Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงรุกร้องรัฐฯ ยกเลิกโครงการโรงถลุงเหล็กในพื้นที่บางสะพาน พร้อมแสดงจุดยืนค้านประกาศ 11 โครงการรุนแรง ให้ยืนตามของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ก่อนบุกป่าไม้ราชบุรีทวงถามคำสั่งเพิกถอน นส.3ก โรงถลุงเหล็ก หลังพบเจ้าหน้าที่ทำงานไปคืบ 

 
 
วานนี้ (30 ก.ย.53) เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กว่า 150 คน นำโดยนายวิฑูรย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล ก่อนเดินเท้าต่อมายังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี 2 ฉบับ เพื่อคัดค้านประกาศ 11 ประเภทโครงการรุนแรงของรัฐบาล แต่ให้ยืนประกาศ 18 โครงการตามที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอ และขอให้ยกเลิกโครงการที่มีมลพิษรุนแรงจากพื้นที่ที่มีความเปราะบางที่ติดหรือใกล้เคียงพื้นที่อนุรักษ์ รวมทั้งพื้นที่ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน
 
สืบเนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กของบริษัทเครือสหวิริยาในพื้นมาเป็นเวลาเกือบ 6 ปี โดยถือว่าเป็นพื้นที่เปราะบางที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ในหลายด้าน เช่น เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 พ.ย.52 และเป็นแหล่งวางไข่ปลาทูที่หนาแน่นที่สุดในอ่าวไทย และเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลหายาก อาทิ ฉลามวาฬ และเต่าทะเลต่างๆ โดยที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบพื้นที่เตรียมการในการก่อสร้างโครงการ จนกระทั่งพบว่าพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการในขณะนี้ได้มีคำสั่งจากกรมที่ดินให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ 
 
นายสุพจน์ ส่งเสียง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อธิบายถึงกรณีดังกล่าวว่า พื้นที่บางส่วนของโครงการซึ่งเป็นแนวสายพานลำเลียงได้ถูกกรมที่ดินเพิกถอน น.ส.3ก.แล้วจำนวน 52แปลง รวมพื้นที่ 798 ไร่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ม.ค.53 และได้มีคำสั่งบังคับใช้มาตรา 25 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 จากกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค.53 โดยให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) เป็นผู้ทำหน้าที่ แต่ทางสำนักฯ 10 ซึ่งถือเป็นเจ้าของพื้นที่ ในขณะนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้งที่เวลาล่วงเลยมากว่า 9 เดือนแล้ว 
 
ด้านนายวิฑูรย์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่มีในวันนี้ว่า ทางกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงขอให้นายกรัฐมนตรี 1.ออกมาตรการการเลือกพื้นที่สำหรับโครงการต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบขั้นรุนแรงอย่างชัดเจนให้อยู่ในที่ที่ควรอยู่และเหมาะสมอย่างแท้จริง 2.เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการบังคับใช้มาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 กรณีที่ดินที่มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ของบริษัทเครือสหวิริยาจำนวน 52 แปลง รวมพื้นที่ 798 ไร่ 3.ยกเลิกโครงการโรงถลุงเหล็กในพื้นที่อำเภอบางสะพานซึ่งเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขั้นรุนแรง และ 4.ยกเลิกโครงการที่มีมลพิษรุนแรงทุกโครงการที่จะดำเนินการบนพื้นที่เปราะบางที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และออกมาตรการให้มีผลต่อการคุ้มครองพื้นที่เปราะบาง พื้นที่อนุรักษ์สำคัญอย่างเป็นรูปธรรม
 
ส่วนในการคัดค้านประกาศ 11 ประเภทโครงการรุนแรงของรัฐบาล นายวิฑูรย์กล่าวถึงข้อเรียกร้องว่า 1.ให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศ 11 ประเภทโครงการรุนแรง และประกาศเปลี่ยนแปลงตามคณะกรรมการ 4 ฝ่าย คือเป็น 18โครงการตามเดิม 2.ให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และการนิคมอุตสาหกรรม ออกประกาศมาตรฐานควบคุมมลพิษ และให้มีมาตรการการควบคุมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น 3.ให้กรมควบคุมมลพิษ ทำการสำรวจ ตรวจวัดอย่างชัดเจนในเรื่องมลพิษกับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการแล้ว และหากมีการปล่อยมลพิษเกินกว่าที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมประเมินไว้ จะต้องมีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาดและจริงจัง
 
4.ให้รัฐบาลมีนโยบายในการออกมาตรการที่ชัดเจนต่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมในแง่ของการเลือกสถานที่ตั้ง และมีมาตรการควบคุมดูแลในเรื่องมลพิษจากอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน รวมถึงมีการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อให้เป็นมาตรฐาน และ 5.ให้คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) เข้าไปมีส่วนร่วมจัดทำแผนและเสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขแผนแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันหรือแก้ไขอันตรายอันเกิด จากการแพร่กระจายของมลพิษหรือภาวะมลพิษ ก่อนให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศบังคับใช้
 
จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 10.10 น.นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ลงมาพบกับกลุ่มชาวบ้านที่มาชุมนุมเพื่อเจรจารับหนังสือแทนนายอภิสิทธิ์ โดยระบุว่านายอภิสิทธ์อยู่ระหว่างการตอบกระทู้ซักถามในสภาฯ ไม่สมารถลงมารับหนังสือด้วยตนเองได้ แต่ก็ต้องการให้ปัญหาได้รับการแก้ไขโดยเร็วจึงลงมารับแทน พร้อมรับรองว่าหนังสือจะถูกส่งถึงมือนายอภิสิทธิ์อย่างแน่นอน แต่กลุ่มชาวบ้านได้พยายามเจราจาต่อรองเพื่อของเขาพบและยื่นจดหมายด้วยตนเอง ท้ายสุดก็ได้มีการประชุมกันและตกลงยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธ์ โดยผ่านนายปณิธาน 
 
นายปณิธานกล่าวหลังรับมอบหนังสือว่า ยืนยันจะเร่งดำเนินการติดตามเรื่องดังกล่าว และจะมีการรวมรวมข้อมูลและนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากได้ข้อสรุปจะส่งเอกสารแจ้งให้ทราบเพื่อให้ทางกลุ่มอนุรักษ์ส่งตัวแทนมาฟังคำตอบ ทั้งนี้กระบวนการจะเร็วหรือช้าต้องดูคำตอบของหน่วยงานราชการ นอกจากนั้นยังได้ชี้แจงกรณี 11 ประเภทโครงการรุนแรงของรัฐบาลว่าในส่วนของประกาศ 18 โครงการตามที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอได้ระบุอยู่ใน 11 ประเภทโครงการรุนแรงแล้ว นอกจากนั้นในบางส่วนก็มีข้อบังคับตามกฎหมายอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเขียนซ้ำลงไปอีกใน 11 โครงการ ส่วนกรณีชาวบ้านที่มีชาวบ้านถูกคุกคามทำร้าย นายปณิธานบอกให้แจ้งชื่อและเบอร์โทรศัพท์ติดต่อเอาไว้ เพื่อจะได้ประสานงานเพื่อติดตามเรื่องต่อไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงได้เดินทางต่อไปยังสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 ซึ่งตั้งอยู่เขตเทศบาลเมืองบ้านโป่ง จ.ราชบุรี เนื่องจากป่าไม้ที่ 10 ราชบุรี นั้นคุมพื้นที่ทั้งหมด 9 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ราชบุรี จ.กาญจนบุรี จ.นครปฐม จ.สุพรรณบุรี จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบฯ เพื่อยื่นหนังสือทวงถามเรื่องที่อธิบดีกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน นส.3ก จำนวน 52 แปลง ที่ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ ซึ่งเป็นที่ดินที่กำลังมีการก่อสร้างโรงงานถลุงเหล็กของบริษัทเครือสหวิริยา
 
ทั้งนี้หนังสือที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรีมีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
เรื่อง      ขอให้ยกเลิกโครงการที่มีมลพิษรุนแรงจากพื้นที่ที่มีความเปราะบางที่ติดหรือใกล้เคียงพื้นที่อนุรักษ์
 
เรียน     นายกรัฐมนตรี (ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ)
 
จากการที่ชาวบ้านอำเภอบางสะพานในนามกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กในเครือสหวิริยา และได้มีการตรวจสอบพื้นที่ที่โครงการเตรียมในการก่อสร้าง จนกระทั่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการในขณะนี้ได้มีคำสั่งจากกรมที่ดินให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.)ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๓ แต่เวลาล่วงเลยมากว่า ๙ เดือนทางกรมป่าไม้ ซึ่งถือเป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้ก็ยังมิได้ดำเนินการใดๆและพื้นที่ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน นั้น ถือเป็นพื้นที่เปราะบางที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ในหลายด้าน อาทิ
 
๑.         เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติตามมติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓ พ.ย. ๕๒
๒.        เป็นเขตปิดอ่าวจากกระทรวงเกษตรอนุรักษ์แหล่งวางไข่ปลาทูที่หนาแน่นที่สุดในอ่าวไทย
๓.        เป็นเขตปิดอ่าวอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนสำหรับแหล่งอาหารของชุมชนและของประเทศ
๔.        เป็นพื้นเกษตรที่ปลูกมะพร้าวอินทรีย์ในการบริโภคและส่งออก
๕.        เป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลหายาก เช่น ฉลามวาฬ เต่าทะเลต่างๆ ฯลฯ
 
และจากแผนพัฒนาฉบับที่ ๗ ในเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ได้ระบุ
ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมที่อาจเกิดผลกระทบรุนแรงต้องอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม หรือในพื้นที่ที่รัฐจัดหาให้ แต่ที่นี่กลุ่มทุนเป็นผู้เลือกพื้นที่เอง อีกทั้งพื้นที่ที่กลุ่มทุนเลือกก็ยังไม่เหมาะสมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำดังเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น
 
กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงจึงขอให้ทางนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งดังนี้
๑.         ออกมาตรการการเลือกพื้นที่สำหรับโครงการต่างๆที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบขั้นรุนแรงอย่างชัดเจนให้อยู่ในที่ที่ควรอยู่และเหมาะสมอย่างแท้จริง
๒.        เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการบังคับใช้มาตรา ๒๕ แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ กรณีที่ดินที่มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก.) ในเครือสหวิริยาจำนวน ๕๒ แปลง รวมพื้นที่ ๗๙๘ ไร่
๓.        ยกเลิกโครงการโรงถลุงเหล็กในพื้นที่อำเภอบางสะพานซึ่งเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขั้นรุนแรง(๑ ใน ๑๑ โครงการตามประกาศของรัฐบาล)
๔.        ยกเลิกโครงการที่มีมลพิษรุนแรงทุกโครงการที่จะดำเนินการบนพื้นที่เปราะบางที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และออกมาตรการให้มีผลต่อการคุ้มครองพื้นที่เปราะบาง พื้นที่อนุรักษ์สำคัญอย่างเป็นรูปธรรม
 
จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดดำเนินการ
 
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
 
..............................................
 
(นายวิฑูรย์บัวโรย)
ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง
 
 
 
เรื่อง      คัดค้านประกาศ ๑๑ ประเภทโครงการรุนแรงของรัฐบาล
 
เรียน     นายกรัฐมนตรีประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
 
จากกรณีปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับจากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ทั้งทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบขั้นรุนแรงประชาชนในหลายพื้นที่ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ ๖๗ วรรคสอง ในการปกป้องตนเองและชุมชน โดยเฉพาะกิจการหรือโครงการใดๆที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมขั้นรุนแรงจำต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน(ประชาพิจารณ์) และองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมเห็นชอบ
 
กระทั่งมีการจัดตั้งคณะกรรมการ ๔ ฝ่ายในการแก้ปัญหาดังกล่าว และพิจารณาว่าโครงการใดบ้างที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทางคณะกรรมการ ๔ ฝ่ายได้สรุปออกมารวมทั้งสิ้น ๑๘ โครงการ แต่หลังจากที่มีการประกาศโครงการรุนแรงจากทางรัฐบาล กลับมีการตัดโครงการออกไป ๗ โครงการ คงเหลือเพียง ๑๑ โครงการที่อาจเกิดผลกระทบขั้นรุนแรง
 
ซึ่งภาคประชาชนและทางคณะกรรมการ ๔ ฝ่ายเองไม่เห็นชอบด้วยกับคำประกาศดังกล่าว โดยเฉพาะในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับ ๑ ของประเทศออกมาคัดค้านประกาศดังกล่าวและจะมีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศ ๑๑ โครงการ และให้ประกาศโครงการที่อาจเกิดปลกระทบขั้นรุนแรงตามที่คณะกรรมการ ๔ ฝ่ายพิจารณาแทน คือ ๑๘ โครงการ
 
กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ซึ่งถือเป็นพลเมืองของประเทศ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายของรัฐที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็ก มีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆต่อไปนี้โดยเร่งด่วน
 
๑.         ให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศ ๑๑ ประเภทโครงการรุนแรง และประกาศเปลี่ยนแปลงตามคณะกรรมการ๔ฝ่าย คือเป็น ๑๘ โครงการตามเดิม
๒.        ให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมกรมควบคุมมลพิษ และการนิคมอุตสาหกรรม ออกประกาศมาตรฐานควบคุมมลพิษ และให้มีมาตรการการควบคุมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น
๓.        ให้กรมควบคุมมลพิษ ทำการสำรวจ ตรวจวัดอย่างชัดเจนในเรื่องมลพิษกับอุตสาหกรรมต่างๆที่ดำเนินการแล้ว และหากมีการปล่อยมลพิษเกินกว่าที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมประเมินไว้ จะต้องมีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาดและจริงจัง
๔.        ให้รัฐบาลมีนโยบายในการออกมาตรการที่ชัดเจนต่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมในแง่ของการเลือกสถานที่ตั้ง และมีมาตรการควบคุมดูแลในเรื่องมลพิษจากอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน รวมถึงมีการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของอุตสาหกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อให้เป็นมาตรฐาน และให้ประชาชนในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยลดน้อยลง
๕.        คณะกรรมการควบคุมมลพิษที่มีอำนาจและหน้าที่ตามมาตรา ๕๓ แห่ง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่มีการเสนอแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันหรือแก้ไขอันตรายอันเกิด จากการแพร่กระจายของมลพิษหรือภาวะมลพิษต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยให้คณะกรรมการ กอสส.เข้าไปมีส่วนร่วมจัดทำแผนและเสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขแผนให้สอดคล้องกับสภาพกาลก่อนที่จะให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศบังคับใช้ต่อไป
 
จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดดำเนินการ
 
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
 
..............................................
 
(นายวิฑูรย์บัวโรย)
ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net