ตีแผ่ “อีไอเอ” 3 ฉบับ กับการลบล้างข้อหาโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ‘แย่งน้ำทำนา’

แม้สุดท้ายรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่เสมือนเป็นใบรับรองโครงการโรงไฟฟ้าหนองจะผ่านความเห็นชอบจาก สผ.และ คชก.หลังผ่านการแก้ไขมาถึง 3 ครั้ง ท่ามกลางข้อกังขา ต่อการสร้างความชอบธรรมในการใช้น้ำป่าสักให้กับโครงการ

 
 
ชื่อบทความเดิม: บทบาทของ สผ.และ คชก.ต่อการสร้างความชอบธรรมในการใช้น้ำป่าสักให้กับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง สระบุรี 
 
ในช่วงปี พ.ศ.2550 – 2552 มีความพยายามถึง 3 ครั้งที่จะลบล้างข้อกล่าวหา ‘แย่งน้ำทำนา’ ให้กับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง จนสุดท้ายรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงก็ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (คชก.) เสมือนเป็นใบรับรองให้โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงก่อสร้างขึ้นมาได้ ท่ามกลางข้อกังขาในเรื่องการแย่งน้ำทำนาซึ่ง สผ. และ คชก. ไม่สามารถคลี่คลายได้ 
 
 
อีไอเอฉบับแรก
 
อีไอเอฉบับแรก[1] ที่บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด หรือ ‘เพาเวอร์เจเนอเรชั่น’ เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงนำส่งให้ สผ. พิจารณาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 ระบุถึงการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงว่า “น้ำดิบจะได้มาจากการสูบน้ำจากแม่น้ำป่าสักและส่งเข้าสู่พื้นที่โครงการโดยผ่านท่อส่งน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 26 นิ้ว โดยจุดสูบน้ำจะตั้งอยู่เหนือเขื่อนพระรามหก ประมาณ 200 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่สามารถรับน้ำทั้งจากแม่น้ำป่าสักและคลองชัยนาท แนวท่อส่งน้ำจะฝังอยู่ใต้ดินและวางไปตามแนวถนนคันคลองระพีพัฒน์ฝั่งตะวันออก (ฝั่งซ้าย) ประมาณ 16 กิโลเมตร จนถึงพื้นที่โครงการ” (บทที่ 2 รายละเอียดโครงการ หัวข้อ 2.8.3 น้ำดิบและสมดุลน้ำ หน้า 2-40) 
 
และใน บทที่ 4 การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หัวข้อ 4.4.3.2 การใช้น้ำ ระยะดำเนินการ หน้า 4-58 ระบุว่า “โครงการโรงไฟฟ้าจะมีความต้องการใช้น้ำสูงสุดในกรณีที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ประมาณ 69,924 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนความต้องการใช้น้ำในกรณีใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงจะอยู่ที่ประมาณ 58,754 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากข้อมูลของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ (กรมชลประทาน, 2550) พบว่า แม่น้ำป่าสักมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกต่ำสุด ในช่วงระหว่างปี 2545-2550 (ข้อมูลของวันที่ 23 มีนาคม 2548) อยู่ที่อัตรา 4.73 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือประมาณ 408,672 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (เนื่องจากจุดสูบน้ำของโครงการจะตั้งอยู่เหนือเขื่อนพระรามหก ประมาณ 200 เมตร ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงได้ใช้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในการประเมินผลกระทบต่อการใช้น้ำ) โดยปริมาณน้ำที่โครงการจะสูบมาใช้คิดเป็นร้อยละ 17 และ 14 ของปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก เมื่อใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตามลำดับ” ตามตารางการเปรียบเทียบอัตราความต้องการใช้น้ำฯ
 
 
ตารางการเปรียบเทียบอัตราความต้องการใช้น้ำของโครงการจากการใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง (หน่วยเป็น ลูกบาศก์เมตรต่อวัน) [2]
 
 
ฤดูฝน
ฤดูแล้ง
ใช้ก๊าซ
ธรรมชาติ
ใช้น้ำมัน
ดีเซล
ใช้ก๊าซ
ธรรมชาติ
ใช้น้ำมัน
ดีเซล
อัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำป่าสักระดับต่ำสุดเท่ากับ 408,672 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ปริมาณน้ำที่จะสูบจากแม่น้ำป่าสัก (I)
58,754
69,924
58,754
69,924
ปริมาณน้ำที่จะปล่อยทิ้งกลับสู่แหล่งน้ำ* (E)
14,983
18,537
14,983
18,537
ปริมาณน้ำที่หายไป (I-E)
43,771
51,387
43,771
51,387
ร้อยละของปริมาณน้ำที่สูบมาใช้
14%
17%
14%
17%
ร้อยละของปริมาณน้ำที่หายไป
11%
13%
11%
13%
หมายเหตุ: * โครงการจะระบายน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่คลองระพีพัฒน์ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่แยกออกมาจากแม่น้ำป่าสัก
 
สผ.ได้ทำหนังสือตอบกลับเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 ว่าได้ตรวจสอบอีไอเอในเบื้องต้นแล้วเห็นว่ายังมีข้อมูลไม่ครบถ้วนและไม่ชัดเจน โดยขอให้เพาเวอร์เจเนอเรชั่นพิจารณาดำเนินการตามประเด็นผลการตรวจสอบเบื้องต้นฯ [3] และนำเสนอต่อ สผ.เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายสิ่งแวดล้อม  [4] ใหม่ โดยมีประเด็นเกี่ยวกับการใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสัก ดังนี้ 
 
“ข้อ 3.แสดงข้อมูลปริมาณ การใช้ประโยชน์และความพอเพียงของน้ำต้นทุนจากลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำใช้ของโครงการ และพิจารณาเทคโนโลยีหรือแนวทางที่สามารถลดปริมาณการใช้น้ำของโครงการ การใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) ให้มากที่สุด และเนื่องจากโครงการมีการสูบน้ำจากแม่น้ำป่าสัก และมีการปล่อยน้ำลงสู่คลองระพีพัฒน์ ให้พิจารณาทางเลือกของโครงการในกรณีที่ไม่มีการระบายน้ำทิ้งออกจากพื้นที่โครงการ หรือการนำน้ำทิ้งมาปรับปรุงคุณภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในโครงการให้มากที่สุด เพื่อลดข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับปริมาณการใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสักและการระบายน้ำทิ้งลงคลองระพีพัฒน์ รวมทั้งแสดงเอกสารและเงื่อนไขการอนุญาตให้สูบน้ำและปล่อยน้ำทิ้งของโครงการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งปรับปรุงสมดุลมวลน้ำของโครงการให้ชัดเจน”
 
 
อีไอเอฉบับที่สอง
 
ต่อมาเพาเวอร์เจเนอเรชั่นได้นำส่งอีไอเอฉบับแก้ไข/เพิ่มเติม  [5] ให้กับ สผ.เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 โดยมีการอำพรางหรือบิดเบือนตัวเลขการใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสักเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงไม่เกี่ยวข้องต่อการขาดน้ำทำนาของเกษตรกรในประเด็นสำคัญ ดังนี้
 
(1) มีการระบุต้นทุนน้ำใช้ของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงมาจากสองแหล่ง ได้แก่ คลองชัยนาท-ป่าสัก (จากประตูระบายน้ำเริงราง) และแม่น้ำป่าสัก (จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ตามผังแสดงการบริหารจัดการน้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก โดยจุดสูบน้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงจะอยู่บริเวณเหนือเขื่อนพระรามหกและเหนือประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ซึ่งเป็นจุดที่สามารถรับน้ำทั้งจากแม่น้ำป่าสักและน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสักได้
 
ผังแสดงการบริหารจัดการน้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก  [6]
 
ปริมาณน้ำต้นทุนที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำเริงรางมีค่าเฉลี่ย 2,191.9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อีกส่วนหนึ่งได้จากแม่น้ำป่าสัก (จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) เขื่อนแห่งนี้เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2537 และเปิดใช้งานเมื่อปี พ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย และการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่เกษตรกรรม อ่างเก็บน้ำสามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุดประมาณ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนอยู่ที่ประมาณ 1,895 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และในช่วงฤดูแล้งประมาณ 266 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทั้งนี้จะมีการกักเก็บน้ำไว้ภายในอ่างเก็บน้ำประมาณหนึ่งในสามของปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน
 
ดังนั้น ต้นทุนน้ำทั้งสองแหล่ง           = 2,191.9 + 1,441*        ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
                                    รวม                   = 3,632.9                                  ,, ,,
 
[*ต้นทุนน้ำจากแม่น้ำป่าสักคิดจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนป่าสักฯในฤดูฝนและฤดูแล้ง (1,895 + 266) เท่ากับ 2,161 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ลบด้วยปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ภายในอ่างเก็บน้ำประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนป่าสักฯ คือ 720 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี (2,161 – 720) เหลือ 1,441 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี]
 
มีการอำพรางตัวเลขการใช้น้ำโดยแยกส่วนข้อมูลตัวเลขการใช้น้ำเพื่อทำให้การปะติดปะต่อข้อมูลเรื่องการใช้น้ำไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือหากไม่ได้สังเกตอย่างละเอียดถี่ถ้วนก็จะไม่ฉงนสงสัยแต่ประการใด กล่าวคือ ในผังแสดงการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก ได้ระบุตัวเลขการใช้น้ำในลุ่มน้ำป่าสัก ตั้งแต่ Demand 1-6 เท่ากับ 1,330,410 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 485,599,650 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อเทียบกับต้นทุนน้ำที่มีปีละ 3,632.9 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงยังเหลือน้ำอีกมากถึงปีละ 3,147.30 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยไม่กล่าวถึงตัวเลขปริมาณการใช้น้ำของโครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง (Demand 7) ซึ่งก็คือน้ำในแม่น้ำป่าสักหน้าเขื่อนพระรามหกที่ต้องผันเข้าสู่ประตูระบายน้ำพระนารายณ์เพื่อเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ ตามโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ นั่นเอง จึงเห็นได้ว่าอีไอเอฉบับนี้จงใจบิดเบือนตัวเลขการใช้น้ำในลุ่มน้ำป่าสักเพื่อทำให้เข้าใจผิดได้ว่าปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำป่าสักมีเพียงพอสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
 
ผังแสดงการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก [7]
 
แต่กลับระบุตัวเลขความต้องการใช้น้ำของโครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง(Demand 7) เอาไว้ในตารางความต้องการใช้น้ำจากลุ่มน้ำป่าสักฯ ซึ่งอยู่ในหน้าถัดไปของอีไอเอฉบับเดียวกันแทน
 
ตารางความต้องการใช้น้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก (รวมความต้องการใช้ในปัจจุบัน+การคาดการณ์ความต้องการใช้ในอนาคตจากโครงการต่างๆ) [8]

กิจกรรมที่มีความต้องการใช้น้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก
ความต้องการใช้น้ำ (ล้าน ลบ.ม./ปี)
ค่าต่ำสุด
ค่าเฉลี่ย
ค่าสูงสุด
โครงการชลประทาน
 
 
 
 - โครงการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร จังหวัดลพบุรี (Demand 1)
28.2
28.2
28.2
 - โครงการสูบน้ำพัฒนานิคม (Demand 2)
 
149.4
 
149.4
 
149.4
 - โครงการสูบน้ำพัฒนานิคม-แก่งคอย (Demand 2)
 - โครงการสูบน้ำแก่งคอย-บ้านหมอ (Demand 2)
 - โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองเพรียว-เสาไห้ (Demand 5)
191.3
222.3
251.6
color:red"> - โครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง (Demand 7)
color:red">3,257.27
color:red">3,887.67
color:red">4,467.45
การใช้น้ำในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม (Demand 3)
47.3
47.3
47.3
โรงไฟฟ้าแก่งคอย (Demand 4)
19.9
19.9
19.9
โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง (Demand 6)
20.2
20.2
20.2
color:red">รวม
color:red">3,713.57
color:red">4,374.97
color:red">4,984.05
 
เมื่อรวมตัวเลขความต้องการใช้น้ำของโครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง (Demand 7) คิดที่ค่าเฉลี่ย 3,887.67 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จะเห็นได้ว่าความต้องการใช้น้ำจากลุ่มน้ำป่าสักทั้งหมด (Demand 1-7) เท่ากับ 4,374.97 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งเป็นการใช้น้ำเกินไปจากน้ำต้นทุนที่มีเพียงปีละประมาณ 3,632.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ถึง 742.07 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทีเดียว 
 
(2) ในประเด็นต่อเนื่องจากข้อ (1) อีไอเอฉบับนี้ได้หยิบยกตัวเลขปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักโดยเฉลี่ยในแต่ละเดือน ณ จุดสูบน้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงขึ้นมาอ้างว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.09 ของปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสัก ณ จุดสูบ เท่านั้น เมื่อพิจารณาว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักโดยเฉลี่ยในแต่ละเดือน มีค่าอยู่ในช่วง 24.9 ล้านลูกบาศก์เมตร (ค่าต่ำสุดอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม) และ 459.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ค่าสูงสุดอยู่ในช่วงเดือนกันยายน) โดยผลการเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้น้ำของโครงการกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำที่จุดสูบ ดังตารางการเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้น้ำฯ
 
ตารางการเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้น้ำของโครงการกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำที่จุดสูบน้ำ[9] 
 
เดือน
ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำโดยเฉลี่ยที่จุดสูบน้ำ (ล้าน ลบ.ม.)
ปริมาณความต้องการใช้น้ำของโครงการ (ล้าน ลบ.ม.)
ความต้องการใช้น้ำของโครงการเป็นร้อยละเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่จุดสูบ (%)
มกราคม
45.6
1.71
3.75
กุมภาพันธ์
51.1
1.55
3.03
มีนาคม
151.3
1.71
1.13
เมษายน
149.2
1.66
1.11
พฤษภาคม
124.8
1.71
1.37
มิถุนายน
68.2
1.66
2.43
กรกฎาคม
94.5
1.71
1.81
สิงหาคม
174.2
1.71
0.98
กันยายน
459.5
1.66
0.36
ตุลาคม
447.3
1.71
0.38
พฤศจิกายน
60.9
1.66
2.72
ธันวาคม
24.9
1.71
6.89
รวม
1,851.4
20.2
1.09
 
 
ซึ่งในอีไอเออ้างต่อไปว่า “จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น (ตารางการเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้น้ำฯ) จึงไม่คาดว่าปริมาณน้ำที่โครงการจะสูบมาใช้ จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการจัดสรรน้ำภายในลุ่มน้ำป่าสักในปัจจุบัน อีกทั้งการใช้น้ำจากโครงการต้องได้รับการอนุญาตจากกรมชลประทานด้วย”
 
ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คืออีไอเอฉบับนี้ได้หยิบยกเอาตัวเลขปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสัก ณ จุดสูบ มาอธิบายปริมาณความต้องการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงที่คิดเป็นเพียงร้อยละ 1.09 ของปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสัก ณ จุดสูบ เพื่อสร้างความชอบธรรมว่า น้ำในลุ่มน้ำป่าสักมีเพียงพอสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง และนำมาใช้ในโครงการเพียงนิดเดียวเท่านั้นเอง ไม่ถือว่าเป็นการแย่งชิงน้ำจากประชาชนในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน และภาคส่วนอื่นๆ ที่ใช้น้ำอยู่ในปัจจุบันแต่อย่างใด โดยจงใจละเว้นความเป็นจริงที่สำคัญข้อหนึ่งไปว่า น้ำที่ได้จากคลองชัยนาท-ป่าสัก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อไหลลงมาที่แม่น้ำป่าสักตอนล่างแล้วจะมีภาระหรือความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดประการแรกคือการเพิ่มน้ำให้เขื่อนพระรามหกเพื่อผันน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ และโครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง สำหรับใช้ในภาคเกษตรกรรมที่ใช้น้ำอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 91.6 ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงจะเป็นพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทาน 
 
การจงใจบิดเบือนข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อการใช้น้ำในลุ่มน้ำป่าสักว่ามีน้ำเพียงพอสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง โดยโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงเลือกวิธีทำท่อสูบน้ำความยาว 16 กิโลเมตร เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำป่าสักเข้าสู่พื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงแทนที่จะสูบน้ำจากคลองระพีพัฒน์หรือคลองห้วยบ่าโดยตรงที่อยู่ใกล้พื้นที่โครงการมากกว่า (และสิ้นเปลืองงบประมาณน้อยกว่า) เพื่อแสดงเจตนาให้เกิดความเข้าใจผิดว่าบริษัทเจ้าของโครงการไม่ได้แย่งชิงน้ำจากเกษตรกรที่ใช้น้ำจากเขื่อนพระรามหก/คลองระพีพัฒน์ หรือโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้/โครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างโดยตรง แต่ใช้น้ำจากลุ่มน้ำป่าสักทั้งหมดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน
 
ซึ่งการเลือกสูบน้ำที่แม่น้ำป่าสักก็เพื่อต้องการใช้ตัวเลขปริมาณน้ำในลุ่มน้ำป่าสักทั้งลุ่มมาอธิบายกิจกรรมการใช้น้ำของบริษัทเจ้าของโครงการที่คิดเป็นส่วนน้อยนิดเดียว เพียงแค่ 20.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ 1.09 % เท่านั้น จากน้ำในแม่น้ำป่าสัก ณ จุดสูบ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการโยนภาระให้กับคณะกรรมการลุ่มน้ำ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำป่าสักทั้งลุ่ม ว่าจะต้องจัดหาน้ำมาให้กับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงให้ได้เพราะตัวเลขความต้องการใช้น้ำของบริษัทอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับน้ำในลุ่มน้ำป่าสักทั้งหมดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้าเลือกสูบน้ำจากคลองระพีพัฒน์หรือคลองห้วยบ่าจะทำให้ตัวเลขการใช้น้ำของบริษัทสูงมากเมื่อเทียบกับน้ำที่มีอยู่ในคลองระพีพัฒน์หรือคลองห้วยบ่า 
 
แต่เมื่ออีไอเอฉบับนี้ใช้ตัวเลขปริมาณน้ำทั้งลุ่มน้ำป่าสักมาอธิบายการใช้น้ำของโครงการนี้ แต่กลับไม่สามารถอธิบายการบริหารจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำป่าสักให้เห็นได้ เพื่อจะชี้ให้เห็นได้ว่าการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำป่าสักปีละประมาณ 742.07 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีนั้นมีภาคส่วนใดที่ขาดแคลนน้ำบ้างในปัจจุบัน และจะบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำป่าสักเพื่อจัดสรรน้ำสำหรับกิจกรรมหรือโครงการใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างไรที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือส่งผลกระทบให้น้อยที่สุดต่อภาคส่วนต่าง ๆ ในอนาคต หรือเกลี่ยผลกระทบในภาคส่วนต่าง ๆ ให้เท่าเทียมกัน/เกิดความสมดุลกันได้ในอนาคตอย่างไร
 
มิหนำซ้ำยังละเว้นอย่างจงใจไม่อธิบายการใช้น้ำของเขื่อนพระรามหก/คลองระพีพัฒน์ หรือโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้/โครงการทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ซึ่งเป็นการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรกรรมกว่าร้อยละ 91.6 ที่ตั้งอยู่โดยรอบพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงโดยตรง แต่กลับอธิบายบิดเบือนไปว่า “พื้นที่ศึกษา (ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากที่ตั้งโครงการ) ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่โครงการชลประทานขนาดกลาง คือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองเพรียว-เสาไห้ จังหวัดสระบุรี” เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงพื้นที่โดยรอบโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงในรัศมี 5 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบส่งน้ำเพื่อการชลประทานทั้ง 2 โครงการ คือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองเพรียว-เสาไห้ 
 
ในฤดูแล้งเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำป่าสักขาดน้ำ ในรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่ และสิ่งแวดล้อม ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่อง สิทธิชุมชน กรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในพื้นที่ตำบลหนองกบ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี สำนักชลประทานที่ 10 สระบุรี ได้ระบุว่า “ในช่วงฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำป่าสักมากเพียงพอ แต่ในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน (180 วัน) ปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักมีจำนวนจำกัด และในบางปีปริมาณน้ำน้อย ทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้น้ำของกิจกรรมต่างๆ ในช่วงฤดูแล้ง เช่น การอุปโภค บริโภค การประปา การเกษตร เป็นต้น” 
 
แม้ว่าบริษัทเจ้าของโครงการนี้จะออกแบบให้สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ถึงประมาณ 5.5 รอบก็ตาม แต่น้ำที่กักเก็บไว้ประมาณ 1,600,000 ลูกบาศก์เมตรในบ่อกักเก็บน้ำนั้น เมื่อคิดคำนวณแล้วจะสามารถใช้ได้เพียงประมาณ 90 วัน (3 เดือนเท่านั้น) ดังนั้น จะมีช่วงฤดูแล้งที่โครงการนี้จะต้องขาดน้ำอย่างแน่นอนอีกประมาณ 3 เดือน นั่นเท่ากับว่าจะเกิดการแย่งชิงน้ำระหว่างโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงกับชาวบ้านที่ทำนาอย่างแน่นอน เพราะชาวบ้านแถบนี้ทำนา 5 ครั้งในรอบ 2 ปี
 
หากดูตัวเลขการใช้น้ำในลุ่มน้ำป่าสักแล้ว จะมีโรงไฟฟ้าอยู่ 3 โครงการ ที่เดินเครื่องแล้ว คือ โรงไฟฟ้าแก่งคอย 1 ของ บริษัท กัลฟ์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ขนาดกำลังผลิต 107 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ของ บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ขนาดกำลังผลิต 1,468 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้า Unit 1 ประมาณ 768 เมกะวัตต์ เข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550 และโรงไฟฟ้าหนองแค ของ บริษัท หนองแค เจนเนอเรชั่น จำกัด ขนาดกำลังผลิต 126 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ได้เริ่มเดินระบบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 และอีก 1 โครงการ ที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง คือ โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ถ้ากล่าวเฉพาะโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 และ โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ซึ่งมีเจ้าของเดียวกันคือบริษัท อิเล็คตริก พาวเวอร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด หรือ J-Power (บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น) จะใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสักปีละ 19.9 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และ 20.2 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ตามลำดับ รวมกันทั้งหมดเท่ากับ 40.1 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี จะคิดเป็นพื้นที่นาที่ต้องสูญเสียไปจากการขาดแคลนน้ำประมาณ 33,417 ไร่ และหากคิดเฉพาะการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงจะมีที่นาที่สูญเสียไปจากการขาดแคลนน้ำประมาณ 16,833 ไร่ [10] หรือคิดเป็นผลผลิตข้าวที่สูญเสียไปเฉพาะในส่วนของการใช้น้ำจากโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงประมาณ 13,466 ตันข้าวเปลือก[11]
 
นั่นคือตัวเลขพื้นที่นาข้าวในลุ่มน้ำป่าสักตอนล่างตั้งแต่ใต้เขื่อนป่าสักฯ ลงมาจรดเขื่อนพระรามหกที่ต้องสูญเสียพื้นที่นาข้าวและผลผลิตข้าวไปจากการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง แต่ถ้าหากคิดเฉพาะเจาะจงลงไปในพื้นที่นาข้าวของชาวนาในเขต อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ใช้น้ำทำนาจากคลองระพีพัฒน์และคลองเพรียว-เสาไห้เป็นหลักที่จะต้องสูญเสียไปจากการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง อาจจะนำตัวเลขการขาดแคลนน้ำในช่วง 3 เดือน หรือ 90 วัน ของฤดูแล้งมาแสดงให้เห็น นั่นคือโครงการนี้เมื่อใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักจะใช้น้ำประมาณวันละ 55,342 ลูกบาศก์เมตร ในระยะเวลา 90 วัน จะใช้น้ำทั้งสิ้น 4,980,780 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นพื้นที่นาข้าวและผลผลิตข้าวในเขตอำเภอหนองแซงและภาชีที่ต้องสูญเสียไปจากการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงในช่วงฤดูแล้ง 3 เดือน (90 วัน) ประมาณ 4,151 ไร่ และ 3,321 ตันข้าวเปลือก ตามลำดับ 
 
ในท้ายที่สุด จากการถกเถียงในประเด็นการแย่งน้ำทำนาจากการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ซึ่งเป็นทั้งข้อสงสัย ข้อคิดเห็น ข้อร้องเรียนและข้อกล่าวหา ที่ชาวบ้านในเขตอำเภอหนองแซงและภาชีได้รวมกลุ่มกันขึ้นเป็น ‘เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมหนองแซง-ภาชี’ เพื่อทำหนังสือยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ ไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง บริษัทเจ้าของโครงการ บริษัทที่ปรึกษารับทำอีไอเอและสื่อมวลชน ได้ทำให้ สผ. และ คชก. ไม่เห็นชอบกับอีไอเอฉบับนี้ เพราะเห็นว่าข้อมูลรายละเอียดในหลายส่วนยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้น้ำของโครงการนี้ที่ให้เสนอรายละเอียดสภาพปัจจุบันของแม่น้ำป่าสัก ทั้งปริมาณอัตราการไหล คุณภาพน้ำ การใช้ประโยชน์ของกิจกรรมการใช้น้ำ ประเมินผลกระทบต่อปริมาณการใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสัก และนำเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินโครงการจะไม่กระทบต่อปริมาณน้ำของแม่น้ำป่าสักในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำ รวมทั้งให้นำเสนอความเห็น เอกสารหรือเงื่อนไขการอนุญาตให้สูบน้ำจากหน่วยงานผู้อนุญาตประกอบไว้ในอีไอเอ
 
 
 
อีไอเอฉบับที่สาม
 
โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงในอีไอเอฉบับที่สาม [12] ได้ลดปริมาณการใช้น้ำจากแม่น้ำป่าสักลง เหลือเพียงวันละ 46,932 ลูกบาศก์เมตร หรือ 1.41 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน หรือ 17 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยทำการสูบน้ำจากแม่น้ำป่าสักเหนือเขื่อนพระรามหก เพื่อนำมาใช้สำหรับกระบวนการผลิต ใช้เป็นน้ำหล่อเย็น และใช้ประโยชน์อื่น ๆ ภายในโรงไฟฟ้า โดยอธิบายการใช้น้ำเป็น 3 ช่วง คือ
 
ช่วงที่หนึ่ง - ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เขื่อนพระรามหกระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำของเขื่อนลงด้านท้ายน้ำของเขื่อน เฉลี่ย 27.17 – 642.20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน และระบายน้ำผันไปใช้ในด้านเกษตรกรรมผ่านคลองระพีพัฒน์ประมาณ 147.9 – 230.42 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ความต้องการใช้น้ำทำการเกษตรกรรมจากคลองระพีพัฒน์ประมาณ 40 – 162 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน และน้ำอุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรมอีก 1.883 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน โครงการนี้สูบน้ำจากแม่น้ำป่าสัก 1.41 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน จะเห็นได้ว่าเฉพาะน้ำส่วนเกินที่จะต้องระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำของเขื่อนพระรามหก โครงการนี้สามารถสูบน้ำนำไปใช้ได้
 
ช่วงที่สอง - สำหรับในเดือนแรกของฤดูฝน (พฤษภาคม) และต้นฤดูแล้ง (ธันวาคม) ปริมาณความต้องการน้ำของโรงไฟฟ้า มีค่าประมาณร้อยละ 5.6 ของปริมาณน้ำที่ชลประทานปล่อยทิ้งลงสู่แม่น้ำป่าสักท้ายเขื่อนพระรามหก ซึ่งยังถือว่ามีผลกระทบน้อยสำหรับน้ำที่ปล่อยทิ้งท้ายเขื่อนพระรามหก แต่ไม่ได้มีผลกระทบกับน้ำที่ส่งเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ระพีพัฒน์เลย
 
ช่วงที่สาม - ส่วนในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม - เมษายน) ปริมาณน้ำเกือบทั้งหมดเหนือเขื่อนพระรามหกถูกผันเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ระพีพัฒน์เพื่อใช้สำหรับการชลประทาน แต่อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ดุลมวลน้ำพบว่า ปริมาณน้ำใช้ของโครงการฯ มีค่าประมาณไม่ถึงร้อยละ 1 ของน้ำเพื่อการชลประทาน โดยโครงการฯ ได้ทำเรื่องการขออนุญาตใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานกับกรมชลประทานและจะสร้างบ่อสำหรับสำรองน้ำดิบขนาด 1,600,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นปริมาณที่โครงการฯ สามารถนำมาใช้ในการผลิตได้นาน 39 วัน โดยไม่ต้องสูบน้ำจากภายนอก ถ้าเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำขึ้นมา กรมชลประทานมีสิทธิ์สั่งให้โครงการฯ หยุดสูบน้ำ เมื่อพิจารณาว่ามีการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้น การใช้น้ำของโครงการนี้จึงไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่ในปัจจุบัน
 
ประเด็นสำคัญก็คือในช่วงฤดูแล้ง 4 เดือน (มกราคม – เมษายน) หรือ 120 วัน บ่อสำรองน้ำดิบขนาด 1,600,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณที่โครงการนี้สามารถนำมาใช้ในการผลิตได้นาน 39 วัน โดยไม่ต้องสูบน้ำจากภายนอก แต่ยังเหลือวันที่ขาดแคลนน้ำใช้ในการผลิตอีก 81 วัน คิดเป็นปริมาณน้ำที่ขาดแคลนเท่ากับ 3,801,492 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งคิดเป็นพื้นที่นาที่ไม่สามารถผลิตข้าวได้ 3,168 ไร่ หรือคิดเป็นผลผลิตข้าวที่สูญเสียไป 2,534 ตันข้าวเปลือก 
 
สาระสำคัญมากในอีไอเอฉบับนี้ก็คือมีการยอมรับว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงเป็นน้ำที่เขื่อนพระรามหกใช้สำหรับผันเข้าคลองระพีพัฒน์เพื่อใช้ในการเกษตร แต่ละเลยการอธิบายการใช้น้ำของโครงการนี้ในส่วนของน้ำที่ต้องผันเข้าคลองระพีพัฒน์ในช่วงฤดูแล้งว่าจะนำมาซึ่งความสูญเสียพื้นที่นาข้าวและผลผลิตข้าวจำนวนเท่าไหร่ และจะมีความรับผิดชอบต่อความสูญเสียนี้อย่างไร แต่กลับยกตัวเลขปริมาณการใช้น้ำของโครงการนี้ที่มีค่าประมาณไม่ถึงร้อยละ 1 ขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมว่าเป็นตัวเลขเพียงน้อยนิดที่ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรที่ใช้น้ำคลองระพีพัฒน์แต่อย่างใด 
 
ถึงที่สุด สผ. และ คชก. กลับพิจารณาให้ความเห็นชอบอีไอเอฉบับที่สามนี้ไปอย่างง่ายดาย อาจจะเป็นด้วยแรงบีบบังคับจากกระบวนการสัญญาสัมปทานระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ทั้ง ๆ ที่อีไอเอฉบับนี้ไม่สามารถอธิบายความรับผิดชอบใด ๆ ที่โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงได้แย่งน้ำจากคลองระพีพัฒน์ที่ใช้สำหรับการเกษตรไป มิหนำซ้ำอีไอเอฉบับนี้ยังไม่สามารถแสดงเอกสารและเงื่อนไขการอนุญาตให้สูบน้ำจากแม่น้ำป่าสักและปล่อยน้ำทิ้งของโครงการลงคลองระพีพัฒน์จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมชลประทาน ตามที่ สผ.และ คชก.เรียกร้องไว้เมื่อคราวพิจารณาไม่เห็นชอบอีไอเอฉบับที่สองได้
 
 
..................................................................................
 
[1] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง. บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด. จัดทำโดย บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด. พฤศจิกายน 2550
[2] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ – รายงานฉบับหลัก) พฤศจิกายน 2550. หน้า 4-58 ตารางที่ 4.4-ช การเปรียบเทียบอัตราความต้องการใช้น้ำของโครงการจากการใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง (หน่วยเป็น ลูกบาศก์เมตรต่อวัน)
[3] ผลการตรวจสอบเบื้องต้นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองกบ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี และตำบลหนองน้ำใส และตำบลโคกม่วง อำเภอภาชี จังหวัดอยุธยา. (สิ่งที่ส่งมาด้วยพร้อมกับหนังสือ สผ. ที่ ทส 1009.7/10701.1 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550)
[4] พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
[5] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงานข้อมูลเพิ่มเติมครั้งที่ 1). บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด. จัดทำโดย บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด. เมษายน 2551
[6] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงานข้อมูลเพิ่มเติมครั้งที่ 1) เมษายน 2551. หน้า 17 รูปที่ 3.1-ก ผังแสดงการบริหารจัดการน้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก
[7]รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงานข้อมูลเพิ่มเติมครั้งที่ 1) เมษายน 2551. หน้า 19 รูปที่ 3.1-ค ผังแสดงการจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก
[8] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงานข้อมูลเพิ่มเติมครั้งที่ 1) เมษายน 2551. หน้า 20 ตารางที่ 3.1-ข ความต้องการใช้น้ำจากลุ่มน้ำป่าสัก (รวมความต้องการใช้ในปัจจุบัน+การคาดการณ์ความต้องการใช้ในอนาคตจากโครงการต่าง ๆ)
[9] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงานข้อมูลเพิ่มเติมครั้งที่ 1) เมษายน 2551. หน้า 21 ตารางที่ 3.1-ค การเปรียบเทียบปริมาณความต้องการใช้น้ำของโครงการกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำที่จุดสูบน้ำ
[10] คิดที่ค่าเฉลี่ยการใช้น้ำเพื่อปลูกข้าวในพื้นที่ทำนาชลประทานคลองระพีพัฒน์ประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ – ผู้เขียน. 
[11] คิดที่ค่าเฉลี่ยผลผลิตข้าวเปลือกที่ได้จากพื้นที่ทำนาชลประทานคลองระพีพัฒน์ประมาณ 80 ถังต่อไร่, 1 ถังเท่ากับ 10 กิโลกรัม – ผู้เขียน.
[12] รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี และอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. บริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด. จัดทำโดย บริษัท ซีคอท จำกัด. กันยายน 2552 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท