สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 27 ก.ย. - 3 ต.ค. 2553

ทหารสั่งเข้มสกัดแรงงานต่างด้าวทะลักชายแดนไทย

เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจกรม ทหารราบที่ 4 อ.แม่สอด จ.ตาก ได้รับคำสั่งให้ทหารเข้มงวดกวดขันกับยานพาหนะต่างๆ โดยเฉพาะรถยนต์ที่เดินทางไป อ.เมืองตาก และจังหวัดชั้นใน ที่จุดตรวจบ้านห้วยหินฝน ตำบลแม่ปะ อ.แม่สอด ซึ่งตั้งที่ถนนสายเอเชีย 1 เชื่อมระหว่างถนนสายอ.แม่สอด กับ อ.เมืองตาก ทั้งนี้เนื่องมาจาก หลังเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ลักลอบขนแรงงานต่างด้าวพลิกคว่ำ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นแรงงานต่างด้าวชาวพม่า 6 คน และได้รับบาดเจ็บ 17 คน เหตุเกิดในพื้นที่ ตำบลปะด่าง อ.วังเจ้า จ.ตาก

ขณะที่ศพชาวพม่า 6 ศพ ยังคงเก็บไว้ที่โรงพยาบาลตากสินมหาราช และยังไม่มีญาติติดต่อไปรับศพแต่อย่างใด เพราไม่สามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ อ..เมืองตาก ได้

สำหรับการหลั่งไหลของแรงงานต่างด้าว ในช่วงนี้ มีเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากการปิดด่านพรมแดนไทย - พม่า และท่าข้ามขนส่งสินค้าทั้งหมด จึงทำให้ชาวพม่าจำนวนนับ 10 , 000 คน ต้องตกงาน และหนีข้ามเข้ามายังเขตไทยเพื่อหางานทำ นอกจากนี้ทหารพม่ากำลังเข้มงวดกวดขันดูแลความสงบเรียบร้อยในพม่าเพื่อเตรียม การเลือกตั้งทั่วไป จึงทำให้ชาวพม่าไม่สามารถทำการค้าได้สะดวก จนกระทบเป็นลูกโซ่

(เนชั่นทันข่าว, 27-9-2553)

"วิปรบ." ดัน ร่างพ.ร.บ.บำนาญประชาชนเข้าสภาฯ

นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า วิปรัฐบาลได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรีเสนอมาคือ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ..หรือที่เรียกกันว่าเงินบำนาญประชาชน เป็นการพิจารณาให้หน่วยงานที่จะให้ประชาชนอายุระหว่าง 20 - 60 ปี ที่ไม่อยู่ภาคแรงงาน ภาคราชการ ประมาณ 26 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร อาชีพอิสระ ไม่อยู่ในแรงงานและประกันสังคม ไม่อยู่ในพ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญ และกองทุนประกันสังคม ได้เข้าสู่ระบบ เมื่อเกษียณอายุ 60 ปี จะมีบำนาญเอง โดยสาระสำคัญคือประชาชนอายุตั้งแต่ 20 ขึ้นไป สามารถที่จะแสดงความจำนงสะสมเงินออมเป็นรายเดือนของตัวเอง และรัฐบาลจะสมทบเงินออมให้ เมื่อครบอายุ 60 ปี คนเหล่านี้จะได้กินบำนาญตามอัตราส่วนที่ได้สมทบกันไว้ และรัฐบาลสมทบเข้ามา บวกกับเงินบำเหน็จค่ายังชีพผู้สูงอายุซึ่งรัฐบาลจ่าย 500 บาทอยู่แล้ว ซึ่งวิปมีมติจะส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่สภา เมื่อบรรจุระเบียบแล้วก็พยายามที่จะเร่งรัดพิจารณาเป็นกรณีที่เร่งด่วน เพราะจะเป็นประโยชน์และเป็นการเริ่มต้นดูแลภาคประชาชน

ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดการออมเงินมีดังนี้ สามารถออมได้ตั้งแต่ 50 - 1500 บาท โดยรัฐจะสมทบทุกเดือนประมาณร้อยละ 50 แต่ไม่เกินปีละ 600 บาท ต่อเดือน สำหรับผู้ที่อายุ 20 ไม่เกิน 30 ปี ส่วนอายุ 30 ไม่เกิน 50 ปี สมทบร้อยละ 80 แต่ไม่เกินปีละ 960 บาท มากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี สมทบร้อยละ 100 แต่ไม่เกินปีละ 1,200 บาท

(แนวหน้า, 27-9-2553)

เอกชนส่ายหน้าขยับค่าจ้าง 421 บาทท้ากลับฝีมือถึง 500 บาท ก็ยอมจ่าย

จากการที่กลุ่มตัวแทนคณะกรรมการ สมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เข้ายื่นข้อเสนอเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานต่อ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน โดยมีประเด็นเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร็วที่สุด คือ พิจารณาปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับสภาพการครองชีพที่แท้จริง โดยเสนอตัวเลขที่ 421 บาท/วัน/คน เนื่องจากทุกวันนี้แรงงานมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ต้องทำงานล่วงเวลาเฉลี่ย 2 ชั่วโมง/วัน เสียเวลาดูครอบครัวและสภาพการทำงานหนัก ทำให้ขาดคุณภาพชีวิตที่ดี

ขณะที่ท่าทีของกระทรวงแรงงานก็พร้อม จะนำตัวเลขนี้เข้าที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงการคลัง ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ทำให้ภาคเอกชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ต้องออกมาท้วงติงรัฐบาลและผู้ใช้แรงงานอีกรอบให้คำนึงถึงภาพรวมด้วย เพื่อความเป็นธรรมของนายจ้างหลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็เคยทักท้วงกรณีนายก รัฐมนตรีเสนอเคาะค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจาก206 บาท เป็น 250 บาท/วัน/คน หรือขยับขึ้น 20% ซึ่งหากยึดตัวเลขใหม่ที่ 421 บาทเท่ากับว่าขยับขึ้นถึงกว่า 68%

ธนิต โสรัตน์รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ข้อเสนอให้ปรับค่าแรงเป็น 421 บาท/วัน/คน หรือประมาณ 1.2 หมื่นบาท/เดือน หากรัฐบาลทำจริงจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอย่างมาก ระบบอุตสาหกรรมจะอยู่ไม่ได้ เพราะค่าแรงในระดับนี้เทียบเท่ากับค่าแรงของแรงงานญี่ปุ่นที่ผลิตสินค้าโดย ใช้เทคโนโลยี ชั้นสูง ขณะที่ไทยยังผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่ำอยู่

การกำหนดแรงงานขั้นต่ำเป็นค่าแรง สำหรับแรงงานที่ไม่มีทักษะ จบการศึกษาใหม่หรือไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน โดยเฉลี่ยอายุแรงงานในระดับนี้จะอยู่ที่ประมาณ 18-20 ปี ไม่มีครอบครัว รายได้ที่ได้มาก็ใช้จ่ายส่วนตัวสามารถเช่าที่พักได้ตามความเหมาะสม

ขณะนี้หลายคนนำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ มาปะปนกับเรื่องค่าครองชีพซึ่งค่าครองชีพหมายถึงรายได้ที่แต่ละคนพึงมี ในแต่ละช่วงวัยเช่น อายุ 25 ปี ทำงานมาแล้ว 5 ปี มีครอบครัวมีบุตร 2 คน ควรจะมีรายได้เท่าไหร่

การที่คนทำงานมีประสบการณ์มาแล้ว 5 ปีรายได้ที่ควรได้ย่อมมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว การนำทั้งสองเรื่องนี้มารวมกัน จะก่อให้เกิดความแปรปรวนในระบบการจ้างงานได้

ดังนั้น เวลาพูดถึงค่าจ้างต้องระบุให้ชัดเจนการเสนอตัวเลขที่ 421 บาท/วัน/คน ด้วยเหตุผลว่าแรงงานมีรายได้ไม่เพียงพอ ต้องทำงานล่วงเวลา (โอที) อย่างน้อย 2 ชั่วโมง/วัน ทำให้เสียเวลาในการดูแลครอบครัว ขาดคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ควรจะระบุด้วยว่าแรงงานดังกล่าวอายุเท่าไหร่ มีประสบการณ์ทำงานมากี่ปีแล้วไม่ใช่พูดรวมๆ ว่าเป็นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะค่าแรงขั้นต่ำเป็นพื้นฐานของการจ่ายค่าจ้างสำหรับแรงงานที่เพิ่งเริ่ม ต้นทำงาน

คิดว่ารัฐบาลควรจะมีวิจารณญาณในการ พิจารณาด้วย ไม่ใช่จะประชานิยมเพียงอย่างเดียว เพราะอุตสาหกรรมจะอยู่ไม่ได้จริงๆรายได้ส่วนใหญ่จะกลายไปเป็นค่าจ้างทั้งหมด

อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากจะได้รับ ผลกระทบมากที่สุด และจะทำให้ภาคการผลิตย้ายไปอยู่ต่างประเทศ รัฐบาลจึงควรจะใช้เวลาไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีให้ประชาชน มากกว่ามาเล่นเรื่องค่าจ้างแรงงาน

ฉะนั้น ตัวเลข 421 บาท/วัน/คน ที่มีคนนำเสนอ น่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดได้ยากว่าแต่ละคนควรจะมีค่าครองชีพเท่าไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้จ่ายรายบุคคลด้วย แต่รัฐบาลก็ควรจะต้องทำโครงสร้างค่าครองชีพพื้นฐานของประชาชนในประเทศ ว่าในแต่ละระดับอายุแรงงานควรจะมีรายได้โดยรวมอยู่ที่ระดับใดเพื่อเป็นการ อ้างอิง หากสำรวจประชาชนโดยรวมแล้วมีค่าครองชีพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาว่าเกิดจากความเหลื่อมล้ำ หรือนายจ้างเอาเปรียบ ทำงานมานานแล้วเงินเดือนไม่ขึ้นเป็นต้น

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าจ้าง 421 บาท/วัน/คน คิดว่าไม่น่ามีปัญหา หากแรงงานสามารถผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้นในเวลาการทำงานที่ลดลง แต่ถ้าไม่อยากทำโอทีแถมต้องการทำงานน้อยลงโดยได้ค่าจ้างมากขึ้นก็คงเป็นไป ได้ยาก

ตัวอย่างเช่น ตอนนี้ทำงานรวมโอทีมีรายได้421 บาท ผลิตงานได้ 100 ชิ้น ถ้าต้องการรายได้เพิ่ม โดยไม่ทำโอที เท่ากับเวลาการทำงานจะลดลง แต่หากยังสามารถผลิตสินค้าได้ 100 ชิ้นเท่าเดิม ผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นให้อยู่แล้ว โดยปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานมากกว่า อยากได้เงินเพิ่มงานก็ต้องเพิ่ม เพื่อความยุติธรรมของทุกฝ่าย

ดังนั้น การเพิ่มค่าจ้างเป็น 250 บาท หรือ421 บาท คงจะเป็นไปไม่ได้ หากประสิทธิภาพการทำงานไม่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าแรงงานมีความสามารถในการทำงาน สามารถผลิตงานได้มากขึ้น มีทักษะมากขึ้น ค่าจ้าง 500 บาทผู้ประกอบการก็ยอมจ่าย

นอกจากนี้ อยากให้มองว่าคนงานกับเจ้าของบริษัทก็ถือเป็นคนเดียวกัน เพราะเจ้าของก็ต้องการให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสุขภาพที่ดี เพราะถ้าแรงงานอยู่ไม่ได้ บริษัทก็อยู่ไม่ได้ ส่วนแรงงานก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกันถ้าบริษัทอยู่ไม่ได้ จึงต้องมองทั้งสองด้าน อย่าคิดถึงแต่ตัวเองฝ่ายเดียว

สุดท้าย หากค่าแรงต้องปรับขึ้นสูงจริงๆ สถานประกอบการแต่ละแห่งก็คงต้องปรับตัวโดยนำเครื่องจักรเข้ามาใช้งานแทน ปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อความอยู่รอดของบริษัท ซึ่งก็จะตามมาด้วยการใช้แรงงานที่ลดลง

(โพสต์ทูเดย์, 27-9-2553)

หน่วยงานไทยในบรูไนสนองนโยบายจับมือร่วมพัฒนานักเรียน-นศ.ไทย

นายอาณาจักร สุทธายน อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน  สนร.บรูไน เผยว่า  สนร.บรูไนเดินหน้าตามแนวนโยบายของ รมว.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการยกระดับฝีมือให้แรงงานไทย โดยการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านแรงงานกับประเทศในแถบภูมิภาค  พร้อมทั้งการเตรียมแรงงานรองรับในสายงานที่ขาดแคลน ในการนี้หน่วยงานภาครัฐของไทยในประเทศบรูไน 3 หน่วยงานคือ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการของไทยจับมือร่วมกันพัฒนาศักยภาพให้แก่นักเรียน และนักศึกษาไทย  โดยในวันจันทร์ที่  27 กันยายน 2553 เวลา 09.00-12.00 น.  จะมีพิธีลงนามความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างวิทยาลัยการอาชีพพล และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่นกับผู้ประกอบการ 6 รายในประเทศบรูไน ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยณบันดาร์เสรีเบกาวัน

โดยมีนายพิทักษ์ พรหมบุบผา เอกอัครราชทูตไทยเป็นประธานในพิธี มีผู้เข้าร่วมได้แก่ผู้อำนวยการองค์กรอาชีวศึกษาอาเซียน SEAMEO VOCTECH คณบดีคณะภาษาศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งชาติบรูไน นายกสมาคม-ชาวไทยในบรูไนกรรมการบริหารสมาคมฯ ผู้ประกอบการไทยเป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนนักเรียนสายอาชีวะและนักศึกษาจาก ประเทศไทยได้มาฝึกทักษะการทำงานกับผู้ประกอบการในประเทศบรูไน ใน 4 สาขาช่าง ได้แก่ ช่างเครื่องยนต์สาขาการเกษตร สาขาด้านการเงิน และสาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก

การลงนามครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นใน การขยายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยกับผู้ประกอบการในประเทศ บรูไนให้เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยนักเรียน/นักศึกษาไทยสามารถเดินมาฝึกทักษะการทำงานเพื่อการมีฝีมือ การมีประสบการณ์การทำงานจริง และสามารถมีงานทำหรือเป็นเจ้าของกิจการได้ในอนาคตด้วย  ทั้งนี้จะได้มีการสร้างรูปธรรมการพัฒนากำลังคน กำลังแรงงาน และพัฒนาการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป

(พิมพ์ไทย, 27-9-2553)

ทีดีอาร์ไอค้านขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่

นายยงยุทธ แฉล้มวงศ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่าไม่เห็นด้วยกับกรณีที่กระทรวงแรงงานมีแนวคิดจะเปิดขึ้นทะเบียนแรง งานต่างด้าวรอบใหม่เนื่องจากจะทำให้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติซึ่งกำลังได้รับ ความร่วมมือด้วยดีจากประเทศเพื่อนบ้านหยุดชะงักลง

ที่สำคัญการเปิดขึ้นทะเบียนอีกครั้งไม่ช่วยแก้ปัญหาเดิมแต่จะยิ่งทำให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นนายยงยุทธกล่าว

ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง นั้น เสนอว่าให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวใหม่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องควบคุมการเก็บค่าหัวคิวนำเข้าแรงงานให้เป็นธรรม และอีกทางหนึ่งต้องกวดขันจับกุมผลักดันส่งกลับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอย่าง จริงจังควบคู่ไปด้วย อีกทั้งต้องร่วมมือกับประเทศปลายทางทำการพิสูจน์สัญชาติเพื่อเปลี่ยนคนเหล่า นี้ให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายหากประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานในประเทศ ไทยอีก

ด้านน.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่าเห็นด้วยกับแนวคิดเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่เพื่อแก้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง

ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กว่า 2 ล้านคน ที่ผ่านมาแม้จะใช้นโยบายกวาดล้างจับกุมอย่างจริงจังแต่ก็ไม่สามารถจับกุมได้ ทั้งหมด กลายเป็นช่องทางทุจริตของเจ้าหน้าที่บางรายด้วย

ทั้งนี้ขอเสนอให้ใช้วิธีสร้างแรงจูง ใจแรงงานต่างด้าวเพื่อดึงเข้ามาอยู่ในระบบ โดยการรับประกันว่าแรงงานต่างด้าวจะได้รับสิทธิและสวัสดิการเท่าเทียมกับแรง งานไทยทั้งค่าจ่างขั้นต่ำ การรักษาพยาบาล หรือสิทธิในการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง

รวมทั้งเสนอให้นำเงินที่ได้จากการ จัดเก็บในขั้นตอนขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรวมถึงการพิสูจน์สัญชาติจำนวน หลายพันล้านบาทมาจัดตั้งเป็นกองทุนดูแลแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ

(โพสต์ทูเดย์, 27-9-2553)

สหภาพกฟผ.ทำประกันอุบัติเหตุ 5 พันล้านให้สมาชิก

นายสาธิต ลิปตะสิริ ผู้อำนวยการธุรกิจตัวแทน บริษัท กรุงเทพประกันภัย หรือ BKI เปิดเผยว่า ได้ลงนามร่วมกับนายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ในโครงการ การประกันภัยอุบัติเหตุวงเงินประกันภัย หรือ ความคุ้มครอง จำนวน 5,699.70 ล้านบาท แก่สมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คู่สมรส บุตร ธิดา และบิดา มารดาของสมาชิกฯ ระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 1 ต.ค. 2553 ถึง 30 มิ.ย. 2555

(โพสต์ทูเดย์, 27-9-2553)

เตือนจับแรงงานหลอกไปทำงานที่ สปป.ลาว

นายบุญเลิศ  ธีระตระกูล ผอ.กองวิจัยตลาดแรงงาน เปิดเผยที่ จ.ขอนแก่น ว่า  ขณะนี้ได้มีกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวเป็นนายหน้า  จัดหางาน ได้ชักชวนแรงงานไทยให้เดินทาง ไปทำงานในประเทศ สปป.ลาว โดยอ้างว่า บ.ภูเบี้ยมายนิ่ง จก. ในประเทศ สปป.ลาว ต้องการรับสมัครคนงานไปทำงานในเหมือง  แร่ของลาว ซึ่งจะจัดส่งคนงานให้กับ บ.แพน ออส (PANAUST) ผู้ได้รับสัมปทานเหมืองแร่จากทางการลาว แต่คนงานจะต้องจ่ายค่าดำเนินการ เช่น ค่าตรวจโรค ค่า CID รายละ 15,000-20,000 บาท ปรากฏว่า มีคนงานไทยหลงเชื่อ จ่ายเงินให้สายหรือนายหน้าจัดหางานไปแล้วหลายราย และไม่ได้เดินทางไปทำงาน ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2553 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจัดหางาน จ.หนองคาย ได้พาคนหางาน 6 ราย เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองหนองคาย ให้ดำเนินคดีกับนายอนันต์ ผันผ่อน อายุ 26 ปี อยู่   บ้านเลขที่ 19 หมู่ 16 ต.หนองไฮ อ.เมือง  จ.อุดรธานี ข้อหาหลอกลวงคนหางานไปทำงานที่ประเทศ สปป.ลาว ซึ่งนอกจากคนหางานทั้ง 6 รายแล้ว ยังพบว่ามีคนหางานที่สมัครงานกับนายอนันต์ และเป็นผู้เสียหาย อีกมากถึง 282 ราย และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ปรากฏว่า นายอนันต์ ผันผ่อน  ไม่ได้รับอนุญาตจัดหางาน เพื่อไปทำงานต่างประเทศและไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างตัวแทนจัดหางานของ บริษัทจัดหางานใด ๆ
   
นายบุญเลิศ กล่าวว่า นอกจากนี้ยัง  มีกลุ่มคนที่แอบอ้างเป็นนายหน้าจัดหางาน  ไปชักชวนคนหางานใน จ.มุกดาหาร ไปทำงานก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าประเทศ สปป.ลาว โดยอ้างว่าจะได้เงินเดือน ๆ ละ 25,000-70,000 บาท แต่จะต้องเสียค่าวีซ่าก่อน 4,800 บาท ที่ผ่านมามีคนหางานถูกหลอกไปแล้ว 39 ราย ซึ่งได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้   ที่สถานีตำรวจทั้งนี้ทางกรมการจัดหางานและสำนักงานจัดหางานหลายจังหวัดได้ออกหนังสือ เตือนให้คนหางานทราบว่า ยังไม่มี การอนุญาตให้บริษัทจัดหางานหรือบุคคลได้ จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแต่อย่างใด

(เดลินิวส์, 28-9-2553)

ผบ.นรข.เผยปัญหาใหม่แรงงานต่างด้าวเวียดนาม-เกาหลีเหนือลอบเข้าไทยเพิ่ม

เช้าวันนี้ (28 ก.ย.) ที่กองบัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนม ดร.ภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ รองประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฏร์พร้อมคณะเดินทางมารับฟังข้อมูลสถานการณ์ยาเสพติดตามแนวลำน้ำ โขง ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วย
      
ทั้งนี้ พลเรือตรี อดุงสวัสดิ์ พุ่มพวง ผู้บัญการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่ายาเสพติดทั้งยาบ้า-กัญชาได้ทะลักลอบนำเข้าตลอดแนวลำน้ำโขงจาก ประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่จังหวัดเชียงรายถึงอุบลราชธานีมีความรุนแรงมากขึ้น จากสถิติล่าสุดในรอบปีที่ผ่านมายึดยาบ้าได้กว่า 9 แสนเม็ด
      
โดยเฉพาะข้อมูลใหม่น่าเป็นห่วงมากโดยระดับชาวบ้านของฝั่งประเทศ เพื่อนบ้าน และชาวไทยตามแนวลำน้ำโขงที่มีความยากจน ได้รับจ้างลักลอบขนยาบ้าเข้ามาในไทยในรูปแบบครอบครัว พ่อแม่ลูก และซุกซ่อนยาบ้าเข้ามาฝั่งไทยแบบกองทัพมดตามจุดต่างๆ และมีครอบครัวค้ายาบ้าฝั่งไทยรับส่งพ่อค้ายาบ้าใหญ่อีกทอดหนึ่ง
      
ขณะที่ปัญหาแรงงานต่างด้าวเองก็น่าเป็นห่วง เพราะเดิมทีจะพบแต่ชาวลาวและกัมพูชาลักลอบเข้ามา แต่ปัจจุบันมีการพบแรงงานต่างด้าวชาวเกาหลีเหนือ ชาวเวียดนาม ลักลอบเข้ามาเพิ่มขึ้นด้วยซึ่งเป็นปัญหาใหม่ที่ค้นพบ
      
ขณะที่ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่คือกำลังพลน้อย เพิ่มไม่ได้ ขณะเดียวกันงบประมาณถูกตัด ต้องประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงการลาดตระเวนต้องดักตรงจุดเสี่ยง และใช้กำลังทางบกใช้รถเครื่องหาข่าวดักซุ่มจับกุมทางบกเท่านั้น
      
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้นับวันจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการค้ายาเสพติดและปัญหาแรงงานต่างด้าว แต่เราขาดแคลนทั้งกำลังพลและงบประมาณ จึงต้องการให้คณะกรรมาธิการทหารผลักดันช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-9-2553)

ก.แรงงาน เล็งเปิดจดทะเบียนต่างด้าวรอบใหม่ ผ่านระบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เชื่อเสร็จปลายปี 53

ที่กระทรวงแรงงาน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ว่า หลังจากกระทรวงแรงงานได้รับนโยบายให้เตรียมจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว โดยเปิดจดทะเบียนรอบใหม่ เพื่อนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กว่า 2 ล้านคน เข้าสู่ในระบบ โดยในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่หายไปจากระบบระหว่างขั้นตอนการขึ้นทะเบียนกว่า 5 แสนคน ขณะที่อีกกว่า 1 ล้านคน เป็นพวกที่หลบซ่อนอยู่ ขณะนี้กำลังวางแผนเพื่อเปิดจดทะเบียน

โดยกรมการจัดหางานมีแนวคิดจะทำเป็น รูปแบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว“One Stop Service”เพื่ออำนวยความสะดวกให้นายจ้าง และแรงงานต่างด้าว ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการปกครอง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดทำระบบคอมพิวเตอร์ ในการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายปีนี้ ทั้งนี้ หลังจัดทำระบบคอมพิวเตอร์เสร็จแล้ว จะมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) เพื่อกำหนดรายละเอียดอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่นักวิชาการจากมูลนิธิ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาคัดค้านการเปิดจดทะเบียน เพราะเชื่อว่าจะทำให้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติหยุดชะงักนั้น นายจีรศักดิ์ มองว่า เป็นคนละส่วนกัน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการขึ้นทะเบียนก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการ พิสูจน์สัญชาติเช่นกัน แต่ทั้งนี้อาจต้องมีการขยายระยะเวลาในการพิสูจน์สัญชาติออกไปเพื่อรองรับ จำนวนแรงงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากประเทศปลายทางให้ความร่วมมือในการส่งเจ้าหน้าที่ประจำด่านพิสูจน์สัญชาติ เพิ่มเติมอีก 2 จุด ก็อาจจะดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแล้วเสร็จตามกำหนดเดิมในปี 2555 สำหรับมาตรการในการกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หลังมีตั้งเฉพาะกิจปราบปรามจับกุม ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ล่าสุดมีการจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 4,000 คน

ด้านนายยงยุทธ แฉล้มวงศ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่กระทรวงแรงงานมีแนวคิดจะเปิดขึ้นทะเบียนแรงงาน ต่างด้าวรอบใหม่ เนื่องจากจะทำให้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติซึ่งกำลังได้รับความร่วมมือด้วยดี จากประเทศเพื่อนบ้านหยุดชะงักลง

ที่สำคัญการเปิดขึ้นทะเบียนอีกครั้งไม่ช่วยแก้ปัญหาเดิมแต่จะยิ่งทำให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นนายยงยุทธ กล่าว

ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง นั้น เสนอว่าให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวใหม่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องควบคุมการเก็บค่าหัวคิวนำเข้าแรงงานให้เป็นธรรม และอีกทางหนึ่งต้องกวดขันจับกุมผลักดันส่งกลับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอย่าง จริงจังควบคู่ไปด้วย อีกทั้งต้องร่วมมือกับประเทศปลายทางทำการพิสูจน์สัญชาติเพื่อเปลี่ยนคนเหล่า นี้ให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายหากประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานในประเทศ ไทยอีก

ขณะที่ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่าเห็นด้วยกับแนวคิดเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่เพื่อแก้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง

ขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กว่า 2 ล้านคน ที่ผ่านมาแม้จะใช้นโยบายกวาดล้างจับกุมอย่างจริงจังแต่ก็ไม่สามารถจับกุมได้ ทั้งหมด กลายเป็นช่องทางทุจริตของเจ้าหน้าที่บางรายด้วยน.ส.วิไลวรรณ กล่าว และว่า ขอเสนอให้ใช้วิธีสร้างแรงจูงใจแรงงานต่างด้าวเพื่อดึงเข้ามาอยู่ในระบบ โดยการรับประกันว่าแรงงานต่างด้าวจะได้รับสิทธิและสวัสดิการเท่าเทียมกับแรง งานไทยทั้งค่าจ่างขั้นต่ำ การรักษาพยาบาล หรือสิทธิในการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง  รวมทั้งเสนอให้นำเงินที่ได้จากการจัดเก็บในขั้นตอนขึ้นทะเบียนแรงงาน ต่างด้าวรวมถึงการพิสูจน์สัญชาติจำนวนหลายพันล้านบาทมาจัดตั้งเป็นกองทุน ดูแลแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ

(แนวหน้า, 28-9-2553)

คลังยื่นมือปลดหนี้นอกระบบ/ถก 3 ฝ่ายช่วยแรงงานในลิเบีย

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.53 นายสนิท บุญทวี อดีตส.อบต.ไทยสามัคคี อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์  ผู้ประสานงานแรงงานไทยในประเทศลิเบีย เปิดเผยกับ"สยามรัฐ"ว่า ในวันที่  29 ก.ย.นี้ นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้นัดประชุม 3 ฝ่าย ได้แก่  บริษัทจัดหางาน ,แรงงานไทยในลิเบีย และกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อหาข้อยุติแก้ไขปัญหาแรงงานไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากการทำงานที่ ลิเบีย  ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างผิดสัญญา การจ่ายค่าจ้างเงินเดือนไม่ครบและไม่ตรงเวลา การไม่จ่ายค่าล่วงเวลา การเรียกค่าหัวคิวสูง 1.4-1.7 แสนบาทต่อหัว


อดีตส.อบต.ไทยสามัคคี เปิดเผยอีกว่า  วันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ตนในฐานะผู้ประสานแรงงานไทยได้รับหนังสือด่วนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 23 ก.ย.53 แจ้งว่าตามที่ท่านและทางกลุ่มแรงงานไทยที่ไปทำงานประเทศลิเบียได้ยื่น หนังสือกราบเรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขอความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานไทย โดยข้อเรียกร้องมีหลายประการนั้น ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องมายังกระทรวงการคลังพิจารณา ช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ภาคประชาชน  อันเป็นหน่วยงานในสังกัดที่ดูแลรับผิดชอบปัญหาหนี้สินนอกระบบ เพื่อพิจารณาต่อไปแล้ว จึงขอเรียนมาเพื่อทราบ


"เป็นที่น่ายินดีที่ตั้งแต่แรง งานเรียกร้องท่านชัชวาลย์ คงอุดม อดีตส.ว.กทม. คอลัมนิสต์อาวุโสนสพ.สยามรัฐ และนสพ.สยามรัฐ 3-4 เดือน ทำให้แรงงานไทยที่เดือดร้อนจากการทำงานที่ลิเบียได้รับการช่วยเหลือให้เดิน ทางกลับประเทศ และได้รับเงินชดเชยค่าหัวคิวบางส่วน ตอนนี้ทางกระทรวงการคลังยังไฟเขียวให้แรงงานที่มีปัญหาหนี้นอกระบบได้เข้า สู่การกู้ยืมเงินกู้ในระบบตามโครงการของรัฐบาลได้"


ผู้ประสานแรงงานไทยในลิเบีย กล่าวอีกว่า ต่อไปนี้แรงงานคนใดมีหนี้นอกระบบก็สามารถไปแจ้งกับทางอำเภอที่อาศัยอยู่ เพื่อให้ทางอำเภอประสานงานเรียกเจ้าหนี้นอกระบบและแรงงานที่เป็นหนี้มาเจรจา ไกล่เกลี่ยกัน เมื่อตกลงกันได้ทางอำเภอก็จะส่งเรื่องไปให้ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการรัฐบาล  เช่น ธกส.หรือ ธนาคารออมสิน เป็นต้น


นายสนิท กล่าวอีกว่า การเข้าร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลที่ผ่านมีปัญหาคือการที่ลูกหนี้ ไม่มีหลักประกันเงินกู้ ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ ในกรณีของแรงงานไทยก็อาจจะมีปัญหาเช่นกัน ดังนั้นจึงขอเสนอทางออกว่าให้แรงงานที่เป็นหนี้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเช่น 5-10 คน  เพื่อค้ำประกันซึ่งกันและกัน เชื่อว่าสามารถทำได้ เพราะแรงงานมีหนี้สินรายละคงไม่เกิน 1 แสนบาท

(สยามรัฐ, 29-9-2553)

ก.แรงงานหนุนอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87/98 ชี้เตรียมเข้าสู่ ครม.ภายในเดือน ต.ค.นี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรับ หนังสือข้อตกลงร่วมระหว่างสมาพันธ์แรงงานโลก (สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก) ITUCAP สมาพันธ์แรงงานโลก-สำนักงานประจำประเทศไทย ITUC-TC และสมาพันธ์แรงงานโลก GUF  ว่าด้วยการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จากเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานโลก โดยกระทรวงแรงงานพร้อมให้การสนับสนุนและผลักดันอนุสัญญา  ILO  ฉบับที่  87  และ  98  เข้าสู่คณะรัฐมนตรีภายในเดือนตุลาคม 2553 นี้

 (พิมพ์ไทย, 29-9-2553)

สรส.ภูเก็ตยื่นทวงสัญญาการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 ก.ย. ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดภูเก็ต สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สาขาภูเก็ต นำโดยนายโสภณ มิ่งเมือง เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์สาขาภูเก็ต ยื่นหนังสือทวงสัญญาในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 9 8 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีนายตรี อัครเดชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้รับหนังสือ สมาพันธ์แรงงานสัมพันธ์ฯทั่วทั้งประเทศได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีแรงงาน พร้อมกันทั่วทั้งประเทศ

ที่ผ่านมารัฐบาลได้เคยให้คำมั่น สัญญากับผู้ใช้แรงงานว่าจะเร่งดำเนินการเพื่อให้มีการให้สัตยาบันโดยเร็วแต่ จนถึงวันนี้กระบวนการดังกล่าวเป็นไปอย่างล่าช้ามีการประวิงเวลา เพื่อดึงให้กระบวนการการให้สัตยาบันล่าช้าออกไป เช่น พยายามเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายก่อนที่จะให้สัตยาบัน ทั้งๆ ที่ ILO ได้ชี้แจงและให้คำแนะนำอย่างชัดเจนมาก่อนหน้านี้แล้วว่าสามารถให้สัตยาบัน ก่อนแล้ว จึงค่อยปรับแก้กฎหมายภายหลังได้ พฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลในประเด็นดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในส่วนของสมาพันธ์แรง งานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแรงงานไทยในการร่วมรณรงค์เรียกร้อง เพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 มาอย่างต่อเนื่อง จึงขอแสดงจุดยืนร่วมกับขบวนการแรงงานไทยในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้งสองฉบับโดยด่วนที่สุด

ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้อง ประกาศจุดยืนในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้งสองฉบับให้ชัดเจนว่า จะให้สัตยาบันอนุสัญญาฯทั้งสองฉบับก่อนการแก้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งต้องประกาศกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้มีความชัดเจนติดตามตรวจสอบได้ แต่หากยังไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ ออกมาทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จะรวมตัวกันในวันที่ 7 ตุลาคม 2553 นี้ ในการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

(เนชั่นทันข่าว, 30-9-2553)

13 องค์กรแถลงการณ์หนุนจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

30 ก.ย. 2553 - กลุ่มเครือข่ายฟ้ามิตร, เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrant-ANM), เครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG), สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)  ได้การจัดการแถลงข่าวเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่ที่ โรงแรมกานต์มณี พาเลช โดยได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนนโยบายจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่ เรียกร้องรัฐต้องดูแลสิทธิแรงงาน สิทธิสุขภาพแรงงานข้ามชาติและครอบครัวในฐานะมนุษย์อย่างจริงจัง

เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุถึงการสนับ สนุนการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เพราะจะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และจะทำให้แรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆได้มากขึ้น การมีนโยบายระยะยาวในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและคนข้ามชาติโดยให้มีสม ดุลย์ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน มีมาตรการเร่งด่วนที่จะทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ของแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง รวมถึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติ เอ็นจีโอ และองค์กรแรงงานไทย ในกระบวนการจดทะเบียนและการกำหนดนโยบายทุกขั้นตอน

โฆษก ก.แรงงาน ขู่ฟัน ขรก.ทุจริตใช้งบไม่เหมาะสม

ก.แรงงาน 30 ก.ย. - โฆษก ก.แรงงาน ยอมรับงบฯ ประชาสัมพันธ์งานฝีมือแรงงานอาเซียนไม่เหมาะสม เผยพบค่าแต่งเพลงสูงกว่าปกติหลายเท่า ยืนยันดึงเรื่องประมูล รอจัดซื้อวิธีพิเศษ ผิดกฎหมาย ป.ป.ช. พร้อมเรียกร้องข้าราชการใช้งบให้คุ้มค่า ขู่ฟันหากทุจริต ด้านกรรมการจัดซื้อฯ เผยล่าสุดยกเลิกทีโออาร์ฉบับใหม่แล้ว

นายสุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณไม่เหมาะสมในการจัดซื้อจัด จ้างการประชาสัมพันธ์การแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 8 วงเงิน 21.4 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายนนี้ ณ อิมแพค เมืองทองธานี จนมีการร้องเรียน และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งให้มีการประมูลใหม่ ว่า จากการที่ได้ตรวจสอบร่างทีโออาร์ฉบับใหม่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยอมรับว่า การใช้เงินในบางจุดยังไม่เหมาะสมจริง เช่น งบประมาณค่าผลิตเพลง 2 เพลง วงเงิน 680,000 บาท ซึ่งสูงกว่าการผลิตเพลงทั่วไปหลายเท่า จากปกติที่นักแต่งเพลงทั่วไปรับแต่งเพลงละ 50,000 บาท ขณะที่ระดับแถวหน้าของเมืองไทย อาทิ สุรสีห์ อิทธิกุล คิดค่าแต่งเพลงรวมคำร้องและทำนอง สูงสุดไม่เกินเพลงละ 100,000 บาทเท่านั้น รวมถึงการจัดทำป้ายบิลบอร์ด วงเงินสูงถึง 4.1 ล้านบาท ก็มีความน่าสงสัย อย่างไรก็ตาม จะต้องรอดูรายละเอียดของการประมูลอีกครั้ง เพราะเป็นราคาเฉลี่ยทุกรายการ

นายสุธรรม กล่าวอีกว่า ส่วนข้อสังเกตที่ว่ามีการดึงเวลา เพื่อให้ประมูลไม่ทัน จนอาจต้องใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งเปรียบเสมือนการล็อกสเปกนั้น เรื่องดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยชี้มูลความผิดในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องมีเวลาในการเตรียมจัดประมูลเป็นเวลานานนับปี ตั้งแต่รู้ว่าไทยจะเป็นเจ้าภาพเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หากยังทำได้ ต่อไปทุกหน่วยราชการ เวลาจะจัดซื้อจัดจ้างก็จะเก็บเรื่องไว้จนใกล้ถึงเวลา พอไม่ทันก็ใช้วิธีพิเศษ โดยอ้างว่าอาจสร้างความเสียหายให้ทางราชการ และสามารถเลือกบริษัทได้ตามใจชอบ ซึ่งหากมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ผู้อนุมัติก็จะต้องรับผิดชอบไปชี้แจงหรือต่อสู้ในชั้น ป.ป.ช.ด้วย

นายสุธรรม กล่าวอีกว่า อยากเรียกร้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะข้าราชการที่มีส่วนรับผิดชอบ ให้ใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์อย่างมีคุณค่า เพราะการแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ และไม่อยากให้เกิดความเสียหายเหมือนการแข่งขันฝีมือแรงงานโลก ที่ประเทศแคนาดา เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งข่าวการทุจริต งบประมาณได้รับความสนใจกว่าความสำเร็จจากการแข่งขันที่เยาวชนไทยสามารถคว้า รางวัลได้ถึง 2 เหรียญทอง ทั้งนี้ หากตรวจพบว่ามีการทุจริต ก็จะต้องถูกดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ให้นโยบายไว้ชัดเจนแล้ว

ด้านนายประวิทย์ เคียงผล รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในฐานะคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฯ ยืนยันว่า ล่าสุดคณะกรรมการฯ ได้สั่งยกเลิกทีโออาร์ฉบับดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของการระบุชื่อนักร้อง หรือค่าแต่งเพลงที่สูงถึง 680,000 บาท และกำลังจัดทำฉบับใหม่ เพื่อเสนออธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานพิจารณา ส่วนค่าจ้างการจัดทำบิลบอร์ดสูงกว่า 4.1 ล้านบาทนั้น ก็ได้มาจากการสำรวจราคากลาง พร้อมยืนยันว่า การจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาล็อกสเปก แต่หวังดีอยากได้นักร้องชั้นนำมาเปิดงาน และเชื่อว่าจะสามารถจัดทำโครงการให้แล้วเสร็จ โดยไม่ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษแต่อย่างใด

(สำนักข่าวไทย, 30-9-2553)

พนักงานกรมจัดหางานร้องทุกข์ ถูกเลิกจ้างกระทันหัน

นางสาวอุษา ผลนา อายุ 30 ปี พนักงานราชการ ตำแหน่งเจ้าพนักงานแรงงาน กรมการจัดหางาน เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชนประจำกระทรวงแรงงานว่า ถูกกรมการจัดหางาน ประกาศเลิกจ้างพร้อมกับ พนักงานราชการในสังกัดเดียวกันรวม 50 คน สาเหตุเพราะมีการปรับลดอัตรากำลังพนักงานราชการ ตามที่ ก.พ.กำหนด โดยให้มีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ( 1 ต.ค. 53 )

นางสาวอุษา ระบุว่าการเลิกจ้างดังกล่าวไม่มีการบอกล่วงหน้าให้พนักงานได้เตรียมตัวมา ก่อน ทำให้รู้สึกตกใจ และรับไม่ได้กับเรื่องที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมามีการประเมินผลพนักงานประจำปีทั้งในช่วงเดือน ตุลาคม หรือ เมษายน ทุกคนก็ผ่านเกณท์การประเมิน ได้คะแนนสูงกว่าร้อยละ 90 จึงไม่มีใครรู้ตัว กระทั่งกองการเจ้าหน้าที่ กรมการจัดหางาน ได้มีหนังสือคำสั่ง ที่ รง 0310/17936 ลงวันที่ 29 กันยายน แจ้งให้พนักงานทราบในวันนี้ และบอกให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างไปลงทะเบียนคนหางานที่ ศูนย์จัดหางาน (อี - จ็อบเซ็นเตอร์) เพื่อรอการคัดเลือกเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับ ไปนอกราชอาณาจักร ร่วมกับคนหางานอื่นๆ ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการคัดเลือกหรือไม่ และเมื่อไหร่ จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องหาทางช่วยเหลือพวกตนด้วย

ที่ผ่านมาตนเคยเป็นลูกจ้างชั่วคราว ของกรมการจัดหางาน โดยได้รับสัญญจ้างปีต่อปีมาตั้งแต่ปี 2547 กระทั่งปี 2552 สามารถสอบบรรจุเป็นพนักงานราชการได้ จึงดีใจมาก เพราะคิดว่าจะมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสัญญาจ้าง 4 ปีครั้ง และได้รับการพิจารณาเงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปี เหมือนพนักงานราชการสังกัดอื่น แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงถูกเลิกจ้างในวันนี้ทั้งที่สัญญาจ้างยังไม่หมดอายุ ที่สำคัญตอนเปิดสอบคัดเลือก ก.พ.ไม่ได้ระบุว่าหน่วยงานมีอัตรากำลังมากน้อยเพียงใด แต่พอจะเลิกจ้างกลับอ้างเหตุผลเรื่องอัตรากำลังทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของ พนักงาน เชื่อว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป คงไม่มีใครอยากมาทำงานเป็นพนักงานราชการอีก เพราะไม่รู้ว่าจะถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ และยังเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ ซึ่งหากเป็นภาคเอกชน การเลิกจ้างลักษณะนี้ต้องจ่ายเงินชดเชย รวมถึงค่าบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย

(เนชั่นทันข่าว, 1-10-2553)

ก.แรงงาน ยันไม่ทิ้ง 50 พนักงาน

ก.แรงงาน 1 ต.ค.- นายสุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่พนักงานราชการสังกัดกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ออกมาร้องทุกข์ว่าถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหัน พร้อมกัน 50 คน โดยต้นสังกัดอ้างสาเหตุการปรับลดอัตรากำลังพนักงานราชการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนด ให้มีผลตั้งแต่วันนี้ว่า กระทรวงแรงงานกำลังอยู่ในระหว่างหาทางช่วยเหลือพนักงานเหล่านี้ โดยทำเรื่องอุทธรณ์ไปยัง ก.พ. แล้ว เนื่องจากคำสั่ง ก.พ.ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในการทำงาน ระหว่างรอคำสั่งอุทธรณ์ จะเยียวยาโดยให้มาเป็นลูกจ้างชั่วคราวของกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับไป นอกราชอาณาจักร ภายใน 1 เดือนนี้ ยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งพนักงาน พร้อมยอมรับว่าที่ผ่านมาระดับเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจให้ พนักงานรู้ตัวมาก่อน อย่างไรก็ตาม ขอฝากไปถึงผู้บริหารก.พ. ให้ทำความเข้าใจกับจุดยืนของตัวเอง ให้ชัดเจนก่อนจะกำหนดกรอบให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก.พ. สร้างแต่ปัญหา เช่น กรณีของกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งขาดแคลนอัตรากำลังแต่กลับไม่ยอมบรรจุพนักงาน ซึ่งไม่ทำให้ขวัญและกำลังใจของข้าราชการหรือพนักงานราชการดีขึ้น

(สำนักข่าวไทย, 1-10-2553)

ตร.ลำปางพร้อมให้ข้อมูลคดีขนแรงงานไปสหรัฐอเมริกา

นายสุวรรณ กล่าวสุนทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า จากรณีหน่วยงานการสืบสวนสอบสวนกลาง ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ FBI ได้จับกุมขนแรงงานไทย ไปทำงานในสหรัฐอเมริกากว่า 400 คน ซึ่งดำเนินการในนามของบริษัทจัดหางาน โกบอลออร์ไซลอน แมนเพาเวอร์ ในนครลอสแอนเจลิส โดยในการจับกุมก็ได้เชื่อมโยงกับนายหน้าจัดหางานในประะเทศไทย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ ตำรวจจับกุมไว้แล้วคือ นางพจนีย์ สินไชย หรือเจ๊แมว อายุ 55 ปี เป็น ชาว จ.ลำปาง เป็นนายหน้าจัดหางานชื่อดัง ของทางภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งขณะนี้ถูกดำเนินคดีในหลายพื้นที่ของ สถานีตำรวจภูธรของ จ.ลำปาง หลังจากถูกหมายจับในข้อหาจัดหางานคนงานไปต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาต ด้าน

ด้าน พล.ต.ต.อรรถกิจ กรณ์ทอง ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ลำปาง เปิดเผยว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหากับทางการสหรัฐอเมริกา หากทาง FBI มีการร้องขอ และต้องการข้อมูลทางประเทศไทย ก็สามารถจัดส่งให้ได้ทันที ซึ่งเรื่องนี้ถือว่า เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ซึ่งจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ให้เกิดความเป็นธรรม โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายของไทยก่อน

(ไอเอ็นเอ็น, 1-10-2553)

กยศ.ปรับนโยบายเงินกู้เน้นส่งเสริมอาชีวะ-วิชาชีพขาดแคลน

กรุงเทพฯ 1 ต.ค. - รศ.นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงนโยบายการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในปีงบประมาณ 2554 ว่า จะพิจารณาจัดสรรเงินกู้เพื่อการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะจะเพิ่มการสนับสนุนในสาขาวิชาที่ขาดแคลน เช่น วิทยาศาสตร์ วิศวกร แพทย์ และเน้นสายอาชีพหรืออาชีวศึกษามากกว่าสายสามัญ โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นสายอาชีวศึกษาร้อยละ 50 กับสายสามัญร้อยละ 50  แต่ยืนยันจะไม่มีการลดการจัดสรรเงินกู้ในสายสามัญ ทั้งนี้ จะมีงบประมาณจัดสรรเพื่อการกู้ยืม 37,000 ล้านบาท ในปี 2554 มีผู้กู้เพิ่มขึ้นจาก 830,000 คนในปีก่อน เป็น 900,000 คนในปีนี้ ขณะที่มีผู้กู้ค้างชำระหนี้สินประมาณ 500,000 คน จาก 2.4 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 25 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงทุกปี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าสถาบันการศึกษาบางแห่งปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการให้ กู้ยืม โดยใช้กองทุนในการชักชวนนักเรียนมาให้เข้ามาเรียน ซึ่งเป็นการใช้กองทุนไปในทางที่ไม่เหมาะสม จึงขอความร่วมมือสถานศึกษาไม่ดำเนินวิธีการดังกล่าว โดยจะยังไม่มีการขึ้นบัญชีดำแต่อย่างใด และยืนยันว่ากองทุนจะไม่มีการขึ้นบัญชีดำผู้กู้รวมทั้งจะไม่มีการส่งข้อมูล เครดิตให้กับสถาบันการเงินแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา

(สำนักข่าวไทย, 1-10-2553)

รวบนายหน้าสาวใหญ่ตุ๋นคนงานไปเกาหลี

พ.ต.ท.ภูมิ ทองโพธิ์ สารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวน 1 สนง.ตำรวจภูธรภาค 3 ( สว.กก.สส. 1 ) พร้อมด้วย พ.ต.ท.อดิศร สุวรรณรักษ์ สว.กก.สส.1 และกำลัง จนท.ชุดจับกุม ได้ควบคุมตัว นางสายสมร สุทธิไชยา อายุ 55 ปี อยู่อ.หนองเรือ ขอนแก่น นายหน้าหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ

พฤติการณ์ของคดีว่า หลังจากได้รับการแจ้งความร้องทุกข์จากประชาชน ในเขตพื้นที่หลายจังหวัดในภาคอีสาน ว่ามีบุคคลแอบอ้างสามารถจัดส่งคนไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ และได้จัดส่งไปหลายรายแล้ว มีตำแหน่งว่างงานส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งงานในสวนเกษตร มีอัตราเงินเดือนละ 3 หมื่นบาท ไม่รวมค่าล่วงเวลา ผู้ที่ต้องการจะไปทำงานต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 120,000 บาท โดยต้องจ่ายค่าล่วงหน้า คนละ 15,000 - 30,000 บาท จากนั้นก็ได้ถูกส่งไปที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยกลุ่มผู้ต้องหาบอกว่าเมื่อไปถึงจะมีคนมารับที่สนามบิน แต่เมื่อไปถึงกลับไม่มีผู้มารับ

ทั้งนี้ผู้ถูกหลอกลวงดังกล่าวไม่ สามารถเข้าประเทศเกาหลีใต้ได้ในฐานะคนทำงาน อีกทั้งไม่สามารถเข้าประเทศได้ในฐานะนักท่องเที่ยวได้ เนื่องจากตรวจสอบแล้วไม่มีสถานะทางการเงินเพียงพอที่จะเป็นนักท่องเที่ยวได้ เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการสืบสวนสอบสวนจนกระทั่งทราบว่านางสายสมร มีพฤติกรรมหลอกลวงผู้อื่น โดยก่อเหตุมาแล้วหลายครั้ง ต่อมาได้จับกุมที่บริเวณริมถนนหน้าตลาดสดเทศบาลตำบลห้วยแถลง อ.ห้วยแถลง นครราชสีมา ในช่วงเช้าวันที่ 2 ต.ค. โดยนางสายสมร ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับ สารภาพว่าตนเคยไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้มาแล้ว จึงรู้ช่องทางและขั้นตอนการเข้าประเทศ จึงเป็นช่องทางในการหาเงินของตนเอง ทั้งนี้ตำรวจทราบว่ายังมีผู้ร่วมขบวนการกับผู้ต้องหาอีกหลายคน ซึ่งตำรวจกำลังติดตามจับกุมตัวอยู่

(เนชั่นทันข่าว, 2-10-2553)

จับขบวนการขนแรงงานต่างด้าว เหิมพุ่งชนรถจนท.แต่ไปไม่รอดขับรถชนกันเอง

เมื่อเวลา 05.30 น.วันนี้( 2 ต.ค.53) ร.อ.สุรศักดิ์ พึ่งแย้ม ผบ.ร้อย.ร.2521 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 (ฉก.ร.25) กองกำลังเทพสตรี ที่รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนจังหวัดระนอง-ชุมพร พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ทหารกำลังออกกลาดตระเวณบนถนนลูกรังบริเวณรอยต่อ จังหวัดระนองกับจังหวัดชุมพร ที่บ้านปากจั่น ตำบลปากจั่น อ.กระบุรี จ.ระนอง พบรถกระบะจำนวน 3 คันวิ่งตามกันมา จึงส่งสัญญาณให้จอด แต่คนขับรถคันแรกกลับขับรถพุ่งชนรถเจ้าหน้าที่จนเสียหลักตกข้างทาง รถได้รับความเสียหาย จากนั้นคนร้ายได้ถอยรถแต่กลับไปชนกันเองทั้ง 3 คันแต่ยังสามารถขับหลบหนีไปได้
      
จนกระทั่งเมื่อเจ้าหน้าที่สามารถนำรถขึ้นมาได้จึงไล่ตามรถคนร้าย ปรากฏว่ารถคนร้าย 2 คัน คือ รถยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ตอนครึ่งสีดำทะเบียน ตว-2649 กทม.และรถยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้ตอนครึ่งสีบรอนทอง ทะเบียน บน-5325 ชุมพร เสียหลักตกอยู่ข้างทาง ห่างออกไปเกือบประมาณ 50 เมตรพบรถยี่ห้ออีซูซุรุ่นดีแม็กซ์ สีดำแบบสี่ประตู ทะเบียน กฉ-8798 สุราษฎร์ธานี เสียหลักตกอยู่ใต้สะพานในสภาพพังยับเกือบทั้งคัน ตรวจค้นรถทั้ง 3 คัน ไม่พบใคร เจ้าหน้าที่จึงกระจายกำลังกันออกค้นหา จนสามารถควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่แอบซ่อนอยู่ตามใต้ต้นไม้ใกล้กับ จุดเกิดเหตุจำนวน 30 คน เป็นชาย 24 คน ผู้หญิง 4 คน และเด็ก 2 คน โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ส่วนคนขับสามารถวิ่งหลบหนีไปได้ จึงควบคุมตัวพร้อมรถของกลางไปยังฐานปฏิบัติการร้อย ร. 2521 วัดมัชฌิมเจริญธรรมหรือวัดป่าช้า ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง
      
ทั้งนี้ การสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า ทั้งหมดกำลังเดินทางกลับจากทำงานที่ กรุงเทพฯ,เพชรบุรี,ชุมพรและประเทศมาเลเซีย เพื่อไปจังหวัดเกาะสอง ประเทศพม่า เพื่อไปทำบุญ เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาอยู่ในราช อาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และส่งด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง ดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนรถยนต์ทั้ง 3 คัน เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของเพื่อจะได้นำตัวคนขับมาดำเนินคดี ตามกฎหมายต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-10-2553)

เหยื่อแรงงานเฮในลิเบีย! ล็อตท้าย 26 ชีวิต รอดพ้นขุมนรก บินกลับบ้านเกิด

หลังจากแรงงานไทยที่ไปตกระกำลำบากใน ประเทศลิเบียกว่า 200 ชีวิต ได้ดิ้นรนหนีความทุกข์ยาก โดยร้องเรียนให้"นสพ.สยามรัฐ"เป็นสื่อกลางช่วยเหลือให้ได้กลับบ้านเกิดเมือง นอน และแล้วนับจากวันแรกที่ร้องทุกข์มาจนถึงวันนี้ รวมทั้งสิ้น 122 วันเต็มๆ ความพยายามของพวกเขาก็ประสบผลสำเร็จ


ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ต.ค.53 นายสนิท บุญทวี อดีตส.อบต.ไทยสามัคคี อ.หนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ผู้ประสานงานแรงงานไทยในลิเบีย เปิดเผยว่า วันนี้แรงงานไทยล็อตสุดท้ายจำนวน 26 ชีวิต ได้ขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว โดยจะถึงในวันที่ 3 ต.ค.นี้ หลังจากแรงงาน 190 ชีวิต ได้รับการช่วยเหลือให้ทยอยเดินทางกลับมาบ้านเกิดมาก่อนหน้านั้น


"ตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย.53 ที่คอลัมน์ "ชัช เตาปูน ตอบจดมาย" ได้ตีพิมพ์จดหมายร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือของ นางอนามัย นุวงศ์ ภรรยา นายวัชรพงษ์ สุขกมลกุล แรงงานไทย ที่ไปทำงานประเทศลิเบีย เพื่อขอให้ช่วยเหลือในการเดินทางกลับประเทศไทย พร้อมกับแรงงานอื่นเกือบ 200 ชีวิต ซึ่งบริษัท จัดหางานเงินและทอง จำกัด ส่งไปทำงานก่อสร้างกับบริษัทนายจ้างARSEL BENA WA TASEED JOINT VENTURE เพราะนายจ้างผิดสัญญา จ่ายเงินเดือนไม่ครบและไม่ตรงเวลา ค่าทำงานล่วงเวลาก็ไม่ได้ อีกทั้งสวัสดิการเรื่องอาหารการกินก็เป็นไปอย่างแร้นแค้น


ต่อมาปลายเดือนมิ.ย.53 รายการ"คนไท ขอถาม" ที่อดีตส.ว.กทม. ชัชวาลย์ คงอุดม คอลัมนิสต์อาวุโสของนสพ.สยามรัฐ เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้นำเสนอความเดือนร้อนของแรงงานกลุ่มนี้อีก หลังจากนั้นวันที่ 19 ส.ค.53 ตัวแทนแรงงานอีก 19 คน ได้เดินทางมาร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือจากกองบก.สยามรัฐ และวันที่ 7 ก.ย.53 แรงงานไทยและครอบครัวเกือบ 100 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ที่ทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา ก็ได้มีการทยอยส่งแรงงานไทยกลุ่มนี้กลับเรื่อยๆ ครั้งละ 10-20 คน จนมาถึงวันนี้ได้กลับมาหมดครบ 216 คนแล้ว ซึ่งทางแรงงานไทยต้องขอขอบคุณ นายชัชวาลย์ คงอุดม และทีมงานนสพ.สยามรัฐเป็นอย่างยิ่ง


ผู้ประสานงานแรงงานไทย กล่าวอีกว่า แรงงานกว่า 200 ชีวิต ที่เดือดร้อนและได้รับการช่วยเหลือให้เดินทางกลับ เป็นเฉพาะของไซต์งานหรือแคมป์ของบริษัท ARSEL นี้เท่านั้น ส่วนไซต์งานอื่นที่แรงงานไทยไปตกกระกำลำบากอีกไม่รู้กี่ร้อยกี่พันชีวิตที่ ต้องการกลับแต่พวกเขาไม่สามารถติดต่อร้องทุกข์กับใครได้ก็ยังมีอยู่อีก ดังนั้นขอให้ทางราชการไทยอย่านิ่งดูดาย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ต้องสอดส่องดูแลสารทุกข์สุกดิบของแรงงานไทยในลิเบียด้วย

(สยามรัฐ, 3-10-2553)

แรงงานไทยในสวีเดนยืนยันยังไม่กลับ

หลังช่อง 7 สี นำเสนอข่าว แรงงานไทย 156 คน ถูกนายหน้าเถื่อนคนไทย หลอกไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน

ล่าสุด ทั้งหมดยังคงปักหลักอยู่ในแคมป์ที่พัก เมืองกัวเซล่า เพื่อรอรับค่าจ้างที่ยังไม่ได้ กว่า 1,700,000 โครน หรือประมาณ 7,600,000 บาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไร้เงานายจ้างชาวฟินแลนด์ ทั้งๆ ที่พรุ่งนี้เป็นกำหนดที่ทุกคนจะต้องเดินทางกลับประเทศไทย

แต่แรงงาน ยืนยันยังไม่กลับประเทศจนกว่าจะได้ค่าจ้างที่เหลือ เพราะได้เสียค่าหัวให้กับนายหน้า ไปคนละ 85,000 บาท ซึ่งตอนนี้หลายคนไม่มีเงินติดตัว ถ้ากลับตอนนี้ ไม่มีเงินไปใช้หนี้

ส่วนความช่วยเหลือ สถานฑูตไทยนำอาหารมาให้เท่านั้น จึงวอนผู้เกี่ยวข้องช่วยตามเงินค่าแรงให้ด้วย

(ช่อง 7, 3-10-2553)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท