น.ร.เชียงรายพบ 'กก.สิทธิฯ' แฉโดนทั้งคุกคาม-โทร.ขู่ ด้านวุฒิฯ เตรียมลงพื้นที่สอบเหตุ

หนึ่งใน นศ.เชียงรายผู้ถูกคดี ขอรัฐบาลดำเนินการ 4 ข้อ ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทุกจังหวัด-เร่งเยียวยาผู้สูญเสีย-ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำ-บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ส่วนวุฒิฯ ถก-สงสัยยอดผู้บาดเจ็บ เผยเล็งลงพื้นที่สอบเหตุจับ 5 น.ร.-นศ.

 
วานนี้ (9 ส.ค.53) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายธนิต บุญญนสินีเกษม แกนนำกลุ่มพลังมวลชน จ.เชียงราย พร้อมด้วย นายกิตติพงษ์ นาตะเกศ อายุ 24 ปี นายนิติเมธพนฎ์ เมืองมูลกุลดี อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และนักเรียนชาย อายุ 16 ปี ชั้นม.5 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงราย เดินทางเข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ตามหมายเชิญเพื่อให้ข้อมูลกรณีถูกเจ้าหน้าที่ออกหมายจับในข้อหาชุมนุม หรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในเขตพื้นที่ ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศ พ.ร.ก., ร่วมกันเสนอข่าวทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชน เกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา จากกรณีที่กลุ่มนักศึกษาและนักเรียน ชูป้ายเห็นคนตายที่กรุงเทพฯ
 
นักเรียนอายุ 16 ปี กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ขอรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการที่เดินทางไปจัดกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับพี่ๆ นักศึกษา ว่าในแต่ละครั้งที่ไปร่วมนั้น ทำอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน ก็ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงไปหมดแล้ว นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงกรณีที่ถูกคุกคามข่มขู่ด้วย ก็ให้ข้อมูลไปว่าก่อนหน้านี้ถูกคุกคามอย่างหนัก และถูกโทรศัพท์ข่มขู่ให้เลิกออกมาร่วมชุมนุม เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวายรวมทั้งบุกไปข่มขู่ถึงโรงเรียน ทำให้ต้องหลบหนียืนยันว่าการออกมาร่วมชุมนุม เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย หากไม่สร้างความเดือดร้อนให้บ้านเมือง
 
นอกจากนี้ นายกิตติพงษ์ หนึ่งในนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่ถูกจับกุม ได้เรียกร้องผ่านสื่อมวลชนขอให้รัฐบาลดำเนินการ 4 ข้อ คือ 1.ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทุกจังหวัด เพราะทำให้ประชาชนเดือดร้อน 2.เร่งเยียวยาผู้บาดเจ็บ และช่วยเหลือญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กระชับพื้นที่ 3.เร่งดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำในขณะนี้ และ 4.ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ไม่เป็นแบบ 2 มาตรฐาน อย่างกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาชุมนุมเรื่องปราสาทพระวิหารที่ทำเนียบรัฐบาล แต่กลับไม่ถูกจับกุม ทั้งที่ชุมนุมอยู่ในพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
 
นายกิตติพงษ์ กล่าวด้วยว่า การออกมาจัดกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษานั้น ไม่ใช่เป็นการชุมนุมทางการเมือง เพียงแค่ออกมาทำกิจกรรมเล็กๆ ด้านสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่น่าจะผิดตรงไหน ดังนั้น การจัดกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มเราก็จะยังคงดำเนินการต่อไป แต่ช่วงนี้ขอรอดูท่าทีของรัฐบาลก่อนว่าจะเอาอย่างไรกับพวกเรา
 
นายธนิต กล่าวว่า จะชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ด้วย กรณีที่ถูกกล่าวว่าจ้างเด็กยืนชูป้าย ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือไปจ้างให้เด็กดำเนินการ เพราะเคารพในสิทธิของนักศึกษาและเด็กทั้ง5 คน ที่ถูกจับเพราะละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งกระทำด้วยความตั้งใจภายใต้สิทธิรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้จ้างวานเด็กให้ชูป้าย
 
ส่วนแกนนำกลุ่มพลังมวลชน จ.เชียงราย กล่าวต่อว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมาขณะที่กำลังจะไปทำธุระ และเดินผ่านจุดที่นักศึกษาชุมนุม และได้ยินว่ามีเด็กมาชูป้ายประท้วงรัฐบาล ด้วยความสนใจจึงเดินเข้าไปดู พร้อมทั้งชื่นชมในความกล้าหาญของนักศึกษากลุ่มนี้ พอเด็กทำกิจกรรมเสร็จ ก็เดินเข้าไปพูดคุยด้วย ช่วงนั้นก็มีคนเสื้อแดงมาขอถ่ายรูปด้วย ก่อนแยกย้ายกันไป ต่อมามีการนำภาพที่ยืนถ่ายกับเด็กกลุ่มนี้ไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก เพื่อให้สังคมออนไลน์ของคนเสื้อแดงได้ทราบว่ามีเด็กนักศึกษาใจกล้า มีหัวใจประชาธิปไตย กล้าแสดงออก หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งข้อกล่าวหาแก่เด็กทั้ง 5 คน ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมทั้งตนด้วย
 
"การแจ้งข้อกล่าวหานี้ ต้องการที่จะนำมาเชื่อมโยงให้ถึงผม เพื่อให้การดำเนินการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีน้ำหนักมากขึ้น โดยหลักฐานที่ตำรวจนำมาชี้แจง ก็นำมาจากเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นข้อความที่เกิดภายหลังจากที่เด็กทั้ง 5 คนไปทำกิจกรรม เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานคนละเรื่อง คนละเหตุการณ์ให้เป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นผมจึงนำข้อมูลข้อเท็จจริงนี้ มาแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิฯ ทราบในวันนี้" นายธนิต กล่าว
 
นายธนิต กล่าวด้วยว่า การออกมาทำกิจกรรมร่วมกับคนเสื้อแดง ไม่รู้สึกเกรงกลัว เพราะทำอยู่บนดิน ไม่ได้ลงใต้ดิน แต่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร ต้องดำเนินการนั้น ก็เข้าใจว่าเขาคงอึดอัดไม่อยากทำ แต่เนื่องจากเป็นคำสั่งจากข้างบน ขอยืนยันว่ากิจกรรมที่จัดไม่ขัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างแน่นอน เพราะไม่ได้ก่อความวุ่นวายให้บ้านเมืองและก็จะทำกิจกรรมในลักษณะนี้ต่อไปเมื่อมีโอกาส จนกว่าจะได้ประชาธิปไตยคืนมา พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ ประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
 
 
 
วุฒิฯ ถก-สงสัยยอดผู้บาดเจ็บ เผยเล็งสอบเหตุจับ 5 น.ร.เชียงราย
 
ส่วนที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการ เป็นประธานที่ประชุม โดยเชิญตัวแทนจากศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และตัวแทนจาก ร.พ.กลาง มาชี้แจงความชัดเจนกรณีตัวเลขผู้บาดเจ็บ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมม็อบเสื้อแดง
 
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหากล่าวว่า ผู้บาดเจ็บอาจมีมากกว่า 2,000 คน เหตุที่สงสัยเนื่องจากรายงานจำนวนผู้บาดเจ็บจากศูนย์เอราวัณ เมื่อวันที่ 19-20 พ.ค.2553 ถือเป็นวันสลายการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บเพียง 134 รายขณะที่จำนวนผู้บาดเจ็บช่วงวันที่ 10 เม.ย.ที่สี่แยกคอกวัว มีผู้บาดเจ็บมากถึง 889 คน สวนทางจากความเป็นจริง ที่ช่วงสุดท้ายของการชุมนุมช่วงเดือนพ.ค.น่าจะมากกว่า
 
แฉใช้กระสุนยางยิงใบหน้า ส.ว.สรรหา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ขอให้ชี้แจงถึงชนิดกระสุนที่ยิง ว่าส่วนใหญ่เป็นกระสุนชนิดใด ส่วนใหญ่ถูกยิงที่ส่วนไหนจึงบาดเจ็บหากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) อ้างว่าส่วนใหญ่ใช้กระสุนยางจริง ทำไมถึงมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และจากการไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่ร.พ. มีผู้บาดเจ็บบางคนถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ใบหน้า โดนเข้าที่ลูกตาจนตาบอด เพราะหลักตามสากลจะไม่ยิงที่ใบหน้า
 
ส่วน นางรสสุคนธ์ ภูริเดช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ชาวต่างชาติที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ในข้อเท็จจริงมีกี่คน บาดเจ็บเพราะเกิดจากการไปร่วมชุมนุมคนเสื้อแดงด้วยใช่หรือไม่ และกรณีนี้ได้ไปหารือกับฝ่ายความมั่งคงหรือไม่ เพราะทราบว่าบุคคลที่ร่วมชุมนุมบางคนไม่ใช่สัญชาติไทย
 
ขณะที่ น.พ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผอ.ศูนย์เอราวัณ ชี้แจงว่า จำนวนผู้บาดเจ็บ เป็นข้อมูลที่ร.พ.แต่ละแห่งแจ้งมา แต่ยอมรับว่าผู้บาดเจ็บที่มารักษาตาม ร.พ.มากที่สุด ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง ชุมชนบ่อนไก่ และถนนพระราม 4 ส่วนสาเหตุการบาดเจ็บจะมาจากอะไรนั้น ร.พ.แต่ละแห่งจะเน้นเฉพาะการรักษาผู้บาดเจ็บเท่านั้น ส่วนจะเจาะลึกลงไป ต้องปรึกษาและขอความชัดเจนจากคณะกรรมการ ที่กระทรวงสาธารณสุข ตั้งขึ้นเสียก่อน ส่วนผู้บาดเจ็บที่เป็นชาวต่างชาติ มีทั้งชาวยุโรปและเอเชีย 26 คนส่วนใหญ่เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
 
ด้านนายวิชาญ เปิดเผยด้วยว่า กรณีนักศึกษาที่ จ.เชียงราย ชูป้ายว่าเห็นคนตายที่กรุงเทพฯและถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ภายในสัปดาห์หน้า คณะกรรมการจะลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อรับฟังความคิดเห็นถึงสาเหตุว่า ทำไมเด็กกลุ่มนี้จึงถือป้ายว่าเห็นคนตาย และเด็กกลุ่มนี้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่กรุงเทพฯ หรือไม่ ถือเป็นเรื่องสำคัญ การที่รัฐบาลไปจับเด็กกลุ่มนี้ ที่แสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ การจะอ้างว่าผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงไม่ใช่ เพราะการแสดงออกเช่นนี้ ไม่ถือเป็นภัยต่อบ้านเมือง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น
 
 
 
ศอฉ.ยังไม่เสนอจังหวัดยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แถมสั่งเฝ้าระวังช่วงหยุดยาว
 
วันเดียวกัน มีรายงานข่าวจาก ศอฉ.แจ้งว่าในการประชุม ครม.วันที่ 10 ส.ค.นี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะเลขานุการ ศอฉ.จะยังไม่เสนอเรื่องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่10 จังหวัดที่เหลือเข้าสู่การพิจารณาของครม.เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงเห็นตรงกันว่า ต้องคง พ.ร.ก.เอาไว้ก่อนในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 ส.ค. อีกทั้งยังเป็นช่วงหยุดราชการยาว 4 วัน ในวันที่ 12-15 ส.ค.จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เน้นดูแลสถานที่ราชการที่เป็นสัญลักษณ์บ้านพักบุคคลสำคัญ และย่านธุรกิจใจกลางเมือง
 
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนการยกเลิก พ.ร.ก.ใน 10 จังหวัด เป็นไปได้ที่จะทยอยดำเนินการ 2-3 ขยัก รอบแรกคาดว่าจะเสนอที่ประชุมครม.ในวันที่ 17 ส.ค.เน้นจังหวัดรอบนอกที่ไม่พบความเคลื่อนไหวทางการเมือง จากนั้นพิจารณารอบ 2 ในส่วนของกรุงเทพฯ คาดว่าจะคง พ.ร.ก.ไปถึงเดือน ต.ค.ซึ่งครบกำหนด 3 เดือนในการประกาศใช้ เนื่องจากหน่วยงานด้านการข่าว ประเมินว่ามีการเคลื่อนไหวของคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เคลื่อนไหวล้มล้างรัฐบาล เพราะการจะโค่นล้มรัฐบาลได้ต้องทำในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ต่างจังหวัด อีกทั้งมีการประเมินว่า กลุ่มพันธมิตรฯ จะออกมาเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ เพื่อสร้างฐานเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ โดยยกปมประเด็นปราสาทพระวิหารขึ้นมาเป็นข้ออ้าง เชื่อว่าจะเป็นปมปัญหาไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า
 
 
 
อาจเลิก พ.ร.ก.อีก 2-3 จังหวัด
 
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่าในวันนี้บอกนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสมช.ในฐานะเลขาธิการ ศอฉ.จะพิจารณากันในที่ประชุม ศอฉ.วันที่ 10 ส.ค.ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีกี่จังหวัดที่จะยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนายกฯ กล่าวว่า มีบางจังหวัด ซึ่งในการพูดคุยในที่ประชุมระดับหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ก็หารือกัน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการหารือระหว่างนายกฯ และนายถวิล เมื่อช่วงกลางวันในการประชุมปลัดกระทรวง มีการพูดถึงการยกเลิกพื้นที่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งแรกจะยังคงไว้เท่าเดิม คือ 10 จังหวัด ล่าสุด นายถวิล เปิดเผยว่าหลังพูดคุยกับนายกฯ และบางฝ่าย การประชุม ศอฉ.วันที่ 10 ส.ค. จะพิจารณายกเลิกเพิ่ม 2-3 จังหวัด ส่วนจะเป็นพื้นที่ใดนั้น ทุกหน่วยงานต้องหารือกันอีกครั้ง
 
รายงานข่าวแจ้งว่า จังหวัดที่เตรียมขอยกเลิกได้แก่ นครปฐม ซึ่งทางจังหวัดเตรียมจัดงานกาชาด และงาน 114 ปีบางเลน นอกจากนี้ มีอีกหลายจังหวัดที่ต้องการยกเลิก เช่น พระนครศรีอยุธยา แต่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบ เนื่องจากเป็นพื้นที่นัดพบของกลุ่มคนเสื้อแดง
          
 
ที่มา: เรียบเรียงจากข่าวสด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท