียดินแดน
วันที่ 4 ส.ค. 2553 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม. ในฐานะอดีต รมช.ต่างประเทศ ได้ส่งแถลงการณ์เรื่องบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ฉบับวันที่ 14 มิ.ย.2543 ผ่านส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ถึงสื่อมวลชนประจำรัฐสภา โดยแถลงการณ์มีเนื้อหาพอสรุปได้ว่า หลายวันที่ผ่านมาได้เกิดความสับสนเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบก จึงต้องชี้แจงข้อเท็จจริงก่อนจะเกิดความเสียหายต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยที่มาของเอ็มโอยูดังกล่าว รัฐบาลทั้งสองประเทศมีเจตนาตรงกันที่จะส่งเสริมความสัมพันธไมตรีอันดี จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำหลักเขตแดนทางบกให้ถูกต้อง หลังจากสูญหายไปกว่า 100 ปี

หลังคณะปักปันเขตแดนร่วมกรุงสยามและประเทศฝรั่งเศสจัดทำขึ้นมา โดยเฉพาะได้ถูกทำลายในช่วงเกิดสงครามในกัมพูชา ซึ่งการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนเป็นเรื่องสลับซับซ้อนวิธีดำเนินการดีที่สุด คือ การจัดทำหนังสือสัญญา เพื่อใช้เป็นกรอบอ้างอิง ซึ่งหนังสือสัญญาดังกล่าวเป็นข้อผูกมัดในเรื่องวิธีการดำเนินการเท่านั้น ไม่ได้เป็นข้อผูกมัดถึงผลของการดำเนินการ และ ไทย ได้ทำกับมาเลเซียและลาวมาแล้วก่อนหน้านี้

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า เอ็มโอยูดังกล่าวมีสาระสำคัญคือการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) เพื่อรับผิดชอบการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน โดยมีข้อตกลงจากทั้ง 2 ฝ่ายว่า ระหว่างการสำรวจจะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดในสภาพแวดล้อมของบริเวณพื้นที่เขตแดน ส่วนใครได้ใครเสียจากเอ็มโอยูดังกล่าวนั้น คิดว่าทั้งสองเป็นฝ่ายได้ เพราะการยอมรับอนุสัญญาปี ค.ศ1904 และสนธิสัญญาปีค.ศ.1907 เป็นเอกสารพื้นฐานสำหรับดำเนินงานเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ มิได้ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหาย การยอมรับแผนที่ทั้งหลาย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปักปันเขตแดน โดยคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนร่วมอินโดจีน-สยาม เป็นเพียงองค์ประกอบของการดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตเท่านั้น

หากแผนที่ฉบับใดฉบับหนึ่ง ไม่เป็นที่ยอมรับของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในการวินิจฉัยกรณีปราสาทพระวิหารปี 2005 ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาหาข้อยุติได้ หรือหากสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อยุติได้ สามารถชะลอการพิจารณาไปก่อนได้ เพราะไม่สามารถไปบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมตามที่ตนต้องการได้

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวต่อว่า อาจกล่าวได้ว่าในมาตรา 5 ของเอ็มโอยู เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเป็นกรอบสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เห็นได้จากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมัยนั้นได้จัดประชุมเจบีซี ถึง 3 ครั้ง มี นายประชา คุณเกษม เป็นหัวหน้าคณะ ช่วงที่เกิดข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร กระทรวงการต่างประเทศได้ใช้เอ็มโอยูฉบับนี้ เป็นเอกสารอ้างอิงในการทักท้วงทุกครั้ง ซึ่งเอ็มโอยูดังกล่าว ยังไม่มีรัฐบาลของฝ่ายใดมองว่าทำให้ประเทศตนเองเสียเปรียบ หากสร้างความเสียหายจริง คงมีการวิพากษ์วิจารณ์ หรืออาจมีการแก้ไขเนื้อหาไปแล้ว และ ผลสรุปของเจบีซีไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะต้องได้รับความเห็นชอบโดยครม.และรัฐสภาอีก ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเอ็มโอยูฉบับนี้เป็นเครื่องประกันไม่ให้ไทยสูญเสียดินแดนในพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิอธิปไตยทับซ้อน

 
"มาร์ค"เผยกัมพูชายังไม่ส่งสัญญาณเจรจาแก้ปมประสาทพระวิหาร
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้รับสัญญาณจากทางกัมพูชาที่จะให้มีการเจรจาในกรอบความร่วมมือหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในกรณีปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร รวมทั้งยังไม่ได้รับหนังสือจากที่ปรึกษาของกษัตริย์กัมพูชาที่จะพยายามคลี่คลายความขัดแย้งทั้งเรื่องปราสาทพระวิหารและพื้นที่พิพาทอื่นๆ ตลอดแนวชายแดนตามที่มีกระแสข่าวว่าได้ส่งมาถึงไทย
อย่างไรก็ตาม หากทางไทยและกัมพูชาสามารถเจรจากันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ  ได้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามที่จะแสดงออกให้เห็นว่าอยากให้การดำเนินการเรื่องนี้อยู่บนพื้นฐานของสันติภาพและความปรองดองอยู่แล้วและยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงไปเจรจากับทางการกัมพูชา เพราะคณะกรรมการชุดที่เพิ่มจัดตั้งขึ้น มีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานทำหน้าที่อยู่แล้ว

"ทางกัมพูชาควรจะยอมรับที่จะไม่มีการผลักดันการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว เพราะยังถือว่าเป็นการสร้างความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น แต่หากทางกัมพูชาให้การยอมรับหรือมีการพูดคุยกับฝ่ายไทยถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี"
 
"สุเทพ"ไม่รู้เรื่องจม."เจ้าชายกัมพูชา"ส่งถึง"มาร์ค"ร่วมมือแก้ปมพระวิหาร
 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ถึงกรณีเจ้าชายสีโสวัฒน์ โทมิโก ที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชา ได้ส่งจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อโน้มน้าวให้ไทยกับกัมพูชา ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ว่า ไม่ทราบเรื่องจดหมาย แต่ในหลักการประเทศไทยยึดหลักการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านด้วยความเข้าใจ ด้วยสันติ ไม่ต้องการให้มีความขัดแย้ง กรณีเขาพระวิหารเราไม่ได้โต้แย้งเรื่องตัวเขาพระวิหาร เราทำตามที่ศาลโลกได้ตัดสินเอาไว้

"แต่พื้นที่รอบเขาพระวิหาร ซึ่งยังเป็นพื้นที่กรณีพิพาท ก็ต้องหาวิธีการในการตกลงให้ได้ว่าเขตแดนอยู่ตรงไหกันแน่ หากทั้ง 2 ฝ่าย เร่งรัดทำงานเสร็จเร็วเท่าไรเขตแดนชัดเจนก็ไม่ต้องทะเลาะกัน ไม่ต้องขัดใจกัน แต่ระหว่างที่เขตแดนยังไม่เรียบร้อยมีหนทางไหนที่พูดคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งก็สมควรที่จะทำ" นายสุเทพ กล่าว
 
เจ้าชายเขมรร่อนจม.ถึง"อภิสิทธิ์"เรียกร้องยุติขัดแย้งร่วมมือพัฒนา
ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ของกัมพูชารายงานเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมว่า เจ้าชายสีโสวัฒน์ โทมิโก ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชา ได้ส่งจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม เพื่อพยายามแก้ปัญหาการเผชิญหน้ากันในเรื่องสถานะของปราสาทพระวิหารและข้อขัดแย้งอื่นๆ บริเวณชายแดน

พนมเปญโพสต์รายงานว่า ในจดหมายที่ส่งมาจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เจ้าชายสีโสวัฒน์ ระบุว่าทั้ง 2 ประเทศจะได้รับผลประโยชน์จากการยุติเรื่องดินแดนไว้ชั่วคราวเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในภูมิภาค

จดหมายฉบับดังกล่าวระบุว่า "การยกเรื่องการอ้างสิทธิเหนือเขตแดนเป็นความพยายามที่ไร้ประโยชน์ในการขุดคุ้ยหน้าประวัติศาสตร์ และเป็นการทำร้ายประชาชนของเราโดยการขัดขวางการเข้าไปลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่"

"ท่านนายกรัฐมนตรี ความปรารถนาสูงสุดของข้าพเจ้าคือการได้เห็นปราสาทพระวิหารคงอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของการปรองดองกันระหว่างทั้ง 2 ชาติ ในฐานะความราบรื่น กลมกลืนในความสัมพันธ์ของเรา และในฐานะของรูปแบบความร่วมมือระหว่างเพื่อนบ้านที่ออกดอกผลอุดมสมบูรณ์" จดหมายระบุ

ขณะที่รายงานข่าวอีกชิ้นของพนมเปญโพสต์รายงานถึงคำกล่าวของซู วิลเลียมส์ โฆษกขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ที่กล่าวเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมถึงเรื่องนี้ว่าคณะกรรมการมรดกโลกไม่มีอำนาจที่จะรับรองสิ่งใดๆ ก็ตามและทำได้เพียงบันทึกถึงการได้รับแผนการบริหารจัดการของกัมพูชาเท่านั้น
 
 
 
ที่มา: มติชนออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท