Skip to main content
sharethis

สมบัติ บุญงามอนงค์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างฐานมวลชนผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งเขาเชื่อว่าไม่มีใครหยุดยั้งหรือปิดกั้นได้ และเฟซบุ๊กในประเทศไทยคือพื้นที่ต่อสู้ออนไลน์ที่ดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งโลก

 

 

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ สื่อทางเลือกหรือ นิวมีเดียมีรูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย

ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป



 สมบัติ บุญงามอนงค์: เฟซบุ๊กจะเติบโต กลืนกินเว็บบอร์ดและบล็อก

เมื่อจรดใบมีดลงบนร่างของนกเพื่อค้นหาชีวิตของมัน วิญญาณของนกก็หลุดลอยออกจากร่างเสียแล้ว..การ “เป็นอยู่” กับการ “เข้าใจ” บางครั้งก็ไม่อาจแยกออกจากกันได้โดยสิ้นเชิง

สมบัติ บุญงามอนงค์ อาจจะเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งสำหรับคำเปรียบเปรยนี้ เขาเป็นบุคคลที่บอกเล่าพลังของสื่อออนไลน์ได้ทรงพลังที่สุดคนหนึ่ง โดยผ่านการปฏิบัติของเขาเอง เป็นคำอธิบายที่ไม่ซับซ้อนสับสนจากประสบการณ์ของเขาเอง และแน่นอนว่าเป็นคำอธิบายที่แฝงน้ำเสียงเชื่อมั่นอย่างหนักแน่น

เฟซบุ๊กคือคำตอบ

สมบัติ บุญงามอนงค์ ในอีกชื่อหนึ่งที่เป็นที่รู้จักว่า บ.ก.ลายจุด ใช้เวลาหลังเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนขยับพลังแห่งความเศร้าโศกของกลุ่มทาง การเมืองที่เรียกว่า “คนเสื้อแดง” ให้กลายเป็นพลังแห่งการยืนยันสิทธิทางการเมืองและสิทธิความเป็นมนุษย์ รวมถึงสิทธิที่จะทวงถามและจดจำ อันเป็นสิ่งที่เกือบจะปลาสนาการไปพร้อมๆ กับการสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคมเลือดที่ผ่านมา กระทั่งก่อเกิดกิจกรรม "วันอาทิตย์สีแดง" นำมาซึ่งการรวมตัวกันแสดงออกของคนเสื้อแดงทุกๆ วันอาทิตย์ ผ่านกิจกรรมที่มีท่าทียั่วล้อ หยอกเอิน กวนประสาทต่อผู้ถืออำนาจรัฐเป็นยิ่งนัก เช่น การผูกผ้าแดง การปล่อยลูกโป่ง การแต่งชุดนักเรียนวิ่งรอบสวนสันติภาพ รวมตัวเต้นแอโรบิกที่สวนลุมพินีั และแม้แต่การขี่จักรยานที่อยุธยาเมื่อวานนี้ เป็นอาทิ

สมบัติพบว่ากลุ่มคนในเครือข่ายออนไลน์ของเขามีตั้งแต่อายุ 12-70 กว่าปี แต่ส่วนใหญ่คือคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ คนชั้นกลาง

“มีคนทุกอายุเลย ผมชอบเฟซบุ๊กเพราะมันทำให้ผมสามารถมีตลาดกับคนทุกอายุได้ ไม่ใช่ผมกับเขาเท่านั้นนะ เขาก็มีอิทธิพลกับผมได้เช่นกัน เพราะผมอ่านเขาใช่ไหม แลกเปลี่ยนกัน ผมมีเพื่อนอายุ 12 เท่ากับลูกสาวผม เลยจับคู่ให้เขาคุยกัน เด็กมัธยมก็พอมี เด็กมหาวิทยาลัยเยอะหน่อย พวก 25-35 พวก นี้เป็นฐานใหญ่ ซึ่งผมพึงพอใจมากนะ เพราะฐานนี้เป็นคนที่จะมาทดแทน เป็นคนที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคต แล้วเขาแอคทีฟมาก ที่สูงอายุเลยก็มี 50-70 กว่า”

และเหตุที่เขาต้องหันมาใช้เฟซบุ๊กก็เพราะว่า เซิร์ฟเวอร์หลักของเขาถูก “ถอดปลั๊ก” ในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเข้มข้นนั่นเอง ทำให้รายชื่อเครือข่ายที่เขาติดต่อส่งข้อมูลข่าวสารอยู่หายวับไปกับตา เฟซบุ๊กกลายมาเป็นทางเลือกใหม่ ซึ่งตัวเลขของเพื่อนที่ add เข้ามาก็พุ่งขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง

“ช่วงชุมนุมไง ตอนแรกๆ มีอยู่พันกว่า หลังจากนั้น ที่เข้ามาก็เป็นแดงหมดเลย ขึ้นวันละร้อย เพราะผมจะไม่ใช่แค่ก็อปปี้ข่าว แต่จะวิเคราะห์ มีข้อเสนอ มันจะต่างกับเฟซบุ๊กคนอื่นที่ส่วนใหญ่จะเป็นการก็อปปี้ข่าวมาวาง แล้วก็มาด่า บ่น ระบาย” สมบัติตอบเราเมือถามถึงช่วงพีคสุดของจำนวนคนที่แอดเข้ามา ซึ่งขณะนี้เฟซบุ๊กในชื่อของเขานั้น เต็มพิกัดที่เฟซบุ๊กกำหนดได้แล้ว คือราวๆ ห้าพันคน

สมบัติบอกถึงสาเหตุที่จึงสนใจใช้เฟซบุ๊คเป็นเวทีในการสื่อสารและการเคลื่อนไหวว่า วิถีทางของเฟซบุ๊กคือคำตอบของอนาคต

“ผมไม่ได้สนใจเชิงปริมาณเท่าไหร่ แต่สนใจในรูปแบบหรือวิถีทางของเฟซบุ๊ค คือมันเป็นพื้นที่กึ่งส่วนตัว กึ่ง สาธารณะ มันสามารถสร้างความเป็นเฉพาะกลุ่มและยังสามารถดำรงความเป็นตัวของตัวเองได้ ขณะเดียวกันวันที่คุณอยากให้มันเป็นสาธารณะเมื่อมันมีศักยภาพมันจะแสดงความ เป็นสาธารณะได้ วิถีทางของเฟซบุ๊คนี้เอง...ในฐานะคนเล่นอินเทอร์เน็ตมานานมากและสนใจเรื่องพวกนี้มาก พอได้มาใช้ ผมรู้เลยว่านี่มันสอดคล้องกับวิธีของผมมากเลย ในฐานะองค์กรที่ต้องการสื่อสารความเป็นสาธารณะ และปลดปล่อยความเป็นปัจเจก”

ในฐานะคนทำงานที่ต้องใช้อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสื่อสารมานานเป็นสิบปี กระทั่งชื่อ ‘บ.ก.ลายจุด’ นี้ ก็เป็นชื่อที่ได้มาจากการดูแลเว็บไซต์บ้านนอกดอทคอม และยังใช้มันในการสื่อสารทางการเมืองตามเว็บบอร์ดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเว็บบอร์ดราชดำเนิน ในเว็บไซต์พันทิป เขาบอกว่า เว็บบอร์ดนั้นมีข้อจำกัดประการสำคัญคือนำเสนอบุคลิกของคนใช้ได้ทีละด้านเท่า นั้น ขณะที่เฟซบุ๊กเปิดโอกาสให้แสดงตัวตนได้ “กลม” กว่า

“เว็บบอร์ดมันไม่อนุญาตให้คนคุยเล่น คือคนอ่าน "บก.ลายจุด" ในราชดำเนิน เขาคิดว่าผมเป็นคนนิ่งๆ ไม่มีอารมณ์ ตายด้าน จริงๆ แล้ว ผมเป็นคนตลก มีแง่มุมที่ขำๆ แต่ผมไม่สามารถเขียนแบบนั้นในห้องการเมืองได้ เวลาเขาโต้กันแรงๆ เพราะ มันต้องเป็นการโต้กัน มันก็ไม่ขำ แต่ว่านี่ (เฟซบุ๊ก) มันเป็นพื้นที่ส่วนตัวผม ผมอยากจะเล่าเรื่องขำๆ ของผม แล้วบางที ผมต้องการเขียนให้คนนี้อ่านนะ กลุ่มนี้อ่าน เรื่องบางเรื่องผมก็จะเขียนให้ลูกน้องที่ทำงานอ่าน คือมันรู้เลยว่าใครเป็นคนอ่าน เขียนเสร็จแล้ว เรารู้เลยว่าข้อความนี้กำลังจะบอกใคร แต่ไม่ได้บอกนะว่าเขียนถึงใคร ไม่ได้ใส่ชื่อ หรือเข้าไปในวอลล์เขาแล้วไปเขียน”

“คือมันมีความเป็นมนุษย์มากกว่า มันให้เรามีอารมณ์ได้ด้วย เรามีคำว่า "แม่ง" "กรู" ซึ่งปกติผมจะไม่เขียนในเว็บบอร์ด มันมีความรู้สึกเหมือนเขียนอยู่คนเดียว บางอารมณ์ ใหม่ๆ ผมเหมือนเขียนงานคนเดียว แต่จริงๆ ไม่ใช่ มันมีคนอ่าน แต่บางทีผมก็เขียนเหมือนประหนึ่งว่าคุยกับตัวเอง เป็นการถอดบทเรียน เก็บเกี่ยวความคิด ตกผลึกความคิดของเราในนาทีนั้น”

จากการใช้งานเฟซบุ๊กในการเชื่อโยงเครือข่ายและประชาสัมพันธ์ข่าวสารกิจกรรมวัน อาทิตย์สีแดง เขาเชื่อว่า เฟซบุ๊กจะเติบโตต่อไปอย่างไม่อาจจะปิดกั้นได้

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง สมบัติใช้เฟซบุ๊กประกาศทวงถามพื้นที่ร่ำไห้แสดงความเสียใจของคนเสื้อแดงใน ช่วงแรกๆ ท่ามกลางบรรยากาศเรียกร้องรอยยิ้มคืนสู่ประเทศไทยในสื่อกระแสหลัก แต่จากนั้นเครือข่ายของเขากว้างขวางขึ้น และพัฒนามาสู่กิจกรรมการแสดงออกทุกๆ วันอาทิตย์ ที่รู้จักกันในชื่อ “วันอาทิตย์สีแดง รวมถึงแคมเปญที่มี่ชื่อออกจะขี้เล่น คือการสร้าง “แกนนอน” แต่ดูเหมือนผลที่ได้จะเป็นจริงเป็นจัง

ยิ่งเมื่อครบรอบ 4 เดือนแห่งการสลายการชุมนุมมาถึง บรรดาคนเสื้อแดงที่ปราศจากแกนนำมารวมตัวกันที่แยกราชประสงค์ถึงหลักหมื่นคน ด้วยกิจกรรมที่ไม่ต้องมีแกนนำเป็นผู้บอกกล่าว และสร้างผลงานที่น่าทึ่งอย่าง “ใยแมงมุม” ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของข่ายใยของประชาชนที่ก่อตัวขึ้นอย่างกว้างขวาง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรวมตัวอันยิ่งใหญ่และน่าตกใจของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา สมบัติมีส่วนอย่างยิ่ง เมื่อผู้ร่วมชุมนุมใช้ “โมเดล” ที่เขานำเสนอทั้งในทางเทคนิค เช่น การนอนตาย การจุดเทียน การตะโกน “ที่นี่มีคนตาย” ฯลฯ และโมเดลทางจิตสำนึก ผ่านการตะโกน “กูมาเอง” กระทั่งสมบัติได้พบว่าตัวเขาเองไม่สามารถผลักดันให้ผู้ชุมนุมกลับบ้านได้ และยอมรับว่า “เอาไม่อยู่” พร้อมบอกกับสื่อว่าจะไม่มาจัดกิจกรรมที่ราชประสงค์อีกหลายเดือน และหากจะรวมตัวใหญ่อีกครั้ง คงต้องหันไปหาสนามกีฬาแทน

“เฟซบุ๊กจะเติบโต ขยายเป็นสาธารณะแน่นอน มันกลืนพวกบอร์ด พวกบล็อกหมด มันจะเหลือน้อยมาก มันจะไปอยู่ในเฟซบุ๊ก มัน จะทำให้เกิดการสนทนา เกิดการปะปนกันมากขึ้น มันทำให้คนได้ปะปนกัน คนบางคนถ้าเล่นเว็บบอร์ดจะไม่เล่นข้ามฟิลด์ แต่ความเป็นเฟซบุ๊ก จะทำให้เกิดการข้ามฟิลด์ของกรอบประเด็น จะทำให้เรื่องต่างๆ ไหลไปได้ไกลมาก มันถูกส่งต่อไปได้ไกลมาก และสามารถสืบเชื่อมโยงไปที่แหล่งของมันได้ มันจะเกิดการเชื่อมหาแหล่ง มันเป็นการพาดเครือข่ายซ้อนไปซ้อนมาหลายๆ ชั้นอย่างสลับซับซ้อน เป็นเครือข่ายทางสังคม มันจะมีบทบาทมาก

“การปิดเฟซบุ๊กจะมีด้วยเหตุผลเดียวคือเอาไม่อยู่แล้ว แต่อันตรายมาก เพราะมันจะไม่ถูกปิดง่ายๆ จะถูกบล็อคเป็นคนๆ เพราะ คนส่วนใหญ่ที่เล่นเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาล ดังนั้นเขาจะไม่ปิดยูอาร์แอล แต่จะบล็อคเป็นรายๆ ไป แต่การบล็อคเป็นรายๆ ไม่มีปัญหา เพราะเฟซบุ๊กเกิดขึ้นใหม่ได้เสมอ และสามารถทำระบบปิดได้ด้วย ปิดชื่อ กว่าคุณจะรู้ว่ามันมีตัวใหม่มาแล้ว อาจจะใช้เวลานาน และเขาอาจจะพรางตัวคุณ จนไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร”

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กก็เปิดให้กับการละเมิดความแตกต่างทางความเห็นค่อนข้างรุนแรง

“เป็นธรรมดาของคนที่มันไม่เคย มันก็เลยเกิดการปะทะ กว่าที่มันจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ มันจะเกินเลยไปแบบนี้สักพัก มันจะป่าเถื่อน เหมือนสมัยก่อนมันยังไม่มีกฏหมาย มันก็ใช้ความป่าเถื่อน ใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพงแล้วก็ตะโกนด่ากัน เขวี้ยงหินข้ามกำแพง กว่าจะเกิดอารยธรรมในเฟซบุ๊ก อาจจะใช้เวลา แต่ยุคนี้เป็นยุคป่าเถื่อน ยุคมืด”

“เพิ่งออกจากคุก เพิ่งรู้จักเสรีภาพ เพิ่งได้เป็นผู้กระทำ ความสุขของการเป็นผู้กระทำหรือเป็นผู้มีอำนาจ เป็นความสุขแบบหนึ่ง เหมือนคุณมีโอกาสได้ลั่นปืนใส่ใครตายสักคนหนึ่ง แล้วคุณไม่มีความผิด แล้วมีคนปรบมือ มันเป็นความสุขอีกประเภทหนึ่ง มันฮึกเหิมในอำนาจ”

คำอธิบายอย่างเข้าใจได้ในสภาพของความป่าเถื่อนนี้ ออกจะขัดกับสิ่งที่เขาเคยเคยกล่าวเมื่อหลายปีที่แล้วว่า การแสดงความเห็นในเว็บบอร์ดนั้นเหมือนคนอยู่หลังกำพงตะโกนใส่ด่ากันในความ มืด สมบัติยืนยันในวันนี้ว่าความป่าเถื่อนในดินแดนออนไลน์ก็ยังดำรงอยู่

“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติที่มันยังคงอยู่มันคาอยู่ แต่มันจะเริ่มมีอารยธรรมมากขึ้น ผมคิดว่าความรู้หรือแนวทางที่มีอารยธรรมมากขึ้นจะปรากฏ ขณะเดียวกัน ประชาชนก็จะมีภูมิคุ้มกัน เมื่อก่อนสมัยมีอินเทอร์เน็ตใหม่ๆ แค่มีใครด่าใครคนหนึ่งในอินเทอร์เน็ต พอคนๆ นั้นไปเห็นว่ามีข้อความนี้อยู่ในอินเทอร์เน็ต เต้นใหญ่เลย เต้นจนเวอร์ ราวกับว่าคนทั้งโลกอ่านเพจนั้น ทั้งที่อาจจะมีแคนแค่ 30 คน อ่าน แล้วก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไร แค่พอคนๆ นั้นไปเห็นเพจนั้น เห็นข้อความนี้ในอินเทอร์เน็ต จะเป็นจะตาย จะลบออกให้ได้ จะฟ้องร้อง ซึ่งอาจจะทำให้เรื่องนี้มันเกินเลยไป พอถึงจุดนึง อาจจะมีภูมิคุ้มกัน พอมีคนบอกว่ามีคนเขียนด่าผมในอินเทอร์เน็ต ผมก็ถามกลับว่าแล้วไง มันเป็นเรื่องประหลาดหรือ ใหม่ๆ อาจจะประหลาด คุณอาจจะไม่เคย ปกติคำด่ากันมันจะไม่ปรากฏ เพราะเสียงมันด่าจบแล้วก็จบไป ยกเว้นคุณจะถูกด่าในหนังสือพิมพ์นะ แต่ว่ามันก็มีอายุ 1 วันแล้วก็หมดไป แต่ การด่าในอินเทอร์เน็ต ข้อความนั้นยังดำรงอยู่ในอินเทอร์เน็ต คุณสามารถเดินไปที่จุดนั้น เสียงด่านั้นยังคงก้องกังวานอยู่ไม่จบ มันเป็นเรื่องของสังคมที่เราจะต้องเรียนรู้และมีชีวิตอยู่กับปรากฏการณ์และ วัฒนธรรมแบบนี้ มีใครบ้างไหมยังไม่เคยถูกด่าในเว็บบอร์ด บางคนจะเป็นจะตายถูกด่าในเว็บบอร์ด ผมอันนี้อ่อน เพิ่งมาใหม่ เพิ่งเคยเป็น แต่ว่าเราเล่นไปพักนึงเราจะรู้เลยว่ามันธรรมดามาก แล้วทำให้ผมเคารพนับถือพวกนักการเมืองมาก มันถูกด่าทุกวัน น่าตื่นเต้นมากเลย แล้วทำให้ผมเคารพนับถือนักการเมืองมาก น่าตื่นเต้นมากเมื่อคิดถึงพัฒนาการทางความคิดของนักการเมืองต่อความสามารถใน การถูกตำหนิ ด่าทอเหยียดหยาม เป็นตัวทำลายชาติ ดังนั้น เราก็ควรจะมีขีดความสามารถ เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้”

สมบัติ ประเมินว่า การใช้พื้นที่ออนไลน์เพื่อสื่อสารเรื่องการเมืองไทยนั้นอยู่ในระดับดุเดือด มากที่สุดแห่งหนึ่งโลก ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงจำนวนผู้เล่นเฟซบุ๊กที่ถูกบล็อก หรือแม้แต่การปิดเว็บในจำนวนที่น่าจะติดอันดับโลก และหากมองถึงวิธีการสื่อสารของผู้เล่นอินเตอร์เน็ตแล้วละก็เขาคิดว่านี่ไม่ ใช่เรื่องเล็กๆ เลย

“ผมรู้สึกว่าเมืองไทยดุเด็ดเผ็ดมันมากเลย ผมคิดว่าอาจจะก้าวหน้ามาก อาจจะเป็นพื้นที่ที่รบดุเดือดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกนี้ ถ้าเฟซบุ๊กนะ เพราะถึงบล็อคเฟซบุ๊คจำนวนมหาศาลขนาดนี้ หรือปิดเว็บติดอันดับโลก ดังนั้น เราไม่ใช่ขี้ๆ นะงานนี้ สงครามในไซเบอร์ไม่ใช่ขี้ๆ นะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเข้ารหัส อาจเป็นที่ๆ น่าจะทำการวิจัย”

และมันจะดุเดือดขึ้นไปกว่านี้อีก...

“แน่นอน วันไหนที่เสียงของชาวบ้านไปปรากฏอยู่หน้าเว็บได้ เป็นความใฝ่ฝันของผม คือตอนนี้การสื่อสาร ลูกชายที่ทำงานอยู่ในโรงงานในกรุงเทพฯ สามารถโทรศัพท์ผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมชั้นสูง วิ่งผ่านโครงข่ายที่มีความสลับซับซ้อน ไปตกที่คันนา ที่พ่อกำลังเกี่ยวข้าวอยู่ได้แล้ว ส่วนตัวผม ผมว่ามันเป็นความงาม สมัยอยู่เชียงราย นาทีละ 18 บาท มือถือแพงไม่พอ โครงข่ายยังไปไม่ถึงด้วย เดี๋ยวนี้มันถึงกันหมดแล้ว และอยู่ในราคาที่ชาวบ้านจ่ายได้

วันไหนที่ชาวบ้านสามารถสะท้อนขึ้นมาได้ ยกตัวอย่างที่มีปัญหาที่พรมแดนศรีษะเกษ ถ้า คนพื้นที่รายงานขึ้นมาได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เราได้อ่านบันทึกนักข่าวพลเมือง คนที่อยู่ในเหตุการณ์ว่าเห็นอย่างนี้ๆ เกิดอะไรขึ้น ผ่านคลิป ความรู้สึกนึกคิดเขา ตอนนี้คนเมืองยึดพื้นที่สื่อแล้วอธิบายชาวบ้านหรือประเทศ ผมว่ามันไม่แฟร์ เหมือนสื่อที่บอกว่าคนต่างจังหวัดเป็นอย่างไร คนกรุงเทพฯ เรียนรู้คนต่างจังหวัดจากทีวีผ่านมุมมองของคนเมือง ดูละครหรือดูสารคดี แบบเศรษฐกิจพอเพียง หรือวิถีชีวิตที่มันเฟคๆ ผมทำงานกับชาวเขา ผมก็รู้ว่าเวลาสารคดีชาวเขาแต่งตัวแบบนี้มันไม่จริง มันไม่ได้รู้สึกนึกคิดแบบนั้น มันก็พอๆ กับคนฝรั่งหรือญี่ปุ่นเดินมาถามคนไทยบางคนว่า ขี่ช้างมาทำงานหรือเปล่า มันเป็นความไม่จริง ดังนั้นหากเจ้าตัวสะท้อนสิ่งเหล่านี้มาได้โดยตรง ผมว่าวิวัฒนาการของชนชั้นกลางในการมองคนต่างจังหวัดจะเปลี่ยนไป และเมื่อเขามองคนต่างจังหวัดเปลี่ยนไป เขาจะเข้าใจ และผมว่าวันนั้นเราจะทำแนวร่วมกับชนชั้นกลางได้ ผมเชื่อว่าวันหนึ่ง ชนชั้นกลางจะยอมรับ”

เมื่อเราถามเขาว่า เหตุที่เขามองว่าโลกออนไลน์จะเป็นทางเลือกสำหรับพื้นที่การสื่อสาร แปลว่ามองว่าสื่อหลักทุกวันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ใช่หรือไม่ สมบัติไม่ได้ตอบรับ หากแต่ยอมรับในข้อจำกัดของสื่อกระแสหลัก

“มันทำหน้าที่ได้จำกัด คือเขาก็ทำหน้าที่มานานแล้ว แต่นั่นก็คือสุดแขนของเขา และอาจมีบางปัจจัยทำให้ประสิทธิภาพของสื่อในปัจจุบันมันตกต่ำ ดังนั้นการมีนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา เป็นโลกออนไลน์หรือสื่อทางเลือกทั้งหลาย มันช่วยทำให้ไปอุดช่องว่างหรือขยายศักยภาพที่สื่อเดิมเคยมีอยู่มาก่อน”

เฟซบุ๊กมีข้อจำกัดอะไร

“มันกินเวลา พอเป็นเรื่องเวลาก็กระทบเรื่องอื่นหมด ผมนี่มีปัญหาตา เล่นจนตาล้า แต่ผมชอบเพราะมันแฟร์นะ คือทุกคนมีพื้นที่เท่ากัน ไม่ต้องมีคนรับผิดชอบ อย่างประชาไทต้องรับผิดชอบเว็บบอร์ด ไม่ต้อง ไม่ต้องมีประชาไท มันแฟร์ ใครคิดว่าตัวเองอยากจะรับผิดชอบได้แค่ไหน คุณเขียน รับผิดชอบกันเอง คุณแหลมมา คนก็จะเข้าไปวิจารณ์คุณนะ เขียนโต้ตอบคุณ ถ้าคุณไม่น่าสนใจเขาก็จะข้ามคุณ เขาซ่อนคุณด้วยถ้าคุณน่ารำคาญ หรือลบคุณออก แต่ถ้าคุณน่าสนใจ จะมีคนจะช่วยขยายขีดจำกัดคุณ ขยายสิ่งที่คุณนำเสนอ”

สมบัติ ย้ำว่าเขาจะยังใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊กอย่างเต็มประสิทธิภาพไปอีกยาวนาน เพราะมันตอบสนองต่อความต้องการในการสื่อสารของเขาในขณะปัจจุบันได้ค่อนข้าง ครบถ้วนแล้ว

“แต่ผมอยากให้มี voice chat นะ เมื่อไหร่ที่มันมี voice chat แบบ skype ได้ มันแจ่ม ผมเกลียดแชทที่สุดเลย ผมซ่อนตลอดเลย มันพิมพ์ยาก ต้องเสียเวลา แต่ผมว่าถ้าเป็น voice มัน และถ้า voice มันเป็นกรุ๊ปได้..สุดยอด! และถ้ามีลักษณะ skype ได้ด้วยและเหมือน camfrog เป็น กรุ๊ปได้ อันนี้จะสุดยอด แล้วถ้ามันมีปลั๊กอินที่ถ่ายทอดวิดีโอหรือเสียงได้ จัดรายการวิทยุได้นะ โธ่เอ๊ย คุณเอ๊ย...หมด (หัวเราะ)”

เป็นสิ่งที่ดีที่ประชาชนมีเครื่องสะท้อนความคิดเห็น

ในสายตาของสมบัติ เขาประเมินว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำงานหนักอยู่ขณะนี้ไม่น่าจะส่งผลหนักหนาสาหัสต่อการเติบ โตของพื้นที่ออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการบล็อกหรือการดำเนินคดีตามกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการ กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

“มีผลบ้าง แต่ไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ มีบ้างเป็นตัวตลกคนหนึ่ง แต่ตัวคนโดนก็ไม่ตลกนะ แต่มันก็ไม่สามารถมีผลต่อขบวน ต่อวิวัฒนาการของมัน และบทบาทมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จะลงทุนอะไรให้ไปอยู่บนกระแสนี้มันจะคุ้มค่ามาก ผม ไม่ไปไหนแล้ว ผมเล่นแต่เฟซบุ๊กอะ คุ้มแล้ว อ่านข่าว ดูคลิปดูอะไรอยู่ในนั้นหมด มีคนกรองให้เรียบร้อยแล้ว ข่าวไหนที่มันดีปุ๊บคนจะแชร์ จะเห็นว่ามันเป็นประเด็นที่ถูกเน้นแล้ว ข่าวไหนคนแชร์เยอะก็คลิกดูว่ามันเป็นอย่างไร”

ในฐานะที่เขาก้าวขึ้นมาเป็นคู่ต่อสู้กับรัฐบาลแล้ว (จากวิธีปฏิบัติที่รัฐ ดำเนินการกับเขา) เมื่อเราถามเขาว่าถ้าเขาเป็นรัฐบาลจะจัดการกับบรรยากาศปิดไม่มิด กดไม่อยู่อย่างที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ อย่างไร คำตอบของเขาคือ มันไม่ใช่ปัญหา

“ถ้า ผมเป็นรัฐบาล ผมก็จะไม่มีปัญหากับเรื่องพวกนี้ คือมันเป็นวิวัฒนาการของสังคม เป็นสิ่งที่ดีที่ประชาชนมีเครื่องสะท้อนความคิดเห็น อาจจะพูดผิดพูดถูกบ้าง เข้าใจถูกเข้าใจผิดบ้าง มันเป็นพัฒนาการทางสังคมทางการเมืองที่เราจะต้องเรียนรู้กัน สิ่งที่รัฐบาลทำได้ไม่ใช่การควบคุม แต่เป็นความพยายามที่จะเล่าความจริง ให้มันไปปรากฏอยู่ในพื้นที่ทางสังคมนั้น อันนี้ต่างหากที่รัฐบาลควรทำ ไม่ใช่การปิด การตำหนิคนที่ด่าเรา แต่เป็นการชี้แจงและอธิบายว่าความจริงเป็นอย่างไร ถ้าทำอย่างนี้ในอินเทอร์เน็ตมันจะดี เพราะบางทีผมก็รู้สึกว่า มันขาดข้อมูลในการถกเถียง ขาดอีกมิติหนึ่ง คนเกลียดรัฐบาลเกลียดฉิบหาย มันรักเกินไปเกลียดเกินไป แล้วบางทีก็หยิบฉวยจากข้อมูลด้านๆ พื้นๆ ที่สื่อเสนอออกได้แค่พื้นฐาน ไม่ลึกซึ้งพอ มันขาดความลึกซึ้ง น่าเสียดาย ขณะที่เมื่อก่อน จะมีรายการทีวีที่มีทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่กรณีมาโต้กันอย่างลึกซึ้ง

"แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มีรายการคู่กรณีแล้ว เพราะสังคมรู้สึกว่า นี่มันเป็นการสร้างความขัดแย้ง สร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดี เสี้ยมคนให้ทะเลาะกัน แต่ความจริงมันมีความดีของมันอีกด้านหนึ่ง”

สมบัติ ทิ้งทายให้กับคำถามสุดท้ายที่เราถามเขา เป็นการตอบจากสายตาของผู้ที่มองการนำเสนอความคิดแตกต่างเป็นวิวัฒนาการ ซึ่งก็แน่นอนว่าสิ่งนี้กำลังดำรงอยู่และเขาเป็นเฟืองจักรสำคัญที่ขับเคลื่อน ให้มันดำเนินไปภายใต้แนวคิดของการเป็น “แกนนอน” ที่กำลังขยายแนวนอนของเครือข่ายให้พิสูจน์อำนาจการสื่อสารออนไลน์ที่ขยับออกสู่พื้นที่ ออฟไลน์ได้ทุกๆ วันอาทิตย์!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net