Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“วาทกรรมของกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์14ตุลา ทิ้งไว้คือ ภาพนักศึกษาจึงถูกทำให้กลายเป็นพลังบริสุทธิ์ บริสุทธิ์จากนักการเมือง บริสุทธิ์จากทุน บริสุทธิ์จากอคติ บางครั้งความคาดหวังเลยเถิดไปถึงการบริสุทธิ์จากอุดมการณ์ใดๆ ซึ่งไม่เคยมีขบวนการใดในโลกที่บริสุทธิ์ได้เท่าเทียมกับวาทกรรมนี้”

คงไม่ช้าเกินไปหากจะเขียนเกี่ยวกับ เหตุการณ์ 14 ตุลา ...แม้รัฐบาลพยายามที่จะโฆษณาและสร้างวาทกรรมใหม่เกี่ยวกับ 14ตุลา ให้กลายเป็นการเฉลิมฉลองของการปกป้อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเหตุการณ์14ตุลา เป็นผลงานของลูกหลานชนชั้นกลาง พลังนักศึกษาอันบริสุทธิ์ เหตุการณ์14 ตุลาจบลงอย่างสวยงาม ตามมุมมองของนักประวัติศาสตร์รับใช้อภิสิทธิ์ชน มันเป็นเพียงความคลาดเคลื่อนของความเข้าใจของประชาชนผู้หวังดีทั้งฝ่ายรัฐบาลทรราชและนักศึกษา...ความปรองดองก็สามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยการคุยและทำความเข้าใจ...คำพูดเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำทุกวันเวลาหัวค่ำ จากสถานีวิทยุยานเกราะคลื่น 103.0 ผู้จัดรายการมักจะแสดงความเห็นว่า “เหตุการณ์รุนแรงกว่านี้(วันที่19พฤษภาคม) คนไทยเรายังอภัยกันได้เลย”

ในบทความนี้คงไม่แสดงถึงเบื้องหลังเบื้องลึกเหตุการณ์ 14ตุลา ทุกท่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ ในงาน อ.กุลลดา เกษบุญชู ซึ่งได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับ 14ตุลาที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจเศรษฐกิจระดับโลก มากกว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยของลูกหลานชนชั้นกลาง...ในหนังสือเล่มนี้ทำให้เราสามารถตีความต่อไปได้อีกว่า...อะไรคือเหตุผลของโศกนาฏกรรมในอีกสามปีถัดมา ที่คนไทย จำไม่ได้และก็ลืมไม่ลง งานของ อ.กุลลดา เป็นตัวอย่างงานชิ้นสำคัญที่มิค่อยมีการพูดถึงในการศึกษาเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม เท่าไรนัก ส่งผลให้ภาพของขบวนการนักศึกษาทั้งในแง่มุมมองประวัติศาสตร์ และการเคลื่อนไหวปัจจุบัน จึงเป็นภาพของพลังบริสุทธิ์ นักฝัน และความเป็นกลางแบบเลื่อนลอย

หากมองผ่านแว่นโครงสร้างเศรษฐกิจระดับโลกตามที่ ปรากฏในงานของ อ.กุลลดา พลังนักศึกษาจึงไม่ใช่แค่ คนหนุ่มสาวที่รับรู้ทฤษฎีตะวันตกและกระหายจะเปลี่ยนแปลงโลกตามตำรา ขบวนการนักศึกษาเองก็ไม่ได้เป็นอิสระ และต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบไร้ความหมาย มีเฉดสีที่มากมายในขบวนการ ทั้งนักศึกษาที่อิงกับสถาบันกษัตริย์ นักศึกษาแนวเสรีนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจาก CIA กลุ่มจัดตั้งของทหารฝ่ายตรงข้ามถนอมประภาส และกลุ่มนักศึกษาเอียงซ้ายที่มีการจัดตั้งจาก พคท. สิ่งหนึ่งที่ขบวนการนักศึกษารุ่นใหม่ต้องทำความเข้าใจ คำว่าชัยชนะของ14 ตุลาคม หาได้เกิดเพราะความสามัคคีบริสุทธิ์ ของนักศึกษาหากแต่เกิดจากกลุ่มอำนาจหนึ่ง สามารถนิยามว่า “เท่านี้คือชัยชนะ”ที่เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีมากกว่านี้....

วาทกรรมของกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์14ตุลา ทิ้งไว้คือ ภาพนักศึกษาจึงถูกทำให้กลายเป็นพลังบริสุทธิ์ บริสุทธิ์จากนักการเมือง บริสุทธิ์จากทุน บริสุทธิ์จากอคติ บางครั้งความคาดหวังเลยเถิดไปถึงการบริสุทธิ์จากอุดมการณ์ใดๆ ซึ่งไม่เคยมีขบวนการใดในโลกที่บริสุทธิ์ได้เท่าเทียมกับวาทกรรมนี้ แม้แต่ขบวนการศาสนาของโบสถ์คาธอลิกก็ตาม

ภายหลังเหตุการณ์ 6ตุลา การนิรโทษกรรม พร้อมกับกองทัพซ้ายอกหักที่เข้าสู่ขบวนการภาคประชาชนและเริ่มมี อิทธิพลต่อขบวนการนักศึกษารุ่นหลัง พวกเขาก็พร้อมใจกันผลิตซ้ำวาทกรรมนี้ ขบวนการนักศึกษากลายเป็น วีรชน นักบุญ กาวใจ ผู้อุทิศตน ฯลฯ เรื่องราวสิบสี่ตุลา หกตุลา และช่วงเวลาอกหักของพวกเขาในป่า ถูกเสริมแต่งไม่ต่างจากชีวประวัติของเทพปกรนัม ในบ้านเมืองนี้ แต่พวกเขากลับสรุปอย่างน่าตลกและขัดแย้งในตัวเองว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของเมื่อวาน โลกอุดมคติของวัยเยาว์ คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยกลายเป็นพลังปฏิกริยาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใดๆ และส่งผลให้แนวทางการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษารุ่นหลัง กลายเป็นเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ การอุทิศตนตามค่ายอาสาพัฒนาชนบท แบบเดียวกับที่เหล่าซ้ายอกหักเคยทำในทศวรรษ 1970 (เป็นเรื่องตลกที่ค่ายอาสาชนบทยังคงเป็นภารกิจหลักของกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาแทบทุกมหาวิทยาลัย ทั้งๆที่ชาวนาโดยมากทำ Contract Farming กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และคนจนโดยมากอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในเมือง) ขบวนการนักศึกษารุ่นหลังจึงถูกลดทอนให้มีผลอย่างมากในการเป็นที่ฝึกงานของว่าที่เจ้าหน้าที่ NGOs ที่มีประเด็นเฉพาะ เช่น การต้านเขื่อน สิทธิที่อยู่อาศัย การศึกษา มากกว่าขบวนการที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างที่ปรากฏในเหตุการณ์ หกตุลา หรือขบวนการนักศึกษาในยุโรป อันมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับปัญหาในชีวิตประจำวันของคนจนเมือง โดยมีสหภาพแรงงานเป็นตัวแทน

เป็นอีกครั้งที่ขบวนการนักศึกษาต้องไปให้พ้นจากวาทกรรมนี้....มากกว่าเรื่อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่รัฐบาลพยายามเสริมแต่งและฉกฉวย แต่หมายรวมถึงมุมมองต่อขบวนการนักศึกษาด้วยเช่นกัน โดยสามารถสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

1.ความเป็นกลางและความบริสุทธิ์ เป็นเพียงวลีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลดทอนพลังของขบวนการใดๆก็ตามที่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงสังคม ตามประวัติศาสตร์ของขบวนการทางสังคมไม่มีขบวนการใด”บริสุทธิ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริสุทธิ์จากอุดมการณ์...อันหมายถึงการพูดถึงสังคมที่ควรเป็นและตอบสนองซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ดังนั้นขบวนการจำเป็นต้องตั้งคำถามอีกว่า สังคมที่ดีพึงมีลักษณะอย่างไร ใครคือผู้ที่ควรได้ประโยชน์ เช่นเดียวกับขบวนการอื่นๆ เราต้องหลุดจากกรอบ นามธรรมที่เลื่อนลอย เช่น “ประชาธิปไตย”,”รัฐธรรมนูญ”,”ยกเลิกสังคมสองมาตรฐาน”,”ต้านอำนาจนอกระบบ”,”สิทธิมนุษยชน” วลีเหล่านี้อาจมีพลังในการต่อสู้และการขับเคลื่อนประเด็น แต่ในที่สุดแล้วหากไม่มีข้อเสนอรูปธรรมเกี่ยวกับปัญหาในชีวิตประจำวัน การต่อสู้ย่อมไร้ความหมาย และถูกฉกฉวยประโยชน์ไปเฉกเช่นเหตุการณ์14ตุลา

2.ปัญญาชนมีชนชั้นเสมอ ขบวนการนักศึกษาทศวรรษที่ผ่านมา (2000-2010)มักหมกมุ่นกับการสร้างแนวร่วมเน้นปริมาณและความเป็นปึกแผ่นของนักศึกษา บางครั้งเราอาจตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด องค์กรนี้จึงมีความคิดแบบนี้...ทำไมเขาจึงต่อต้านเรา หรือกระทั่งในแวดวงวิชาการเองก็เช่นกันบางครั้งเราคาดหวังพฤติกรรมที่มีอารยะจากอาจารย์มหาวิทยาลัยต่อกิจกรรมนักศึกษา แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวัง...สิ่งนี้มิได้เกิดขึ้นแค่เมืองไทย หากแต่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงสังคมทั่วโลกเช่นเดียวกัน มีเหตุผลอะไรที่เราต้องสร้างแนวร่วมกับขบวนการนักศึกษาฝ่ายขวา ที่สนับสนุนรัฐประหาร การสังหารประชาชน ในขณะเดียวกันคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็เป็นกระบอกเสียงให้กับอุดมการณ์ที่หลากหลายเช่นกัน ดังนั้นนอกจากกำจัดภาพว่าเราเป็นองค์กรบริสุทธิ์แล้ว สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจว่าเราไม่ได้ต่อสู้กับความบริสุทธิ์เช่นกัน

3.เป็นเรื่องน่ายินดี ในช่วงปีที่ผ่านมาขบวนการนักศึกษาที่เติบโตขึ้น นอกจากก้าวพ้นวาทกรรม ชาติ ศาสนา กษัตริย์ ดังเช่นปรากฏในการโฆษณาของรัฐบาลผ่านแบบเรียนประวัติศาสตร์ ขบวนการนักศึกษาก้าวหน้าปัจจุบันมีความแตกต่างจากขบวนการเมื่อสองทศวรรษก่อน ที่มุ่งขับเคลื่อนเป็นประเด็น ตามแบบฉบับผู้อุทิศตน ปัจจุบันขบวนการนักศึกษาก้าวหน้า กลายเป็นหัวหอกการถกเถียงประเด็นด้านโครงสร้าง แต่สิ่งสำคัญที่ต้องอยู่ในการถกเถียงอย่างขาดไม่ได้คือ เรื่องปากท้อง และชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ขบวนการนักศึกษาต้องไม่ปฏิเสธการปฏิรูป (ไม่ได้หมายถึงการเข้าร่วมกับคณะปฏิรูปฯปัจจุบัน)....อันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในชีวิตประจำวันย่อมสามารถกรุยทาง สู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับใหญ่ได้เช่นกัน ดังตัวอย่างเรื่องการแปรรูปมหาวิทยาลัย อันส่งผลต่อผลประโยชน์โดยตรงของคนรุ่นใหม่ ที่ทำให้ชีวิตของพวกเขามีความเปราะบางขึ้นและตัดโอกาสทางการศึกษาของคนยากคนจน ขบวนการนักศึกษามีจุดยืนอย่างไร การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน อันเป็นเงื่อนไขลดทอนกลุ่มอำนาจอภิสิทธิ์ชนก็เป็นเรื่องที่ต้องขบคิด รวมถึงรูปธรรมทางนโยบายเศรษฐกิจ อย่างรัฐสวัสดิการที่ทำให้ไพร่ ผู้ดี มีความเป็นคนเท่ากัน ก็ยังเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เช่นกัน

จากประสบการณ์ต่างประเทศขบวนการนักศึกษาเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่หากแต่ไม่ได้ตัดขาดจากเงื่อนไขชีวิตประจำวัน พวกเขามีสายสัมพันธ์กับองค์กรที่ต่อสู้เพื่อเงื่อนไขชีวิตประจำวัน เช่นสหภาพแรงงาน ขบวนการสิทธิทางเพศ ขบวนการต่อต้านสงครามและลัทธิคลั่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขด้านสวัสดิการด้านการศึกษา เมื่อใดที่การต่อสู้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์จะเผยให้เห็นถึงปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลง วาทกรรมชุดใหม่จะถูกสร้างขึ้นเพื่อให้การเคลื่อนไหวยุติ เมื่อนั้นขบวนการนักศึกษาต้องมีความชัดเจนว่าอะไรคือเป้าหมายและเงื่อนไขที่จะสร้างสังคมที่พึงประสงค์สำหรับประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net