Skip to main content
sharethis
เมื่อเอ่ยถึง IMT - GT หลายคนคงจะรู้ว่าคือ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย แต่ก็คงไม่เคยเห็นว่า IMT - GT ทำอะไรบ้าง แต่นับจากนี้ เชื่อว่าคนไทยโดยเฉพาะคนภาคใต้จะเข้าใจมากขึ้น
ด้วยเพราะจะมีโครงการอันเป็นรูปธรรมตำตาเกิดขึ้นในอีกไม่นาน นั่นคือ โทลเวย์หาดใหญ่ – สะเดา มูลค่าเกือบหมื่นล้านบาท
โทลเวย์ หรือทางด่วนหาดใหญ่ – สะเดา เป็น 1 ใน 10 โครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (Priority Connectivity Projects: PCPs) ที่ ADB หรือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย พร้อมให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับประเทศเจ้าของโครงการ ภายใต้กรอบความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย หรือ Indonesia - Malaysia - Thailand Growth Triangle: IMT-GT
 ความเคลื่อนไหวสำคัญของ IMT-GT ที่ทำให้มองเห็นการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นครั้งนี้ อยู่ที่การประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 และระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 7 แผนงาน IMT-GT ระหว่างวันที่ 3 - 5 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมมาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
เมื่อ ADB หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย ได้นำเสนอผลการทบทวนกลางทางของแผนที่นำทาง หรือ โรดแมป IMT-GT ปี 2007 – 2011 เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา โดยผลการประชุมครั้งนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำ IMT-GT ครั้งที่ 5 ที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามปลายปีนี้
 จาก 37 โครงการ กลั่นลงมาเป็น 12 แผนงาน จนในที่สุดก็เหลือ 10 โครงการ
ในจำนวน 10 โครงการดังกล่าว แบ่งเป็นโครงการในประเทศไทย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางด่วนพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์หรือโทลเวย์หาดใหญ่ – สะเดา จังหวัดสงขลา โดยมีวงเงินที่ ADB พร้อมสนับสนุนสูงถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 9,000 ล้านบาท
ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรี IMT – GT กล่าวว่า โทลเวย์สายสะเดามายังหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นโครงการที่พูดกันมานานแล้ว และเป็นความต้องการร่วมกันของทั้งสามประเทศ คือ ไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย จึงถูกนำมาบรรจุไว้ในโครงการที่มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว
พร้อมกับย้ำว่า ความเป็นไปได้ของโครงการนี้ก็คือ จะเป็นการจัดงบประมาณของฝั่งไทยเอง ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ในระหว่างทบทวนเรื่องการศึกษาออกแบบ คิดว่าทุกอย่างจะชัดเจนและตั้งงบประมาณสนับสนุนก้อนแรกได้ภายในปีงบประมาณ 2555
“โทลเวย์เส้นนี้ มีความยาวเกือบร้อยกิโลเมตร ใช้เงินประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9 พันกว่าล้านบาท น่าจะเป็นโทลเวย์ที่แพงที่สุดในประเทศไทย” นายสาทิตย์ กล่าว
ไม่เพียงแต่โทลเวย์หาดใหญ่ – สะเดาเท่านั้น ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าทางด้านการพัฒนาของพื้นที่ตามแนวเส้นทางนี้ไป แต่ยังเรื่องการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสะเดาด้วย
เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ จะใช้รูปแบบเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก – เมืองเมียวดี ประเทศพม่า ปัจจุบันมีการร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดออกมาแล้ว กำลังรอนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอยู่
เนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปี 2552 สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ร่วมกับสำนักงานวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย จัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน บริเวณอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ประเทศไทย – เมืองบูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย ระยะที่ 2
โครงการศึกษาดังกล่าว สภาพัฒน์ ได้ว่าจ้างบริษัท โซซิโอ – เอคโคโนมิค คอนซัลแตนส์ จำกัดเป็นที่ปรึกษา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 6 แห่ง โดยชี้ว่าพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด คือ พื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย บ้านทับโกบ ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา เนื้อที่ 990 ไร่
โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวจะประกอบด้วยพื้นที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมยานยนต์ สถานศึกษา ศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน สถานีขนส่งสินค้า คลังสินค้า หรือ Inland Container Depot (ICD) ธุรกิจการให้บริการทางการเงิน และอุตสาหกรรมอาหารและบริการฮาลาล
ที่สำคัญพื้นที่ทับโกบ ตั้งอยู่ใกล้แนวมอเตอร์เวย์หาดใหญ่ – สะเดา ตามที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้ศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2548
ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนฝั่งเมืองบูกิตกายูฮิตัม ทางมาเลเซียได้กำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักทางด้านยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 2 แสนล้านบาท ปัจจุบันได้พัฒนาไปไกลกว่าของไทยแล้ว
ขณะเดียวกัน ADB ได้บรรจุโครงการพัฒนาระบบศุลกากร หรือ ICQs มูลค่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาไว้ใน 10 โครงการดังกล่าวด้วย
อีกโครงการหนึ่งที่ฝ่ายไทยกำลังเร่งพัฒนาอยู่ คือ การก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ มูลค่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากด่านชายแดนไทย – มาเลเซีย ที่บ้านจังโหลน อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาปัจจุบันมีความแออัดมาก
แม้การก่อสร้างด่านสะเดาแห่งใหม่นี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2545 แล้ว แต่โครงการมีความล่าช้ามาก เนื่องจากติดปัญหาเรื่องค่าชดเชย เพราะที่ตั้งด่านศุลกากรแห่งใหม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองล่าปัง ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเด เนื้อที่ประมาณ 765 ไร่ ถูกชาวบ้านบุกรุกแผ้วถางทำสวนยางพาราและไม้ผลจำนวนมาก
เฉพาะงบประมาณลงทุนก่อสร้างโทลเวย์กับด่านศุลกากรกรสะเดาแห่งใหม่มีสูงกว่า 10,000 ล้าน บาท ยังไม่รวมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอีกที่จะทำให้เกิดการลงทุนอีกมหาศาล แต่การทุ่มงบประมาณจำนวนนี้น่าจะคุ้มค่ามาก หากเทียบกับมูลค่าการค้าชายแดนในอำเภอสะเดาที่สูงถึง 400,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นได้อีก
ส่วนอีก 1 ใน 10 โครงการที่อยู่ในประเทศไทย คือ โครงการพัฒนาท่าเรือในภาคใต้ของไทย ได้แก่ ท่าเรือภูเก็ตและท่าเรือบ้านนาเกลือ จังหวัดตรัง วงเงิน 28 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 900 ล้านบาท
ส่วนท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูลกับท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่มีหลายฝ่ายออกมาผลักดันอยู่ในขณะนี้ ถูกตัดออกจากโครงการของ ADB ไปแล้ว
นายบุญช่วย จังศิริวัฒนธำรง ประธานสภาธุรกิจชายแดนใต้ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนไทย ภายใต้แผนงาน IMT – GT กล่าวว่า สภาธุรกิจชายแดนใต้เสนอให้โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล เข้าไปอยู่ในโครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (Priority Connectivity Projects: PCPs) ของ ADB ด้วย แต่ ADB ก็ตัดออก
ขณะที่นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT – GT ฝ่ายไทย กล่าวว่า เหตุที่ ADB ตัดโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพราะเป็นโครงการที่มีความไม่แน่นอนสูง ยังมีการต่อต้านจากชาวบ้านอยู่
ส่วนโครงการอื่นๆ ในจำนวน 10 โครงการ ที่เหลือเป็นของมาเลเซีย 2 โครงการ และของอินโดนีเซียอีก 6 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมเงินมูลค่าทั้ง 10 โครงการเป็นเงิน 5.19 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท
เมื่อโทลเวย์หาดใหญ่ – สะเดา เกิดขึ้นมาแล้ว เชื่อว่าจะพลิกโฉมหน้าการพัฒนาในภูมิภาค IMT – GT ไปอีกระดับหนึ่ง จากนั้นเมกะโปรเจกส์อื่นๆ ก็อาจผุดขึ้นมาตามๆกัน
0 0 0
 
 

 
แผนที่โครงการ – แผนที่แสดงที่ตั้งของ 10 โครงการเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค (Priority Connectivity Projects: PCPs) ที่ระบุในโรดแมป IMT – GT ปี 2007 – 2011 ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ซึ่งเป็นโครงการที่ผ่านการทบทวนมาแล้ว พร้อมแสดงแนวเส้นทางพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Corridors) รวมมูลค่าโครงการทั้งสิ้น 5,193.6 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา
10 โครงการเร่งด่วนโรดแมป ADB

ชื่อโครงการ
วงเงินงบประมาณ
(ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา)
อินโดนีเซีย
 
โครงการพัฒนาท่าเรือสุมาตรา
ประกอบด้วยท่าเรืออูลีหลิว ท่าเรือมาลาฮายาตี ท่าเรือเบลาวัน
และท่าเรือกัวลาอีนก
57.4
โครงการเชื่อมการคมนาคมขนส่งที่หลากหลายตามเส้นทางเศรษฐกิจมะละกา(มาเลเซีย) – ดูไม(อินโดนีเซีย)
ประกอบด้วย ท่าเรือดูไม และถนนสายปือกันบารู – ดูไม
875.2
โครงการทางด่วนสุมาตรา
ประกอบด้วย ทางด่วนปาเล็มบังและอินดารลายา
 ทางด่วนสายปาเล็มบัง – บือตง
493.0
โครงการเชื่อมโยงพลังงานระหว่างมะละกา(มาเลเซีย) – ปือกันบารู(อินโดนีเซีย)
300.0
โครงการทางด่วนบันดาร์ลัมปุง – บาเกาเฮนี ส่วนหนึ่งของทางด่วนตะวันตกเชื่อมต่อกับเกาะชวา
820.0
โครงการพัฒนาทางด่วนบันดา อาเจะห์ – กัวลา ซิมปัง
2,000.0
 
รวม 4,545.6
มาเลเซีย
 
โครงการเชื่อมโยงพลังงานระหว่างมะละกา(มาเลเซีย) – ปือกันบารู(อินโดนีเซีย)
200.0
โครงการพัฒนาระบบศุลกากร หรือ ICQs ที่ด่านบูเก็ตกายูฮิตัม ฝั่งตรงข้ามกับด่านพรมแดนไทย – มาเลเซีย อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
120.0
 
รวม 320
ไทย
 
การพัฒนาท่าเรือในภาคใต้
28.0
ทางด่วนระหว่างเมืองหาดใหญ่ – สะเดา
300.0
 
รวม 328.0
 
รวมทั้งสิ้น 5,193.6
 

 
มอเตอร์เวย์ – ภาพแสดงแนวก่อสร้างทางด่วนพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่ – สะเดา (เส้นประ)
มอเตอร์เวย์หาดใหญ่ – สะเดา
โครงการศึกษาเรื่องการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์เส้นทางหาดใหญ่-ด่านสะเดาระยะทางประมาณ 47.2 กิโลเมตร เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2543 โดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการ แต่มีผลการศึกษาออกมาจริงๆ ในปี 2548 โดยมีวงเงินลงทุนตามผลการศึกษาขณะนั้น มูลค่าประมาณ 10,055 ล้านบาท
นายชูศักดิ์ เสวี ผู้อำนวยการสำนักแผนงานกรมทางหลวง(ทล.) เหตุที่มอเตอร์เวย์หาดใหญ่ – ด่านสะเดา สายนี้ยังไม่ได้ก่อสร้าง เนื่องจากผลการศึกษาขณะนั้น ระบุว่า ยังไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจึงไม่เร่งผลักดันโครงการ แต่ผลการศึกษาระบุว่า จะเริ่มเห็นผลได้ในปี 2558
“แม้ผลการศึกษาดังกล่าว ระบุว่าจะเห็นผลในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ขณะนี้ได้เริ่มมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางหาดใหญ่ - ด่านสะเดาแล้ว เพียงแต่ต้องมาวิเคราะห์งบประมาณในส่วนต่างๆ ใหม่อีกครั้งเท่านั้น โดยเฉพาะการเปิดสัมปทานภายใต้งบประมาณการลงทุนระยะเวลา 30 ปี” นายชูศักดิ์ กล่าว
ปัจจุบันสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รื้อแผนโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์หาดใหญ่ – ด่านสะเดาขึ้นมาอีกครั้ง แต่ปรับระยะทางเป็น 55 กิโลเมตร เพื่อรองรับการจราจรที่แออัดในถนนกาญจนวนิช ซึ่งเป็นถนนสายหลักสายเดียวจากหาดใหญ่ไปยังด่านสะเดา
แม้ สนข.ได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางจากเดิมไปบ้าง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่เส้นทางใหม่ก็ยังผ่านบริเวณนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ หรือนิคมฉลุง อำเภอหาดใหญ่ เชื่อมกับเส้นทางเดิม โดยมีการเสนอให้สร้างอุโมงค์ลอดทางแยกสำคัญๆ
ขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ด้วย เนื่องจากด่านพรมแดนไทย – มาเลเซียที่บ้านด่านนอกปัจจุบัน ก็มีความแออัดเช่นกัน
ส่วนข้อมูลโครงการเดิม ระบุว่า การก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายนี้จะลดจุดตัดสำคัญ 3 จุด ในอำเภอหาดใหญ่ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา และที่ด่านสะเดา เพื่อให้รถใช้ความเร็วได้สม่ำเสมอ เหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียผ่านด่านสะเดา
สำหรับจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อยู่ใกล้กับ ไปสิ้นสุดที่ด่านสะเดาติดกับชายแดนประเทศมาเลเซียระยะทางประมาณ 47.2 กิโลเมตร มีทั้งส่วนที่เป็นถนนระดับพื้นและทางยกระดับ เขตทางกว้าง 70 เมตร ทิศทางไป-กลับฝั่งละ 2 ช่องจราจร
โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมกับถนนเพชรเกษม ตำบลฉุลง อำเภอหาดใหญ่ ใกล้ๆ กับที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ หรือ นิคมฉลุง ผ่านพื้นที่ใกล้กับสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ เข้าไปในเขตอำเภอคลองหอยโข่ง แล้วเชื่อมต่อกับถนนกาญจวนิชก่อนถึงด่านสะเดา แต่อาจมีการเปลี่ยนแนวในบริเวณนี้ เพื่อรองรับด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่
ตลอดเส้นจะมีการติดตั้งรั้วกั้นระหว่างทางหลวงพิเศษและทางบริการชุมชนอื่นๆ จะมีการจัดส่วนไว้รองรับบริการ(Service Track) จะมีทางเข้า – ออก บริเวณที่ผ่านพื้นที่ชุมชนและพื้นที่สีเขียวจะต้องมีการเวนคืนบางส่วน
สำหรับวงเงินลงทุนเดิม 10,055 ล้านบาทนั้น แบ่งออกเป็นค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 641 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียด 120 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 120 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 6,875 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการโครงการ 1,456 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษาประจำปี(รวม 26 ปี) 312 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษาตามกำหนดเวลา (ทุกๆ 7 ปี) 531 ล้านบาท
ระยะเวลาตั้งแต่การออกแบบจนก่อสร้างแล้วเสร็จใช้เวลา 4 ปี และเปิดใช้เส้นทางอีก26 ปี รวมเป็น 30 ปี
 
 

 
เขตเศรษฐกิจพิเศษ – ภาพจำลอง 1 ใน 6 พื้นที่โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน บริเวณอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ประเทศไทย – เมืองบูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย ระยะที่ 2 บริเวณบ้านทับโกบ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ใกล้ชายแดนไทย – มาเลเซีย
เขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดามหานคร
เมื่อปลายปี 2552 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้จัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน บริเวณอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ประเทศไทย – เมืองบูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย ระยะที่ 2 โดยว่าจ้างบริษัท โซซิโอ – เอคโคโนมิค คอนซัลแตนส์ จำกัดเป็นที่ปรึกษา มีนายสมสิชฌน์ บรมธนรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการ
การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นฐานการผลิตเพื่อป้อนนิคมอุตสาหกรรม โดยจะเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมสนับสนุนอุตสาหกรรมหนักทั้งในฝั่งประเทศไทยและมาเลเซีย
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนี้มีลักษณะคล้ายๆ กับเขตเศรษฐกิจชายแดน/นิคมอุตสาหกรรมแม่สอด – เมียวดี ซึ่งได้กำหนดให้อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับเมืองเมียวดีทางฝั่งประเทศพม่า ซึ่งเป็นเมืองคู่แฝดกันเป็นเศรษฐกิจชายแดน/นิคมอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้เป็นประตูการค้า เป็นปัจจัยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาและสตูล เพื่อให้สามารถแข่งขันกับมาเลเซียได้ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
โดยการศึกษาเรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนี้ ทางสศช.ดำเนินการศึกษาคู่ขนานกับ Economic Planning Unit (EPU) หรือสำนักงานวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย
 
โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวจะประกอบด้วยพื้นที่อุตสาหกรรมและกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
1.     อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา
2.     อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป
3.     อุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมยานยนต์
4.     สถานศึกษาและ / หรือศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพของประชาชนในพื้นที่
5.     สิ่งอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการขนส่ง เช่น สถานีขนส่งสินค้า คลังสินค้า หรือ Inland Container Depot (ICD)
6.     ธุรกิจการให้บริการทางการเงินเพื่อการค้าชายแดน
7.     อุตสาหกรรมอาหารและบริการฮาลาล
 
สำหรับพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของฝั่งประเทศไทยตามผลการศึกษาของบริษัท โซซิโอ – เอคโคโนมิค คอนซัลแตนส์ จำกัด มี 6 พื้นที่ ประกอบด้วย
1.     พื้นที่บ้านคลองแงะ อำเภอสะเดา
2.     พื้นที่สถานีรถไฟคลองแงะ อำเภอสะเดา
3.     พื้นที่อุตสาหกรรมเฉพาะกิจ ในเขตผังเมืองรวมสะเดา อำเภอสะเดา
4.     พื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย บ้านทับโกบ ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา
5.     พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่
6.     พื้นที่ระหว่างเทศบาลตำบลคลองแงะกับองค์การบริหารส่วนตำบลพังลา
 
สำหรับพื้นที่ที่ 1 – 3 และ 6 ตั้งอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)พังลา และเทศบาลตำบลคลองแงะ อำเภอสะเดา มีพื้นที่รวม 650 ไร่
ส่วนพื้นที่ที่ 4 ตั้งอยู่ในเทศบาลตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา บริเวณบ้านทับโกบ มีพื้นที่ประมาณ 990 ไร่ ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาระบุว่า เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมและมีความพร้อมที่สุดในการจัดตั้งที่พักสินค้า
จากการสังเกต จะพบว่า พื้นที่ทับโกบกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ตั้งอยู่ใกล้แนวก่อสร้างทางด่วนพิเศษหรือมอเตอร์เวย์หาดใหญ่ – สะเดา จึงคาดว่าจะมีความเป็นไปได้สูงในการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยเฉพาะที่บ้านทับโกบ
สำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนี้ จะได้รับสิทธิพิเศษ เช่น การอนุญาตให้คนต่างด้าวถือครองที่ดินได้ได้รับยกเว้นภาษีต่างๆ โดยอาจมีการออกกฎหมายเฉพาะเหมือนกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในต่างประเทศ เช่น เขตเศรษฐกิจ- พาณิชย์พิเศษลาวบาว จังหวัดกวางตรี ประเทศเวียดนาม เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน - เซโน ประเทศลาว และเขตเศรษฐกิจพิเศษไห่หนาน ประเทศจีน
ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนฝั่งเมืองบูกิตกายูฮิตัม หรือเรียกว่า โกตา เปอร์ดานา ทางมาเลเซียได้กำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักทางด้านยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 2 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ตรงด่านชายแดนไทย – มาเลเซีย บ้านประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ทางมาเลเซียยังมีโครงการพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมการเกษตร ชื่อว่าโครงการเมืองโกตา ปุตรา มีพื้นที่พัฒนาถึง 2,000 เอเคอร์ ขณะที่ฝ่ายไทย เพิ่งได้สร้างอาคารด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง ขณะที่ฝั่งมาเลเซีย ได้ก่อสร้างอาคารต่างๆ เสร็จสมบูรณ์ไปตั้งนานแล้ว
 

 
ศึกชิงที่ดินตั้งด่านสะเดาแห่งใหม่
การก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่มีปัญหามาก ทั้งที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2545 ให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2554 แต่ปัจจุบันโครงการมีความล่าช้ามาก เนื่องจากติดปัญหาเรื่องค่าชดเชย
โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองล่าปัง ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา บางส่วนเป็นที่ดินและที่ดินปฏิรูปเพื่อเกษตรกร หรือ ส.ป.ก.4-01 เนื้อที่รวมประมาณ 765 ไร่ ห่างจากด่านพรมแดนสะเดาปัจจุบัน 1.5 กิโลเมตร ซึ่งกรมป่าไม้อนุญาตให้กรมศุลกากรใช้ประโยชน์แล้ว
ขณะที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจะย้ายไปตั้งในที่ตั้งด่านศุลกากรแห่งใหม่นี้ด้วย เนื่องจากที่ตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองปัจจุบันมีพื้นที่เพียง 40 กว่าไร่เท่านั้น และไม่สามารถขยายพื้นที่ได้อีก เนื่องจากพื้นที่ชุมชนและย่านธุรกิจได้ขยายมาติดชายแดนแล้ว จึงทำให้มีความแออัดมาก
การก่อสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ นี้มีบริษัท เอ.เอส.เอ การช่าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล และระยะเวลาก่อสร้าง 780 วัน วงเงินงบประมาณในการก่อสร้าง 1,000 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้มีชาวบ้านเข้าไปบุกรุกแผ้วถางเพื่อทำสวนยางพารา ไม้ผลทั้งในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ และที่ดิน ส.ป.ก.4-01 โดยมีการจ่ายค่าชดเชยแล้ว 79 ไร่ อยู่ระหว่างการเจรจาอีก 43 ราย รวม 60 แปลง
เหตุที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากชาวบ้านเรียกร้องค่าชดเชยพืชเกษตรสูงเกินกว่าราคาที่รัฐจะจ่ายให้ โดยเฉพาะต้นยางพารา ซึ่งรัฐเสนอจ่ายค่าชดเชยเฉลี่ยต้นละ 1,561 บาท หรือไร่ละ 109,286 บาท แต่ชาวบ้านเรียกร้องให้จ่ายถึงต้นละ 8,000 บาท
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net