จับตาภาคประชาชน: บารมี ชัยรัตน์ และมนตรี จันทวงศ์ NGO บทเรียน และบทบาทที่สวนทางภาคประชาชน

บารมี ชัยรัตน์ NGO ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และมนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการ กป.อพช.เหนือ ในซีรี่ส์ "NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน" กิจกรรมตีปี๊บ "เวทีทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย

 
 
ตอนที่ 27 บารมี ชัยรัตน์ NGO ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
 
 
“เราคิดว่าภาคประชาชนแต่ก่อนมันเป็นคำที่มีพลังแล้วก็มีนัยยะของการต่อสู่ เวลาแต่ก่อน สิบกว่าปีที่ผ่านมาพูดถึงภาคประชาชนเราจะนึกถึงอะไรซักอย่างที่มันไปแสดงจุดยืน กำกับ คัดค้าน หรือว่าเห็นต่าง หรือแม้กระทั่งเห็นด้วยกับการเมืองในระบบ แต่ว่ามันไม่ใช่การเมืองในระบบ มันเป็นตัวของมันเอง” 
 
“แต่ปัจจุบัน คำว่าภาคประชาชนมันดูหลากหลาย มันมีความหมายที่... มันถูกลดทอนความหมายของมันไป ใครก็อ้างตัวเองว่าเป็นภาคประชาชนได้ เป็นภาคประชาชนเพื่อไปรับใช้อะไรบ้างก็ไม่รู้ บางที่ก็อ้างตัวว่าเป็นภาคประชาชนเพื่อที่จะไปหาผลประโยชน์มากกว่าที่จะมีจุดยืนที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” 
 
“จริงๆ แล้วเอ็นจีโอน่าจะเป็นบทบาทเด่นของคำว่าภาคประชาชนในอดีต เอ็นจีโอกับภาคประชาชนในอดีตมันน่าจะเป็นอะไรที่มันเป็นเนื้อเดียวกันแล้วก็แยกแยะออกจากันยาก ผมคิดว่าเป็นจีโอน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ใช้คำว่าภาคประชาชน ในการนำเสนอของมูลหรือว่าในการเจรจา ในการต่อรองอะไรกับรัฐ แต่ว่าปัจจุบัน ผมคิดว่าเอ็นจีโอเองเริ่มมีอะไรที่ต่างจากความเป็นภาคประชาชนมากขึ้น เอ็นจีโอก็มีจุดยืน มีแนวคิด มีทิศทางอะไรของเอ็นจีโอ ซึ่งผมคิดว่า...ไม่รูสิ มันไปด้วยกันไม่ได้แล้ว ระหว่างเอ็นจีโอกับภาคประชาชน”
 
“เอ็นจีโอก็อาจจะประกาศว่าเป็นภาคประชาชนส่วนหนึ่งด้วยเหมือนกัน แต่ว่าคำว่าเอ็นจีโอไม่เท่ากับภาคประชาชนเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว”
 
“ผมคิดว่าสถานะของเอ็นจีโอมันเปลี่ยนไป จากการที่ทำงานในส่วนที่รัฐขาด หรือว่าทำงานที่คอยติดตามตรวจสอบรัฐ เข้ามาร่วมมือ เข้ามาทำงานอะไรร่วมกับรัฐมากขึ้นแล้วก็ในทิศทางที่มันค่อนข้างต่างกับชาวบ้าน กับภาคประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผ่านมา ผมคิดว่าเห็นได้ชัดเลยว่าทิศทางของเอ็นจีโอกับทิศทางของชาวบ้านเป็นคนละเรื่องกัน” 
 
“เพราะฉะนั้นบทบาทของเอ็นจีโอในอนาคตก็... ก็คงจะเป็นบทบาท เป็นตัวแทนอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมากกว่า ถ้าเอ็นจีโอจะอยู่ได้ ส่วนที่บอกว่าเอ็นจีโอจะตองเป็นฝ่ายสนับสนุนชาวบ้าน ไปให้ข้อมูลชาวบ้าน อันนี้ผมคิดว่าชาวบ้านเขามีศักยภาพในการทำงานด้วยตัวเองได้” 
 
“เอ็นจีโออาจจะต้องแยกตัวจากชาวบ้านให้ชัดเจน แล้วก็ไปเป็นเครื่องมือหรือกลไกหนึ่งของรัฐ ถ้าเอ็นจีโออยากจะอยู่ต่อไป” บารมี ชัยรัตน์ NGO ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
 
 
00000
 
 
ตอนที่ 28 มนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการ กป.อพช.เหนือ
 
 
“เราคิดว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาของเอ็นจีโอ  มันมีบทเรียน มีประสบการณ์ แล้วก็ผมคิดว่าจำนวนมากตกผลึกว่า ไอ้การเมืองที่มันเป็นอยู่ในระบบ การที่เป็นอยู่ในระบบก็คือการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้ง มีผู้แทน ผู้แทนก็ไปเป็น ส.ส.ไปเป็นรัฐบาล มันไม่สามารถแก้ปัญหาของชาวบ้านได้” 
 
“โครงสร้างทั้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ ทั้งโครงสร้างทางกฎหมาย มันแก้ปัญหาไม่ได้ มีแต่ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโดยตรงจะต้องสร้างกลไก สร้างเงื่อนไข เพื่อที่จะทำให้ฝ่ายการเมืองฝ่ายราชการเข้ามาแก้ปัญหาให้เขา”
 
“คนที่ทำงานกับเครือข่ายชาวบ้านจำนวนมากจะไม่พยายาม... คือ บทเรียนจากประสบการณ์ในอดีตมันทำให้การเอาขบวนของชาวบ้านที่ทำงานอยู่ด้วยไปใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองใดกลุ่มการเมืองหนึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะว่าในอดีตมันไม่เคย... คือ มันมีแต่จะถูกใช้ มันใช้อะไรก็ไม่ได้” 
 
“การเกิดขึ้นของเหลืองกับแดง ซึ่งทั้งเหลืองทั้งแดงมันเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเสียเยอะ ดังนั้นผมคิดว่าสภาพการณ์ในอดีต มันทำให้จำนวนหนึ่งเขาจะรักษาระยะห่างไม่ให้เข้าไปใกล้ชิดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป” มนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการ กป.อพช.เหนือ
 
 
.....................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท