องค์กรสิทธิฯ ชี้วาระเวียดนามเป็นประธานอาเซียน พูดเรื่องสิทธิฯ ในประเทศไม่ได้

สององค์กรสิทธิฯ เผยนาทีถูกระงับวีซ่าเข้าไทย เพื่อแถลงข่าวเรื่องสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ชี้การพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ขณะที่เวียดนามเป็นประธานอาเซียนนั้นเป็นไปไม่ได้ เผยผิดหวังไทยระงับวีซ่า 2 นักกิจกรรม พร้อมระบุไทยละเมิดปฏิญญายูเอ็นว่าด้วยนักสิทธิมนุษยชน

 
 
 
รายงาน "เวียดนาม: จาก 'วิสัยทัศน์' สู่ความเป็นจริง: สิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ภายใต้การเป็นประธานอาเซียน" 
ดาวน์โหลดที่ http://www.fidh.org/IMG/pdf/bon.pdf
 
จากกรณีสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยออกมาเปิดเผยว่าถูกกดดันจากกระทรวงการต่างประเทศให้ยกเลิกการจัดงานแถลงข่าวเรื่อง "จาก 'วิสัยทัศน์' สู่ความเป็นจริง: สิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ภายใต้การเป็นประธานอาเซียน" ซึ่งต่อมา สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Federation for Human Rights: FIDH) และคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเวียดนาม (the Vietnam Committee on Human Rights: VCHR) องค์กรร่วมจัดซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ได้แจ้งยกเลิกการแถลงข่าวดังกล่าว เนื่องจาก วอ หวั่น อ๋าย ประธานคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเวียดนามและเพเนโลเป ฟอล์กเนอร์ รองประธานฯ ถูกทางการไทยระงับวีซ่า 
 
ล่าสุด สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเวียดนาม ออกมาแสดงความเห็นว่า การอภิปรายเรื่องสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม ภายใต้ภาวะการเป็นประธานอาเซียนของเวียดนามนั้นเป็นไปไม่ได้อย่างที่สุด 
 
โดยทั้งสององค์กรให้ข้อมูลว่า ก่อนออกเดินทาง วอ หวั่น อ๋าย ได้รับโทรศัพท์จากสถานทูตไทยในกรุงปารีสว่า แม้เขาจะได้รับวีซ่าเพื่อเข้าประเทศไทย แต่เขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ ทั้งนี้เป็นไปตามการร้องขอจากรัฐบาลเวียดนาม ขณะที่เช้าวานนี้ (12 ก.ย.) เพเนโลเป ฟอล์กเนอร์ ได้รับแจ้งจากสายการบินที่สนามบินปารีสว่าเธอไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเครื่อง เนื่องจากเมื่อไปถึงกรุงเทพฯ เธอจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทย 
 
ซูแอร์ เบลลาสซอง ประธานสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แสดงความเห็นว่า รู้สึกผิดหวังที่รัฐไทยห้ามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งสองคน ซึ่งรณรงค์ในประเด็นสิทธิมนุษยชนในเวียดนามอย่างสันติมาอย่างยาวนาน เข้าประเทศ และระบุด้วยว่า นี่เป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะแสดงให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่การพูดถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเวียดนามจะทำในเวียดนามไม่ได้เท่านั้น แต่รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านด้วย 
 
วอ หวั่น อ๋าย กล่าวเสริมว่า รายงานของพวกเขาอ้างอิงตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และสถิติจากสื่อของทางการเวียดนาม รวมถึงมีข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมต่อทางการเวียดนาม เพื่อพัฒนาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศและในฐานะของประธานอาเซียนปีนี้ ซึ่งสะท้อนเสียงจากในเวียดนามที่เรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐด้วย
 
ทั้งสององค์กรระบุว่า การกดดันไปยังสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยและการปฏิเสธไม่ให้นักกิจกรรมทั้งสองคนเข้าประเทศไทยนั้น เป็นหลักฐานถึงความสามารถในการก่อกวนในระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพของเวียดนาม รวมถึงการไร้ความสามารถของรัฐบาลเวียดนามในการทนต่อการอภิปรายเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ
 
องค์กรสิทธิทั้งสอง มองว่า การตัดสินใจของทางการไทยละเมิดปฏิญญาว่าด้วยนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติอย่างเห็นได้ชัด โดยมาตรา 6 b ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิ โดยลำพังตนเองหรือร่วมกับผู้อื่น ในการจัดพิมพ์ สื่อสาร หรือเผยแพร่ซึ่งความเห็น ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานต่อบุคคลอื่นอย่างเสรี และมาตรา 12 ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิ โดยลำพังตนเองหรือร่วมกับผู้อื่น ในการเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างสันติ นอกจากนี้ ตามปฏิญญานี้ รัฐไทยควรต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างหลักประกันว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจะได้รับการคุ้มครองจากการคุกคาม การตอบโต้ การกดดัน หรือการกระทำใดๆ ตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นผลจากการใช้สิทธิข้างต้นของพวกเขา
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท