Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์สาวตรี สุขศรี บล็อกเกอร์และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเธอยืนยันว่า อย่างไรเสีย การมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องคอมพิวเตอร์ก็ดีกว่าไม่มี แต่สิ่งที่เป็นอยู่คือการบัญญัติ และตีความอย่างตีขลุม

 

 

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ สื่อทางเลือกหรือ นิวมีเดียมีรูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย

ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป



 สาวตรี สุขศรี: กฎหมายคอมพิวเตอร์ต้องมีเพื่อกำหนดขอบเขตความรับผิด

สาวตรี สุขศรี เป็นอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของเธอก็คือ กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ในช่วงที่เรียนระดับปริญญาเอกอยู่ที่ประเทศเยอรมัน เธอร่วมกับเพื่อนๆ เปิดบล็อกที่มีเนื้อหาสาระเชิงวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายและการเมือง http://biolawcom.de/ ร่วมกับเพื่อนๆ อีก 2 คน โดยตัวเธอใช้นามแฝงว่า เช กูวารา และแทนตัวเองว่า “ผม” ทำให้หลายๆ คนคิดว่าเจ้าของนามปากกานี้คือผู้ชาย

ประชาไทพูดคุยกับเธอในสองสถานะ หนึ่งคือในฐานะบล็อกเกอร์ และอีกสถานะคือ ผู้เชียวชาญด้านกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเธอยืนยันว่า อย่างไรเสีย การมีกฎหมายเฉพาะก็ดีกว่าไม่มี แต่......

ภาคแรก: บล็อกเกอร์สาวผู้แทนตัวเองว่า ผม

เธอหัวเราะอย่างสนุกสนานก่อนตอบที่มาของการใช้สรรพนาม “ผม” ว่า “ไม่ได้มีสาระเลย มันไม่ได้เป็น concept ที่ว่าฉันต้องปกปิดตัวเอง คืออันหนึ่งคือเคยไปดูคอลัมน์ตอบปัญหา แล้วคนตอบปัญหาเขาเป็นผู้ชายแก่เลยนะ แล้วเค้าเขียนในคอลัมน์มาเป็นผู้หญิงเลย เซ็กซี่มาก ซึ่งเค้าเขียนตอบแบบผู้หญิงมาก เราจำไม่ได้ชัด แต่เราจำได้ว่าเขาสลับเพศ แล้วเรารู้สึกว่าเยี่ยมมากเลย เราจะลองทำบ้าง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จคนอ่านก็เข้าใจว่าเราเป็นผู้ชายมาลอด อีกเหตุผลเรารู้สึกว่าคำแทนเวลาเขียน เขียน “ผม” มันง่าย มันใช้ได้หลายระดับ ถ้าเกิดเป็นข้าพเจ้ามันจะดูเป็นทางการมาก ในขณะที่ไปเขียนเป็นดิฉัน เดี๊ยนคือไม่ได้ไง ชื่อเล่นก็ไม่ได้ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ชอบเช กูวารามาก เราก็เลยรู้สึกว่า ในเมื่อเรามีนามปากกาเป็นเชแล้ว เราก็เลยใช้เป็นผู้ชายไปเลยดีกว่า แล้วก็หลอกได้หลายคนแล้วด้วย ก็รู้สึกสะใจเล็กๆ”

อย่างไรก็ตามเธอตั้งข้อสังเกตว่า ในบล็อกของเธอนั้น เป็นเนื้อหาหนักๆ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งการสื่อสารในภาษาของผู้ชายทำได้หนักแน่นกว่า

“ก็อาจจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งเหมือนกัน เหมือนกับว่า พอผู้ชายพูดเรื่องการเมืองมันจะน่าฟัง น่าเชื่อถือมากกว่า ซึ่งก็ยอมรับ ว่าไม่ได้คิดเรื่องพวกนี้ค่ะ ไม่ได้คิดว่ามันไม่เท่าเทียมอะไร เพียงแต่คิดว่ามันเขียนง่ายดี สนุกดีอะไรแบบนี้”

สาวตรียอมรับว่าการไปเรียนต่างแดนมีผลต่อแรงจูงใจให้เปิดบล็อก เพราะบรรยากาศการแสดงออกทางความคิดผ่านโลกออนไลน์ในพรมแดนตะวันตกนั้นคึกคัก เป็นกระแสที่ตื่นตัว และด้วยเทคโนโลยีที่พร้อมก็ทำให้การเปิดบล็อกนั้นเป็นเรื่องง่าย

“เรื่องแรกก็คือว่า กระแสมันมาจริง คือกระแสเรื่องบล็อค 2.0 มันเริ่มมา ข้อที่สองก็คือว่ามันเป็นเรื่องเทคโนโลยีด้วย คือว่าการทำอะไรอย่างนี้มันง่าย ทั้งในแง่ของการเขียนเนื้อหา ทั้งในแง่ของการไปเปิดพื้นที่ของตัวเอง มี server หรืออะไรต่อมิอะไรมันเข้าถึงได้ง่ายก็เลยมีคิดมีการทำกัน ประเด็นที่สามก็เหมือนกับว่า เนื้อหาบล็อกในต่างประเทศค่อนข้างมีอิทธิพลที่เกี่ยวกับการบ้านการเมือง วิจารณ์สังคม เรื่องทั่วไปที่มันหนัก พอเราได้ดูบล็อกเกอร์ของต่างประเทศเยอะๆ แล้ว เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจที่จะมาทำกันบ้าง เป็นสาเหตุที่คนที่อยู่ต่างประเทศเห็น ก็ทำให้คนคนไทยที่อยู่ต่างประเทศอยากทำ และอยากจะได้ content ที่เหมือนกับต่างประเทศด้วย เหมือนคนต่างชาติทำ คือมันดูมีเนื้อหาสาระ ก็เลยอยากทำกัน พอมาทำจริงๆ ของไทยมีอิทธิพลหรือเปล่าไม่รู้นะคะ”

สาวตรีตั้งข้อสังเกตว่า เท่าที่เธอสำรวจดูพบว่าบล็อกซึ่งนำเสนอเนื้อหาหนักๆ ประเภทการบ้านการเมือง หรือวิชาการของไทยที่มีคนนิยมน่าจะไม่มีอยู่ไม่เกิน      20-30 บล็อก ซึ่งนั่นหมายความว่าการสื่อสารผ่านบล็อกของไทยน่าจะไม่ค่อยมีผลสะเทือนสักเท่าไหร่

“บล็อกเกอร์ที่ดังๆ ในแง่อื่นก็จะเป็นพวกบล็อกดูหนังฟังเพลง อันนี้จะเยอะมาก พวกอะไรที่มันดูตลกโปกฮา สั้นๆ คือคนไทยโดยสภาพเขาไม่ค่อยชอบอ่านอะไรยาวๆ อยู่แล้ว ซึ่งตอนแรกก็คิดเหมือนกันว่า การทำบล็อกมันเขียนเราไม่ค่อยยาวเท่าไร ตอนแรกๆ เขาก็จะมีประมาณ 2-3 ย่อหน้า แล้วมาดูของบล็อกเกอร์จริงๆ ของชาวต่างชาติจะเขียนเยอะ คือบล็อกที่มันต้องการเนื้อหา มันก็จะเขียนเยอะเหมือนชาวต่างประเทศ ก็จะมีกลุ่มคนอ่านอยู่ไม่กี่กลุ่มหรอก ก็จะมีแต่พวกเราที่อ่านกันเอง คือบล็อกนี้ที่ดัง ก็จะไปอ่านบล็อกนั้น บล็อกนั้นก็จะมาอ่านบล็อกนี้ ซึ่งจะมีอยู่ไม่กี่คน ซึ่งถ้ามองในมุมมองของคนไทยก็ คิดว่าโดยส่วนตัวคิดว่าบล็อกไม่ได้มี Impact มากหรือมีอิทธิพลมากต่อสังคม กับเรื่องอะไรที่มันหนักๆ อะไรที่มันหนักๆ”

สาวตรีตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า เอาเข้าจริงแล้วคนไทยอาจจะใช้ไดอารี่ออนไลน์มากกว่า

ถ้าจะสังเกตดู คนไทยจะเล่นไดอารี่ มันจะสั้นและเป็นเรื่องที่เบาๆ ง่ายๆ  แต่จริงๆ ถามว่าเค้าไม่เล่นบล็อกกันเหรอ บล็อกเค้าจะเข้ากับคนไทยไม่ได้เหรอ ก็บอกไม่ได้เต็มปาก เพราะบล็อกที่เขียนเป็นเรื่องเบาๆ ก็มีเหมือนกัน แล้วก็ดังมากๆด้วย แต่ถ้าถามว่าคนไทยไม่เล่นอะไร คือคนไทยไม่เล่นอะไรที่มันมีเนื้อหาหนักๆ ถ้าบล็อกเบาก็เล่นน่ะค่ะ

และขณะนี้ที่ได้รับความนิยมที่สุดก็คงไม่พ้น Facebook

สาเหตุหนึ่งที่เปลี่ยนมาใช้ Facebook ก็คือ มันสั้น มันจำกัด คำมันอ่านง่ายกว่า อันนั้นน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งนะค่ะ อีกเหตุผลหนึ่งที่ย้ายมาใช้ Facebook ก็คือไม่มีเวลาเขียนยาวๆ แล้วมีความโดยส่วนตัวเองว่า เนื่องจากบล็อกที่เราทำมา จะมีเนื้อหาที่นำเสนอเรื่องที่มีเนื้อหาที่เป็นเรื่องเป็นราว ถ้าเกิดมาเปลี่ยนแนวเขียนเป็นสั้นๆ หรือบล็อกเล็กๆ มันก็จะรู้สึกขัดต่ออุดมการณ์ที่เราทำบล็อกที่ตั้งเอาไว้ ก็เลยจะคุยค่ะกับทีม 3 คน ที่ร่วมกันทำบล็อกว่าถ้าเราเขียนสั้นๆ เราก็จะเปลี่ยนไปเป็น Facebook แทน ปรากฏว่าระยะหลังไม่มีเวลาจริงๆ ก็เลยเปลี่ยนมาเป็น Facebook แทน”

สาวตรีอธิบายถึงการย้ายพื้นที่ ซึ่งสำหรับเธอก็คือข้อจำกัดเรื่องเวลา แต่หากดูกระแสทั่วโลกแล้ว เธอยืนยันว่าเธอก็มีเพื่อนอยู่ไม่น้อยที่เปลี่ยนแปลงการใช้งานพื้นที่ออนไลน์ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือ

“มันเหมือนกับว่ากระแสมันลงทั่วโลกเหมือนกันนะ คือมันกลายเป็นว่าทั่วโลกก็ใช้บล็อกกันน้อยลงจริงๆ เพราะว่ามาใช้ Facebook แทน”

ภาคสอง: พูดในฐานะนักกฎหมาย การมีกฎหมายดีกว่าไม่มี

เสรีภาพต้องมีขอบเขต

สาวตรีแสดงทัศนะส่วนตัวว่า เสรีภาพออนไลน์ ถึงอย่างไรก็ต้องมีขอบเขต ต้องมีกำหนดเนื้อหา ลักษณะความรุนแรงของคำพูด เช่น ใช้คำด่าทอ อาจจะไม่ถึงขั้นหมิ่นประมาท แต่ก็อาจะเข้าข่ายความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า

“ต้องมีขอบเขตบางอย่าง ต้องรับผิดชอบบางอย่าง  คุณด่าคนอื่น แล้วถ้าคนอื่นที่เขาโดนกระทบ  เขาอยากจะฟ้องคุณในฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า หรืออยากจะฟ้องคุณฐานหมิ่นประมาท คุณก็ต้องยอมรับตรงนั้น  คุณจะบอกไม่ได้ว่านี่คือเสรีภาพ”

อย่างไรก็ตาม การใช้เสรีภาพเกินขอบเขตเหล่านี้ ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะถูกใช้แบบเหมารวมเพื่อการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ออนไลน์ หากแต่ควรจะต้องกำหนดขอบเขตชัดเจนเรื่ององค์ประกอบตามกฎหมาย และกระบวนการดำเนินคดี  แม้แต่กับกรณีมาตรา 112 ก็ต้องทำให้ชัดเจน มีการตีความให้ชัดว่า อะไรเข้ามาตรานี้ ไม่ใช้มาตรการปิดกั้นแบบพร่ำเพรื่อ แต่ควรจะใช้วิธีการฟ้องเป็นคดีๆ ไป

สาวตรี เริ่มต้นสนใจกฎหมายอินเตอร์เน็ต เมื่อศึกษาระดับปริญญาโทที่ คณะนิติศาสตร์ มธ. เธอได้พบว่า ในช่วงที่เธอเริ่มสนใจศึกษากฎหมายเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต ในประเทศไทยแทบจะไม่มีคนสนใจศึกษาเรื่องนี้เลย และขณะนั้นก็ไม่ยังไม่มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมฯ) หรือกฎหมายเฉพาะใดๆ ทั้งสิ้น

และแม้วันนี้ พ.ร.บ. คอมฯ จะเป็นผู้ร้ายในเรื่องเล่าว่าด้วยเสรีภาพบนโลกออนไลน์ แต่สาวตรีให้ความเห็นว่า มีดีกว่า ไม่มี

“โดยส่วนตัวจริงๆ จากประสบการณ์ที่ศึกษาและทำงานมาต้องมีนะ อาจจะมีการพูดเลยไปนิดนึงนะคะ คืออาจจะมีคนหลายๆ คน คิดว่าประเทศเราไม่ควรที่จะปกครองกันด้วยกฎหมาย ด้วยนิติรัฐ ซึ่งจะมีคนคิดอย่างนี้ เพราะว่าเค้ามองว่ากฎหมายมันออกมาแล้วมันทำให้แย่ลง เพราะกฎหมายมันแย่

แต่ส่วนตัวแล้วจะแย้งตรงนี้มาตลอด ว่าคุณเทียบดูการปกครองโดยไม่มีกฎหมายโดยใช้คนมาดูสถานการณ์แล้วก็ตัดสินโดยที่ไม่มีตัวบทกฎหมายที่ชัดเจนอย่างนั้นมันจะแย่กว่า กลับมาที่เรื่องนี้ก็เหมือนกัน ถ้าในที่สุดแล้วประเทศไม่มีหลักเกณฑ์ ที่สุดแล้วมันต้องรับผิดถึงขอบเขตไหน มันก็จะกลายเป็นปัญหามากกว่า ก็จะกลายเป็นดุลยพินิจแบบอิสระที่ไม่มีขอบเขตอะไรเลย ซึ่งกฎหมายที่ออกมาควรที่จะมีขอบเขตในระดับหนึ่ง แล้วก็มาใช้ แต่ปรากฏว่า กฎหมายที่ออกมากลายเป็นกฎหมายที่ไม่มีขอบเขต แต่กำหนดความรับผิด ก็เลยยังตึงๆ กันอยู่”

ปัญหาก็คือ กฎหมายเฉพาะที่มีอยู่นั้น ตกอยู่ภายใต้การเขียนตัวบท การใช้และการตีความที่เหมือนกับไม่มีขอบเขต  และจากที่เธอกล่าวว่า ว่ากฎหมายจะเป็นหลักประกันให้การรับผิดมีขอบเขตโดยไม่ต้องใช้ดุลพินิจนั้น ถึงวันนี้ สถานการณ์การใช้กฎหมายของไทยยังไม่เข้าใกล้อะไรที่ว่านั้น

“ถ้าถามวันนี้ มันก็ยังไม่ค่อยใกล้เท่าไรหรอก คือต้องบอกอย่างนี้ว่าก่อนที่มันจะมีพระราชบัญญัติตัวนี้ มันมีคนคิดอยู่ว่า มันควรจะเอาเขามารับผิดชอบ แต่กฎหมายที่มันมีอยู่ในตอนนั้น มันมีแค่กฎหมายอาญา วึ่งจะต้องเอาเรื่องหลัก เรื่องผู้สนับสนุน เรื่องตัวการร่วม อะไรเข้ามาจับ ถามว่า ถ้าวันนี้ไม่มี พ.ร.บ. คอมฯ เป็นไปได้ไหมที่ผู้บริการอินเทอร์เน็ตจะโดนจับ ด้วยข้อหาเป็นผู้ร่วมสนับสนุน ซึ่งเป็นไปได้  และก็จะเกิดการเอาตัวกฎหมายอาญามาตีความ ซึ่งเราก็ไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่ามันจะอยู่ในขอบเขตไหน นั้นหมายความว่า ต่อให้มีหรือแม้ไม่มี พ.ร.บ.คอมฯ ก็ยังมีตัวกฎหมายอาญาที่ให้อำนาจในการใช้ดุลยพินิจตรงนี้อยู่ดี

“แต่พอมี พ.ร.บ.คอมฯ ปั๊ป คนก็มาใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ซึ่ง พ.ร.บ. คอมฯ ก็ไม่ได้ชัดเจนไปกว่าเดิมเลย นั้นมันยังไม่ได้เข้าใกล้ พูดได้ว่ากฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ISP นะคะ คิดว่ามันเป็นช่องโหว่ที่มันต้องทบทวนเป็นพิเศษ ถ้าว่าอยากจะให้ไม่มีเรื่องเซนเซอร์ตัวเองน่ะค่ะ ซึ่งมันยังมีปัญหาอยู่”

กระนั้นก็ตาม เธอยังยืนยันว่า มีกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงไว้ดีกว่า และทางออกก็คือการปรับแก้

“โดยส่วนตัวคิดว่ามีไว้ก่อนแล้วก็น่าจะมาปรับแก้น่ะค่ะ คือต้องมี แต่ ณ วันนี้ สิ่งที่มีอยู่ไม่ตอบสนองสิ่งที่ควรจะเป็น มันจะต้องมีการปรับแก้กัน เช่นความชัดเจนของระดับความรับผิดของผู้ให้บริการของแต่ละประเภท ไม่ใช่คุณมาตีความทั้งหมดว่า ทุกคนเป็นผู้ให้บริการทั้งหมดแล้วก็มีความรับผิดชอบเหมือนกันทั้งหมด แบบนี้มีปัญหาแน่นอน ซึ่งถ้าเทียบในต่างประเทศ เค้าก็ไม่ทำกันแบบนี้ เพราะว่าธรรมชาติหรือขอบของธุรกิจมันไม่เหมือนกัน ความรับผิดชอบในเนื้อหาที่เกิดขึ้นมันไม่เหมือนกัน ซึ่งคุณต้องแบ่งระดับให้ดีน่ะค่ะ”

สิ่งที่แรกที่ต้องแก้ก็คือมาตรา 15

เมื่อเราถามว่า ปัญหาหลักน่าจะอยู่ที่มาตรา 15[1] เป็นมาตราที่ตีขลุมความรับผิดไว้กว้างขวางใช่หรือไม่ เธอบอกว่า

“ใช่ ควรจะเป็นอย่างนั้น แก้มาตรา 15 แล้วก็อาจจะปรับปรุงแก้ไขในส่วนของนิยามคำว่า ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ที่อยู่ใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ให้มันชัดเจนกว่านี้”

ปัญหาใหญ่ของมาตรา 15 นำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ นั่นก็คือการเซ็นเซอร์ตัวเอง

“ในทางปฏิบัติ หรือทางคดีจริงๆ มันอาจจะยังไม่ชัดเจน แต่เคยคุยกับคนที่ทำงานด้านนี้ คนที่เคยเป็นบล็อกเกอร์ เป็นอะไรพวกนี้ ต้องถือว่า มาตรา 15 มีผลนะคะ มาตรา 15 มีผลอย่างยิ่งต่อการที่เขาจะตัดสินใจ ต่อการที่เขาจะแสดงความคิดเห็นอะไรสักอย่าง หรือต่อการที่เขาจะเขียนแสดงวิพากษ์ วิจารณ์ หรือการจะปล่อยให้ใครมาเขียนในหน้าเว็บไซต์ หรือหน้าบล็อกที่เขาทำ เนื่องจากมาตรา 15 กำหนดโทษหนักเท่ากับผู้กระทำความผิดที่แท้จริง ก็แน่นอนว่าเขาก็ต้องมาเซนเซอร์ตัวเองอยู่แล้ว ถ้าจะเอาชัดๆ ก็น่าจะรู้สึก โดยความรู้สึกส่วนตัว เว็บไซต์พันทิปก็เกร็งกับมาตรา 15 มากๆ ในระยะหลังๆ  คือจากแต่ก่อนมันจะค่อนข้างเสรี มากันเต็มที่ แต่พอ มาตรา 15 ออก ก็ต้องสแกน ก็เกิดระบบบัตรประชาชน เกิดระบบนู้น นี่ นั้น ขึ้นมา มันก็มีผลมาจากอันนี้แหละ”

มาตรา 15 บวกมาตรา 14 คือการเพิ่มภาระให้กับตัวผู้ให้บริการต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อปกป้องตัวเอง

“แต่ว่าจะดูมาตรา 15 อย่างเดียวไม่ได้ มันต้องดูคู่กับ มาตรา 14 [2] อยู่แล้วแหละ เพราะมาตรา 15 มันต้องรับผิดตามเนื้อหาจากมาตรา 14 ถ้าเกิดมาตรา14 ชัด มาตรา 15 อาจจะไม่เกิด function ขนาดนี้ หมายถึง function ในแง่รัฐนะคะ ซึ่งปรากฏว่ามาตรา 14 ก็ไม่ชัดไง ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ก็เอ๊ะ ตกลงเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเนื้อหาของเรานั้นผิดหรือเปล่า ก็เลยต้องเซนเซอร์ไปก่อนเลยเพื่อที่จะเซฟตัวเอง เพราะงั้น มาตรา 15 มาคู่กับ 14 อยู่แล้วค่ะ”

สาวตรีอธิบายว่า แม้ว่าพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จะนำมาซึ่งการเซนเซอร์อย่างเป็นระบบจากผู้ให้บริการ แต่สำหรับบรรยากาศการใช้อินเตอร์เน็ตบ้านเรานั้น หาใช่เป็นผลจากพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เพียงประการเดียว กฎหมายที่สำคัญที่ส่งผลอย่างยิ่งยวดต่อผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ต ก็คือ บทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั่นเอง

“ตอนที่ พ.ร.บ.คอมฯ ออกจริงๆ บรรยากาศก็ยังไม่แย่เท่าปัจจุบัน เพราะว่าการปิดกั้น การฟ้องคดีมันก็ยังไม่ได้มีมากเท่ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่ว่ามันจะมีกฎหมายตัวอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น พรก.ฉุกเฉิน สร้างบรรยากาศความกลัว อะไรขึ้นมา แล้วก็ก่อนหน้าอาจจะมีเรื่อง มาตรา 112 บ้าง แต่ว่าตอนหลังๆ มันมีมากขึ้นไปอีก พวกนี้มันจะประกอบกับหมด มันไม่ใช่เกิดจากตัว พ.ร.บ.คอมฯ อย่างเดียว ซึ่งมันเกิดจากการประกอบกันหลายๆ อัน แล้วก็ประกอบกับนโยบายรัฐเข้ามาอีก ที่อยากจะควบคุมตรงนี้มากขึ้น แสดงให้เห็นประจักษ์มากขึ้น มีการปิดกั้นเว็บไซต์มากขึ้น ตรงนี้มันประกอบกับหมด แล้วก็ทำให้การแสดงความคิดเห็นมันยากมากขึ้น ซึ่งมันเป็นตัวเสริมด้วยค่ะ

พื้นที่เสรีออนไลน์- ไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

โลกไซเบอร์อาจจะเป็นพื้นที่ในฝัน สำหรับการแสดงความคิดเห็น ที่มีเสรีภาพพร้อมกับความสำนึกรับผิดชอบ และสามารถถกเถียง แลกเปลี่ยนกันได้บนหลักการและเหตุผล แต่สำหรับอาจารย์สาวผู้นี้มองว่า ยังอีกนาน กว่าพื้นที่ออนไลน์ของไทยจะไปสู่ขั้นนั้น

“ในไทยยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เท่าไรเลยนะ สาเหตุที่วัฒนธรรมเรื่องการด่าทอกันมันเฟื่องฟูมากขึ้น เพราะมันมาเจอกันง่ายขึ้น คนจำนวนมากขึ้น อีกประการหนึ่งก็คือเรารู้สึกว่าในโลกไซเบอร์ ปิดบังตัวตนได้ มันก็เป็นเหรียญ 2 ด้าน หรือดาบ 2 คม ทำให้การด่าทอกันด้วยถ้อยคำรุนแรง ด้วยการไม่เกรงใจกัน จะมีได้มากขึ้น และง่ายขึ้น จากการที่เราเจอหน้ากันแล้วเราไม่ชอบคนนี้ เราอาจจะต้องเก็บงำเอาไว้ เพราะเราต้องเจอหน้ากันอีก แต่พอเข้าไปในโลกไซเบอร์ ฉันก็เต็มที่ เหมือนกับอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมาสอดรับกับจริตพอดี

“คือคนไทยมีจริตที่ขี้เกรงใจอยู่แล้ว คือตอนแรกก็อาจจะเป็นคนขี้เกรงใจ ไม่อยากจะประจัญหน้า ไม่อยากจะทะเลาะกันซึ่งๆ หน้า พอไปเจอกับอินเตอร์เน็ตปั๊ป สอดรับพอดีเลย เข้ากับเปี๊ยบเลย ด่ากันในนี้ให้เต็มที่ มันเหมือนกับระบายอารมณ์ใส่กัน มันก็เลยยิ่งเข้มข้นกันเข้าไปใหญ่ ก็เลยคิดว่าตราบใดที่เรายังไม่คุ้นเคยกับการแสดงความคิดที่แตกต่าง แล้วก็รัฐพยายามจะครอบคนด้วยวิธีการอย่างนี้ คือมีความคิดเห็นต่างปั๊ป คุณต้องปิดกั้น มีความคิดเห็นแตกต่างปั๊ป คุณพยายามจะสนับสนุนกลุ่มอะไรขึ้นมาเพื่อสอดส่องดูแล คือพูดง่ายๆ ไม่สนับสนุน ไม่พยายามเตรียมความพร้อม หรือการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งวัฒนธรรมอย่างนี้มันไม่น่าจะหายไปได้จากอินเตอร์เน็ตไทย แล้วมันก็จะเป็นอุปสรรคในการที่จะพัฒนา new media internet เพราะว่าสื่อพวกนี้มันจำเป็นต้องให้คนได้แสดงออกมาก แต่พอกลุ่มหนึ่งสามารถแสดงออกได้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ อย่างนี้มันมีปัญหาแน่นอนต่อการพัฒนาต่อไป”

เสรีภาพออนไลน์ ที่ไหนๆ ก็มีข้อจำกัด!

จากการศึกษาอย่างเฉพาะเจาะจงในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิและความรับผิดเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต สาวตรีพบว่าแต่ละประเทศนั้นมีประเด็นห้ามแตะต้องแตกต่างกันไป เช่นทางยุโรป จะมีประเด็นต้องห้ามในเรื่องการปลุกระดมเกี่ยวกับสงครามโลก และชาตินิยม

“เขารู้สึกว่ามันไม่ไหวแล้วกับเรื่องพวกนี้ คือที่ผ่านมามันทำให้เขาแย่  แต่อย่างของไทยเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นราชาชาตินิยม เพราะฉะนั้นเรื่องที่ sensitive ก็เป็นเรื่องที่จะไปกระทบกับสถาบันเบื้องบน”

ซึ่งในต่างประเทศ กรณีฟ้องร้องก็มีมากมายเช่นกัน

“ถ้าเป็นเรื่องเอกชนกับเอกชนก็อาจจะเป็นเรื่องหมิ่นประมาท อันนี้จะเจอกันตลอดเวลา  แต่ถ้ารัฐปิดกั้น ที่ชัดๆ บ่อยๆ และเยอะๆ เลยที่เจอมา ก็คือภาพลามกอนาจารเด็กและเยาวชน  ถ้าเป็นทางยุโรปก็คือการ racist ก็คือการดูถูกเผ่าพันธุ์ ความเชื่อทางศาสนา หรือชาตินิยม  รัฐจะใช้อำนาจเข้ามาปิดกั้นพวกนี้เยอะ”

ตรงไหนเป็นจุดที่พอดีกับการเซ็นเซอร์ในเมืองไทย

สาวตรีบอกว่า ประการแรก เราน่าจะชัดเจนก่อนว่าเราต้องน่าจะใช้ระบบเซ็นเซอร์หลังการเผยแพร่เป็นหลัก  เพราะกฎหมายในประเทศไทยประเทศไทยอนุญาตให้เซ็นเซอร์ก่อนที่จะเผยแพร่ ซึ่งจะมีผลกระทบกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นำเสนอเนื้อหา และสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร 

“คือยังไม่ทันที่เนื้อหานั้นจะออกมาเลย ให้ประชาชนได้คิดเลยว่ามันผิดหรือเปล่า คุณก็ไปปิดกั้นซะแล้ว  ซึ่งตรงนี้เราต้องหาจุดชัดเจนก่อนว่า ถ้าคุณจะเซ็นเซอร์จริง ต้องเกิดจากการเผยแพร่ออกมาแล้ว  หลังจากนั้นก็ใช้มาตรการอะไรบางอย่างเข้าไป”

กระการที่สอง ตัวคณะกรรมการเซ็นเซอร์ ต้องมาจากหลายภาคส่วน ไม่ใช่ให้เฉพาะรัฐเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมันคือไอซีที ตำรวจดีเอสไอ หรือไม่ก็ศอฉ. หรือโยนเข้าสู่ชั้นศาล

“เหมือนว่าจะดูดี ก็กลายเป็นเรื่องของศาล  ถามว่าศาลเข้าใจเรื่องพวกนี้หรือเปล่า  เราก็บอกไม่ได้ว่า ศาลจะมีเรื่องพวกนี้ขนาดไหน หรือว่าเปิดกว้างขนาดไหน  มันก็มีผล เรื่องวิธีการหาจุดกึ่งกลาง มันก็น่าจะให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้มาตรการ”

อย่างไรก็ตาม ในระยะอันใกล้ เรายังไม่เห็นสิ่งเหล่านี้  “เพราะว่าตอนนี้ทุกคนส่วนใหญ่ในประเทศรู้สึกว่า มันต้องปิดกั้น ปิดกั้นตั้งแต่ก่อนที่มันจะคลอดออกมา ทำแท้งซะก่อนเลยความคิดนั้น  แล้วอย่างที่ว่า โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เกี่ยวพันกับสถาบัน  คิดว่าตอนนี้ในระยะเวลาอันใกล้ ไม่มีทาง ที่จะให้การเซ็นเซอร์เบาคลายลง”

ข้อจำกัดเสรีภาพออนไลน์ ปลดล็อกอย่างไรดี

“ปลดล็อกอันแรกตอนนี้เลยเหรอ  คือเลิกประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อน (หัวเราะ)  เพื่อที่จะไม่มีมาตรา ๙ (๓) [3] เข้ามายุ่งยาก  อันที่สองก็คือรัฐบาลน่าจะสอดส่องกลุ่มที่ทำตัวเป็นศาลเตี้ย หรือว่าไม่ให้การสนับสนุนกลุ่มที่จะสอดส่องพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ต พฤติกรรมการแสดงความคิดเห็น อย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้  อันนี้เพื่อที่จะบอกประชาชนว่า ต่างคนต่างแสดงความคิดเห็นไปในส่วนของตัวเอง  อย่าไปทำลายกัน รัฐไม่สนับสนุนนะ  หรือถ้ามีกลุ่มไหนล่วงละเมิดจริงๆ รัฐก็ต้องเข้าไปจัดการ  พูดง่ายๆ ว่า ก็ต้องใช้กฎหมาย  คืออย่าปล่อยให้เขาทำกันอย่างเสรีภาพ ด่าทอกันเต็มที่ แบบนี้ไม่ถูก  อันนี้มันน่าจะช่วยได้”

อนาคตนิวมีเดียออนไลน์ – ชะลอไปก่อน

แม้พื้นที่ออนไลน์จะเป็นความหวังสำหรับการส่งเสียงที่ไม่อาจสื่อสารได้ตามพื้นที่สื่อหลัก แต่ภายใต้กฎหมายที่เป็นอยู่ และภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งรุนแรง สาวตรีมองว่า อนาคตของนิวมีเดียออนไลน์ในไทยมันยังไม่สามารถจะเติบโตได้  หรืออย่างน้อยจะถูกชะลอไปก่อน

“แต่ว่าชะลอในที่นี้อาจจะมองเป็นสองแง่มุม  คือชะลอสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่มีอยู่บนพื้นที่ที่มันมีอยู่แล้วใช้ได้อยู่  กับอีกอันนึงในแง่ของการกระจายเครื่องมือไปให้กับคนอื่นๆ ในชนชั้นอื่นๆ มันจะไม่มี  คือเหมือนกับว่าประเทศไทยมันมีปัญหาสองเรื่อง คือเรื่องการแสดงความคิดเห็นด้วย  กับอีกเรื่องคือเทคโนโลยียังไปไม่ถึง  มันมีอยู่กี่เปอร์เซ็นต์เองที่เข้าถึงอินเตอร์เนตได้ ของประเทศไทยน่ะ”

ต่อให้มันอยากเติบโตขนาดไหน มันก็เติบโตภายใต้กรอบบางอย่างที่มันออกมาไม่ได้  ถามว่าเยอะไหม ภายในกลุ่มก้อนนั้นอาจจะเยอะขึ้นกว่าแต่เดิม แต่ว่ามันก็ไปไหนไม่ได้อยู่ดี  แถมคนที่เคยดูโทรทัศน์แล้วไม่มีอะไรดูในชนบท  ถามว่าเขาเข้าถึงอินเตอร์เนตได้หรือเปล่า นี่ก็ยังเป็นปัญหา  นโยบายบ้านเราก็ยังไม่มีนโยบายเรื่องพวกนี้ที่ไปขยายให้มันมากขึ้น  เพราะว่ามันโดนแช่แข็งไปหมด มันขาดเสถียรภาพ ขาดการพัฒนาเรื่องพวกนี้ไปหมด  เพราะมัวแต่ไปเล่นเรื่องเนื้อหากันอยู่ ไม่ได้ดูถึงเรื่องปัจจัยพื้นฐานที่จะขยายออกไปเลย  มันไม่น่าจะไปได้ง่ายสำหรับของเรา  ภายในอีกสี่ซ้าห้าปี ในระยะเวลาอันสั้นนี้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูในเชิงเนื้อหาและการเติบโตเฉพาะกลุ่มแล้ว สาวตรีมองว่า กลุ่มทางการเมืองที่เป็นคู่ชกของรัฐบาลใช้สื่อออนไลน์ได้มีคุณภาพและมีพัฒนาการมาก

“ต้องบอกว่ามีพัฒนาการมากๆเลย  เพราะว่าสาเหตุหนึ่งก็เพราะโดนกดมาก แล้วหาทางออกไม่ได้  เหตุผลข้อที่สองก็คือว่า รูปแบบที่เขานำเสนอหลากหลายมากขึ้น  จะมีแคมเปญ มีอะไรที่เกิดขึ้นในอินเตอร์เนต  ประกอบกับมีเครื่องมืออื่นๆเข้ามา มันมาเสริมกันหมด  เหมือนกับว่ามันมีพัฒนาการมากขึ้นจริงๆ  แล้วก็มีคนมาร่วมเยอะขึ้น เข้าถึงกันง่ายขึ้น หมายถึงกลุ่มที่ต่อต้าน มันจะเจอกันน่ะ  แล้วมันก็จะเกิดแนวคิดใหม่ๆขึ้นมาตลอดเวลา มันมีพัฒนาการตรงนี้อยู่เพื่อที่จะหลบเลี่ยง  ที่เห็นได้ชัดเลย อย่างการพยายามหาช่องทางการเข้าถึงเว็บไซต์ที่โดนปิดกั้น  แต่ก่อนหน้านี้ ปิดก็ปิดไป ก็ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องอะไร  แต่เนื่องจากมันปิดเยอะมาก จนเราเข้าไม่ได้แล้ว  ก็จะมีคนมานำเสนอว่าใช้ใช้แคร็ก ใช้พร็อกซี่ ใช้นั่นใช้นี่สิ  พวกเครื่องมือพวกนี้มันจะออกมา

“ซึ่งบางคนก็จะบอกว่า แบบนี้ไม่แฟร์ เป็นการเพิ่มต้นทุนให้พวกคนที่คิดต่าง ก็ต้องลำบากขึ้น  แต่เนื่องจากในถานการณ์แบบนี้แล้ว คนกลุ่มนี่ก็ทำอะไรไม่ได้  มันเปรียบเทียบได้กับสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับการชุมนุม  คือเขาขึ้นมาในทางข้างบนแล้ว แต่ว่ารัฐใช้กฎหมายในลักษณะไม่เสมอหน้า มีอะไรมากดเขาไป  เขาก็รู้สึกว่า เขาขึ้นมาทางแบบนี้ไม่ทางชนะ  มันก็ต้องใช้วิธีอื่นใดที่จะหลบเลี่ยงออกไป  อันนี้ต้องถือว่ารัฐบีบเขาเอง  ถ้าจะบอกว่าใครผิด มันก็ผิดด้วยกันทั้งหมด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐเป็นฝ่ายที่เริ่มต้นก่อน  แต่มันก็ไม่มีทางอื่นแล้วล่ะ มันต้องเป็นทางนี้”

สาวตรีบอกว่า อย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ รัฐไทยนั้น “เนียน” กว่ารัฐที่ปิดกั้นพื้นที่ออนไลน์อื่นๆ และดำเนินการซับซ้อนกว่า ด้วยการส่งเสริมกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งง่ายกว่า เนียนกว่าและน่ากลัวกว่า

“รัฐบาลทำแบบนี้มาตลอด ไม่ใช่เฉพาะช่วงนี้  แต่ว่ามันเปลี่ยนประเภทไปเท่านั้นเอง  เพราะแต่ก่อนที่มันไม่มีกลุ่มพวกนี้ รัฐบาลใช้วิธีอะไร  ด้านหนึ่งปิดชัดเจน อาจจะใช้กฎหมาย ใช้หมายศาล  แต่ด้านหนึ่งคือขอความร่วมมือนะ ขอความร่วมมือมายังผู้ให้บริการต่างๆนานา ตรงนี้เราเรียกว่าเป็นไอ้โม่งเลย รัฐบาลใช้แบบนี้มาตลอด  อันหนึ่งเพราะเขารู้ว่าถ้าเขาปิดมากๆ ต้องโดนกระแสสังคมแน่นอน  แต่พอมาหลังๆนี่ เขาเพิ่มวิธีการเข้าไป  เป็นวิธีใหม่เอี่ยม อาจจะเป็นไปได้ว่ากลุ่ม Social Sanction ครั้งแรก รัฐบาลยังไม่ได้เป็นคนทำเอง แต่เห็นว่ามันเข้าท่า ก็เลยตั้งเรื่องพวกนี้เข้ามา  ก็กลายเป็นวิธีการใหม่ แต่ว่าความคิดมันก็เหมือนเดิมอยู่เท่านี้แหละ คือตั้งใจจะปิด  ตอนนี้เขาตั้งเป้าไว้เลยว่า สิงหาคมนี้ จะให้มีกลุ่มลูกเสือหนึ่งแสน มีอาสาสมัครทั้งหมดหนึ่งแสน และมีการเอาโครงการอบรมให้เด็กมีวิจารณญาณในการเล่นอินเตอร์เน็ตมาบังหน้า  ทั้งๆที่จริงๆแล้วอาจมีอะไรพยายามสอดแทรกเข้าไปให้เด็กมีความคิดว่า คนที่วิพากษ์วิจารณ์อะไรพวกนี้เป็นความผิดหมด คือมีอะไรที่ทำกับเด็ก ในด้านหนึ่งแอบฝังหัว ในด้านหนึ่งให้มันรู้สึกว่าผู้ปกครองรู้สึกดีว่าเด็กจะสามารถไปใช้อินเตอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย ไม่ถูกล่อหลอก  คือมันจะได้รับการตอบรับจากสังคมดี  ก็ใช้วิธีนี้เข้าไป  คือเขาหันมาเล่นหมดแล้ว เขาเอาหมดแล้วน่ะ  เอากำลังประชาชนมาชนกันเอง จะง่ายกว่ารัฐไปทำเอง”

“รัฐบาลของเราหน้าบางไง  คือรัฐบาลหน้าบางจะบอกว่าฉันเป็นประชาธิปไตย  จะมาใช้ปิดกั้นกันตลอดเวลาก็จะโดนวิพากษ์วิจารณ์ รัฐก็จะตกเป็นจำเลยอย่างเดียว  เพราะฉะนั้น ปัดๆ ให้คนอื่นมันเป็นจำเลยกันบ้าง ก็ให้มันไปสู้กันเองบ้าง  น่าจะเป็นด้วยระบอบการปกครอง  ก็เลยทำให้รัฐประเทศไทยดูเหมือนจะฉลาด หน้าบาง และอาจจะต้องแคร์ต่างประเทศ ก็เลยต้องหาวิธีอื่น และที่สำคัญคือตอนนี้สื่อต่างชาติที่เขาสนใจทำเรื่องเมืองไทยมันเยอะมาก”

เราถามคำถามสุดท้ายกับเธอหลังจากที่ฟังมานานและดูเหมือนว่า เสรีภาพออนไลน์ในไทยจะไปไม่ใกล้ฝั่งฝัน เธอได้แต่หัวเราะ พร้อมเปรยว่า “ดูย่ำแย่นะ” เมื่อย้อนกลับไปถามคำถามแรกๆ กับเธอว่า อินเตอร์เน็ตซึ่งหลายคนหวังว่ามันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและเปิดพื้นที่ใหม่ให้คนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมทั้งทางสังคมและการเมือง เธอยังคงหัวเราะและว่า

“ก็เป็นอุดมการณ์หนึ่งที่มันมีมาตั้งแต่ต้น  แต่พอหลังจากเราเห็นแบบนี้แล้วมันก็เริ่มบิดเบือนไปเรื่อยๆ  และมันก็มีปัจจัยที่บอกว่าอุดมการณ์นี้ก็จะเป็นอุดมการณ์ต่อไป (หัวเราะ) ซึ่งมันจะเป็นต่อไปอีกนาน”.........

 

หมายเหตุ

[1] พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔

[2] พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑)(๒) (๓) หรือ (๔)

[3] พระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 

มาตรา ๙ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือ

ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(๑) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

จากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น

(๒) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิด

ความไม่สงบเรียบร้อย

(๓) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด

ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความ

เข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม

อันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร

(๔) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทาง

คมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(๕) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ

(๖) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว

หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการ

ปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่น

เพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net