Skip to main content
sharethis

22 ก.ย. 53 - เวลา 10.30 น. เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน นำโดย นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยเนื่องจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นายทวีป กาญจนวงศ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นำผู้ ใช้แรงงาน และผู้ป่วยเนื่องจากการทำงาน เข้ายื่นหนังสือ และมอบดอกไม้ กับประธานวิปรัฐบาล ประธานวิปฝ่ายค้าน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมทั้งแจกเข็มกลัดที่มีข้อความ “เราต้องการสถาบันความปลอดภัย” ให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เดินเข้าประชุม เพื่อให้ช่วยสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ซึ่งคาดว่าจะเข้าสภาฯเพื่อพิจารณาในวันนี้

นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯกล่าวว่า นานถึง 17 ปี ของการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.สถาบันฯเพื่อให้เกิดมีการจัดตั้งองค์กรอิสระ ขึ้นมาทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งพวกเรากลุ่มคนป่วยผู้ถูกผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ต้องเหนื่อยยากสูญเสีย พลังกาย พลังใจ และ ทุนทรัพย์ ในการเคลื่อนไหวมามากมายยาวนานเกือบตลอดชีวิตของการป่วย และมีพี่น้องแรงงานที่ต้องสังเวย ชีวิตเลือดเนื้อไปในระหว่างทางการเรียกร้องร่างกฎหมายสถาบันความปลอดภัยฯ สิทธิกองทุนเงินทดแทน และการไม่รับผิดชอบต่อสังคมของนายทุนสถานประกอบการ นักการเมืองที่ออกนโยบายการพัฒนาประเทศไปในทิศทางอุตสาหกรรม ที่คอยทำร้ายชีวิตผู้คนผู้ใช้แรงงาน ทำร้ายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เคยสวยงาม เราถูกกระทำย่ำยีมานานกว่า 50 ปีแล้ว โดยเอาความสมบูรณ์ของร่างกายสุขภาพ อวัยวะแขนขา ปอด หัวใจ ร่างกายรวมทั้งชีวิตพี่น้องผู้ใช้แรงงาน

ทำไมการเรียกร้องผลักดันองค์กรอิสระเพื่อมาส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหานี้ มันถึงต้องเรียกร้องกันมายาวนานขนาดนี้ ผู้ถูกผลกระทบอย่างพวกเราไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเองสักหน่อย เราเรียกร้องให้ลูกหลานแรงงานของเราในวันข้างหน้า ให้เขามีชีวิตในการทำงานที่ปลอดภัย ทำไมทีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ สร้างขึ้นได้เรื่อยๆ ด้วยราคาหลายร้อยล้าน ซึ่งเป็นการรองรับที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่การตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เป็นการป้องกันที่ต้นเหตุทำไมรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่สนใจไม่สนับสนุน มันเป็นเพราะอะไร อยากให้มีศูนย์คนพิการเกิดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมืองเพื่อโชว์ชาวโลกหรืออย่างไร ?

วันนี้ จะเป็นทางแพร่งที่ฝ่ายการเมืองจะต้องตัดสินใจเดิน ระหว่างความปลอดภัยและชีวิตที่มีค่าของประชาชนคนทำงาน หรือกลเกมทางการเมือง

สาระสำคัญของร่าง พรบ.ความปลอดภัยฯ ที่ผู้ใช้แรงงานได้เห็นชอบร่วมกัน คือ การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ภายใต้ พรบ.ความปลอดภัยฯ หมวด 6/1 ว่าด้วย “ให้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่เป็นองค์กรอิสระในรูปแบบองค์กรมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน พร้อมทั้งให้มีวัตถุประสงค์อำนาจหน้าที่ และโครงสร้างการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย” โดยมีอำนาจหน้าที่  (1) ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (2) พัฒนาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (3) ดำเนินการ ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของภาครัฐและเอกชน  (4) จัดให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากรและด้านวิชาการ  (5) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net