อัยการสั่งไม่ฟ้อง 4 เสื้อแดงเชียงราย ชุมนุม ปี52 ลุ้นปีนี้ต่อผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แถมข้อหา "ผู้บงการ"

แกนนำเสื้อแดงเชียงรายเผยผ่าน facebook อัยการสั่งไม่ฟ้อง 4 ผู้ต้องหา กรณีชุมนุมหน้าโรงแรมแสนภู เมื่อเดือนเมษา ปี 52 เจ้าตัวเผยความคิดอยากฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ให้เป็นคดีตัวอย่าง ทั้งแจงล่าสุดแค่ไปให้กำลังใจ 5 นร.-นศ.ชูป้ายไม่เอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดนข้อหาเป็น “ผู้บงการ” เตรียมไปรายงานตัวต่ออัยการ 28 ก.ย.นี้

 
วันนี้ (31 ส.ค.53) เครือข่ายสังคมออนไลน์ facebook ในหน้าส่วนตัวของ นายธนิต บุญญลสินีเกษมได้เผยแพร่เอกสารคำสั่งแจ้งไม่ฟ้อง ของสำนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ 26 ส.ค.53 ถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเชียงราย สั่งไม่ฟ้อง 4 ผู้ต้องหา กรณีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อช่วงเดือนเมษายน ปี 2552 ซึ่งมีการตั้งเวทีปราศรัยประท้วงเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ออกจากตำแหน่ง ที่บริเวณโรงแรมแสนภู ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย และยังมีการปลุกระดมคนให้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงตามสถานที่ราชการและปิดกันถนนสี่แยกแม่กรณ์ 
 
ผู้ต้องหาทั้ง 4 ประกอบด้วย นายวิทยา ตันติภูวนาถ นายธนิต บุญญนิลนีเกษม นานธวัชชัย ทองนาค และนายหวัน ชมพูวิเศษ แกนนำคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงราย ถูกตั้งข้อหา ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชานด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต เพื่อก่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 
 
คำวินิจฉัยของอัยการจังหวัดเชียงรายระบุ พิจารณาแล้วเห็นว่าการชุมนุมของผู้ต้องหาทั้ง 4 และกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นการชุมนุมทางการเมือง การชุมนุมดังกล่าวไม่มีผู้ใดพกพาอาวุธมาในการชุมนุมและไม่มีผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายแก่ชีวิตและร่างกาย ไม่มีการบุกรุกเข้าไปยังสถานที่ราชการ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ แม้จะปรากฏว่ามีการปิดกันถนนบริเวณที่มีการชุมนุม แต่ก็เป็นการปิดกั้นในบางส่วน ซึ่งผู้ใช้ยวดยานสามารถสัญจรไปมาได้ถือได้ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 
 
ส่วนในความผิดฐานยืน ตั้ง วาง หรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการกีดขวางการจราจร และความผิดฐานร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น คดีได้ขาดอายุความแล้ว
 
 
 
แกนนำเสื้อแดงเผยความคิดอยากฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ให้เป็นคดีตัวอย่าง
 
ด้านนายธนิต บุญญนิลนีเกษม จากกลุ่มพลังมวลชนเชียงราย  1 ใน 4 ผู้ต้องหา กล่าวให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า ได้รับเอกสารดังกล่าวในเช้าวันเดียวกันนี้ และตั้งแต่ร่วมการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2552 ถึงปัจจุบันเข้าถูกแจ้งความเป็นผู้ต้องหาใน 4 คดี โดยคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนี้เป็นคดีที่เขาถูกกล่าวหาในช่วงวันที่ 8-12 เม.ย.52 ซึ่งมีการจัดเวทีคู่ขนานกับทางกรุงเทพฯ และเขาคิดว่าคดีนี้คงสิ้นสุดแล้ว เพราะหนังสือของอัยการจังหวัดฯ ระบุว่าเป็นคำสั่งเด็ดขาด แต่ในส่วนตัวมีความคิดอยากฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ เพราะอยากทำให้เป็นคดีตัวอย่าง เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เอะอะๆ ก็จะตั้งข้อหาให้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ทำกิจกรรม ซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่าเหมือนเป็นการใช้อำนาจที่มีอยู่โดยมิชอบ นำมากลั่นแกล้งกัน ทั้งที่การชุมนุมเป็นการใช้สิทธิตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ อย่างในก็ตามในเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้มีการหารือกับทางทนายความ
 
นอกจากนั้น ในปี 2552 เขายังถูกตั้งข้อหาอีกคดีหนึ่งจากกรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 เม.ย.52 ซึ่งเขาและกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันปิดถนนบริเวณสี่แยกแม่กรณ์ หลังจากที่เมื่อวันที่ 12 เม.ย.กลุ่มคนเสื้อแดงนำโดยอดีต ส.ส.เชียงรายได้รวมตัวกันปิดถนนมาแล้วก่อนหน้า เพราะสถานการณ์การชุมนุมในกรุงเทพฯ มีความตึงเครียดขึ้น ทั้งนี้ คดียังกล่าวยังอยู่ในการพิจารณาของอัยการจังหวัดเชียงราย และสำนวนยังไม่มีการส่งกลับมา
 
 
แฉไปเรียกร้องรัฐฯ ยุติฆ่าประชาชน เจอคดีก่อความไม่สงบ
 
นายธนิตกล่าวต่อมาว่า ในส่วนคดีที่ถูกตั้งขอหาในปี 2553 มี 2 คดี คดีแรก จากกรณีเมื่อวันที่ 17 พ.ค.53 ซึ่งเขาและกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงรายจำนวนร่วม 1,000 คน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงรัฐบาลโดยผ่านทางผู้ว่าฯ ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผ่านสำนักงานตำรวจภูธร จ.เชียงราย โดยมีเนื้อหาเพื่อเรียกร้องให้ยุติการเข่นฆ่าประชาชน แต่กลับถูกข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมก่อความไม่สงบในบ้านเมือง โดยขณะนี้สำนวนคดีอยู่ที่อัยการจังหวัดฯ และต้องไปรายงานตัวกับอัยการพร้อมกับคดีเมื่อปี 2552 ที่ยังเหลืออยู่ ในวันที่ 29 ก.ย.นี้
 
 
แค่ไปให้กำลังใจ 5 นร.-นศ.ชูป้ายไม่เอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดนข้อหาเป็น “ผู้บงการ”
 
ส่วนคดีสุดท้าย นายธนิตกล่าวว่า มาจากกรณีเมื่อวันที่ 16 ก.ค.53 ที่กลุ่มนักเรียน-นักศึกษาเชียงราย ชูป้ายประท้วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเขาถูกตั้งข้อในฐานะ “ผู้สั่งการ” โดยเจ้าหน้าที่นำเอารูปถ่ายที่ถูกโพสต์ไว้ใน Facebook ซึ่งถ่ายขณะที่เขาพูดคุยกับกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาในวันที่ทำกิจกรรม มาใช้เป็นหลักฐาน ซึ่งเขาอธิบายว่าในตอนนั้นตัวเขาได้เข้าไปพูดสอบถามกับตำรวจที่จอดรถจักรยานยนต์อยู่ในบริเวณนั้นว่าพวกนักเรียน-นักศึกษามาทำกิจกรรมอะไร เมื่อกลุ่มเด็กเห็นเข้าก็จึงเข้ามาพูดคุยทักทายแล้วก็มีคนถ่ายภาพในขณะนั้นไว้และนำไปโพสต์ใน Facebook ในลักษณะที่เขาไปให้กำลังใจกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา 
 
นายธนิต ระบุด้วยว่า จากการที่เขาทำกิจกรรมกับคนเสื้อแดงมานานการเป็นที่รู้จักจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เขาไม่ได้รู้จักกันเด็กกลุ่มที่มาทำกิจกรรมเป็นการส่วนตัว นอกจากนี้หากเขาจะสั่งการโดยผ่าน Facebook เขาใช้วิธีให้เด็กเหล่านี้ขับจักรยานยนต์มาหา หรือใช้โทรศัพท์สักการณ์น่าจะเป็นวิธีดีและง่ายกว่า เพราะถึงอย่างไรเด็กเหล่านี้ก็อยู่อาศัยในจังหวัดเชียงรายอยู่แล้ว แต่ปัญหาก็คือตำรวจไม่เข้าใจ ไม่รู้จักว่า Facebook คืออะไร
 
“ก่อนหน้านี้เขาพยายามลอบบี้ กดดันน้องนักศึกษา นักเรียน ว่าให้ซัดทอดมาที่ผม แต่น้องเขายืนยันว่านัดหมายกันเอง ไม่มีใครสั่งการ จึงไม่มีการซัดทอด แต่เขาก็ไปเอาข้อมูลจากใน Facebook มาใช้” นายธนิตกล่าว  
 
ส่วนในเรื่องของความคืบหน้าคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่งยื่นเรื่องต่ออัยการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยสั่งไม่ฟ้องกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา ส่วนเขามีนัดไปรายงานตัวกับอัยการในวันที่ 28 ก.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าจะถูกส่งฟ้องต่อศาลหรือไม่
 
“เขาเห็นว่ารบกับเด็กอย่างไรก็แพ้ เขาก็เลยกันเด็กออก”  แกนนำกลุ่มพลังมวลชนเชียงราย แสดงความเห็น
 
 
โยกตำรวจ-ย่้ายผู้ว่าในพื้นที่ ส่อเค้าอาจเอี่ยวแดงเคลื่อยไหว 
 
นายธนิตกล่าวต่อสถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้ด้วยว่า ล่าสุดเขาได้ทราบข้อมูลว่า  พ.ต.ท.บัญญัติ ทำทอง รักษาราชการแทน รอง ผกก.สส.สภ.เมืองเชียงราย ในฐานะหัวหน้าสอบสวนเจ้าของคดีของกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ได้ถูกย้ายไปประจำที่ สภ.ป่าแดดแล้ว ซึ่งส่วนตัวมองว่าอาจเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเนื่องจากเพิ่งย้ายมารับตำแหน่งได้ไม่นาน อีกทั้ง ครม.ในวันนี้ยังมีมติให้ นายสุเมธ  แสงนิ่มนวล พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงแทน ซึ่งการโยกย้ายเหล่านี้ไม่ทราบว่าจะเกี่ยวของกับกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ด้วยหรือไม่
 
ส่วนเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ นายธนิตกล่าวว่าหลังจากที่มีข่าวอดีตการ์ด นปช.เชียงใหม่ถูกยิงถล่มด้วยอาวุธสงครามเมื่อวานนี้ ก็ได้รับโทรศัพท์จากคนรู้จักเตือนให้ระวังตัวเองมากยิ่งขึ้น
 
 
เว็บบอร์ดคนเสื้อแดงรายงาน อดีตการ์ดเสื้อแดงเชียงใหม่ถูกยิงถล่มอาการสาหัส
 
ทั้งนี้ ทางเว็บบอร์ดของคนเสื้อแดง internetfreedom  มีการรายงานข่าวว่า ที่ จ.เชียงใหม่ อดีตการ์ดเสื้อแดงกลุ่ม รักเชียงใหม่ 51 ถูกใบสั่งเก็บ โดนยิ่งถล่มด้วยอาวุธสงครามอยู่ในอาการโคม่า โดยเมื่อคืนวันที่29 ส.ค. เวลาประมาณ 01.15 น นาย กฤษดา และแฟนสาวกลับจากการขายของที่ ถนนคนเดินท่าแพ ขณะที่ขับรถกำลังจะเข้าบ้าน ที่หางดง ได้ถูกคนร้ายคาดว่าประมาณ 4 คน ขับรถเก๋ง สีบรอน์เข้าประกบแล้วกระหนำยิงด้วยอาวุธสงครามนับร้อยนัดแล้วขับรถหนีไป ซึ่งแฟนสาวของนายกฤษดา ได้ขับรถที่ถูกยิงนำนายกฤษดา ส่งโรงพยาบาลหางดง แต่เนื่องจากกระสุนเข้าจุดสำคัญร่างกายหลายจุด ตั้งแต่หน้าอกถึงเท้า และเสียเลือดมากทางโรงพยาบาลจึงส่งต่อมาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 
 
แพทย์ผู้ดูแล ให้ข้อมูลว่ากระสุนทำลายอวัยวะสำคัญในร่างกายหลายจุด มีเลือดออกในช่องท้องตลอดเวลาซึ่งทาง วิทยุชุมชนได้ประชาสัมพันธ์ในการขอบริจาคโลหิตด่วนเพื่อช่วยชีวิตนายกฤษดา ซึ่งก็มีคนเสื้อแดงมาร่วมกันบริจาคโลหิตจำนวนมาก จากนั้นทางแพทย์ได้ทำการผ่าตัด 1ครั้งแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถหยุดการไหลของเลือดในช่องท้องได้ ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ในห้อง ไอ ซี ยู นอกจากนี้ข่าวยังระบุด้วยว่าทางตำรวจได้เก็บหัวกระสุนในที่เกิดเหตุ พบเป็นกระสุน M16 A1 ซึ่งเป็นกระสุนที่ใช้ในกองทัพ 
 
 
ครม.เห็นชอบโผแต่งตั้งโยกย้ายกระทรวงมหาดไทย
 
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ รายงานข่าวผลการประชุม ครม.วันที่ 31 ส.ค.นี้ ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบบัญชีรายชื่อแต่งตั้งข้าราชการระดับอธิบดีใน 4 กรม ของกระทรวงมหาดไทย ตามที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทยเสนอ โดยให้ นายวิเชียร ชวลิต อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง แทนนายมงคล สุระสัจจะ ที่ขึ้นเป็นปลัดกระทรวง และโยกนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ขึ้นเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนแทน
 
แต่งตั้ง นายขวัญชัย วงศ์นิติกร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แทนนายไพรัตน์ สกลพันธุ์ ที่เกษียณอายุราชการ และโยก นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ไปนั่งตำแหน่ง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) แทนนายอนุชา โมกขะเวส ที่จะเกษียณอายุราชการในปีนี้ 
นอกจากนี้ นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการเชียงราย เข้ามาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งได้ตั้ง นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายชนม์ชื่น บุญญาสาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด อุทัยธานี และ นายวัลลภ พริ้งพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด สมุทรสาคร เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่วนนายอุดม พัวสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และนายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อธิบดีกรมที่ดิน อยู่ในตำแหน่งเดิม
 
ก่อนหน้านี้ มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า บัญชีรายชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดนายเนวิน ชิดชอบ เช่น กรณีของนายวิเชียรเคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯบุรีรัมย์ ตั้งแต่ปี 2547 และขึ้นเป็นผู้ว่าฯอำนาจเจริญ เมื่อปี 2551 ก่อนย้ายมาเป็นผู้ว่าฯสุรินทร์ และได้เลื่อนเป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเมื่อเดือนพ.ค.2553 แทนนายมงคลที่ย้ายมาเป็นอธิบดีกรมการปกครอง ส่วนนายสุรชัย นั้นเพิ่งขึ้นเป็นผู้ว่าฯ สมุทรปราการเพียง 1 ปี
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท