Skip to main content
sharethis

ไกรศักดิ์ ระบุกติกาเลือกตั้งพม่าสุดเผด็จการ เจอประท้วงเงียบ ขึ้นป้ายไทยไม่ต่างจากพม่า นักข่าวมองการเลือกตั้งในพม่าเป็นตรายางของทหารสวมชุดพลเรือน อดีต ส.ส.เอ็นแอลดีระบุ พรรคถูกยุบ แต่ยังไม่ถูกทำลาย ด้านอดีตนักโทษการเมืองเผยถูกจำคุกเพียงเพราะวิจารณ์รัฐบาลทหาร หวั่นไทยส่งกลับชาวพม่าหลังเลือกตั้ง ชี้จะเกิดการละเมิดสิทธิตามมา

(8 ส.ค.53) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.), มูลนิธิส่งเสริมสันติวิธี, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย, องค์กรเพื่อนพม่า, Altsean, และ B with Us องค์การเอกชนที่ทำงานประเด็นพม่าในประเทศไทย ร่วมจัดงานรำลึก 22 ปี เหตุการณ์ 8888 ซึ่งเป็นเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญในพม่าขึ้น ที่ห้องประชุมมาลัยหุวะนันทน์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ไกรศักดิ์เจอประท้วงเงียบ! ไทยไม่ต่างจากพม่า

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อประชาธิปไตยในพม่า กล่าวถึงกฎหมายการเลือกตั้งในพม่า ซึ่งมีความเป็นเผด็จการชนิดที่ไม่มีที่ไหนในโลก อาทิ กีดกันไม่ให้นักการเมืองกลุ่มหนึ่งลงเลือกตั้ง อนุญาตว่าใครจะมีสิทธิเลือกตั้งบ้าง โดยกำหนดด้วยว่าชนชาติไหนจะเลือกได้เท่าไหร่ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้มีกลุ่มคนที่ทำหน้าที่และมีสิทธิเลือกตั้งให้คนอื่นได้ด้วย ซึ่งเขาตั้งคำถามว่า เช่นนี้แล้วจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ไกรศักดิ์กล่าวว่า หากมีนักการเมืองกลุ่มใดที่ไปร่วมลงเลือกตั้ง ก็ขอให้อย่าไปต่อว่าเขา เพราะเขาเหล่านั้นอาจหวังว่าการสู้ในระบบจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงได้บ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ เขาย้ำด้วยว่า จะต้องทำให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ไม่ใช่กลุ่มอำมาตย์หรือทหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนายไกรศักดิ์กล่าวถึงสถานการณ์ในพม่านั้น มีนักกิจกรรม 2 คนในห้องประชุม ชูป้ายซึ่งมีข้อความ "Thailand as well" ขึ้นประท้วงเงียบๆ ด้วย

การเลือกตั้ง: ตรายางของทหารสวมชุดพลเรือน
ด้านสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส นสพ.เดอะเนชั่น กล่าวในการเสวนา หัวข้อ "การเลือกตั้งของพม่านำไปสู่อะไร" ว่า รัฐธรรมนูญของพม่าซึ่งผ่านการประชามติในช่วงที่มีภัยพิบัตินาร์กีสนั้น เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการอยู่ในการเมืองของทหาร มากกว่าจะเป็นบทบัญญัติ ของประชาชน และขณะที่ในประเทศอื่น กองทัพเป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนการสถาปนาอำนาจรัฐ แต่พม่ากลับมีกองทัพเป็นแกนกลางของรัฐ ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าทำคือรักษาบทบาทของทหารให้เป็นแกนกลาง โดยสร้างให้ชนกลุ่มน้อยและชาวพม่าที่ท้าทายอำนาจเป็นศัตรูของชาติ และให้กองทัพทำหน้าที่เป็นผู้ขจัดศัตรูของชาตินี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนจำนวนมากต่อต้านว่ากองทัพไม่ควรมีบทบาทปกครองประเทศ พม่าจึงต้องปรับเปลี่ยนจากประเทศที่ดำเนินงานโดยกองทัพ มาปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน แต่ปัญหาคือ กองทัพไม่ได้ยอมถอยไปง่ายๆ โดยปัจจุบัน มีทหารจำนวนหนึ่งถอดเครื่องแบบแล้วไปตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง ซึ่งการจัดตั้งพรรคนี้มีการเตรียมการกันมานานร่วม 10 ปีแล้ว

สุภลักษณ์มองว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นตรายางประทับรับรองของรัฐบาลใหม่ที่มาจากทหารที่ใส่ชุดพลเรือนเท่านั้น ไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไป ไม่ใช่การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม เพราะกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ ไม่เสรี มีเพียงบางกลุ่มได้รับอนุญาตให้หาเสียงได้ และเพียงบางคนมีสิทธิเล่นการเมือง กติกาเหล่านี้ไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ดึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ประชาชนมีหน้าที่รับรองบทบาทของกองทัพทางการเมืองเท่านั้น

สุภลักษณ์ ระบุว่า หลังการเลือกตั้ง ทหารพม่าไม่ได้ถอยออกไปจากการเมือง เป็นเพียงการเปลี่ยนเครื่องแบบเท่านั้น ทหารจะเล่นบทบาทควบคุมทางการเมืองที่มากขึ้นกว่าเดิม โดยมีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น ยิ่งกว่านั้น กองทัพจะมีบทบาทการบริหารงานทางเศรษฐกิจด้วย โดยมีธุรกิจขนาดใหญ่คือการขายแก๊สให้ไทยอยู่ในมือ

ขณะที่ประชาสังคมของพม่าจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน เพราะระบบเศรษฐกิจของพม่าขึ้นอยู่กับการขายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งกระจุกที่กองทัพและผู้ใกล้ชิด เมื่อคนไม่มีเงิน โครงสร้างของสังคมพม่าจึงหดแคบลง คนไม่มีพลังที่จะใช้ต่อรองกับรัฐบาล

ทั้งนี้ สุภลักษณ์ทิ้งท้ายไว้ว่า การที่เศรษฐกิจจะสร้างประชาสังคมในพม่าเพื่อสร้างประชาธิปไตยคงจะไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นนี้ แต่หากมีแนวโน้มจะเกิดขึ้น ก็อยากให้ศึกษาโมเดลการเมือง-เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แม้จะมีการตื่นตัวทางเศรษฐกิจมาก มีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น ก็ไม่ได้แปลว่าทหารจะถอยจากการเมืองไปง่ายๆ ในประเทศอื่นๆ ชนชั้นกลางเหล่านั้นเองที่เรียกร้องให้ทหารกลับเข้ามาอีกครั้ง


อดีต ส.ส.เอ็นแอลดีระบุ พรรคถูกยุบ แต่ยังไม่ถูกทำลาย

ด้านโกวินเลียง อดีต ส.ส.จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี กล่าวถึงความไม่ยุติธรรมในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาทิ มีการห้ามข้าราชการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ขณะที่มีทหารลาออกมาเข้าร่วมพรรคการเมืองได้ พรรคการเมืองอื่นไม่ได้รับการสนับสนุนการเงินจากรัฐบาล ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการตั้งพรรคสูง โดยพรรค USDP ของรัฐบาลทหารได้รับเงินจาก USDA ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนโดยรัฐบาล นอกจากนี้ พรรคการเมืองหลายพรรคอยู่ระหว่างรอการอนุญาตให้รณรงค์หาเสียง ขณะที่ USDP ได้เริ่มหาเสียงแล้ว

อดีต ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี ระบุด้วยว่า แม้พรรคเอ็นแอลดีนั้นจะถูกยุบโดยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แต่ยังไม่ได้ถูกทำลายไป ทั้งนี้ เขาได้เรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งรวมถึงนางอองซานซูจี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี โดยไม่มีเงื่อนไข และให้รัฐบาลทหารเลิกคุกคามชนกลุ่มน้อยและผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วย


อดีตนักโทษการเมืองเผยถูกจำคุกเพียงเพราะวิจารณ์รัฐบาลทหาร

ขณะที่โกเมเม อดีตนักศึกษากิจกรรมและนักโทษการเมืองในพม่า เล่าว่า เขาถูกจับกุม เนื่องจากขณะที่เขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่สองได้พยายามก่อตั้งองค์กรนักศึกษาขึ้น ในขณะนั้น เขาเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย ครอบครัวก็ไม่ทราบว่าเขาหายไปไหนและนึกว่าเขาเสียชีวิตไปแล้ว โดยเขาถูกทรมานมาตลอดเวลากว่าสองเดือนที่ถูกควบคุมตัว ถูกปฎิบัติเหมือนเป็นสัตว์ เป็นทาส

นอกจากนี้ เขาได้กล่าวถึงนักโทษการเมืองในพม่าว่าขณะนี้มีถึง 2,000 กว่ารายแล้ว โดยต่างถูกตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลานาน บางคนก็ตลอดชีวิต เพียงเพราะวิจารณ์รัฐบาลทหาร และขณะที่มีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 8888 ในประเทศไทยได้นั้น ในพม่าไม่สามารถทำได้ ในโอกาส 22 ปีเหตุการณ์ 8888 เขาจึงร้องขอต่อผู้เข้าร่วมเสวนาให้ใช้เสรีภาพของตัวเองเพื่อสนับสนุนเสรีภาพของชาวพม่าด้วย


หวั่นไทยส่งกลับชาวพม่าหลังเลือกตั้ง ชี้จะเกิดการละเมิดสิทธิตามมา

อดิศร เกิดมงคล กรรมการเครือข่ายปฎิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ เปรียบเทียบว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในพม่าเป็นเหมือนปลั๊กอินของระบบคอมพิวเตอร์ คือเป็นส่วนเสริมให้หน้าตาของโปรแกรมดูดีขึ้น ระบบบางตัวทำงานดีขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ระบบเปลี่ยนไป ไม่ได้ทำให้การเมืองในชีวิตประจำวันดีขึ้น และอาจจะแย่ลงไปอีก

เขาย้ำด้วยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ทำให้ผู้ลี้ภัยลดลง โดยเล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชายแดนว่า รัฐบาลพม่าพยายามสลายกองกำลังชนกลุ่มน้อย ให้เปลี่ยนเป็นหน่วยดูแลชายแดน ซึ่งทำให้เกิดปัญหา เพราะไม่มีใครเชื่อว่าทหารพม่าจะรักษาคำพูด เมื่อชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มไม่มั่นใจ อาจเกิดการปะทะกันและมีคนที่ได้รับผลกระทบ โดยที่ผ่านมา รัฐกระเหรี่ยงเริ่มยิงกับทหารพม่า ทำให้มีคนไหลทะลักเข้ามาในไทยแล้ว

อดิศรกล่าวว่า การเลือกตั้งจะทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้กับข้ออ้างของรัฐบาลประเทศแถบนี้ โดยเฉพาะไทย ที่ต้องดูแลผู้ลี้ภัย โดยที่ผ่านมา การพิสูจน์สัญชาติพม่าซึ่งทำที่ชายแดนนั้น พบว่ามีหลายกรณีที่มีผู้ที่ไม่มีเอกสารไปพิสูจน์ แต่กลับได้รับสัญชาติ ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่า ระบบแบบนี้อาจเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ลงคะแนนในการเลือกตั้งให้รัฐบาลทหารพม่า

นอกจากนี้ ไทยยังพยายามใช้ความชอบธรรมเรื่องเลือกตั้ง เพื่อจัดการกับผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ โดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) บอกว่าจะส่งผู้ลี้ภัย แสนกว่าคนกลับประเทศ สิ่งที่รัฐบาลไทยจะทำคือยอมรับความชอบธรรมของการเลือกตั้ง และทำให้เกิดการผลักดันและส่งกลับผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ โดยอ้างว่าการเมืองในพม่าดีขึ้นแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจในพม่าดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่าผู้ที่เข้ามาในประเทศนั้น ไม่ได้เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มาเพราะปัจจัยทางการเมืองด้วย ซึ่งหากรัฐบาลไทยยังมีนโยบายส่งกลับหลังการเลือกตั้ง อาจทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษชนในชายแดนเพิ่มมากขึ้น ชุมชนในพื้นที่และสังคมไทยจะได้รับผลกระทบ จากการจ้างงานแบบผิดกฎหมายและการเข้าไม่ถึงกลไกการคุ้มครองตามกฎหมายของบุคคลเหล่านี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า อดิศร ระบุว่า มีความหวังกับคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ ชนชั้นกลางระดับล่างรุ่นใหม่ในพม่า ซึ่งอาจเกิดไม่ทันเหตุการณ์ 8888 แต่ทันเหตุการณ์ปฎิวัติชายจีวร คนกลุ่มนี้เข้าถึงเครื่องมือการสื่อสาร ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบใหม่ได้ โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้จะเกิดขึ้นแบบแนบเนียนและค่อยๆ เซาะฐานอำนาจของรัฐบาลทหาร

ส่วนกลุ่มที่สอง คือแรงงานข้ามชาติที่เข้าไปทำงานในประเทศต่างๆ โดยในขณะที่นักกิจกรรมรุ่นเก่าถูกตัดขาดจากบ้านที่เคยอยู่ โดยคนกลุ่มนี้ยังกลับบ้านได้ สามารถเชื่อมโยงเคลื่อนไหวบางอย่างได้ โดยจากประสบการณ์ทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติ พบว่า ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ มีกลุ่มที่สนใจการเมือง แต่ไม่ได้แสดงตัว ซึ่งจะเห็นได้จากการให้ความช่วยเหลือกรณีไซโคลนนาร์กีส ที่กลุ่มเหล่านี้จะเข้าไปช่วยเหลือคนที่รัฐบาลไม่สนใจ หรือเมื่อเกิดปฎิวัติชายจีวร คนกลุ่มนี้ก็ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวด้วย

ทั้งนี้ อดิศรกล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในพม่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อคนทั้งสองกลุ่มโดยตรง จะมีก็เพียงนโยบายของไทยที่อาจมีขึ้นตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ดังนั้น ทั้งสองกลุ่มนี้จะยังคงเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีสีสันได้

อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 8888 ในไทยนั้น ทุกปีจะมีการประท้วงที่หน้าสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ แต่เนื่องจากปีนี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ ทางกลุ่มผู้จัดจึงไม่จัดการชุมนุม เพราะเกรงจะเกิดปัญหาตามมา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net