กกต.พม่าประกาศวันเลือกตั้ง 7 พ.ย.

ทีวีพม่าแจ้งประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ ระบุ 7 พ.ย. นี้เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดรับสมัคร ส.ส. 16 - 30 ส.ค. ทั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี ขณะที่กฎหมายเลือกตั้งคุมเรื่องพรรคการเมืองหาเสียง แถมกัน "ออง ซาน ซูจี" และนักโทษการเมืองกว่า 2 พันคน พ้นเวทีเลือกตั้ง

ภาพจากสถานีโทรทัศน์ MRTV3 ภาคภาษาอังกฤษของรัฐบาลทหารพม่า ประกาศคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ เรื่องกำหนดวันเลือกตั้ง 7 พ.ย. 53 และวันรับสมัครผู้สมัคร ส.ส.

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของรัฐบาลทหารพม่า ฉบับวันที่ 14 ส.ค. 53 หน้าแรก ลงประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพฉบับที่ 89/2010 เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้ง 7 พ.ย. 53 และ ประกาศฉบับที่ 90/2010 เรื่อง กำหนดวันรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา (ดูภาพขยาย) ทั้งนี้การประกาศดังกล่าวประกาศตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. ทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุของรัฐบาลทหารพม่า

 

วานนี้ (13 ส.ค.) ทางสถานีโทรทัศน์ MRTV1 และสถานีวิทยุ ของรัฐบาลทหารพม่า มีการอ่านประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (The Union Election Commission) ฉบับที่ 89/2010 ลงวันที่ 13 ส.ค. ประกาศว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพจะจัดการเลือกตั้งในระบบหลายพรรคการเมือง เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาทั้งวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 7 พ.ย. 2553 โดยท้ายคำสั่งลงนามโดย เถ่ง ซอ (Thein Soe) ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ

นอกจากนี้ยังมีประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ ฉบับที่ 90/2010 ลงวันที่ 13 ส.ค. โดยเนื้อหามี 4 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง วันที่จะลงทะเบียนรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา คือวันที่ 16 ส.ค. 2553

สอง วันสุดท้ายของการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา คือ วันที่ 30 ส.ค. 2553 สาม วันที่จะมีการพิจารณารายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งคือวันที่ 6 ถึง 10 ก.ย. 2553 สี่ วันสุดท้ายที่จะถอนรายชื่อผู้สมัคร หากผู้สมัครคนใดมีความต้องการคือวันที่ 3 ก.ย. 2553 คำสั่งลงนามโดย เถ่ง ซอ ประธานคณะกรรมการเลือกตั้งแห่งสหภาพ

ทั้งนี้ รัฐบาลทหารพม่ามีการผ่านกฎหมายและข้อบังคับหลายฉบับ ซึ่งถูกวิจารณ์จากนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ซึ่งถูกกักบริเวณ และนานาชาติว่า ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรม

โดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซูจี ได้ปฏิเสธร่วมการเลือกตั้ง และตามกฎหมายเลือกตั้งของรัฐบาลทหารพม่าทำให้พรรคถูกยุบโดยอัตโนมัติ เนื่องจากไม่ได้ลงทะเบียนพรรคการเมืองภายในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กฎหมายการเลือกตั้งฉบับใหม่ มีผลทำให้นักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังกว่า 2,000 คน ไม่สามารถร่วมการเลือกตั้งได้ โดยในจำนวนนี้มีนางออง ซาน ซูจี และ เจ้าขุนทุนอู ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยรัฐฉาน (เอสเอ็นแอลดี) พรรคการเมืองอันดับ 2 ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 รวมอยู่ด้วย

กฎหมายการเลือกตั้งที่เข้มงวด ยังได้ห้ามพรรคการเมืองตะโกน เดินขบวน หรือกล่าวถ้อยคำใดๆ ระหว่างเดินรณรงค์หาเสียงที่ทำให้ภาพพจน์ของประเทศเสื่อมเสีย

ขณะที่อดีตสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีส่วนหนึ่ง ได้แยกตัวออกจากพรรคเอ็นแอลดี ได้ไปตั้งพรรคใหม่ คือ พรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ (the National Democratic Force) หรือ เอ็นดีเอฟ หวังนำภาพลักษณ์ของพรรคเดิมไปหาเสียง อย่างไรก็ตามนางออง ซาน ซูจี กล่าวผ่านทนายความส่วนตัว ว่านางไม่พอใจกับการแยกไปตั้งพรรคใหม่

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งท่วมท้นได้รับคะแนนเลือก 392 ที่นั่ง จากทั้งหมด 492 ส่วนพรรคเอสเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งทั่วรัฐฉานได้ ส.ส. ทั้งหมด 23 ที่นั่ง เป็นพรรคอันดับ 2 ขณะที่พรรคการเมืองที่หนุนหลังโดยทหารคือพรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Party) หรือเอ็นยูพี ได้รับเลือก 10 ที่นั่งเท่านั้น แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท