Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ

(สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลกขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด   ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุก
 
ด้วยโครงการปฏิรูปหลักสูตรโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ส่วนของประเทศไทย (CRP-Project), (ซึ่งผู้เขียนเป็นคณะทำงานร่วมอยู่ด้วย) ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน, ร่วมกับUniversity Sains Malaysia, The Centre of Muslim World Policies, วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ได้ประชุมวิชาการนานาชาติThe 1st AMRON International Conference Entitled “ASEAN Islamic Education: Change from within through Education”ระหว่างวันที่ 2 - 3 ตุลาคม 2553 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
 
การจัดประชุม นานาชาติ AMRON ครั้งนี้ภายใต้หัวข้อ "มุสลิมในประเทศอาเซียนกับการศึกษา : เปลี่ยนแปลงจากภายในผ่านการศึกษา" ซึ่งมีวัตถุประสงค์1. เพื่อให้ผู้ที่สนใจต่อประเด็นการพัฒนาการศึกษาอิสลามศึกษาจากภายในประเทศและนานาชาติได้มารวมกันบนเวทีวิชาการ2. กระตุ้นวงการศึกษาอิสลามศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจด้านอิสลามศึกษา และแบ่งปันประสบการณ์ตรงจากการจัดการศึกษา ระหว่างบุคลากรทางการศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจจากทุกชนชาติ ศาสนา ทั้งภาครัฐและเอกชน3. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา นักเรียน และผู้สนใจได้เรียนรู้หลักคิด และแนวปฏิบัติในการพัฒนาอิสลามศึกษาในลักษณะที่เป็นองค์รวม และสามารถนำความรู้ประยุกต์สู่แนวนโยบายของสถาบันได้และ4. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของทีมงานวิจัยด้านอิสลามศึกษา ระหว่างเครือข่ายโรงเรียนอิสลาม องค์กร มหาวิทยาลัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะนำสู่ความเข้าใจและสันติร่วมกันทั่วทั้งกลุ่ม ประเทศอาเซียน
 
จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวพบว่า
 
1.    ผู้เข้าร่วมประชุม
ผู้บริหาร อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา บุคลากรในสถาบันการศึกษา โรงเรียน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนและผู้สนใจทั่วไปจากประเทศไทยกว่า 2000 คน ขณะที่นักวิชาการจากกลุ่มประเทศอาเซี่ยนเข้าร่วมกว่า 50 คนได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆเช่น
·       ประวัติศาสตร์ของการศึกษาในอิสลาม (Historical aspects of Islamic education)
·       หลักพื้นฐานทางการศึกษาอิสลามศึกษา (Fundamentals of Islamic education)
·       การศึกษาอิสลามและบทบาทในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับโลกกว้าง (Islamic education and its roles and social interactions)
·       การบูรณาการการศึกษาอิสลามเข้ากับระบบการศึกษากระแสหลัก (Integrating Islamic education into the main stream educational system)
·       กระบวนการและวิธีการในการศึกษาอิสลาม (Islamic educational methodologies)
·       การศึกษาอิสลามเพื่อความสันติและเสถียรภาพในพื้นที่ (Islamic education for peace and regional stability)
·      การบริหารจัดการการศึกษาอิสลามและสถาบันสอนศาสนาอิสลาม (Management in Islamic education and Islamic schools)
·       จิตวิทยาของการศึกษาอิสลาม (Psychological aspects of Islamic education)
·       กลวิธีในการเรียนรู้ในการศึกษาอิสลาม (Learning methodologies in Islamic education)
·       มุมมองทางด้านเศรษฐกิจ-สังคมในการศึกษาอิสลาม (Socio-economical aspects of Islamic education)
·       นวัตกรรมทางการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
 
 
2.    มติร่วมกันในประเด็นดังต่อไปนี้
 
            2.1.มุสลิมในประเทศอาเซียนกับการศึกษา
ประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นที่พำนักของมุสลิมที่เป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (มากกว่า 260 ล้านคน) สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ การขยายตัวของอิสลามในแถบนี้ ซึ่งได้เริ่มต้นอย่างชัดเจนในคริสต์ศตวรรษที่ 14 มาจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นไปอย่างสันติ ค่อยเป็นค่อยไปและมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนที่อื่นเลย ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของการขยายตัวของอิสลามและมุสลิมในแถบนี้ก็คือ การเผยแผ่ศาสนาที่เน้นระบบการศึกษาที่ไม่เป็นทางการ มีการดัดแปลงให้เข้ากับพื้นที่ และการปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ซึ่งรู้จักกันในนาม ปอเนาะ ถึงแม้ว่ากระแสโลกในปัจจุบันซึ่งเป็นผลพวงของความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสารที่ไร้พรหมแดน ทำให้เป็นที่ยอมรับกันว่ามีเพียงระบบการศึกษาสมัยใหม่เท่านั้นที่สามารถรองรับภาระในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคนี้ได้ แต่สำหรับบริบทของมุสลิมแล้ว ระบบการศึกษาแบบปอเนาะยังคงดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และกลับมีการเติบโตขยายตัวในอัตราที่สูงมากในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
 
2.2 หลักการและความสำคัญของการประชุมวิชาการ AMRON
ในโลกที่ไร้พรหมแดนซึ่งมีการแข่งขันในเรื่องต่างๆ ในการดำเนินชีวิตมนุษย์ เช่น เศรษฐกิจ การเมือง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเรื่องอื่นๆแทบทุกเรื่อง ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมของมุสลิม (ปอเนาะ) จะมีลักษณะพิเศษหลายอย่าง ที่เมื่อประกอบเข้าด้วยกัน จะสามารถสร้างความเป็นเอกภาพและสร้างเข้มแข็งให้กับชุมชนมุสลิมได้จากภายในชุมชนเอง ระบบการศึกษาแบบปอเนาะจึงเป็นเสมือนพลังที่ซ่อนเร้นของชุมชนมุสลิมตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา แต่เมื่อวิวัฒนาการของโลกได้ทำให้บริบททางสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ถ้าจะให้สามารถขับเคลื่อนมุสลิมต่อไปเพื่อให้ผ่านศตวรรษนี้และถัดๆ ไปได้อย่างราบรื่น จำเป็นที่ระบบการศึกษาแบบดังเดิมนี้จะต้องถูกปรับเปลี่ยนให้มีการเปิดกว้างมากขึ้น บูรณาการเข้ากับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี รวมทั้งจะต้องใช้กระบวนการเรียนรู้สมัยใหม่มากขึ้น การขยายตัวและความนิยมในการส่งบุตรหลายเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเร็วๆนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความหวังและความเชื่อมั่นของมุสลิมที่มีต่อระบบการศึกษาที่มีการบูรณาการศาสนาเข้าไปอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะแก้ปัญหาทางด้านศีลธรรมที่รุนแรงและเรื้อรังอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงแม้แต่กระทั่งในสังคมมุสลิมที่ยึดมั่นในแนวคิดและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่นก็ตาม
 
การขยายตัวอย่างดอกเห็ดของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามซึ่งพัฒนามาจากปอเนาะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเร็วๆนี้ ไม่เพียงแต่เป็นอาวุธสำคัญในการเผชิญหน้ากับปัญหาความเสื่อมโทรมทางด้านศีลธรรมโดยรวม แต่อีกมุมหนึ่งกลับได้สร้างสุญญากาศของคุณภาพการศึกษาขึ้นมาพร้อมๆ กัน ซึ่งจะต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ทั้งด้วยมาตรการระยะสั้นและระยะยาว โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของสังคมได้ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านบุคลากรที่ผ่านกระบวนศึกษาที่มีเชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือได้ผ่านการฝึกอบรมเพื่อเตรียมเป็นผู้สอนที่มีประสิทธิผล หลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทผู้เรียนและกระแสของโลกปัจจุบัน กระบวนการเรียนการสอนสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นต้น ในความพยายามที่จะแก้ปัญหาอันเนื่องจากการพัฒนาที่ไม่สมดุลนี้ ได้มีนักวิจัยจำนวนมากกำลังศึกษาวิจัยเพื่อให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับธรรมชาติของการศึกษาในสังคมมุสลิม และเพื่อจะสามารถนำเสนอแนวทางในการพัฒนาการศึกษาในสังคมมุสลิมอย่างเป็นรูปธรรม การสนับสนุนจากภาครัฐและแหล่งเงินทุนวิจัยอื่นๆที่ต่อเนื่องและเพียงพอตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการสะสมขององค์ความรู้ ประสบการณ์ ทั้งที่เป็นแบบอย่างของความสำเร็จและความล้มเหลว เกิดขึ้นอย่างมาก ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่จะต้องนำความรู้ที่กระจัดกระจายเหล่านี้ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิเคราะห์สังเคราะห์ให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาการศึกษาในสังคมมุสลิมที่มีคุณภาพและมีความยั่งยืน และที่สำคัญไปยิ่งกว่านั้นก็คือ ความพยายามที่จะค้นหาว่า ทำอย่างไรที่จะสามารถสร้างสรรค์การศึกษาที่เชื่อมโยงกับศาสนาอิสลาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกันระหว่างกลุ่มชนที่มีความแตกต่างทางด้านศาสนา และเพื่อที่จะวางรากฐานความสันติและกลมกลืนในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนตลอดไป
 
3. ข้อเสนอของ CRP –PROJECT
               จากการดำเนินโครงการปฏิรูปหลักสูตรโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ส่วนของประเทศไทย (CRP-Project), (ซึ่งผู้เขียนเป็นคณะทำงานร่วมอยู่ด้วย)ตลอดระยะเวลา ๓ ปี ได้สรุปผลต่อที่ประชุมว่า “การศึกษาควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเจริญเติบโตอย่างสมดุลของบุคลิกภาพมนุษย์ โดยการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ ความคิด เหตุผล ความรู้สึก และประสาทสัมผัส    ควรมุ่งเน้นให้มนุษย์เจริญเติบโตไปในทุกๆ ด้าน เช่น ด้านจิตวิญญาณ สติปัญญา การจินตนาการ สรีระ วิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ทั้งปัจเจกบุคคล และส่วนรวมแล้วโน้มน้าวด้านต่างๆ เหล่านี้ ไปสู่ความดีงาม และการบรรลุถึงความสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาคือ การยอมจำนนต่ออัลลอฮฺอย่างสิ้นเชิง ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล สังคม และ มนุษยชาติ
 
ซึ่งสอดล้องกับจุดมุ่งหมายการศึกษาของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ในมาตราที่ ๖   “การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อให้คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข”
                       
ความสมดุล และ ความสมบูรณ์ของมนุษย์เป็นประเด็นหลักของจุดมุ่งหมายทั้งสองนี้จะเกิดขึ้นได้นั้นควร มุ่งเน้นการจัดการศึกษาภายใต้แนวคิดอิสลามานุวัตรองค์ความรู้( Islamization of Knowledge) ซึ่งสามารถบูรณาการอิสลามในทุกองค์ความรู้ผ่านการทบทวนรายวิชาที่จัดสอนในหลักสูตร ปฏิรูปหลักสูตร โดยยึดหลักการข้างต้นพร้อมกับจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาตามแนวคิดดังกล่าว ในขณะเดียวกันทางโครงการได้เสนอรูปแบบหรือ Model ต้นร่าง การบูรณาการโครงสร้างหลักสูตร ตามแนวคิดของ CRP-PROJECT ดังนี้
 
 
 

 
บูรณาการอิสลามทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้
-                     กลั่นกรองเนื้อหาทุกกลุ่มสาระ โดยครูผู้สอนสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์เนื้อหา และแยกแยะได้ว่าส่วนใดที่ไม่ตรงกับหลักการศาสนาอิสลาม และความจริงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
-                     บูรณาการบรรยากาศในโรงเรียนและในห้องเรียนเป็นบรรยากาศแบบอิสลามเต็มรูปแบบ
-                     บูรณาการโครงสร้างหลักสูตร
-                     บูรณาการเนื้อหาวิชา
-                     บูรณาการตำราเรียน/และสื่อการจัดการเรียนรู้
-                     บูรณาการกิจกรรมการจัดการเรียนรู้
 
        

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net