สัมภาษณ์ เดวิด สเตร็คฟัส ว่าด้วยกฎหมายหมิ่นฯ และสังคมการเมืองไทย

 

เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพิ่งออกหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ “Truth on Trial in Thailand: Defamation, treason, and lese-majeste” (การดำเนินคดีกับความจริงในเมืองไทย: กฎหมายหมิ่นประมาท, ข้อหากบฎ, และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Routledge เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ และสังคมการเมืองไทย


1. ประวิตร: คนจำนวนมากที่สนับสนุนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเชื่อว่า สถาบันกษัตริย์ไทยมีลักษณะพิเศษ จึงควรมีกฎหมายหมิ่นฯ มาปกป้องคุ้มครอง คุณเห็นว่าอย่างไร
เดวิด: คำถามที่เห็นอยู่ทนโท่คือ: “ถ้าสถาบันกษัตริย์เป็นที่รักที่เทิดทูนยิ่ง ทำไมจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายหมิ่นฯ ซึ่งมีบทลงโทษหนักฉกรรจ์ และรุนแรงอย่างที่สุดประเทศหนึ่งในโลก” ใช่ สถาบันกษัตริย์อาจมีลักษณะพิเศษบางประการ แต่กฎหมายที่คุ้มครองสถาบันก็เช่นกัน หลายครั้งที่กฎหมายนี้ขัดแย้งโดยตรงกับความปรารถนาอยากให้สังคมเป็นประชาธิปไตยของคนไทยจำนวนมาก การเชื่อว่า บางสิ่งบางอย่างมีลักษณะพิเศษเฉพาะมักนำไปสู่สภาวะการยกเว้น (sense of exceptionalism) ซึ่งทำให้เรามืดบอดต่อกระแสระดับสากล [ที่พัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น] และกงล้อของประวัติศาสตร์ [สู่ความเป็นสังคมสมัยใหม่อันเป็นอารยะ] ได้อย่างง่ายดาย

2. คนไทยจำนวนหนึ่งอ้างว่า คนต่างชาติไม่เข้าใจ และไม่สามารถเข้าใจสังคมไทยได้ หนังสือของคุณเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการวาดภาพสังคมไทย โดย “ฝรั่ง” ผู้เป็นคนนอกและผู้ไม่รู้หรือไม่
ทุกวันนี้ ผมไม่แน่ใจว่า จะมีใครสามารถเข้าใจว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นในสังคมไทยได้อย่างถ่องแท้ – ไม่ว่าคนไทยหรือเทศ วาทกรรมเรื่องความเป็นไทยได้เดินเข้าสู่พรมแดนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน (terra incognita) จึงไม่มีใครที่มีมุมมองอันเป็นอภิสิทธิ์เหนือผู้อื่น (privileged perspective) อีกต่อไป สำหรับหนังสือเล่มนี้ผมคิดว่า มันได้พยายามทำความเข้าใจและบรรยายถึงรากประวัติศาสตร์ของมุมมองต่อความจริงแบบ “ไทย” และในบทสรุปของหนังสือก็ได้วิเคราะห์บรรยายระบบ “ไทย” อันนี้ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับวาทกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานกฎหมายอันเป็นสากลสมัยใหม่ ผมคงไม่อ้างว่ามุมมองในหนังสือเป็นมุมมอง “ที่ถูกต้อง” มันเป็นเพียงหนึ่งมุมมองแต่ก็เป็นมุมมองที่สอดคล้องกับมุมมองของคนจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย – ทั้งไทยและเทศ – ผู้ซึ่งมีความจริงใจปรารถนาจะเห็นสิ่งที่ดีที่สุดเกิดแก่ประชาชนและประเทศนี้

3. หลายทศวรรษที่แล้ว สื่อกระแสหลักไทยเคยรายงานและเขียนข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างเท่าทันและวิพากษ์ มาวันนี้สื่อเหล่านี้เซ็นเซอร์ตนเอง แม้กระทั่งในเรื่องที่มีนัยยะเชิงวิพากษ์เพียงเล็กน้อย โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวง คุณจะอธิบายประกฎการณ์นี้ได้อย่างไร
มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจช่วยอธิบายการเปลี่ยนแปลง ข้อแรก คือการเพิ่มโทษกฎหมายหมิ่นฯ หลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา (พ.ศ. 2519) เผด็จการทหาร ณ เวลานั้นได้เพิ่มโทษขึ้นเป็น จำคุก 3 – 15 ปี ซึ่งมากกว่าสองเท่าของระดับโทษในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และที่สำคัญที่สุดได้แก่ เหตุการณ์ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ ค.ศ.1960 กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยไทยส่วนใหญ่ถอยหลังลงคลอง และมีการรื้อฟื้นให้สถาบันกษัตริย์มีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอีกครั้ง การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้การพูดถึงประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ยากมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเทศไทย ขาดซึ่งพลวัตทางปัญญา และศิลปะอย่างที่มันควรจะเป็น ผลอันน่าสะพรึงกลัวของกฎหมายนี้ที่มีต่อสื่อเป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ หากทว่าสื่อกระแสหลักก็ดูเหมือนจะล้มเหลวในการปฏิบัติภารกิจทางประวัติศาสตร์เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่านี้

4. ทำไมสังคมไทยจึงดูเหมือนไม่สามารถหาฉันทามติเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ ได้
ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ฝ่ายขวาฉีกสังคมไทยออกโดยการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” หรือ “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” การเป็นกบฎคือการฝักใฝ่อุดมการณ์สาธารณรัฐนิยม หรือแม้กระทั่งการไม่ยอมแสดงความจงรักภักดีอย่างเต็มร้อยต่อสถาบันสูงสุด วันนี้พวกอนุรักษ์นิยมมักยัดเยียดเหมารวมว่า คนที่มีอุดมการณ์สาธารณรัฐนิยม คนที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรือแม้กระทั่งคนที่ตั้งคำถามต่อกฎหมายหมิ่นฯ เป็นพวกเดียวกัน ในสภาพเช่นนี้ ฉันทามติจึงเกิดขึ้นไม่ได้

สังคมไทยยังคงเดินหน้าตราหน้าผู้เห็นต่างว่าเป็นปีศาจอย่างที่มันได้เคยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาในอดีต และคนไทยก็ถูกแบ่งเป็นผู้รักชาติ และคนขายชาติ

5. พวกเจ้านิยมจำนวนหนึ่งเชื่อว่า หากปราศจากกฎหมายหมิ่นฯ สถาบันกษัตริย์จะสั่นคลอน ความกังวลเช่นนี้มีเหตุผลมากน้อยเพียงใด
ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายหมิ่นฯ เพื่อกดไม่ให้มีการวิพากษ์ และแสดงความเห็น รวมถึงการตรวจสอบจากสาธารณะ – ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะสำคัญพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย – นั่นก็แสดงว่า ระบบนี้มันไม่มั่นคงอย่างยิ่งยวดอยู่แล้ว ตัวกฎหมายหมิ่นและการใช้กฎหมายนี้นี่แหละที่สร้างความไม่มั่นคง เพราะมันปิดบังความจริงของสถานการณ์อันเป็นจริง ผมเชื่อว่า ถึงแม้สังคมไทยตอนนี้จะแตกแยกและบอบช้ำ แต่มันก็สามารถดำรงอยู่ต่อไป หรือแม้กระทั่งเติบโตหากยอมรับโอสถแห่งสัจจะ ไม่มีสถาบันสาธารณะใดที่จะได้ประโยชน์จากการที่สังคมนั้นไม่สามารถใช้ตรรกะในที่สาธารณะได้ พวกที่ต้องการปกป้องเจ้าจากการตรวจสอบสาธารณะกำลังทำให้สถาบันฯ อ่อนแอลง และเสี่ยงต่อการคงอยู่ต่อไปไม่ได้ในอนาคต

6. มีอะไรที่พิเศษเกี่ยวกับการจับกุม จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ด้วยกฎหมายหมิ่นฯ เมื่อเร็วๆ นี้หรือไม่
การจับกุมตัวจีรนุชชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการใช้กฎหมายหมิ่นฯ อย่างแรก ตำรวจออกมายอมรับว่า ได้ออกหมายจับมากว่าหนึ่งปีแล้วก่อนที่จะจับกุมตัวจีรนุชที่สนามบิน พวกเขาอ้างว่า ต้องใช้วิธีนี้เพราะมันเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหนัก ถ้าเป็นอาชญากรรมฉกรรจ์จริง ตำรวจก็มีเวลามากมายก่อนหน้านี้ในการจับกุมจีรนุชที่ออฟฟิศ ซึ่งเธอก็ถูกดำเนินคดีไปแล้วอีกคดีก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้เธอถูกจับระหว่างเดินทางกลับจากต่างประเทศ เธอคงเป็นคนที่สี่หรือห้าที่ถูกจับด้วยวิธีที่เว่อร์เกินเหตุเกินความจำเป็น ประการที่สอง นี่เป็นอีกตัวอย่างของการใช้กฎหมายหมิ่นควบคู่ไปกับการใช้ พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ

7. เมื่อพิจารณาถึงพระชนมพรรษาที่สูงของในหลวง และความกังวลเรื่องการสืบทอดราชบัลลังก์ และวิกฤติการเมืองในปัจุบัน คุณคิดว่า จะมีการใช้กฎหมายหมิ่นฯ เพิ่มมากขึ้นหรือไม่
เป็นที่น่าเสียดายว่า ในสภาพความยุ่งเหยิงทางการเมืองในปัจจุบัน กฎหมายหมิ่นดูเหมือนจะเป็นที่นิยม ถูกนำมาใช้ในการเล่นงานฝ่ายการเมืองตรงข้าม โดยเฉพาะคนเสื้อแดงและผู้ที่เห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง กฎหมายหมิ่นมิได้เป็นเพียงคำขู่อันว่างเปล่า ในช่วงเวลา 5 ปีระหว่าง พ.ศ.2548-2552 ศาลชั้นต้นได้รับพิจารณาคดีหมิ่นฯถึง 430 คดี และตัดสินพิพากษา 231 คดี ในจำนวนนี้มีการอุทธรณ์ 39 คดี และต่อสู้ถึงชั้นศาลฎีกา 9 คดี จำนวนคดีหมิ่นฯได้เพิ่มขึ้นแบบติดจรวดในรัฐบาลปัจจุบัน เพิ่มถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ – ในปี 2552 ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องถึง 164 คดี การใช้กฎหมายอย่างขยันขันแข็งกับอาชญกรรมทางคำพูดที่ไม่รุนแรงและกับเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้ข้อกล่าวอ้างว่า สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยดูกลวงไปโดยปริยาย การใช้กฎหมายนี้จะขวางกั้นความพยายามในการสร้างความสมานฉันท์ เพราะที่จริงแล้ว กฎหมายนี้และการใช้กฎหมายนี้เป็นอุปสรรคอันหนึ่งในการสร้างความสมานฉันท์

8. ในหนังสือคุณเสนอว่า ชนชั้นนำไทย ได้แช่แข็งหรือฟอสซิลวัฒนธรรมไทยให้อยู่ในยุคตำนานปรัมปรา ทำไมพวกเขาจึงกระตือรือร้นที่จะทำเช่นนั้น
ผมได้เสนอไว้ว่า วัฒนธรรมการไม่รับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรง (culture of impunity) มีผลอย่างฉกรรจ์ต่อการที่สังคมไทยมองเรื่องความจริง รัฐประหารซึ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โรคความจำเสื่อมว่าใครเป็นฆาตกรสั่งสังหารหมู่ และความถดถอยของการใช้กฎหมายและหลักนิติรัฐ โดยเฉพาะหลังทศวรรษ 1950 ได้ส่งผลดั่งการทรมานและบิดเบือนสังคมการเมืองไทยจนกระทั่งแม้ความจริงง่ายๆ ก็มองไม่เห็น บ่อยครั้งที่สิ่งเหล่านี้ได้รับแรงสนับสนุนจากมุมมองผิดๆ ทางพุทธที่เรียกร้องให้เหยื่อของความรุนแรงให้อภัยและลืม แต่ผลลัพธ์ของการปฏิเสธความจริงทางประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง มีราคาค่างวดสูงยิ่ง และทำให้การสังหารหมู่ครั้งต่อไปเกิดขึ้นได้อีก

ประวัติศาสตร์ไทยถูกแช่แข็งไร้การเปลี่ยนแปลง ตกอยู่ในภาวะที่เหมือนอยู่ในละครน้ำเน่าที่ถูกฉายซ้ำซากประกอบด้วยตัวละครคนดีและคนชั่ว สภาพเช่นนี้แหละที่กฎหมายหมิ่นหลายชนิด – ซึ่งรวมถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีบทบาทสำคัญยิ่ง และนำไปสู่การถดถอยของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ตอนที่รัฐธรรมนูญ 2540 กระตุ้นให้กงล้อประวัติศาสตร์ไทยเคลื่อน กลุ่มอำนาจเก่าก็ออกมาแช่แข็งประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่ โดยการสนับสนุนรัฐประหาร [19 กันยา] 2549 แต่ทว่า เราก็ได้รับรู้หลังจากนั้นว่า รัฐประหาร 19 กันยาเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากไม่ยอมลืมและไม่ยอมรับ

จะว่าไปแล้วนี่ก็เป็นเรื่องที่ดูแล้วพอมีความหวัง การชำระประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่เป็นสิ่งจำเป็น การให้อภัยย่อมเกิดขึ้นได้ แต่จะเกิดหลังจากความจริงได้ถูกเปิดเผย และผู้บงการสังหารได้ถูกชี้ตัว และคนไทยได้มีโอกาสเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้ – ไม่ว่าจะเป็นกรณีดุซุงยอ กรณี 6 ตุลา [2519] พฤษภาทมิฬ ตากใบ หรือกรณี เมษา- พฤษภา 2553 การนิรโทษกรรมไม่สามารถเปลี่ยนความจริงที่ว่า การล้มล้างรัฐบาลพลเรือนโดยการก่อรัฐประหาร หรือการยิงประชาชนผู้ปราศจากอาวุธเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย ในประเทศอื่น ประชาชนได้ผลักดันให้มีการสร้างความกระจ่างต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรงโดยปราศจากความรับผิดชอบ กฎหมายหมิ่นฯ และกฎหมายหมิ่นรูปแบบอื่นได้ทำให้สาธารณะไม่สามารถเริ่มกระบวนการที่จะทำให้ประวัติศาสตร์กระจ่างขึ้นได้

9. กฎหมายหมิ่นฯ เกี่ยวข้องกับการสร้างวาทกรรมหลักเรื่องความเป็นไทยหรือไม่
ราวร้อยปีที่แล้ว อภิกระบวนการกลบเกลื่อนความต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาได้ถูกริเริ่มขึ้น ต่อมาภายหลังความแตกต่างทางเศรษฐกิจและการศึกษาก็ถูกกลบให้พร่ามัว ภายใต้วาทกรรมของความสามัคคีในชาติ มันเป็นความพยายามระดับช้างและได้ผลพอสมควรในช่องร้อยปีที่ผ่านมา กระบวนการนี้ก่อให้เกิดวาทกรรมเรื่อง “ความเป็นไทย” ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์รื้อฟื้นอุดมการณ์เจ้านิยม โดยเฉพาะหลังปี 2519 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทำให้สถาบันกษัตริย์กลับมาศักดิ์สิทธิ์ได้สำเร็จลงแล้วอย่างสมบูรณ์ ความจงรักภักดีต่อสถาบันได้กลายเป็นเสาเอกของความเป็นไทย ผลสืบเนื่องที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งของกระบวนการนี้ได้แก่ การที่ความเป็นไทยกลายเป็นเรื่องสำคัญที่บดบังสิ่งอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด ดังนั้นพอวาทกรรมเรื่องความเป็นไทยเริ่มร้าวและแตกหลุดทีละชิ้นสองชิ้น – ซึ่งดูเหมือนกำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน – มันจึงกลายเป็นเรื่องที่น่าวิตกกลัว อย่างที่เข้าใจได้ เพราะมันแทบไม่มีอะไรที่จะยึดเหนี่ยวรวมให้คนในประเทศไทยสามัคคี รัฐประหารได้ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของนิติรัฐและรัฐธรรมนูญ สังคมไม่มีรากวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกับความต่าง อย่างไรก็ตาม กระบวนการเผชิญหน้ากับความจริงทางประวัติศาสตร์เพื่อที่ความจริงจะได้ถูกเปิดเผยสามารถก่อให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่และหลักการใหม่ๆ ที่จะนำมาซึ่งความสามัคคีได้

10. อะไรที่คุณค้นพบระหว่างการทำวิจัยเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ แล้วทำให้คุณแปลกใจที่สุด
เรื่องที่น่าแปลกใจที่สุดเรื่องหนึ่งได้แก่ความสอดคล้องของหนังสือต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ตอนที่ผมเขียนวิทยานิพนธ์ในช่วงทศวรรษ 1990 เพื่อนผมล้อผมว่า ผมนั้นเลือกหัวข้อที่แสนเชย ไม่มีนัยยะสำคัญใดๆ เช่นเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทและกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือแม้กระทั่งเมื่อสำนักพิมพ์ Routledge ตัดสินใจให้ผมเขียนหนังสือเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เรื่องนี้มันก็ดูจะไม่เป็นข่าวเท่าไหร่ ตอนนั้นทักษิณ ชินวัตรซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ฟ้องร้องผู้คนด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย แต่พอกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลับมาเป็นข่าวในปี 2548 และเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีนับแต่นั้นมา มันก็กลายเป็นหนังสือที่เขียนให้จบได้ยาก! ในที่สุดผมเลือกที่จะจบตอนดารณี (ชาญเชิงศิลปกุล) ถูกศาลตัดสินจำคุก 18 ปี ที่น่าแปลกใจอีกเรื่องได้แก่ จำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลตั้งแต่ปี 2549 และความเงียบอย่างเหลือเชื่อขององค์กรสิทธิส่วนใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ต่อเรื่องนี้

11. หนังสือคุณจะถูกห้ามขายในเมืองไทยหรือไม่
คิดว่าไม่นะ! ทำไมถึงต้องห้ามล่ะ ผมไม่เชื่อว่า เนื้อหาในหนังสือละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกฎหมายหมิ่นอื่นๆ ของประเทศนี้ หรือขัดกับหลักศีลธรรมอันดีงาม และความสงบเรียบร้อยของสังคม ผมเชื่อว่า มันจะช่วยให้คนที่นิยมเจ้าที่ฉลาดและมองการณ์ไกลซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ของสถาบันในระยะยาวได้ฉุกคิด มันเป็นหนังสือวิชาการที่พยายามอธิบายความแตกแยกร้าวลึกของประเทศ และเสนอทางออกหลายประการเพื่อสังคมจะได้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเป็นประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แน่ล่ะ หากหนังสือเล่มนี้ถูกแบน มันก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความคิดหลักของหนังสือเล่มนี้ว่า ผู้มีอำนาจและคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยไม่สามารถอยู่ร่วมกับความเห็นต่างได้ แต่พวกเขาจะได้อะไรจากการห้ามไม่ให้ขายหนังสือนี้ ไม่หรอก ผมเชื่อในอนาคตของประเทศไทย (หรือสยาม) ที่เป็นประชาธิปไตย ที่สามารถอยู่ร่วมกับความต่างและมีความเข้าใจแบบใหม่ๆ ว่า พลเมืองที่ดีสามารถทำอะไรได้บ้าง

 

---------
ปล. เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ผู้สัมภาษณ์พบ อ.เดวิดโดยบังเอิญจึงได้ถามว่าหนังสือมีขายที่ร้านหนังสือภาษาอังกฤษหรือไม่ เดวิดตอบว่าเขาได้ลองติดต่อสอบถามที่ร้านหนังสือคิโนะคูนิยะและเอเชียบุ๊กส์ ปรากฎว่า ร้านหนังสือทั้งสองแห่งไม่ยอมตอบชี้แจงว่ามีหนังสือเล่มนี้ขายหรือไม่ในเมืองไทย

 

 

...........................................................
หมายเหตุ:
อ่านภาคภาษาอังกฤษได้ที่ http://prachatai3.info/english/node/2068
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท