แนะนำหนังสือ: A Long Way Gone บันทึกทหารเด็ก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สรินณา อารีธรรมศิริกุล อดีตอาจารย์ม.นเรศวร เขียนแนะนำหนังสือที่เขียนจากความทรงจำอันเลวร้ายของทหารเด็ก ที่เกิดขึ้นในประเทศเซียร์รา ลีโอน

เมื่อได้โอกาสอ่านหนังสือเรื่อง A Long Way Gone บันทึกความทรงจำของทหารเด็ก (Child Soldier) ที่เกิดขึ้นในประเทศเซียร์รา ลีโอน (Sierra Leone) เขียนโดย อิชมาเอล เบียช (Ishmael Beah) ทำให้ผู้เขียนนึกถึงฉากในหนังฮอลลิวู้ดเรื่อง Blood Diamond ที่มีนักแสดงหน้าตาน่ารักอย่างแจ๊ส ดอร์สันแห่งไททานิกมาเล่นเป็นพระเอก

 

ถ้ายังจำฉากแรกของหนังเรื่องนี้กันได้ กลุ่มกบฎRUF (Revolutionary United Front) เข้าโจมตีหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง โซโลมอนผู้เป็นพ่อถูกนำตัวไปเป็นทาสแรงงานในเหมืองเพชร ทำให้เขาพลัดพรากจากครอบครัว หลังจากหนีออกจากเหมืองเพชรเลือดได้โซโลมอนพยายามตามหาลูกชายที่หายไป ในที่สุดเขาก็ตามหาลูกเจอ โซโลมอนเดินย่องเข้าไปในกลุ่มเด็กที่กำลังนั่งสนทนากันอยู่บนโต๊ะอย่างระวังเหมือนรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ลูกชายของเขาหันหน้ามาพร้อมส่องกระบอกปืนเตรียมเหนี่ยวไกตามสัญชาตญาณของทหารที่เจนจัดในสงคราม เด็กน้อยกัดฟันกรอดๆ ขมวดคิ้วไม่ยอมวางปืนที่กำลังส่องหน้าพ่ออยู่

 

เราคงเดากันได้ว่า ลูกของโซโลมอนคงถูกล้างสมองให้กลายเป็นทหารเด็กที่สามารถฆ่าคนได้อย่างเลือดเย็น แต่เราคงเดาไม่ถูกว่ากระบวนการล้างสมองที่ว่านั้นเป็นอย่างไร และการเป็นทหารนั้นมีผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจของเด็กอย่างไร  A Long Way Gone อธิบายความซับซ้อนนี้ออกมาเป็นภาพและความรู้สึกได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว

 

อิชมาเอลเขียนถ่ายทอดประสบการณ์จริงของเขาจากความทรงจำอันแสนเจ็บปวดเมื่อตนเองต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองตอนอายุสิบสองและผ่านการถูกล้างสมองให้กลายเป็นทหารตอนอายุสิบสาม สงครามการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มกบฎRUF และรัฐบาลเผด็จการทำให้อิชมาเอลต้องพลัดพรากจากครอบครัว ความแค้นฝั่งลึกบวกกับหนทางตันที่ไม่สามารถหลบหนีออกจากพื้นที่สงครามทำให้ชะตาชีวิตของเขากลับตาลปัดจากเด็กไร้เดียงสาที่ชอบจับกลุ่มเต้นรำร้องเพลงแนวฮิพฮอพกลายมาเป็นหัวหน้าทหารเด็กที่ทำการปลิดชีวิตคนและปล้นสะดมภ์พลเมืองอย่างไม่รู้สึกรู้สา

 

ย้อนไปในปี 1991 สงครามกลางเมืองในประเทศเซียร์รา ลิโอนปะทุขึ้นจากกลุ่มกบฎเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่าRUF นำโดยอดีตนายทหารฟอเดย์ แซงโก (Foday Sankoh) ทำการเผาหมู่บ้านพลเรือน ฆ่าคนบริสุทธ์เพื่อแย่งชิงอาวุธและเสบียงอาหาร ขณะที่เกณฑ์ผู้ชายและเด็กเข้าเป็นกองกำลังสนับสนุน การที่กบฎRUF เข้าควบคุมตำบลโคโน (Kono) ทางฝั่งตะวันออกของประเทศที่เป็นแหล่งเหมืองเพชรขนาดใหญ่ก็เพื่อต้องการเงินมาซื้ออาวุธและเสบียงสนับสนุนการปฎิวัติ จากนั้นปฎิบัติการของกลุ่มกบฎRUF ได้ขยายการโจมตีไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการที่นำโดยนายพลโจเซฟ ไซดู (Joseph Saidu)

 

กลุ่มกองกำลังที่อิชมาเอลถูกเกณฑ์เป็นทหารอยู่นั้นถือเป็นกองกำลังอิสระที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับกลุ่มกบฎRUF แต่ในขณะเดียวกันก็ทำการฆ่าปล้นสะดมภ์พลเมืองผู้บริสุทธ์ด้วยเช่นกัน ฉะนั้น ในเวลานั้นไม่มีใครไว้ใจใคร คนแปลกหน้ากลายเป็นอริศัตรูไปโดยปริยาย แต่ละหมู่บ้านทำได้อย่างเดียวคือตั้งกองกำลังของตนเองขึ้นเพื่อปกป้องชุมชน สถานการณ์เช่นนี้เสมือนโรคระบาดแห่งความรุนแรงที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วไปทุกหนแห่งในเซียร์รา ลิโอน

 

จากเด็กน้อยผู้ไร้เดียงสาที่ไม่กล้าแม้กระทั่งฆ่าหมูป่าเพื่อเอามากินประทังชีวิต ถูกล้างสมองให้กลายมาเป็นทหารเลือดเย็นที่สามารถจ้องตาเหยื่อก่อนใช้มีดปาดคออย่างโหดร้ายและใช้ปืนยิงในระยะเผาขนได้นั่นเป็นความน่าประหลาดใจให้ฉุกคิดตั้งคำถามถึงกระบวนการฝึกและวิธีการล้างสมองที่ทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าอันตรายที่สุด การปลุกใจจากคำพูดที่ทำให้เจ็บแค้น การเสพยาเสพติดทั้งแอฟฟีตามีนและที่เรียกว่า“brown brown” (โคเคนผสมดินปืน)ที่สร้างความฮึกเฮิม การดูภาพยนต์สงครามทุกคืนและมีแรมโบ้เป็นไอดอล และการออกรบในสมรภูมิเกือบทุกวัน เสียงร้องโหยห้วนด้วยความเจ็บปวด ความหวาดกลัวและอลหม่านจากการสูญเสียเพื่อนในสมรภูมิ ภาพและเสียงเหล่านี้ที่อิชมาเอลเห็นและได้ยินอยู่ทุกวันแม้ในระยเวลาอันสั้นก็ตามเป็นเสมือนยาทำลายล้างประสาทของเด็กๆ ให้ตายและด้านชาต่อความรุนแรง

 

เรื่องราวของอิชมาเอลสะท้อนภาพและความรู้สึกให้ผู้อ่านรับรู้และเข้าใจสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงของเด็กที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะความวุ่นวายของสงครามได้อย่างชัดเจน รวมทั้งความยากลำบากในการต่อสู้กับภาพหลอนของสงครามและความรุนแรงจนกลายมาเป็นฝันร้ายเมื่อเขาถูกช่วยเหลือออกมาให้อยู่ในค่ายฟื้นฟูของUNICEF ที่เมืองFreetown เมืองหลวงของเซียร์รา ลิโอน รวมทั้งการปรับตัวให้กลับมาเป็นเด็ก (แต่ไม่ไร้เดียงสา) และอยู่ในสภาพสังคมปกติได้อีกครั้ง แต่พอปี1996 อิชมาเอลต้องกระเสือกกระสนหาทางหนีอีกครั้งเมื่อสงครามได้ขยายตัวเข้ามาในเมืองหลวงของประเทศ สุดท้ายเขาต้องอพยพไปอยู่ที่นิวยอร์กและกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเด็กของยูนิเซฟที่มีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ให้โลกได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่อง“ทหารเด็ก”

 

ที่จริงแล้วประเด็นปัญหานี้ไม่ได้ห่างไกลจากตัวเราหรือเกิดขึ้นแค่ในทวีปแอฟริกาเท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างพม่าถูกประเมิณว่ามีจำนวนทหารเด็กมากที่สุดในโลก ในปี 2002 ยูเอ็นคลอดพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในสภาวะขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the Involvement of Children in Armed Conflict) โดยอนุสัญญาระบุว่ารัฐบาลสามารถเกณฑ์เด็กที่อายุน้อยกว่า18 ปีมาทำงานในกองทัพได้แต่ไม่สามารถออกไปสู้รบในสมรภูมิได้ ส่วนกองกำลังที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐไม่สามารถเกณฑ์ทหารเด็กที่อายุน้อยกว่า18 ปีมารวมกองกำลังไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในบรรดาสมาชิกอาเซียนมีสามประเทศที่ยังไม่ร่วมลงนามในอนุสัญญานี้คือประเทศบูรไน มาเลเซีย และพม่า

 

กรณีของอิชมาเอลถือว่าเป็นกรณีที่ยิ่งกว่าเรียกว่าโชคดีที่เขาสามารถหลุดพ้นจากสงครามออกมาอยู่ในสังคมปกติได้อย่างปลอดภัย แต่เพื่อนของเขาหลายคนที่เคยอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูไม่สามารถอพยพออกนอกประเทศได้และต้องกลับไปเป็นทหารเหมือนเดิม ในปัจจุบันแม้ยังไม่มีตัวเลขบ่งชี้ที่แน่ชัดของจำนวนทหารเด็กทั่วโลก แต่องค์กรต่างประเทศหลายๆ องค์กรได้คาดการณ์ว่ายังมีเด็กอีกมากกว่าสองแสนถึงสามแสนคนทั่วโลกที่ยังตกอยู่ในสภาพเดียวกับอิชมาเอล หนังสือเล่มนี้นอกจากจะเปิดตาผู้ใหญ่อย่างเราให้เข้าใจความรู้สึกของเด็กที่ถูกคุกคามจากสภาวะความรุนแรงของสงครามกลางเมืองแล้ว ยังเหมาะที่จะเป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนเพื่อให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาสิทธิเด็กและกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยถกเถียงในประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเด็กในหมู่นักเรียนนักศึกษาด้วยกันเองอีกด้วย

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือ A Long Way Gone: Memoirs of a Boy Soldier

สำนักพิมพ์: Sarah Crichton Books

ปีที่พิมพ์: 2007

ISBN-10:  0-374-10523-5

ความยาว: 229 หน้า

แปลไทยโดย: คำเมือง สำนักพิมพ์สันสกฤต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท