Skip to main content
sharethis

 


โซรยา จามจุรี

 

“โซรยา จามจุรี” นักวิชาการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ผู้มีบทบาททำงานด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่เริ่มต้นสถานการณ์เมื่อปี 2547 เล่าถึงพัฒนาการของงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและมองอนาคตการเยียวยา ด้วยมุมมองที่น่าสนใจ ดังนี้

..........................

พัฒนาการของงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
Step1 มีบทบาทตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในลักษณะองค์กรสงเคราะห์ช่วยเหลือตามความต้องการหรือความจำเป็นเร่งด่วนของผู้ได้รับผลกระทบ โดยทำงานร่วมกับคุณโสภณ สุภาพงษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานเครือข่ายครอบครัว และทำงานร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ชื่อกลุ่มเยาวชนใจอาสา

เป็นการทำงานก่อนที่รัฐจะมีกลไกการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเราเข้าไปช่วยก่อน แบบไปช่วยเหลือกันถึงบ้าน ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือ ให้ทุนการศึกษา

คุณโสภณ ได้ตั้งกองทุนโดยระดมเงินจากคนที่มีน้ำใจทั่วประเทศ มอบให้ผู้ได้รับผลกระทบ แล้วเราก็ดูความจำเป็นและความต้องการเร่งด่วนของเขาว่ามีแค่ไหน เช่น ไม่มีนมก็ให้นม อยากได้จักรเย็บผ้าทำงานอยู่กับบ้าน เราก็ให้จักรเย็บผ้า

หรือตกหล่นในสิทธิการได้รับการเยียวยา เพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังไม่ลงความเห็นว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เราก็จัดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับสิทธิเหล่านั้น ทำให้เขาได้รับความช่วยเหลือ

Step2 หลังจากการเยี่ยมบ้านตาม Step1 แล้ว เมื่อเขารู้จักเรา ไว้ใจเราแล้ว เราก็เชิญเขามาพบปะกัน เชิญเขารวมกลุ่ม เชิญเขาให้มาบำบัดรวมกัน คนที่มีบทบาทสำคัญคือคุณนารี เจริญผลพิริยะ นักสันติวิธี อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นคนที่สอง โดยมาเป็นวิทยากร

Step3 คือ ให้เขาตั้งกลุ่มขึ้นมา หลังจากได้พบปะรู้จักกันแล้วในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบด้วยกัน ให้เขาได้ทำกิจกรรมด้วยกัน เป็นการจัดตั้งกลุ่มเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือกันเองได้ ใช้กลุ่มในการขับเคลื่อนงาน เพื่อให้มีการช่วยเหลือในเรื่องการส่งเสริมอาชีพ เช่น มีการของบสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.

เมื่อได้งบประมาณมาก้อนหนึ่งเพื่อมาทำเป็นเงินยืม ช่วยเหลือเรื่องอาชีพกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ทำงานด้วยกันนอกจากกลุ่มตากใบ ก็มี 28เมษา กลุ่มรายวัน

Step4 เป็นการสร้างศักยภาพ ทั้งกลุ่มและแกนนำ พัฒนาทักษะความรู้ให้พวกเขา คนที่มีแววหน่วยก้านดี ก็ให้เป็นแกนนำ ทำให้เราเริ่มมองเห็นตัวแกนนำขึ้นมา และเป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นที่รู้จักไม่เฉพาะแค่ในแวดวงผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น เช่น กะแยนะตากใบ หรือนางแยนะ สะแลแม ซึ่งเคยได้รับรางวัลมาแล้ว นั่นคือตัวอย่างที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในสังคม

การทำให้สังคมได้รู้จักกับคนเหล่านี้ จะมีประโยชน์ตรงที่ทำให้เขาปลอดภัย เพราะเขาจะอยู่ในสายตาของสังคม ใครจะทำอะไรก็ต้องคิดหนัก ซึ่งการสร้างศักยภาพในคนเหล่านี้เป็นกลอุบายอย่างหนึ่ง ส่วนรางวัลที่เขาได้รับก็จะเป็นความภาคภูมิใจของเขา การทำให้เขารู้สึกปลอดภัย ทำให้เขามั่นใจที่จะขับเคลื่อนงานมากขึ้น ตรงนี้สำคัญมาก

Step5 เราก็เอาเขามาสื่อสารกับสังคม โดยมาบอกเล่าถึงผลกระทบที่ได้รับ เขาสามารถก้าวผ่านมาได้อย่างไร มุมมองต่อสถานการณ์ เรื่องการคลี่คลายคดี ทัศนะต่อการยุติเหตุการณ์ เพราะไม่อยากให้คนอื่นได้รับผลกระทบอีก

รูปแบบสื่อสารกับสังคมมีหลายรูปแบบ เช่น การทำดีวีดี โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคารโลก ซึ่งมีเนื้อหายาวประมาณครึ่งชั่วโมง จำนวน 500 ชุด แจกจ่ายให้กับเครือข่าย

ส่วนรูปแบบการสื่อสารที่เป็นวงกว้างมากขึ้น ก็จะเป็นรายการวิทยุ เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ ทางสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยนครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

งานเยียวยาของเราตอนนี้อยู่ในขั้นนี้อยู่ เป็นการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน แล้วก็ยกระดับงานขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วถ้างานอะไรที่คนอื่นทำแล้วหรือรัฐทำแล้ว เราก็จะหลีกไป เราจะทำงานให้เฉพาะคนที่จำเป็นหรือรัฐไม่ทำ คนอื่นก็ไม่ทำ

เมื่อเราตั้งกลุ่มช่วยเหลือกันเอง เราก็เสริมที่เป็นความต้องการของเขา ที่พบความต้องการมีสองเรื่องหลักๆ คือการศึกษาของลูก ซึ่งความต้องการตรงนี้รัฐเข้ามาตอบสนองในหลักเกณฑ์การเยียวยาแล้ว

ความต้องการที่สองคืออาชีพเสริม เพราะรายได้ที่ทำงานประจำอย่างเดียวไม่พอ เป็นอาชีพเสริมที่สอดรับกับความเป็นแม่และอยู่บ้านเลี้ยงลูกได้ ความต้องการที่เราเจอ เช่น เขาต้องการตัดเย็บอยู่กับบ้าน แต่ขาดจักร เราก็ไปประสานติดต่อเอาจักรเย็บผ้ามาให้ เขาขาดตลาดเราก็ช่วยหาตลาดให้

ตัวอย่างเช่น กระเป๋าผ้าที่เย็บจากผ้าถุง เหมือนที่กะแยนะ ตากใบทำ เราก็ริเริ่มโดยให้หาวัตถุดิบบางอย่างในพื้นที่ที่เราอาจมองข้ามไป เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ผ้าโสร่งที่ชาวบ้านใช้กัน ถ้าเอามาทำกระเป๋า มันก็ใช้ได้กว้างขึ้นและมีตลาด เป็นสินค้าที่มีสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นท้องถิ่น

ตอนแรกให้ทำง่ายๆ ไม่ใช้ทักษะฝึกมือมาก ไม่ซับซ้อน เพื่อให้ขายได้ง่ายๆ ได้เงินไวๆ ต้นทุนก็ไม่เยอะ เราช่วยหาทุนและตลาด เพราะไปที่นั้นไปที่นี่บ่อย เริ่มมีคนรู้จักและมีสั่งเยอะซื้อเยอะขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอด

ประกอบกับดาราก็ใช้ในละครโทรทัศน์ทางช่อง 9 เรื่อง “อุมมี” เรารู้จักกับผู้กำกับก็ให้เอาไปให้นางเอกถือในละคร เอาไปแจกนักข่าว ก็มีคนรู้จัก หลายหน่วยงานก็สั่งซื้อ เช่น ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หลายคนก็ช่วยกัน ทำให้ชาวบ้านมีการมีงานทำ

จากนั้นเราก็เอาเงินบริจาคมาตั้งเป็นกองทุน เพื่อใช้เป็นทุนรอน เพิ่งเริ่มต้นยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน จะนำมาส่งเสริมอาชีพ โดยให้ชาวบ้านมาบริหารจัดการเอง

อนาคตการเยียวยา
ถ้าเป็นการเยียวยาจากภาครัฐต้องเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ เพราะยังมีเสียงซุปซิบนินทาเรื่องพวกนี้อยู่

การเลือกปฏิบัติ เช่น ถ้าผู้ได้รับผลกระทบเป็นชาวพุทธก็จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแบบหนึ่ง คนที่นับถือศาสนาอิสลามก็แบบหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็อีกแบบหนึ่ง ประชาชนก็อีกแบบหนึ่ง

ภาครัฐต้องทบทวนเรื่องการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ใหม่ เพราะช่วยช่วยเหลือก้อนใหญ่ที่ให้ชาวบ้านที่เสียชีวิตเพียง 100,000 บาท แต่ถ้าเป็นฝ่ายรัฐตายให้ 500,000 บาท ทำไมไม่เท่าเทียมกัน เป็นธรรมหรือไม่ เพราะฝ่ายรัฐมีเงินช่วยเหลือส่วนอื่นอยู่ ทำให้ได้รับมากกว่าชาวบ้านอยู่แล้ว

เงินช่วยเหลือก้อนนี้ เป็นเงินช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน จึงน่าจะเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกัน ตอนนี้ความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบไม่ได้อยู่ที่เจ้าหน้าที่ แต่มาอยู่ที่ประชาชน ซึ่งจากสถิติการเสียชีวิตในสถานการณ์ความไม่สงบ สถิติผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือประชาชน

ผู้เสียชีวิตอันดับสองคือทหาร อันดับสามคือตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่พวกนี้ยังมีโอกาสป้องกันตนเอง เพราะมีอาวุธอยู่ในมือ มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม แต่ประชาชนไม่มีโอกาสป้องกันตัวเอง ผู้ก่อความไม่สงบที่เกลียดรัฐ แต่โจมตีรัฐไม่ได้ ก็มาทำร้ายประชาชน ประชาชนต้องกลายเป็นเหยื่อ โดยไม่มีโอกาสป้องกันตัวเอง จึงทำให้ตายกันมากขึ้น

ในเมื่อรัฐต้องดูแลประชาชน ชีวิตก็มีค่าเท่ากัน ดังนั้นก็ต้องช่วยเหลือเท่ากัน หลักเกณฑ์การช่วยเหลือก็ต้องปรับเปลี่ยนได้แล้ว เพราะหลักเกณฑ์ปัจจุบันมาจากฐานคิดที่เจ้าหน้าที่รัฐเสี่ยงกว่า แต่เมื่อดูตัวเลขผู้เสียชีวิตตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว

ประเด็นที่สอง คือต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมชาวบ้านที่ตายโดยรีบสรุปว่าเป็นเรื่องส่วนตัว จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา

มีอยู่กรณีหนึ่งที่เราลงไปทำวิจัย มีอุสตาซ (ครูสอนศาสนาอิสลาม) สองคนมาจากปอเนาะ (โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม) เดียวกัน ถูกยิงตาย คนหนึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่า เป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ต่อมาอีกคนหนึ่งก็ตาย เจ้าหน้าที่บอกว่า ตายจากสถานการณ์ความไม่สงบ ครอบครัวจึงได้รับการช่วยเหลือ

สำหรับคนแรกนั้น เจ้าหน้าที่ต้องบอกครอบครัวให้ได้ว่า ตายเพราะอะไร ไม่ใช่ปล่อยให้คลุมเครือ ซึ่งต่างจากรายที่สอง ทั้งที่ยังจับคนก่อเหตุทั้งสองคนไม่ได้ แจกแจงปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ จึงทำให้คนคับแค้นใจและรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม

กรณีแบบนี้มีอยู่ประมาณ 500 กรณีที่ไม่ยังเคลียร์และไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ ข้อมูลนี้มาจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กำลังตรวจสอบอยู่ บางกรณีพิจารณากันข้ามปีเลยกว่าจะเคลียร์และให้การช่วยเหลือได้ ซึ่งการแก้ปัญหานี้ ต่อให้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

บทบาทของภาคประชาชนต่ออนาคตการเยียวยา
อะไรที่รัฐทำแล้วก็อย่าไปทำ อะไรที่คิดว่ารัฐบกพร่องอยู่ ก็ต้องเสนอแนะ ผลักดันให้รัฐทำให้ถูกต้องตามที่เราเห็น

ทั้งนี้ มองว่างานด้านการเยียวยา ต้องเป็นงานด้านสันติวิธี เพราะเป็นเรื่องที่มองไม่เห็นและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เวลาคิดก็ต้องคิดละเอียด ซึ่งต้องใช้เวลาและความไว้วางใจ ทำงานกับผู้สูญเสียในเชิงลึกมากขึ้น

ถ้าเราสามารถคลายความโกรธเกลียด คับแค้น อยากจะล้างแค้นเอาคืน ซึ่งมีอยู่ในกลุ่มที่ถูกดำเนินคดี ถ้าลดเรื่องพวกนี้ได้และหาทางออกที่ถูกต้องเหมาะสม ในรูปแบบสันติวิธี เป็นอะไรที่สังคมควรทำ เพราะจะช่วยยุติหรือช่วยยับยั้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งกรณีนี้มีเยอะ

ในชุมชนที่เราทำวิจัยอยู่ มีคนตายมากกว่า 10 คน การตายแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือคนที่อยู่ฝ่ายรัฐกับฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ

เราเห็นการตายในลักษณะที่เป็นการตอบโต้ไปมาระหว่างสองฝ่าย โดยบางครอบครัวเหลือแต่ผู้หญิง ถ้าบ้านไหนยังมีผู้ชายอยู่ ก็ต้องให้ไปอยู่ที่อื่น เพราะถ้ายังอยู่ จะไม่ปลอดภัย

นี่คือสิ่งที่ท้าทายสำหรับนักประชาสังคม เพราะความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจ ความโกรธเกลียดของกลุ่มคนเป็นทายาท ซึ่งเราจะเขาไปเพื่อลดความหวาดระแวง ความโกรธเกลียดชิงชัง โดยพยายามหาทางเชื่อมร้อยระหว่างคนที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นเครือญาติกัน แต่ต้องแตกหักกับเรื่องแบบนี้

ท้ายที่สุดแล้วก็สูญเสียกันทั้งสองฝ่าย เป็นแบบนี้ไปไม่จบไม่สิ้น และจะมีคนตายมากขึ้นเรื่อยๆ มันอเนจอนาถมา นี่เป็นงานที่ภาคประชาสังคมต้องทำ แต่ก็เสี่ยงอันตราย รัฐมาทำไม่ได้หรอก

มันเป็นงานที่ต้องทำในระดับชุมชน ซึ่งแนวความคิดนี้ เคยเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. ที่ให้ทำเป็นชุมชนบำบัด แต่ยังไม่มีใครทำจริงๆ จังๆ ยังไม่มีตัวอย่าง

ชุมชนที่ทำวิจัยอยู่ เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงที่เป็นมุสลิมและพุทธ ที่บาดหมางและหวาดระแวงกัน ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ปัญหาเริ่มจากคนกันเองที่เป็นญาติพี่น้อง แล้วขยายไปสู่ชุมชนต่อชุมชน ตอนนี้มีความหวาดระแวงกันไปทั่วในระดับชุมชน ทั้งระดับครอบครัว หรือชุมชนต่อชุมชน เช่น ชุมชนพุทธกับมุสลิม

เพราะฉะนั้นงานเยียวยาต้องไปให้ถึงระดับนั้นให้ได้ นี่คืองานที่ท้าทายของเรา แต่ยังไม่มีใครทำ เพราะมีความเสี่ยง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net