“วันแรงงานทำงานบ้านสากล” ที่เชียงใหม่ พร้อมแถลงการณ์เรียกร้องสิทธิคนทำงานบ้าน

“มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์” จัดประชุมเนื่องใน “วันแรงงานทำงานบ้านสากล” ที่เชียงใหม่ “กลุ่มแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย” ย้ำสิทธิแรงงานทำงานที่บ้านคือสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน

 
คลิปรายงานข่าว “วันแรงงานทำงานบ้านสากล” ที่ จ.เชียงใหม่ โดยสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (ดีวีบี)


กิจกรรม “วันแรงงานทำงานบ้านสากล” ที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ "อะไรๆ ก็แจ๋ว แล้วสิทธิของแจ๋วอยู่ไหน?"

“ลูกจ้างทำงานบ้าน” หรือ “แรงงานทำงานบ้าน” คือ บุคคลไม่ว่าหญิงหรือชายที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ ไม่จำกัดเชื้อชาติ ที่ตกลงทำงานบ้านเป็นงานประจำ และได้รับค่าจ้างโดยตรงจากเจ้าของบ้านหรือนายจ้าง เพื่อทำงานที่ระบุไว้ว่าเป็นงานบ้านในครัวเรือน เช่น ทำความสะอาดบ้าน ซักรีดเสื้อผ้า ทำอาหาร เลี้ยงเด็ก ดูแลคนชรา ดูแลคนในครอบครัวนายจ้าง เลี้ยงสัตว์เลี้ยง ทำสวน ตลอดจนงานอื่นที่นายจ้างสั่งให้ทำ รวมถึงลูกจ้างที่พักอาศัยอยู่ในบ้านนายจ้าง และลูกจ้างทำงานบ้านที่เดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับ ซึ่งเป็นแรงงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ จากการประชุมเมื่อวันที่ 26-28 สิงหาคม 2545 ที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติและองค์กรระดับภูมิภาค ซึ่งในการประชุมมีประเด็นข้อห่วงกังวลถึงเรื่องการคุ้มครอง และการตระหนักในสิทธิของแรงงานทำงานบ้าน ส่งผลให้เกิดการลงมติยอมรับคำประกาศ ณ กรุงโคลัมโบในการสนับสนุนการทำงานและส่งเสริมสิทธิแรงงานที่ทำงานในบ้าน โดยที่ประชุมได้ลงมติและบัญญัติให้ระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันแรงงานทำงานบ้านสากล”

ด้านมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ หรือ มูลนิธิแมพ ซึ่งทำงานกับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในบ้าน ในการสร้างความตระหนักในเรื่องการทำงานที่ปลอดภัย สิทธิพื้นฐานตามกฎหมาย หน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในบ้าน โดยผ่านกิจกรรมการอบรม สัมมนา จัดทำสื่อเอกสารการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงจัดการสัมมนาเนื่องใน “วันแรงงานทำงานบ้านสากล” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมฮอลิเดย์ การ์เดน จ.เชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ "อะไรๆ ก็แจ๋ว แล้วสิทธิของแจ๋วอยู่ไหน?"

ในการประชุม มีการเสวนาแลกเปลี่ยนปัญหาของแรงงานที่ทำงานในบ้าน โดยนายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักวิชาการด้านกฎหมายแรงงาน นางเบญจวรรณ วิทยชำนาญกุล นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จ.เชียงใหม่ และผู้แทนแรงงานทำงานบ้าน เป็นวิทยากร โดยจากการเสวนายังพบว่า แรงงานทำงานในบ้านขณะนี้ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะให้การคุ้มครองสิทธิ มีความไม่แน่นอนทั้งเรื่องค่าจ้าง เวลาทำงาน สิทธิการลา ประกันสังคม รวมทั้งสภาพการทำงานและการอยู่อาศัยในบ้านนายจ้างอย่างปลอดภัย การขาดกฎหมายคุ้มครองประกอบกับความโดดเดี่ยวในบ้านนายจ้าง นอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดแล้ว ยังปิดกั้นโอกาสในการได้รับการคุ้มครองสิทธิด้วย โดยในการประชุมยังมีตัวแทนแรงงานทำงานบ้าน ออกมาเปิดเผยว่า ทำงานบ้านในบ้านนายจ้างมานานหลายปี แต่ขณะนี้นายจ้างยังไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้เต็มจำนวน

น.ส.สาธิดา หน่อโพ ผู้ประสานงานมูลนิธิแมพ เปิดเผยว่า นอกจากการทำงานด้านสิทธิแรงงานชาติข้ามชาติแล้ว มูลนิธิก็ทำงานด้านสิทธิแรงงานทำงานบ้านด้วยเช่นกัน โดยในรอบปีนี้ เคยมีแรงงานทำงานบ้านร้องเรียนว่าทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง และมีกรณีที่ร้องเรียนว่าทำงานในบ้านนายจ้าง แล้วถูกนายจ้างข่มขืน จนตั้งครรภ์ ปัจจุบันต้องออกจากงานแล้วมาเลี้ยงลูก

ผู้ประสานงานมูลนิธิแมพ ยังเปิดเผยว่า ทางมูลนิธิแมพมีการประชุมกับเครือข่ายแรงงานทำงานบ้านทุกๆ เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหาการทำงานของแรงงานทำงานบ้านเพื่อหาทางออก และเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิแรงงาน การทำงานบ้านอย่างไรให้มีความปลอดภัย มีการถ่ายทอดทักษะที่จำเป็นสำหรับอาชีพทำงานบ้านด้วย เช่น สอนวิธีทำน้ำยาล้างจาน หรืออบรมเรื่องการทำงานบ้านให้ปลอดภัย ทั้งนี้ แม่บ้านที่เข้ามาประชุมกับมูลนิธิแมพ เป็นแม่บ้านที่มีวันหยุด และนายจ้างมีความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ตาม แม่บ้านที่ทำงานอยู่ในบ้านและนายจ้างเข้มงวด ทางมูลนิธิยังเข้าถึงยากมาก

นอกจากนี้ มูลนิธิร่วมกับแรงงานทำงานบ้าน ยังมีการจัดรายการวิทยุร่วมกันด้วย โดยจัดรายการผ่านวิทยุชุมชนของมูลนิธิ FM 99.00 MHz ซึ่งรับฟังได้ในพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยแม่บ้านจะจัดรายการทุกวันศุกร์ เวลา 11.00 – 13.00 น. โดยในแต่ละครั้ง มีเพื่อนแรงงานโทรศัพท์เข้ามาในรายการไม่ต่ำกว่า 30 สาย และกินเวลาหลายชั่วโมง “จะเรียกว่า รายการแม่บ้านถึงบ้าน” ก็ได้ น.ส.สาธิดา กล่าว

ทั้งนี้หลังการเสวนา นางแสงเงิน ตัวแทนแรงงานทำงานในบ้าน ในนาม “กลุ่มแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย” ได้อ่านข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานทำงานบ้านสากล มีรายละเอียดดังนี้

----------------------------------------------------

แถลงการณ์เรียกร้องสิทธิแรงงานทำงานที่บ้าน

แรงงานทำงานบ้านมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของคนในบ้านและในสังคม ในประเทศไทยเองจำนวนแรงงานทำงานบ้านทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติและที่เป็นชาวไทยนั้นมีจำนวนไม่น้อย สถิติอย่างเป็นทางการล่าสุดจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานหรือ IOM พบว่า จำนวนแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนบัตรอนุญาตทำงานอาชีพทำงานบ้านในปี พ.ศ. 2552 มีถึง 129,901 คน แต่เนื่องจากประมาณการจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ไม่จดทะเบียนมีอีกเป็นเท่าตัว* จึงประมาณว่ามีจำนวนแรงงานข้ามชาติทำงานบ้านประมาณ 250,000 คน หากรวมกับจำนวนแรงงานบ้านที่เป็นชาวไทยอีก คาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 500,000 คน เมื่อเทียบกับสถิติโดยธนาคารกสิกรไทยเมื่อปี พ.ศ.2550 พบว่ามีจำนวนแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทยประมาณ 400,000 คน จะเห็นได้ว่าความต้องการแรงงานทำงานบ้านมีเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่สมาชิกวัยแรงงานของครอบครัวส่วนใหญ่ต้องออกมาทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถดูแลงานภายในบ้านด้วยตนเองได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นแงงานทำงานบ้านจึงนับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น

แต่สำหรับสภาพการทำงานรวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ชองแรงงานทำงานบ้านเองกลับไม่มีความราบรื่นอย่างที่แรงงานพึงได้รับ เนื่องจากกฎหมายยังไม่ให้การยอมรับว่างานบ้านก็คืองาน เช่นเดียวกับอาชีพอื่นที่ถูกจัดประเภทเป็นแรงงานนอกระบบ จึงยังไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะให้การคุ้มครองสิทธิแก่แรงงานเหล่านี้ ทำให้ชีวิตของแรงงานทำงานบ้านไม่ต่างกับการเสี่ยงโชค ไม่รู้ว่าตนจะเจอนายจ้างแบบไหน ค่าจ้างจะได้เท่าไหร่ สภาพการทำงานและความเป็นอยู่ในบ้านนายจ้างจะเป็นเช่นไร คนทำงานบ้านจึงขาดกลไกคุ้มครองสิทธิในวันหยุด เวลาทำงานที่แน่นอน ค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งสภาพการทำงานและการอยู่อาศัยในบ้านนายจ้างอย่างปลอดภัย การขาดกฎหมายคุ้มครองประกอบกับความโดดเดี่ยวในบ้านนายจ้าง นอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดแล้ว ยังปิดกั้นโอกาสในการได้รับการคุ้มครองสิทธิด้วย จึงนับว่าแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิเป็นอย่างมากซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

ดังนั้นกลุ่มแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทยร่วมกับองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติจึงร่วมกันรณรงค์เพื่อสิทธิของแรงงานทำงานบ้านมาโดยตลอด เนื่องในโอกาสวันแรงงานทำงานบ้านสากลปี พ.ศ. 2553 นี้ เราขอเรียกร้องให้ประเทศไทยกำหนดมาตรฐานในการจ้างแรงงานทำงานบ้านด้วยการออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานทำงานบ้านและมีกลไกการคุ้มครองสิทธิอย่างรอบด้าน รวมทั้งจะต้องให้การคุ้มครองวันหยุดอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์โดยได้รับค่าจ้าง การกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอน การมีวันหยุดตามประเพณี การได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งการมีสภาพการทำงานและการอยู่อาศัยในบ้านนายจ้างอย่างปลอดภัย

สิทธิแรงงานทำงานที่บ้าน คือสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชน

โดยกลุ่มแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย

22 สิงหาคม 2553, เชียงใหม่

หมายเหตุ: *การประมาณโดยมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ชองแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท