“ท่าทีของหมู่บ้านพลัมกับสังคมไทย”

วิจักขณ์ พานิช สัมภาษณ์ภิกษุณีนิรามิสา สังฆะหมู่บ้านพลัม ประเทศไทย ว่าด้วยการเดินทางของจากพุทธศาสนาวัฒนธรรมหนึ่งสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง เมื่อสังฆะแห่งพุทธจากแนวทางของมหายานก้าวเข้ามาร่วมผืนดินของดินแดนพุทธแบบไทย ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการต้องเดินทางฝ่ากำแพงความหวาดกลัว ความเชื่อที่ตา่ยตัวและแข็งทื่อ

พลังของคนหนุ่มสาวเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งเมื่อได้ผลิเผยขึ้นจากการที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ฝึกหัด ขัดเกลาตนเองด้วยแล้ว พลังการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณของพวกเขาจะนำมาซึ่งการสร้างสรรค์ทางปัญญาที่กระจายตัวออกไปในสังคมได้อย่างมหาศาล แต่พลังแห่ง “อิสรภาพ” “ความตื่น” “ความกล้า” “ความมีชีวิตชีวา” และ “ความสดใหม่” บ่อยครั้งที่มักถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงต่อสังคม โดยเฉพาะสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของโครงสร้างอำนาจหรือศรัทธาในความเชื่อที่แข็งทื่อและตายตัว ที่ซึ่งความชอบธรรมได้ถูกหล่อเลี้ยงไว้ด้วยกลไกการปกครองแบบควบคุม ปิดกั้น ลิดรอน หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว

ศาสนาเป็นเรื่องของชีวิต จิตวิญญาณ อิสรภาพ และการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขของคนในสังคม ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่ศาสนาจะไม่สัมพันธ์กับการเมือง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกใบนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง สงคราม การกดขี่ข่มเหง ความอยุติธรรม อำนาจฉ้อฉล และสัจจะที่ถูกบิดเบือน แล้วพลังทางศาสนธรรมจะยังคงเป็นความหวังให้กับผู้คนบนหนทางของการเผชิญกับความจริงได้มากน้อยเพียงไร ที่ไม่ใช่การเป็นเพียงแค่สถาบันหนึ่งทางสังคมที่เฝ้าแต่ธำรงรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย ด้วยการตกเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมของอำนาจรัฐหรืออำนาจทุนโดยสมบูรณ์ นั่นเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของคนหนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัย พวกเขาจะต้องเลือกหยิบอาวุธขึ้นสู้ ใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กลับคืนมาสู่สังคมโดยเร็ว หรือศาสนาจะยังคงมีพลังมากพอที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาสามารถเดินตามศรัทธาที่ว่าสันติภาพจากภายในและการใช้ปัญญาเท่านั้นที่จะนำไปสู่กลไกการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างยั่งยืนได้

ครั้งหนึ่งพระภิกษุหนุ่มชาวเวียดนามที่ชื่อ ติช นัท ฮันห์ ก็เคยอยู่บนทางแยกที่ว่านี้เช่นกัน สหายธรรมของท่านหลายคนเลือกที่จะเปลี่ยนจากวิถีทางศาสนธรรมไปจับอาวุธขึ้นต่อสู้ ส่วนตัวท่านได้ตัดสินใจลี้ภัยจากบ้านเกิดเมืองนอนและก่อตั้ง“หมู่บ้านพลัม” ขึ้นในชนบทของประเทศฝรั่งเศส หลายสิบปีผ่านไปก้าวย่างของท่านติช นัท ฮันห์ ในวัยชรา ยังมั่นคงอยู่บนหนทางแห่งศาสนธรรม อีกทั้งเมล็ดพันธุ์ของต้นพลัมได้เริ่มกระจายตัวออกไปงอกงามยังผืนดินอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย

ทว่าการเดินทางของจากพุทธศาสนาวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่งนั้นเป็นเรื่องท้าทายเสมอ ที่บ่อยครั้งและส่วนใหญ่มักจะทำได้เพียงได้รับความนิยมในชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่อาจที่จะหยั่งรากและมีผลต่อวิถีชีวิตและความทุกข์ของผู้คนในสังคมได้อย่างแท้จริง ยิ่งครั้งนี้เป็นการเดินทางของพุทธศาสนามหายานมาสู่ “ประเทศพุทธอยู่แล้ว” ด้วยแล้ว ความท้าทายนั้นยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ก่อนที่ท่านติช นัท ฮันห์ จะมาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งที่สองในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ( ๑๘-๓๐ ต.ค. ๕๓ "จิตสงบ ใจเปิดกว้าง: Peaceful mind, Open heart" รายละเอียดดูได้ที่ www.thaiplumvillage.org) เราได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียนหลวงพี่นิรามิสาที่ปากช่อง และถือโอกาสได้สนทนาพูดคุยถึงทัศนคติ อุปสรรค แรงบันดาลใจ และทิศทางของการหยั่งรากของต้นพลัมที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ

ท้องฟ้าฟากหนึ่งช่างดูสดใสท่ามกลางกระแสความเป็นที่นิยมของธรรมะและการปฏิบัติธรรม แต่อีกฟากหนึ่ง เมฆดำ พายุฝนฟ้าคะนองของวิกฤตการเมืองและนานาปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญยังคงอึมครึม รอเวลาที่จะพัดโหมอีกระลอกหรือหลายระลอก การเติบโตของต้นพลัมจึงยังเป็นเพียงแค่ก้าวแรก และยังต้องเผชิญกับคำถามและความท้าทายต่างๆอีกมากมายนัก

วิจักขณ์: เดินเข้ามาในสังฆะพลัม ผมรู้สึกเหมือนเดินเข้ามาในบ้านหลังใหญ่ที่มีคนอยู่เยอะๆ มากกว่าอยู่ในวัด สังฆะแบบนี้ไม่ได้จะเกิดขึ้นง่ายๆเลยนะครับ การที่จะสามารถสร้างชุมชนจนถึงจุดที่ชุมชนสามารถดำเนินไปได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ได้ยึดติดในตัวผู้นำคนใดคนหนึ่ง ยึดติดอยู่ในศีลหรือระเบียบกฎเกณฑ์แบบเข้มงวดจนเครียด จนใครเดินผ่านเข้ามาก็อึดอัด

อย่างผมเนี่ย ก็ไม่ได้เป็นคนเรียบร้อยอะไรมาก เดินเข้าไปในวัด หรือสถานปฏิบัติธรรม พอคนเห็นผมยาวๆ ดูจิ๊กโก๋หน่อย เค้าก็จะมองแล้วว่า “เธอว์น่ะ รู้หรือเปล่าว่าที่นี่ที่ไหน ปฏิบัติตัวให้ดีๆหน่อย” อะไรแบบนี้ (หัวเราะ)

นิรามิสา: มาที่นี่เค้าบอกน่ารัก (หัวเราะ)

วิจักขณ์: กลายเป็นว่า ชุมชนที่นี่ มองเห็นคนที่แปลกกว่าตัวเอง ว่าน่าสนใจหรือน่ารักไป เพราะเท่าที่สังเกตเห็นชุมชนปฏิบัติทางศาสนาส่วนใหญ่ พอหนักไปทางเคร่งๆแล้วเนี่ย ก็มักจะมองคนที่ปฏิบัติตัวไม่เหมือน หรือวางตัวไม่เรียบร้อย ว่าไม่ผ่าน ไม่เข้ารีตเข้ารอย หนักเข้าก็คือบอกว่า “ไม่ปฏิบัติ” แค่จากการตัดสินรูปลักษณ์ภายนอก

นิรามิสา: ก็คงอย่างที่ตั้มว่า คงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของหมู่บ้านพลัม ที่หลายๆคนสัมผัสได้ นั่นคือ ความเป็นมิตร

วิจักขณ์: แล้วกับสถานการณ์ที่ปากช่องตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ หลังจากที่มีหลวงพี่จากเวียดนามเป็นร้อยรูปลี้ภัยรัฐบาลคอมมิวนิสต์มาพำนักอยู่ด้วยอย่างที่ไม่เคยได้คาดคิดไว้ก่อน

นิรามิสา: ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราบ่มเพาะบุคลากร ถ้าจะเดินทางไปไหนก็ต้องมีหลวงพี่มากพอที่จะดูแลที่นี่ด้วย เป็นช่วงของการลงหลักปักฐาน หลวงพี่หลายๆท่านก็ยังอยู่ในช่วงปรับตัว เยียวยาจากสภาพที่เกิดขึ้นที่เวียดนาม ปรับตัวกับสถานที่ใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ซึ่งก็ยากสำหรับเขามาก หลายคนเกิดที่เวียดนาม อายุแค่ยี่สิบกว่าเท่านั้นเอง ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องออกนอกประเทศ นอนๆอยู่ดีๆ วันนึงก็บอกว่า “ไป ไปเมืองไทย” เพราะฉะนั้นหลายอย่างก็เลยต้องค่อยๆปรับ

แต่หลวงพี่ก็เรียนภาษาไทยกันเร็วนะคะ บางท่านพูดเก่ง ถามเก่ง แต่ว่าเรียนพูดแบบไม่ฟังคำตอบ สื่อสารทางเดียว (หัวเราะ) เช่น เรียนคำว่า “ขับรถระมัดระวังนะครับ” “ไปอาบน้ำอาบท่า” “เดินช้าๆ ครับ” แต่มีคนคุยภาษาไทยกัน แกก็หันมาบอก “คุยอะไรกันไม่รู้เรื่อง” ก็เลยบอกว่า “อ้าว ก็เรียนแต่คำสูงๆ คำพื้นๆเลยฟังไม่รู้เรื่อง” (หัวเราะ)

คนเวียดนามขยัน แต่ความที่โตมาในสังคมคอมมิวนิสต์ เป็นธรรมดาที่ทำให้เปิดยากนิดนึง

วิจักขณ์: เปิดในแง่ไหนครับ

นิรามิสา: เปิดกับสิ่งใหม่ๆ หลวงพี่มองว่าทุกคนในตัวเราประกอบด้วยทุกสิ่งที่เราถูกเลี้ยงดูมา หลวงพี่ว่าเวลาคนไทยไปที่อื่น คนไทยมีลักษณะเปิดกว้างมากกว่า คนไทยอะไรก็ได้ ยอมหรือพร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ รับอะไรใหม่ๆ มันเป็นระบอบการปกครอง ซึ่งก็อยู่ในระบบการสอนที่เค้าโตมา ก็คงต้องใช้เวลาสักระยะนึง

วิจักขณ์: ของเราอาจจะถูกทำให้ยอมๆกันมากไปหน่อยมั๊ยครับ (หัวเราะ) เห็นว่าหมู่บ้านพลัมคิดถึงเรื่องเกษตร เรื่องการพึ่งตนเองอยู่เหมือนกันรึเปล่าครับ

นิรามิสา: ส่วนใหญ่ก็ปลูกผักค่ะ

วิจักขณ์: แต่ก็ไม่ได้คิดทำครบวงจรทุกอย่าง

นิรามิสา: ค่ะ คงไม่ได้ทำครบวงจร ตอนอยู่ที่เว้ เราก็ทำนา เพราะเรามีที่นาอยู่แล้ว ตอนนั้นมันยากจน สมัยก่อนทำกันเอง ก็เลยทำกันมาเรื่อยๆ แต่ก็ไม่แน่เราอาจจะทำก็ได้ ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะสร้างกระท่อม หลวงพี่เค้าก็ยังสร้างกันเองเลย ที่เพิ่งเสร็จไป เดี๋ยวหลวงปู่มาจะสร้างศาลาใหญ่ รับได้สี่ห้าร้อยคน สร้างเป็นไม้ ไม่ได้สร้างถาวร ไม้พวกนี้เราก็จะเอาไปได้ตอนที่เราย้ายไปที่ใหม่ กว่าจะหาที่ กว่าจะลงหลักปักฐานที่ใหม่ได้ก็อีกสองสามปีโน่นล่ะค่ะ

ศาลาใหญ่เอาไว้รับที่หลวงปู่กำลังจะมา ท่านอยากจะเจอลูกศิษย์ของท่าน ที่ท่านบวชให้ทางอินเตอร์เน็ตแล้วไม่เคยเห็นหน้า พระที่อยู่ที่เวียดนามน่ะค่ะ

พี่มน (เพื่อนร่วมสนทนา): มีความยากหรือเปล่าคะ ในการนำเอาคำสอนมหายานมาเผยแผ่ในประเทศพุทธศาสนาเถรวาท

นิรามิสา: แนวหลวงปู่ค่อนข้างจะเข้ากับแนวเถรวาทได้ดีนะคะ เพราะเราฝึกสติเป็นพื้นฐาน อันนี้เป็นอันนึงที่ทำให้เข้ากันได้ง่าย พื้นฐานอย่างอาณาปานสติ สติปัฏฐานสี่ การกลับมาอยู่กับปัจจุบัน พวกนี้เป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานของเถรวาท และเป็นหลักพื้นฐานของเราที่เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน

ขณะเดียวกันคิดว่าแนวทางนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ตอบคำถามให้กับคนรุ่นใหม่ได้เยอะขึ้นด้วย พระผู้ใหญ่ที่เมืองไทย อย่างท่านธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีที่มจร. เค้าทึ่งมากว่าหลวงปู่ทำได้ยังไง movement ที่ดึงคนหนุ่มคนสาวเข้ามาสนใจพุทธศาสนาได้เยอะขนาดนี้ หลวงพี่คิดว่าพระผู้ใหญ่ในองค์กรสงฆ์ท่านคงจะเห็นว่า ถ้าไม่ทำอะไรพุทธศาสนาในเมืองไทยจะเสื่อม พระรุ่นใหม่ๆ พออยู่ในมหาเถรสมาคม ท่านพูดได้ ท่านก็นำสิ่งใหม่ๆเข้าไป ท่านคงคิดว่าเราจะต้องเปิดรับพุทธศาสนาทุกนิกายเข้ามา ใครที่ฝึกดีฝึกชอบท่านก็ดึงเข้ามา สิ่งนั้นทำให้ท่านเปิดกว้าง เพราะว่ามีพระบางรูปก็บอกว่า ถ้าหมู่บ้านพลัมเข้ามาซักช่วงห้าหกปีก่อน ๑๐ ปีก่อน ก็คงไม่ได้รับการยอมรับ ตอนหลวงพี่กลับมาครั้งแรกเมื่อปี ๒๐๐๓ ก็ยังมีคนบอกเลย “มาทำไมมหายาน มหายานน่ะยานสุดยอดเลย ทำอะไรตามใจ ตั้งกฎเอง” (หัวเราะ)

มันเป็นไอเดียที่แบ่งแยก คิดไปว่าเถรวาทคือต้นแบบ เรียกตัวเองว่า Original Buddhism เป็นต้นตำรับที่พระพุทธเจ้าพูดไว้ยังไงก็เอามาแบบนั้น มันก็เลยไม่กล้าเปลี่ยนอะไร ตรงนี้มันก็เลยทำให้พุทธศาสนาในบ้านเรามันเลยตายด้าน เข้าไม่ถึง ไม่ร่วมสมัย ด้วยความที่เค้ายึดอยู่ตรงนั้น ก็ทำให้มองว่ามหายานไม่ใช่พุทธบ้าง มหายานนี่ตั้งขึ้นมาเองบ้าง

พี่หนึ่ง (เพื่อนร่วมสนทนา) : แล้วทางสถาบันสงฆ์ของไทย มีการรับรู้เรื่องพระของหมู่บ้านพลัมมั๊ยครับ

นิรามิสา: รับรู้ค่ะ เมื่อสามปีก่อนมหาเถรสมาคมนิมนต์หลวงปู่มาเป็น keynote speaker ในงานวันวิสาขบูชาโลก

มน (เพื่อนร่วมสนทนา): น่าสนใจนะคะว่า ถึงวันนี้แสดงว่าสถานการณ์พุทธศาสนาในบ้านเราก็เปลี่ยน จนทำให้องค์กรสงฆ์เปิดรับมากขึ้น

นิรามิสา: เปลี่ยนค่ะ อย่างเช่น วันก่อนมีคู่สามีภรรยา มากว้านพระโครงการที่บวชพระแสนรูป เห็นภิกษุณีขี่จักรยานออกไป เค้าก็เลยเดินตามเข้ามา มานั่งฟังเทศน์นิดนึง เค้าก็เล่าให้ฟังว่า ทางมหาเถรสมาคมก็กลัวมาก เพราะว่าตอนนี้เข้าพรรษา บางวัดก็มีพระแค่รูปเดียว ก็เลยเป็นอะไรที่สั่นสะเทือน ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในพุทธศาสนาบ้านเรา เค้าก็เลยบอกว่าโครงการอันนี้ก็จะเป็นโครงการอันนึงที่จะเข้าไปช่วย บวชพระเข้ามาเพิ่ม

แล้วก็อีกอันนึงที่หลวงพี่ได้ยินบ่อย ก็คือข่าวที่บอกว่า มีมุสลิมเข้ามาในหมู่บ้าน ซึ่งทางมหาเถรสมาคมก็มีความกลัวตรงนั้นอยู่

วิจักขณ์: เค้าคิดว่าจะช่วยเหรอครับ ไอ้ที่บวชแสนรูปเนี่ย...โทษ ผมตามไม่ทัน (หัวเราะ)

นิรามิสา: ตามความคิดของเค้า ก็คิดว่าแต่ละวัดจะมีพระมากขึ้น อย่างน้อยก็ตอนเข้าพรรษาน่ะค่ะ

วิจักขณ์: (หัวเราะ) อ๋อ ตอนแรกผมนึกว่า ที่เค้ากลัวคือกลัวว่าโครงการบวชแสนรูปนี่จะมาดึงพระไป (หัวเราะ) โอ้...แล้วนี่ขนาดว่ากลัวมุสลิมด้วย

นิรามิสา: เป็นความรู้สึกของคนในองค์กรสงฆ์น่ะค่ะ เพราะเค้ารับทราบมาว่า มุสลิมจะมีโครงการที่เข้าไปทุกหมู่บ้าน แล้วก็ไปเปลี่ยนให้เป็นตามมุสลิม พระที่เป็นรองเจ้าคณะอำเภอบอกว่า เค้าเข้าไปหมู่บ้านไหน ก็ได้รับการเลือกตั้งทุกครั้งเลย เค้าทำได้ แต่เค้าเข้ามาในรูปของนักบวชไม่ได้ แต่เข้าไปในรูปของฆราวาสได้ เรื่องนี้อยู่ในความกลัวขององค์กรสงฆ์ในเมืองไทยตอนนี้

แต่ตอนเราเข้ามา เค้ารู้ว่าเราเป็นยังไง เพราะว่าเค้ารู้จักหลวงปู่ดี แล้วในมจร.คนทำวิจัยเรื่องหลวงปู่เยอะมาก และหลายครั้งเป็นงานวิจัยที่ได้รับรางวัล แล้วพระผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ก็เดินทางเยอะ ออกไปต่างประเทศก็จะได้ยินชื่อเสียงของหลวงปู่อยู่แล้ว

วิจักขณ์: หลวงพี่คิดยังไงกับคำกล่าวที่ว่า หมู่บ้านพลัมสนใจเผยแพร่ธรรมะแต่กับคนชั้นกลางหรือคนชั้นสูงที่มีอันจะกิน แต่ไม่ได้ลงมาคลุกกับคนยากคนจน คนชั้นล่าง หรือชาวบ้านซักเท่าไหร่

นิรามิสา: เราก็ยอมรับนะคะว่าคนที่จะมาสนใจงานของหลวงปู่ ก็มักจะต้องมีพื้นฐานการศึกษาที่สูง ส่วนมากก็จะอ่านหรือฟังภาษาอังกฤษได้ และสิ่งที่เราเริ่มต้นที่เมืองไทยก็ยังใหม่มาก เรายังต้องเรียนรู้ว่าจะเข้าไปสัมพันธ์กับคนในวัฒนธรรมยังไง และจะเปิดให้คนในวัฒนธรรมเข้ามาหาเราได้ยังไงด้วย

พุทธศาสนาที่ชาวบ้านนับถือเป็นพุทธศาสนาแบบที่เน้นศรัทธามาก ซึ่งก็เป็นสิ่งดีและควรเก็บรักษาไว้ แต่จะทำยังไงที่จะสามารถนำเรื่องการปฏิบัติเข้ามาผสานด้วย มันจะทำให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ถ้าอย่างในตะวันตกจะไม่ค่อยมีเรื่องศรัทธาเท่าไหร่ แต่ถ้ามีแต่ศรัทธา ไม่มีความเข้าใจในการปฏิบัติเลย คนก็จะเอาแต่ทำบุญ ไหว้พระ ซึ่งแก่นของเราคือการสนับสนุนให้เกิดการทำความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติ เราทำกับคนชั้นสูงที่มีการศึกษาได้ดีกว่า เค้าสนใจในเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าเราเข้าไปหาเค้า แต่เค้าเข้ามาเรา เพราะเค้ารู้ว่าแก่นมันอยู่ตรงนี้ อย่างเช่นเวลาเราจะจัดงานภาวนาให้กับระดับผู้นำองค์กร พอถามจริงๆคนเหล่านั้นเค้าจะสนใจมาก และจะตามข่าวอยู่เรื่อยๆ พอเค้ากลับไปเค้าก็ชวนคนมา เพราะมันสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้จริง ซึ่งหลวงพี่มองว่าจะทำยังไงให้ศรัทธากับการปฏิบัติสามารถผสานเข้าด้วยกัน แต่ว่าคนที่เป็นชาวบ้านก็ยังไม่มีโอกาสตรงนี้มากนัก กลุ่มคนที่ปฏิบัติก็ต้องค่อยๆแลกเปลี่ยนกับคนที่เป็นชาวบ้านระดับล่าง ว่ามันยังมีอะไรมากไปกว่าศรัทธานะ ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่เราอยากจะทำ หลวงปู่ก็อยากทำ หลวงปู่ก็บอกว่า ให้รักษาศรัทธาไว้ แต่ต้องเอาการปฏิบัติเข้าไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องดึงเอาศรัทธาออกไป เพราะเมื่อทั้งสองอย่างอยู่ด้วยกัน มันจะมีพลังมาก

เพราะฉะนั้นเป็นธรรมดาค่ะ อยากที่หลวงพี่บอก คือ คนระดับสูงในสังคมไทยเค้าเข้าไปถึงการปฏิบัติ เค้าเห็น เพราะแก่นของพุทธศาสนามันอยู่ที่การปฏิบัติด้วยไงคะ ไม่ใช่แค่ศรัทธาเฉยๆ เพราะฉะนั้นกลุ่มคนเหล่านี้ก็ต้องช่วยกันที่จะนำการปฏิบัติลงมาสู่ชาวบ้านหรือคนอื่นๆด้วย เพื่อที่จะทำให้เห็นว่าพุทธศาสนาไม่ใช่แค่การทำบุญเท่านั้น

วิจักขณ์: อืม.. เท่าที่ฟังเหมือนหลวงพี่จะยอมรับว่า คนชั้นสูงจะเข้าถึงหมู่บ้านพลัมได้ง่ายกว่า คือ สนใจที่จะเข้ามาหาหมู่บ้านพลัมเอง เพราะสนใจในแก่นปฏิบัติ ต่างจากคนชั้นล่างที่อาจไม่ได้สนใจแก่นการปฏิบัติที่หมู่บ้านพลัมนำเสนอเท่าไหร่เพราะยังสนใจแต่เรื่องศรัทธา แล้วลึกๆหมู่บ้านพลัมอยากจะลงไปหาชาวบ้านระดับล่างมากขึ้นด้วยหรือเปล่าครับ

นิรามิสา: อ๋อ มันเป็นธรรมดาอยู่แล้วค่ะ หลวงพี่เติบโตมากับการทำงานกับชาวบ้าน ชาวบ้านจริงๆเค้าบริสุทธิ์มาก แต่ว่าเวลาที่เราอยู่ในวิถีแบบนี้ เราอยู่ตรงนี้แหละ เราสร้างสังฆะให้มั่นคง แล้วจริงๆแล้วทุกอย่างมันก็จะมาเอง

เรื่องของการเผยแพร่ธรรมมันเคลื่อนไปเรื่อยๆอยู่แล้วค่ะ มันก็เหมือนกับที่หลวงปู่ทำงานหลายด้าน ช่วงหลังสงครามเวียดนาม ท่านจะอยู่ในกลุ่มของ peace activist คือไม่ใช่ว่าหลวงปู่อยากเจาะแต่เฉพาะกลุ่ม peace activist นะคะ แต่มันเป็นเงื่อนไข เหตุปัจจัยสภาพการณ์ตอนนั้น หลายคนในเมืองไทย คิดว่าหลวงปู่จะ connect กับ peace activist เท่านั้น อย่างที่เราไปแปล Engaged Buddhism ว่า “พุทธศาสนาเพื่อรับใช้สังคม” ซึ่งมันเป็นการแปลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดมาก เพราะจริงๆแล้วหลวงปู่หมายความว่า พุทธศาสนา ต้อง engage เข้าไปในชีวิตประจำวัน พุทธศาสนาสามารถถูกนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ในทุกขณะ ทุกกิจกรรม เช่น การที่เรานั่งสนทนาธรรมอย่างมีสติ ฟังด้วยจิตที่เปิดกว้างลึกซึ้ง การบ่มเพาะความเมตตากรุณาในชีวิตประจำวัน นั่นคือความหมายพื้นฐานของ Engaged Buddhism ภาษาไทยอาจจะแปลออกมาค่อนข้างจะห่างออกไปจากสิ่งที่ท่านพูดเอาไว้ในภาษาเวียดนาม เราแปลว่า เพื่อรับใช้สังคมเนี่ย เลยกลายเป็นว่าเราต้องออกไปทำให้คนอื่น แต่ประเด็นก็คือว่า เราต้องกลับมาดูแลตัวเราให้มั่นคง และรู้ว่าอะไรที่กำลังเกิดขึ้นในกายและในใจ รู้ว่าความรู้สึก อารมณ์ ความคิดอะไรกำลังเกิดขึ้น พอเราดูแลตัวเราเองได้ชัดเจน เราก็จะสามารถมองสิ่งรอบตัวเราได้ชัดเจนขึ้น แล้วก็รู้ว่าจะทำอะไรให้กับสิ่งรอบข้าง ผู้คนรอบข้าง หรือสังคม มันก็จะขยายออกไป ไม่ใช่ว่าพุทธศาสนาต้องอยู่แต่ในวัด แล้วก็เพื่อการตรัสรู้ของตัวเอง หรือเพื่อบรรลุอะไรสักอย่าง ที่เป็นความสงบ หรือเป็นความเย็น มันเป็นคำที่ถูกนำมาใช้เพื่อชี้ให้เห็นว่า พุทธศาสนามันใช้ได้ในทุกชั่วขณะของชีวิตประจำวัน แล้วมันก็เอาไปใช้ได้เพื่อรับใช้ตัวเราเองและรับใช้คนอื่น แต่ก็ไม่ใช่ว่าพุทธศาสนาเอาออกไปช่วยสังคมเท่านั้น

มีหลายคนบอกหลวงพี่ว่า การที่หลวงปู่เดินทางมาเมืองไทยเมื่อสามปีที่แล้ว ทำให้เค้ารู้สึกว่า จริงๆแล้วหลวงปู่ไม่ใช่เฉพาะทำงานกับพวก activist เท่านั้น หลวงปู่ก็เป็น mainstreamด้วย เป็นทุกอย่าง คือคนทุกชนชั้นเค้ามาได้

วิจักขณ์: ถามส่วนตัวนิดนึงนะครับ ตอนที่หลวงพี่ตัดสินใจไปบวชที่หมู่บ้านพลัม อะไรในพุทธศาสนาบ้านเราที่ไม่ตอบโจทย์หลวงพี่หรือครับ

นิรามิสา: จริงๆมันไม่ใช่เรื่องของการไม่ตอบโจทย์ มันเป็นเรื่องของการเติบโตทางจิตวิญญาณมากกว่า เหมือนกับเป็นเรื่องของการเดินทาง ที่ความปรารถนานั้นพาเราไปเอง

วิจักขณ์: คืออะไรครับ

นิรามิสา: อาจจะเป็นเพราะความใฝ่รู้ แล้วก็รู้ว่ามีพุทธศาสนาที่เติบโตอยู่ในทางตะวันตก เลยอยากจะไปเรียนรู้ ตอนที่หลวงพี่เริ่มฝึก หลวงพี่ก็ฝึกในแนวท่านพุทธทาส เพราะว่ามีโอกาสไปสวนโมกข์ตั้งแต่อยู่ม.ศ.๓ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีอะไร หรือตอนที่สับสน ต้องการที่พึ่งทางจิตใจก็ไปที่สวนโมกข์ ที่อื่นก็ไปบ้าง ไปแนวหลวงพ่อเทียน วัดป่าสุคโตก็ไปครั้งนึง ก็จะอยู่ในแวดวงนี้แหละค่ะ พุทธที่ตอนนั้นถือว่าเป็นทางเลือกหน่อย แต่ว่าสวนโมกข์ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่เด่น พอรู้ว่าเรามีโอกาสที่จะเดินทางไปยุโรป ก็เลยสนใจที่อยากจะลองไปดูตรงนี้ มันก็เหมือนกับว่าความปรารถนาที่อยากจะเติบโตทางจิตวิญญาณมันมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว

เคยแต่ได้ยินเค้าบอกว่าพุทธศาสนาจะไปโตที่ตะวันตกแล้วจึงค่อยกลับมาที่ตะวันออก ก็เลยสงสัยว่าทำไมเค้าพูดอย่างนั้น มีโอกาสไปดูก็อยากไปลอง มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรหรอกนะคะ แต่พอไปแล้วเนี่ย รู้เลยว่า หลวงปู่ช่วยเปิดทางน้ำให้เรา เรามีสายธารทางจิตวิญญาณที่มันไหลมาก่อนแล้วแหละ เราพบอาจารย์พุทธทาสตั้งแต่วัยหนุ่มวัยสาว สนใจการปฏิบัติธรรมมาเรื่อยๆ แต่ว่ามันคงจะบล็อกบางอย่าง เข้าสู่การปฏิบัติแล้วยังมีอะไรติดอยู่บางอย่าง ไม่ได้หลุดออกมาได้อย่างชัดเจน อย่างตอนไปสวนโมกข์ฝึกนั่งเงียบๆ หลวงพี่เงียบได้มากที่สุดก็วันที่เก้าก่อนกับ ที่เหลือก็แค่ฝึกไปตามกระบวนการที่เค้าฝึก แต่ปีติที่เราได้มันไม่ได้แสดงออกมาชัด พอได้มาเจอหลวงปู่ ก็เลยรู้ว่า อ้อ มันก็เป็นอย่างที่เราฝึกแล้ว แต่หลวงปู่มาช่วยเปิดประตูน้ำให้มันไหลได้ดีมากขึ้น ช่วยคลายหลายๆอย่าง ทัศนะที่กว้างขึ้นของมหายาน อย่างแรกคือ เหมือนคนเวียดนาม อย่างที่สอง คือ เหมือนฝึกสติมานานแล้ว เข้าไปถึงก็กลมกลืน แต่จริงแล้ว เพราะเรามีพื้น ที่เราฝึกมาก่อนแล้วจากสวนโมกข์

หลวงพี่มักจะมองว่ามันเป็น continuation ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทิ้งอันนึงไปหาอีกอันนึง ท่านพุทธทาสก็เป็นอาจารย์ของเรา หลวงปู่ก็เป็นอาจารย์ของเราที่ต่อยอด ปีที่หลวงพี่พบหลวงปู่ ก็เป็นปีเดียวกับที่ท่านพุทธทาสสิ้น ช่วงนั้นล่ะค่ะ ก็เลยรู้สึกว่ามันต่อเนื่องกันไป

วิจักขณ์: ที่หลวงพี่บอกตอนต้นว่า การที่กลับมาเมืองไทยเหมือนการกลับมาหาราก แล้วการจะเอายอดที่ไปเติบโตที่โน่น กลับมาหารากที่นี่ จะเริ่มต้นจากตรงไหนครับ

นิรามิสา: มันจะเริ่มต้นจากตัวเราเอง ถึงแม้เวลาที่เราไปปฏิบัติที่นั่น ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังอยู่ในตัวเรา เราเปิดโอกาสให้ตัวเราได้เห็นอะไรกว้างขึ้น เข้าใจมากขึ้น ลึกซึ้งมากขึ้น แล้วพอกลับมา หลวงพี่ก็มองว่า แก่นของการปฏิบัติเนี่ยมันไปทุกที่ แก่นของพุทธศาสนามันไปทุกที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แล้วมันนำไปลงรากได้ทุกที่ ตัวคำสอนของพระพุทธองค์ทำหน้าที่เดียวกัน คือช่วยให้คนหลุดออกจากทุกข์ และนำความสุขมาให้มากขึ้น

ที่นี้ในวิถีการปฏิบัติ คำสอนไปสู่กลุ่มคน เราต้องศึกษา พิจารณา เรียนรู้ และปรับให้เหมาะ นำคำสอนที่สอดคล้องกับกลุ่มนั้น วัฒนธรรมนั้น ที่กลุ่มคนนั้นหรือวัฒนธรรมนั้นกำลังเผชิญอยู่ หรือว่ากลับมาเข้าใจวิธีการคิดของคนรุ่นใหม่ แต่เราเป็นคนไทยอยู่แล้ว เราก็มีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ก็ต้องดูว่าจะทำยังไงให้สอดคล้องกับวิธีคิดของคนไทย วิธีการมอง วิถีชีวิตของคนไทย เพื่อให้เค้ารับเข้าไปได้ง่ายเท่านั้นเอง มันก็จะมีรายละเอียดที่เราทำแต่ละอัน แต่ละอัน แต่ทุกอย่างมันจะมาด้วยการที่เราเจริญสติ และเราตระหนักรู้ ว่ามี feedback ยังไง คนรับได้ยังไง รับไม่ได้ยังไง ซึ่งเวลาที่เรามีสังฆะคนไทยอยู่ด้วย ก็จะช่วยๆกัน

อย่างเช่นหลวงพี่ที่เค้ามาอยู่ที่นี่ ตอนที่อยู่ที่เวียดนาม แนวของเรา เราขับรถเองได้ เมื่อไหร่ขาดอะไรก็ไปซื้อของที่ตลาดได้ แต่มาที่นี่ เรายังขับรถเองไม่ได้ แล้วก็ยังไม่มีรถด้วย (หัวเราะ) แล้วพระก็เคยชินกับวิถีชีวิตที่อยู่เกื้อกูลกันระหว่างพระกับฆราวาส คือมีฆราวาสที่พร้อมจะช่วยตรงนี้อยู่ ถ้าเกิดไปขับรถเองตอนนี้ ชาวบ้านก็สงสัย แค่ขี่จักรยานนี่เค้าก็สงสัยแล้ว (หัวเราะ) แต่เราก็พร้อมอยู่เสมอ การขับรถเป็นการเจริญสติ เราใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต

วิจักขณ์: หลวงพี่หาจุดสมดุลของการปรับระหว่างมหายานกับเถรวาทยังไงครับ คือก็ไม่ใช่ว่าจะประนีประนอมทั้งหมด ถูกมั๊ย ถ้าคิดแต่กลัวว่าคนอื่นจะมองยังไง ก็เป็นอันไม่ต้องทำอะไร หรืออีกด้านก็คือการที่ต้องปรับตัว อดทน รอเวลาที่จะสื่อสาร เพราะดูแล้ววัฒนธรรมของพุทธศาสนามหายานกับพุทธศาสนาเถรวาทก็ต่างกันไม่ใช่น้อย

นิรามิสา: เราต้องรู้จักตัวเราเองให้ชัดก่อนค่ะ วิธีการปฏิบัติของเราแต่ละอัน วัตรปฏิบัติ หรือจริยวัตรทางธรรม เช่น ไปไหนเราไม่ไปรูปเดียว แต่เถรวาทไปรูปเดียวได้สบายๆ เราต้องรู้ให้ชัดว่าจุดประสงค์ เนื้อหา ความหมาย ตรงนั้นเป็นยังไง ตัวเราจะต้องรู้ความหมาย เราทานเจทำไม ตัวเราเองต้องรู้จุดยืน รู้ความหมายที่แท้จริงของข้อวัตรแต่ละอันที่เราฝึก

แล้วเราก็รับฟัง เราสังเกต เราพิจารณาวัฒนธรรมที่เราอยู่ด้วย เวลาอยู่ที่อเมริกา ที่ฝรั่งเศสก็เหมือนกัน ต้องพยายามเข้าไปสัมผัสและทำความเข้าใจ วัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ความคิด วิธีการต่างๆ มันมีความหมายอะไรยังไง แล้วก็ปรับในสิ่งที่ทำให้เค้ารู้สึกว่า เวลาที่เค้าเข้ามาสัมผัสแล้วเนี่ย มันไม่ได้ไปรดน้ำเมล็ดพันธุ์ของการต่อต้าน หรือความเข้าใจผิดบางอย่างในตัวเค้า แต่เราก็ยังยึดในแก่นของวัตรปฏิบัติหรือคำสอนไว้

ในแต่ละวันจะมีเรี่องเข้ามาให้เราพิจารณาอยู่เรื่อยๆ แล้วเราก็หาความสมดุลอยู่บนพื้นฐานของแก่นการปฏิบัติ แต่เปลือกรอบๆหรือว่าสิ่งที่เราทำออกไป เสนอออกไป เป็นสิ่งที่เค้ารับได้ ไม่ไปรดน้ำเมล็ดพันธุ์ของการเข้าใจผิดหรือการต่อต้าน เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่เงื่อนไขเหตุปัจจัยพร้อม เราเองก็พร้อมที่จะบิณฑบาต ถ้าชาวบ้านเข้าใจเราเพียงพอ รู้จักเราเพียงพอ โอเคกับการให้อาหารเจ มีความเข้าใจจริงๆว่า การทานอาหารเจของเราเป็นไปเพื่อการบ่มเพาะความเมตตากรุณา อยากรักษาผืนโลกนี้ไว้ เมื่อมีกระบวนการทำความเข้าใจ มันก็จะชัดเจน แต่ว่าจะเข้าไปยังไงที่ ทำให้ชาวบ้านไม่คิดว่าเราไปเรียกร้อง เพราะว่าเป็นพระถ้าจะไปบิณฑบาต ห้ามบอกว่าจะเอาอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เราต้องเข้าใจว่าวิถีของคนไทยคิดแบบนี้ เพราะฉะนั้นวิธีเข้าไปเพื่อที่จะให้ชาวบ้านเข้าใจ มีการพูดคุย มีการรอจังหวะ รอความพร้อมของเรา รอความพร้อมของชาวบ้านในแต่ละเรื่อง

มันก็ไม่มีอะไรยากไม่มีอะไรง่ายนะคะ หลวงปู่บอกว่าให้กลับบ้านไปเล่น ทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความเบิกบาน สร้างสรรค์ ผ่อนคลาย เหมือนกับเราเล่นสนุกสนานกับอะไรซักอย่างนึง ไม่ต้องคิดว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พร้อมที่จะ flow มันก็คงมีสิ่งที่ท้าทาย อย่างเช่นหลวงพี่ก็ไม่เคยคิดว่าอยู่ดีๆจะมีพระเป็นร้อยกว่ารูป เหตุปัจจัยเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน แต่ในขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่ามีพลังพร้อมที่จะตอบรับตรงนั้น และมีความสุข เพราะเรารู้ว่ามีสิ่งที่ควรทำ กับการที่จะมีสถานที่ปฏิบัติธรรม และการรักษาวิถีชีวิตของนักบวชไว้เป็นสิ่งที่มีค่า และเราก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปได้

พี่หนึ่ง (เพื่อนร่วมสนทนา): อย่างชุมชนที่อยู่ข้างๆ มีกระแสต่อต้านหรือสงสัยบ้างมั๊ยครับ

นิรามิสา: ตอนไปกราบท่านเจ้าคณะอำเภอ ท่านก็บอกว่า “เค้าก็มาถามอาตมาว่า มีพระจีนขี่จักรยาน แล้วก็เห็นว่าไปตลาดด้วย อาตมาก็ตอบไปว่า โอ้ย เค้าเป็นพระดีพระชอบ เค้าเป็นพระปฏิบัติ แต่ว่ามันเป็นแนวของเค้า” พอบอกอย่างนี้ชาวบ้านก็เข้าใจ ท่านยังฝากบอกคุณอาบุญลือมาอีกว่า “ให้พาออกมาเดินตลาดบ่อยๆ พาออกมาข้างนอกบ่อยๆ คนเห็นเขาจะได้ถาม คนถามเขาจะได้ตอบ คนตอบเขาจะได้เข้าใจ” (หัวเราะ) ท่านก็น่ารักนะค่ะ

อย่างที่มจร. (มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย) กับพระผู้ใหญ่ที่เราร่วมงานด้วย ท่านก็บอกให้เราทำไปเลยตามประเพณีของเรา ไม่ต้องมาปรับ คือไม่ต้องปรับอะไรให้เป็นเถรวาท มันจะเป็นปัญหา เพราะเราไม่ใช่เถรวาท อย่างเช่นหลวงพี่ถามว่าจะบวชภิกษุณีที่เมืองไทยได้มั๊ย ท่านก็บอกให้บวชไปตามประเพณีของเรา ไม่ได้มาบวชชุดเหลืองก็ไม่มีปัญหา เราก็จัดพิธีบวชไปสองครั้งแล้ว บวชเณรครั้งนึง บวชภิกษุ ภิกษุณีอีกครั้งนึง ท่านก็บอกว่าให้ทำไปได้ เพราะว่าเรามาในประเพณีของเรา ถูกต้องตามแนวทางของเรา

วิจักขณ์: แล้วถ้าสมมติวันนึง หมู่บ้านพลัมลงหลักปักฐาน มีคนสนใจ คนจะมาบวชเยอะมาก ถ้าถึงจุดนั้นหลวงพี่จะโอเคมั๊ยครับ

นิรามิสา: ก็ดีสิคะ (หัวเราะ) มีคนมาสนใจแบบนี้ เข้าทางนี้เยอะๆ

วิจักขณ์: แต่ถ้าถึงตอนนั้นพุทธศาสนาเถรวาทเองก็อาจจะรู้สึกว่า ยังไงประเทศไทยก็เป็นประเทศพุทธเถรวาท จู่ๆมหายานจะได้รับความนิยมเกินหน้าตัวได้ยังไง มันจะกลายเป็นการสั่นคลอนความมั่นคงในสถานะของพุทธศาสนาเถรวาทด้วยหรือเปล่าครับ

นิรามิสา: เราก็อยู่ใต้ร่มเงาของพุทธศาสนาเถรวาทอยู่นะคะ ตอนนี้ผู้ที่รับรองเราก็เป็นเถรวาท เพราะเมืองไทยเข้มงวดเรื่องนี้มาก พระต่างประเทศทุกรูปที่เข้ามา จะต้องไปผ่านสำนักพุทธ หรือไม่ก็ต้องไปผ่าน มจร. ตอนนี้เราทำโครงการร่วมกับมจร.อยู่ เป็นการร่วมมือกันของสิ่งที่เราทำไปด้วยกัน

วิจักขณ์: เข้าใจว่าส่วนหนึ่งหลวงพี่ก็ทำในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ อีกส่วนก็เป็นการสร้างสัมพันธ์กับคนที่มีอำนาจในองค์กรสงฆ์ด้วย

นิรามิสา: ค่ะ อันนั้นต้องมีอยู่แล้ว ต้องรู้ว่าเราเข้ามาอาศัยเค้าอยู่ ต้องรู้จักเจ้าบ้าน ทำยังไงให้เหมาะสม เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้วค่ะ สร้างกัลยาณมิตร มีการสื่อสารให้เข้าใจกัน

แต่ผู้ใหญ่ท่านน่ารักนะคะ ใจกว้างมาก เป็นนิมิตหมายที่ดีของเมืองไทย ที่ยังมีพระผู้ใหญ่ใจกว้างหลายๆองค์ ยอมเปิด ยอมที่จะโอบรับสิ่งใหม่ๆ เพราะท่านมีรากที่เชื่อมั่นในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ท่านให้อิสระเราเต็มที่ในการที่จะทำตามแนวทางของเรา ท่านก็บอกเลยว่า “ทำไปตามแนวทางของท่านแหละ เพราะว่าท่านเป็นแบบท่านอย่างนี้ ไม่ต้องมาทำตามแนวทางเถรวาท” เพียงแต่ว่าทำยังไงที่จะมีความระมัดระวัง และค่อยๆทำให้คนได้รับรู้ในด้านต่างๆ มีการสื่อสารกันเพียงพอ มีการรายงาน มีการพูดคุยเวลาจะทำอะไรๆ ตัวท่านเองก็จะได้เข้าใจ เพราะสิ่งที่ท่านทำ บางทีก็จะมีคนมาถามท่านด้วย ท่านก็ต้องตอบให้ได้ด้วย

วิจักขณ์: แล้วถ้าในวันข้างหน้า สถาบันสงฆ์หรือกลุ่มคนที่มีอำนาจ มาขอให้หลวงพี่หรือสังฆะหมู่บ้านพลัมทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่ไม่ได้ถูกกับวิถีปฏิบัติ เรียกร้องให้ปรับเปลี่ยน หรือไปทำอะไรบางอย่างที่ไม่ได้ตรงกับแนวทางของหมู่บ้านพลัมล่ะครับ

นิรามิสา: วิถีชีวิตที่เราอยู่กันแบบนี้ เรามีศีล มีวินัย และเรามีสังฆะ ในสังฆะมีปัญญาอยู่เยอะ เรามีดวงตาของสังฆะ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีสิ่งต่างๆเหล่านี้ เราก็จะประชุมกัน จะคุยกัน ดูว่าสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ถูกต้องที่สุดคืออะไร ปัญญาของสังฆะก็จะช่วยได้มาก

วิจักขณ์: ไม่ได้หมายความว่าหลวงพี่ต้องตัดสินใจ หรือรับผิดชอบทิศทางของหมู่บ้านพลัมคนเดียว

นิรามิสา: โอ้ ไม่ค่ะ เราอยู่แบบนี้ไม่ได้ตัดสินใจคนเดียว เราใช้ประชามติ เรามีการประชุมกันหลายส่วน คณะธรรมาจารย์จะดูแลเรื่องการปฏิบัติ ดูแลเรื่องทิศทางของสังฆะร่วมกับหลวงปู่ คณะภิกษุณีจะเป็น body ที่ตัดสินใจ ที่หมู่บ้านพลัมจะมีระบบการปกครองหรือการดูแลวัดที่หลวงปู่พยายามนำ seniority มาพร้อมกับ democracy ระบบอาวุโส ซึ่งปกติตามวัด ตามประเพณีทั่วไป เจ้าอาวาสจะตัดสินใจทุกอย่าง แต่ของเราไม่ใช่ เจ้าอาวาสตามแนวของหลวงปู่จะแตกต่างมาก คือจะเป็นเหมือนพ่อเหมือนแม่ของสังฆะ ทำให้ทุกๆคนที่อยู่ในสังฆะมีความสุข หาให้เจอว่าแต่ละคนที่อยู่ในสังฆะมีพรสวรรค์ มีความสามารถอะไรบ้าง แล้วพยายามดึงออกมาให้เค้าได้ใช้เต็มศักยภาพ แล้วพอเรามีปัญหาอะไร เจ้าอาวาสก็ต้องเอาเข้าที่ประชุม เอาเข้าคณะธรรมาจารย์ เอาเข้าคณะภิกษุณี ทุกท่านต้องเห็นพ้องเป็นประชามติ

ในแง่ของการบริหารดูแล ก็จะมีคณะกรรมการบริหารวัด (caretaking counsel) เป็นผู้รับใช้วัด ผู้ดูแลวัด สังฆะจะมารวมกันหมด แล้วเลือกออกมาจากทุกคน ในนั้นก็จะมีตัวแทนของสามเณรี ตัวแทนของภิกษุณี ตัวแทนของธรรมาจารย์เข้าไป แล้วกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่เอานโยบายไปใช้ จัดการบริหารงานแต่ละวัน ทำตามนโยบายหรือสิ่งที่ได้ตัดสินออกมาแล้วจากคณะภิกษุณี

ถ้ามีอะไรเสนอที่จะเปลี่ยนแปลงในสังฆะ เช่นตารางไม่เหมาะสม อยากทานข้าวกล้องงาดำ (หัวเราะ) อะไรก็แล้วแต่ ก็คุยกันได้ นำเสนอเข้าที่ประชุมได้

วิจักขณ์: ถือเป็นเคล็ดลับของหมู่บ้านพลัมหรือเปล่าครับ ที่ทำให้การนำสังฆะเป็นไปในลักษณะการนำด้วยตัวเอง

นิรามิสา: ค่ะ ระบบแบบนี้เองที่ทำให้ชุมชนอยู่ได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกลัวมาก เพราะว่าเค้าเช็คไม่ได้ เพราะว่าเค้าไม่รู้จะไปจับใคร ที่เวียดนามเนี่ยเค้าเข้าไปจับได้หมดเลย เพราะเจ้าอาวาสใหญ่ที่สุด เข้าไปจับเจ้าอาวาสคนเดียวก็เรียบร้อย

วิจักขณ์: ซึ่งถ้าฟังจากที่หลวงพี่อธิบายวัตรปฏิบัติของหมู่บ้านพลัม กรณีที่เกิดขึ้นแบบนี้ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร

นิรามิสา: ไม่กระทบ เพราะเรามีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน เพราะเรามีสังฆะที่กระจายการรับผิดชอบ และมีการร่วมตัดสินใจเป็นหมู่คณะ ไม่ใช่คนใดคนนึงตัดสินใจ ถ้าเค้าจับคนนี้ไปได้ จับคนนี้ไปได้ คนอื่นก็ยังอยู่ อยู่ได้เพราะมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน มันมีแนวที่หลวงปู่สอน มีแนวทางที่มาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างชัดเจน มันก็ทำอะไรไม่ได้

มีแม้กระทั่งส่งคนเข้ามาบวชเลยก็มี อยู่ในวัด กลายเป็นผู้สอดแนม อยู่เหมือนเรา เราไม่รู้เลย แล้วก็ส่งข่าวออกไปให้รัฐบาล

วิจักขณ์: แล้วตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นมั๊ยครับ

นิรามิสา: ถ้าสังฆะหรือวัดนั้นมีแนวการปฏิบัติที่ชัดเจน ก็ไม่มีปัญหา

วิจักขณ์: มีที่เข้ามาในหมู่บ้านพลัมมั๊ยครับ

นิรามิสา: เราไม่ทราบ (หัวเราะ) คิดว่าต้องมี แต่ถึงมีก็ไม่มีปัญหา หลวงปู่ก็บอกว่า เราก็ช่วยให้เค้า transform (หัวเราะ) มาอยู่ก็อยู่กันเหมือนพี่เหมือนน้อง มันไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมาระแวงว่าคนนี้มาสอดแนมหรือเปล่า เสียเวลาการปฏิบัติ เสียเวลาพลังงานสมอง ถ้าเข้ามาแล้วก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางของสังฆะ ถ้าเค้าอยู่ไม่ได้เค้าก็ไปเอง ถ้าเค้าอยู่ได้ เค้าก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

วิจักขณ์: คราวนี้ถ้าจะไล่ ก็เลยต้องไล่ทั้งสังฆะเลย (หัวเราะ)

นิรามิสา: ใช่ เลยโดนไล่ออกมาทั้งสังฆะ (หัวเราะ)

วิจักขณ์: จริงๆเค้าก็คงไม่ได้อยากจะใช้ความรุนแรงเหมือนกันนะ หมั่นพยายามที่จะหาช่องทางเจาะเข้ามาไม่ว่าจะวิธีละมุนละม่อมหรือวิธีสกปรกก็แล้วแต่

นิรามิสา: ก็มีทุกรูปแบบ แต่เราไม่ใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว หลวงพี่บางรูปนี่เคยเรียนกังฟูมาด้วยนะ บางทีโดนยั่ว คือ ถ้าพระตอบโต้ เค้าก็จะถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานมัดตัวจับเข้าคุก ที่นี้หลวงพี่ที่โดนยั่ว ก็โกรธมากเลย อยากจะเข้าไปชก เพราะเค้ามีวิชาทางนี้ หลวงพี่ที่เป็นพี่เลี้ยงก็จะบอกเค้า ให้กลับมาอยู่กับลมหายใจ ให้ผ่อนคลาย ให้ดูแลความโกรธของเรา

วิจักขณ์: ชกได้ แต่ถ้าเคาะระฆังแห่งสตินี่ต้องหยุด (หัวเราะ)

นิรามิสา: ไม่ได้ ชกไม่ได้ (หัวเราะ)

สิ่งที่เกิดขึ้นที่เวียดนาม ทุกอย่างมันเกิดขึ้นแล้ว และเป็นประวัติศาสตร์อยู่ ณ ตรงนั้น เราไม่มองว่าเราล่มสลาย หรือเราพ่ายแพ้อะไรทั้งสิ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและการที่เราอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่โดยไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการก้าวต่อไปที่สูงขึ้น เพราะว่าใครๆก็โดนแบบนี้หมด ไม่ใช่เฉพาะเรา ใครที่มารูปนี้ก็จะโดนแบบนี้ แต่ยังไงเราก็ไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ และเราไปกันเป็นสังฆะ

เวลาคนรุ่นใหม่มองย้อนกลับมาแล้วเค้าจะเข้าใจ เค้าจะเรียนรู้วิธีที่เราตอบรับกับสถานการณ์แบบนี้ ว่ามันมีความหมายยังไง คนที่รักหลวงปู่แล้วอยู่กับแนวทางปฏิบัติก็มีไม่น้อย แต่ตอนนี้กลุ่มที่โกรธแค้นยังแรง แต่ยังไงมันก็เป็นจุดเปลี่ยน เป็นรอยบากอันนึงทางประวัติศาสตร์ ถ้าย้อนกลับมาดูก็จะรู้ว่ามีเหตุการณ์ตรงนี้ ที่จะส่งผลต่อไปในเหตุการณ์ข้างหน้า ไม่เกิดช้าก็ต้องเกิดเร็ว พอเรามองอย่างนี้เราก็จะเข้าใจ และยอมรับได้

แต่ถ้าอยู่ในสถานการณ์ก็ใช่แหละ มันก็เจ็บปวดมาก หลวงพี่บางท่านมาถึงบอกว่า ไม่ได้นอนสงบแบบนี้มาหลายเดือนมากแล้ว เวลานอนจะต้องผวา กลัวตำรวจเข้ามาจับ กลัวเค้าโยนก้อนหินเข้ามา บางท่านก็บอกว่าไม่ได้นั่งทานข้าวแบบอิ่มๆสบายๆแบบนี้มานานมาก บางทีถือบาตรข้าวขึ้นไปนั่งลงก็ร้องไห้กัน ทานไม่ได้ เพราะสถานการณ์มันเครียด แล้วมันก็คาดไม่ถึงเลยว่าจะเป็นถึงขนาดนี้

วิจักขณ์: จากปัญหาที่เกิดขึ้นที่เวียดนาม ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า พลังของสังฆะถือเป็นหัวใจของหมู่บ้านพลัมในการเผชิญทุกปัญหาเลยใช่มั๊ยครับ

นิรามิสา: ใช่ ใช่

วิจักขณ์: อย่างถ้าเราปฏิบัติธรรม หรือศึกษาพุทธศาสนากันทั่วไป ที่เน้นกันก็คือเรื่องธรรมะ หรือไม่ก็ต้องพูดถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า แต่คนจะพูดถึงสังฆะน้อยมาก เหมือนสังฆะจะตามมาทีหลังเองเมื่อคนมาศรัทธาเยอะๆเข้า ทำให้บางทีเราก็มองข้ามพลังของสังฆะ ในฐานะพลังของการเผชิญปัญหาร่วมกัน หรืออุบายในการแก้ปัญหาที่ปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์

นิรามิสา: หลวงปู่ถึงบอกว่า สังฆะมันมีพระรัตนตรัยอยู่ในนั้นครบทั้งหมด มีพุทธะอยู่ในนั้นเพราะทุกคนมีความตื่นรู้ มีธรรมะอยู่ในนั้นเพราะทุกคนมีการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติคือพระธรรม เวลาที่เราเข้าไปอยู่ในเนื้อนาบุญของสังฆะ โดยเฉพาะชุมชนที่มีชีวิตชีวา ปฏิบัติตามแนวทางเดียวกัน เราจะสัมผัสได้ถึงพระรัตนตรัยทั้งหมด เป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก หลวงปู่ถึงเน้นเสมอว่า เราต้องอยู่กับสังฆะ บวชมาแนวนี้ ต้องเข้าพึ่งสังฆะ การปรับตัวเข้ากับสังฆะเป็นเรื่องท้าทายมาก แต่เมื่อไหร่ที่เรามีรากของการปฏิบัติที่มั่นคง เราจะเห็นได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ล้ำค่า เพราะการอยู่ในสังฆะเป็นพื้นทำให้เราเติบโต ธรรมะโต ความเป็นพุทธะของเราโต หลวงปู่จึงบอกว่าพระพุทธเจ้าในอนาคตจะอยู่ในรูปของสังฆะหรือชุมชน ไม่ได้อยู่ในรูปของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

วิจักขณ์: แล้วสังฆะของนักบวชที่นี่มีปัญหากับการเผชิญกับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปบ้างมั๊ยครับ

นิรามิสา: หลวงปู่ท่านแสดงให้เห็นว่า กฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันของสังฆะสามารถมีการเพิ่ม มีการประยุกต์ จากความเข้าใจในแก่นของสิ่งที่ถูกกำหนดมาดั้งเดิม เพื่อให้วัตรปฏิบัติมีความร่วมสมัยมากขึ้น เช่น การเพิ่มศีลปาฏิโมกข์ของหลวงปู่ที่ว่า พระไม่สามารถมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเอง ใช้อีเมล์ส่วนตัว นอกจากว่าสังฆะมอบหมาย ซึ่งข้อปฏิบัติเหล่านี้ในสมัยพุทธกาลไม่มี ก็ต้องเพิ่มและประยุกต์เข้าไปให้ร่วมสมัย เพราะหลวงปู่มองว่าสภาพสังคมข้างนอกวิ่งไปเร็วมาก พระต้องรู้เรื่องเหล่านี้ เพื่อเอามาปรับให้เข้ากับวัด ไม่เช่นนั้นวัดก็วิ่งตามปัญหาสังคมไม่ทัน แล้วผลสุดท้าย คนในวัดก็จะทุกข์และป่วยมากกว่าคนข้างนอก เพราะว่าถูกดึงไปโดยไม่รู้ตัว เราจึงต้องรู้เท่าทัน มีการปรับกฏปรับวินัย เพื่อที่จะปกป้องความเป็นอิสระในตัวเราเอง ปกป้องพลังแห่งสติ พลังแห่งสมาธิ เพื่อให้เราเกิดปัญญาที่จะเดินอยู่บนหนทางนี้ด้วยความเข้าใจที่มากขึ้นเรื่อยๆ เวลาที่เรามองเรื่องของกฏเกณฑ์แบบนี้ เราจะรู้ว่ามันออกมาจากความตื่นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ และมีขึ้นเพื่อที่จะทำให้เรามีอิสระมากขึ้น แต่ถ้ามองแบบคนทั่วไปในเรื่องกฏเกณฑ์ แน่นอนว่ากฏเกณฑ์เป็นเรื่องของการบังคับ ทำให้เราไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง ทำให้เราไม่ได้ทำอะไรที่อยากจะทำ ซึ่งสำหรับที่นี่มันตรงกันข้าม สังฆะยิ่งทำให้เราเป็นอิสระได้มากขึ้น

 

สัมภาษณ์โดย วิจักขณ์ พานิช
วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๓

ขอขอบคุณพี่มน พี่หนึ่ง พี่เบิร์ด และนภา เพื่อนผู้ร่วมวงสนทนา

_____________________
บ้านตีโลปะ
http://www.tilopahouse.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท