Skip to main content
sharethis

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เผย ยินดีลงพื้นที่ทำความเข้าใจประชาชนมาบตาพุด ส่งสัญญาณคุมการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมมาบตาพุด เตรียมนำข้อมูลสุขภาพประชาชนมาพิจารณาความสามารถของพื้นที่ในการรองรับมลพิษ

อภิสิทธิ์แจงรัฐบาลมอบหมายนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปเร่งรัดโครงการต่างๆ ดำเนินการเร่งบรรเทาความเดือดร้อนและนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนมาใช้เป็นข้อมูลประกอบเรื่องความสามารถในการรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มากกว่าการตัดประเภทกิจการรุนแรงจาก 18 ประเภท เหลือ 11 ประเภท

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ยินดีทำงานร่วมกับภาคประชาชน และพร้อมลงพื้นที่เจรจา “ผมยินดีจะทำงานร่วมกับภาคประชาชนในประเด็นที่จะไปกระทบกับชีวิตของประชาชนที่มาบตาพุดจริงๆ และเป็นไปได้ที่ผมจะลงพื้นที่ไปพบประชาชนหรือจะให้เขามาพบก็ได้” นายกฯ กล่าว

สำหรับกรณีที่จะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในส่วนของมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการประกาศประเภทโครงการรุนแรงที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน เพราะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้รับรองการประชุม เรื่องนี้เป็นสิทธิตามกฎหมายของภาคประชาชนที่สามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ แต่รัฐบาลมั่นใจว่า ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมกับยอมรับว่าการชุมนุมที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ไม่ได้มีแต่เฉพาะเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเท่านั้น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ปัญหาอยู่ เช่น การประกาศให้โครงการลงทุนในพื้นที่อ่อนไหวเป็นโครงการรุนแรง ซึ่งตนได้สอบถามสำนักงานกฤษฎีกาไปแล้ว และได้รับคำตอบว่ากรณีเช่นนี้ต้องเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่อำนาจของกรรมการสิ่งแวดล้อมหรือของคณะผู้ชำนาญการ ที่จะประกาศ อีกทั้งการประกาศ ต้องประกาศในลักษณะที่เป็นประเภทหรือขนาดของกิจการด้วย ขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไร

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังหารือกับเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกที่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่า เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนอุตสาหกรรมได้ยื่นข้อเสนอและชี้แจงปัญหาที่กระทบกับชุมชนให้ภาครัฐรับทราบ ซึ่งภาคประชาชนชี้แจงว่า ไม่เห็นด้วยกับประกาศกิจการรุนแรง 11 กิจการ เพราะยังไม่ครอบคลุมบางอุตสาหกรรมที่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยภาคประชาชนชี้แจงว่า มีหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุน เช่น ผลกระทบจากเหมืองทองคำที่จังหวัดพิจิตร ผลกระทบจากโรงโม่หินที่จังหวัดพิษณุโลก

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในการหารือครั้งนี้ ภาครัฐได้รับข้อเสนอของภาคประชาชนที่ต้องการให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลของการแก้ปัญหามาบตาพุด โดยต้องการให้นายกรัฐมนตรี มาชี้แจงและรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการออกประเภทกิจการรุนแรง ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับทราบเบื้องต้นแล้วว่าภาคประชาชนต้องการให้จัดเวทีสาธารณะรับฟังข้อมูล นายกรัฐมนตรียังไม่ตอบรับหรือปฏิเสธข้อเสนอของภาคประชาชน เพราะต้องตรวจสอบกำหนดการของนายกรัฐมนตรีในช่วงนี้ เนื่องจากมีกำหนดเข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป ที่ประเทศเบลเยียม ในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ คาดว่าการจัดเวทีรับฟังความเห็นจะดำเนินการได้ภายใน 3 สัปดาห์ โดยภาคประชาชนเสนอ 2 สัปดาห์ แต่ไม่น่าจะมีปัญหาหากดำเนินการได้ภายใน 3 สัปดาห์ เพราะนายกรัฐมนตรีต้องเดินทางไปต่างประเทศ

ทั้งนี้ ภาครัฐรับพิจารณาข้อเสนอที่ต้องการให้มีการเผยแพร่เวทีสาธารณะ โดยอาจมีการพิจารณาถ่ายทอดทางโทรทัศน์หรือให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังด้วย ซึ่งการจัดเวทีดังกล่าวอาจไม่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งจบลงได้เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน แต่ภาครัฐเชื่อว่าจะเป็นเวทีที่ทุกฝ่ายมีโอกาสร่วมเสนอแนวทางการแก้ปัญหา โดยเวทีดังกล่าวจะหารือเกี่ยวกับกิจการรุนแรง 11 กิจการ และหากไม่สามารถแก้ประกาศดังกล่าวได้จะดำเนินการอย่างไร รวมทั้งหารือว่าปัญหาที่ชุมชนได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมทั่วประเทศจะแก้ไขอย่างไร

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์การเรียกร้องของภาคประชาชน เพราะไม่ได้จำกัดปัญหาเฉพาะมาบตาพุดแต่ได้ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศที่ภาครัฐต้องเข้าไปดูแล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่า ปัญหามาบตาพุดจบแล้ว เพราะมีทางออกที่ชัดเจน จึงช่วยให้ความเชื่อมั่นการลงทุนกลับคืนมา รวมทั้งการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม

ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อยและเมื่อภาคประชาชนได้รับคำตอบจากการหารือได้มีการแยกย้าย ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้มีภาคประชาชนจากจังหวัดอื่นที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมชุมนุมด้วยและบางส่วนก็ได้ทยอยเดินทางกลับ โดย กนอ.เชื่อว่าสถานการณ์การชุมนุมได้คลี่คลายไปในทางที่ดี แต่ กนอ.ยังคงมาตรการรับมือการชุมนุมไว้ ซึ่งได้ประสานเจ้าหน้าที่ในจังหวัดระยองเพื่อเฝ้าระวังไปอีกระยะจนกว่าจะมั่นใจว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว

ที่มาบางส่วน: http://www.bangkokbiznews.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net