แจงประเด็นเงื่อนไข “เปลี่ยนเครือข่ายใหม่เบอร์เดิม”ยังต้องปรับปรุง

ผอ.สบท.ระบุผู้ให้บริการไม่มีสิทธิบังคับผู้บริโภคต้องใช้บริการรายเก่า 3 เดือนก่อนย้าย ยกเว้นให้บริการฟรี ชี้ต้องดูแลการถ่ายโอนเงินคงเหลือ บริการเสริม ย้ำชัดอ้างหนี้ค้างชำระไม่ให้ย้ายเครือข่ายไม่ได้

 
ในวาระครบรอบ 1 ปี ที่ประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยังไม่ได้ถูกบังคับใช้ เนื่องจากความไม่พร้อมของผู้ให้บริการ และในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจาณาเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติในการโอนย้ายเครือข่ายใหม่โดยใช้เบอร์เดิม นั้น
 
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยถึง เงื่อนไขแนวทางปฏิบัติการโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการตามประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า มีหลายประเด็นที่เห็นว่าควรมีการพิจารณา เช่น การที่ผู้ให้บริการกำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่จะมีสิทธิใช้บริการ “เปลี่ยนเครือข่ายใหม่ ใช้เบอร์เดิม” ได้นั้นจะต้องใช้บริการกับรายเดิมมาอย่างน้อย 90 วัน ซึ่งหมายความว่า ถ้าหากผู้ใช้บริการเพิ่งเปิดใช้บริการโทรศัพท์หรือเพิ่งย้ายเครือข่ายถ้าไม่เกิน 90 วัน ก็ไม่สามารถย้ายเครือข่ายได้ การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไม่เป็นธรรมและไม่สมเหตุสมผล เพราะมีการกำหนดอยู่แล้วว่าการให้บริการคงสิทธิเลขหมายมีการคิดค่าธรรมเนียม ดังนั้นการโอนย้ายย่อมเหมือนการขอเปิดเบอร์ใหม่ ซึ่งเราจะเปิดวันไหนก็ได้ บริษัทไม่มีสิทธิกำหนดว่าคุณต้องอยู่ 90 วัน ในเมื่อผู้บริโภคเป็นฝ่ายรับผิดชอบต้นทุนของตัวเองอยู่แล้ว เว้นแต่ว่าบริษัทจะเปิดให้ขอใช้บริการได้ฟรีโดยปลอดค่าธรรมเนียม
 
“การกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการรายเดิมอยู่ 90 วันห้ามเปลี่ยน น่าจะเป็นกรณีที่ให้บริการฟรี เช่น มาตกลงเงื่อนไขกันว่า คุณต้องอยู่กับเครือข่ายผม 60 วัน ถ้าคุณย้ายก่อน 60 วันคุณต้องเสียเงิน เพราะถือว่าเป็นการใช้สิทธิพร่ำเพรื่อ แต่ถ้าคุณใช้เกิน 60 วันจะสามารถใช้สิทธิขอโอนย้ายฟรีได้ ก็ดูสมเหตุสมผลต่อทั้งสองฝ่ายมากขึ้น” ผอ.สบท.กล่าว
ส่วนเรื่องค่าบริการคงสิทธิเลขหมาย 99 บาทนั้น การคิดค่าบริการต้องขึ้นกับต้นทุนโดยถือว่าเป็นบริการที่ไม่แสวงหากำไร เหมือนกับการตั้งบริษัทกลาง ที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ทุกบริษัท ซึ่งจากการสำรวจของ สบท.มีผู้บริโภคถึงร้อยละ 10 ที่ต้องการใช้บริการเปลี่ยนเครือข่ายใหม่เบอร์เดิม จำนวนผู้ต้องการใช้บริการที่มากต้นทุนจึงถูกลงได้อีกมาก จากเดิมที่ผู้ให้บริการคิดบนฐานว่า มีผู้ต้องการใช้บริการเพียงร้อยละ 1 ดังนั้นการคิดค่าบริการที่ 99 บาท ถือว่าแพงเกินไป 
 
ประเด็นต่อมาคือ การเตรียมความพร้อมเรื่องการถ่ายโอนเงินคงเหลือ เพราะเมื่อมีการให้บริการคงสิทธิเลขหมายแล้ว ผู้ใช้บริการในระบบจ่ายเงินล่วงหน้า (เติมเงิน) จะต้องจดทะเบียนกับรายเดิมก่อน และเมื่อโอนย้ายสำเร็จหากมีเงินคงเหลือ ไม่ควรที่ผู้ใช้บริการต้องย้อนกลับไปขอเงินคืนจากรายเดิมอีก แต่ควรมีระบบที่อำนวยความสะดวกเช่น เมื่อโอนย้ายเครือข่ายใหม่สำเร็จแล้ว ผู้ให้บริการรายเดิมอาจส่งเป็นเช็ค หรือโอนย้ายเข้าบัญชีธนาคารให้ได้เลย ไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการต้องกลับไปขอเงินคงเหลือคืนอีกรอบ 
 
ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า ในกรณีนี้รวมถึงบริการเสริมต่างๆ ด้วย ถ้าเราโอนย้ายเครือข่าย บริการเสริมต่างๆ ก็สิ้นสุดไปด้วย แต่ในกรณีที่เป็นประเภทจ่ายเงินล่วงหน้า เช่น ตัดเงินไปก่อนแล้วสำหรับบริการ 1 เดือน แต่เราเพิ่งใช้บริการครึ่งเดือนแล้วโอนย้าย แปลว่า สิทธิในการรับบริการเสริมอีกครึ่งเดือนหายไป ซึ่งผู้ให้บริการต้องคืนเงินให้กับผู้ใช้บริการ หรืออาจมีการถ่ายโอนกันระหว่างผู้ให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่เสียสิทธิที่เหลืออยู่
 
ประการต่อมาคือระยะเวลาในการโอนย้าย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาในการโอนย้าย 3 วันตามที่กฎหมายระบุ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายเลขหมายเดียวหรือมากกว่า 25 เลขหมายก็ตาม เพราะการอ้างว่า จำนวนเลขหมายที่มากขึ้นทำให้ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารมากนั้น ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากปกติการตรวจสอบเอกสารจะตรวจสอบเจ้าของ คือ บัตรประชาชนและทะเบียนนิติบุคคล เท่านั้น 
 
“การขอโอนย้ายครั้งละหลายเลขหมาย ไม่ว่าจะเป็น 25 เลขหมายหรือ 100 เลขหมาย เท่ากับตรวจสอบหลักฐานครั้งเดียวใช้ได้เลย เวลาที่ใช้น่าจะสั้นกว่า ขณะที่ผู้บริโภค 100 คน 100 เลขหมาย เขาต้องตรวจสอบเอกสาร 100 ชุด ตรวจสอบเสร็จภายใน 3 วันได้ แต่ตรวจสอบเอกสารชุดเดียว 100 เบอร์ต้องใช้เวลา 20 วัน ดูไม่สมเหตุสมผล” ผอ.สบท.กล่าว 
 
ประเด็นสุดท้ายคือ การระบุว่า ผู้ใช้บริการต้องชำระหนี้ค้างชำระให้หมดก่อนนั้น เป็นจริงไม่ได้ เพราะถ้าใช้ระบบจดทะเบียน หนี้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะตัดเครือข่ายเดิมแล้วต่อเครือข่ายใหม่สำเร็จ เนื่องจากแม้จะมีการตัดยอดบิลหลังสุด แต่ผู้บริโภคก็มีสิทธิใช้มือถือในช่วงก่อนโอนย้ายสำเร็จ ดังนั้นระบบที่สมเหตุสมผลคือ การที่บริษัทแจ้งยอดหนี้ให้ผู้บริโภคทราบทีเดียวหลังการโอนย้าย เพื่อให้ชำระคืนเป็นยอดเดียว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท