Skip to main content
sharethis

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑรูย์ รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง มธ.ได้รับเลือกเป็นอธิการฯ คนใหม่ เผยจะทำ 2 เรื่องหลัก สร้างจิตวิญญาณของคนธรรมศาสตร์ ดึง มธ.กลับไปสู่ในการเป็น ม.เพื่อประชาชน ส่งเสริม น.ศ.ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน หนุม มธ.ออกนอกระบบ

 
เมื่อเวลา 15.35น. วันที่ 18 ต.ค.ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สภามหาวิทยาลัย มธ.ได้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกอธิการบดีคนใหม่ แทน ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งจะหมดวาระลงในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยสภามหาวิทยาลัยพิจารณารายชื่อตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ ได้แก่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง และ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
 
ทั้งนี้ นายวิทวัส ศตสุข อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มธ. เผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ได้ให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 2 คน เสนอแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยและตอบข้อซักถาม จากนั้นเป็นการลงคะแนนลับ ซึ่งผลปรากฏว่านายสมคิด ได้รับเลือกเป็นอธิการบดีคนใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 25 คะแนน ต่อ 5 คะแนน จากนี้สภามหาวิทยาลัยจะนำรายชื่อนายสมคิด เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
 
ด้าน ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า ตนจะดำเนินการตามที่ได้แถลงไว้กับกรรมการสภามหาวิทยาลัยและประชาคม 2 เรื่องหลักคือ การสร้างจิตวิญญาณของคนธรรมศาสตร์ โดยดึงมธ.กลับมาที่จุดเริ่มต้นในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ส่งเสริมให้นักศึกษาทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนให้มากขึ้น โดยเริ่มจากโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด และการสนับสนุนให้อาจารย์ทำวิจัยให้มากขึ้น ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบฯวิจัยเพราะมธ.มีงบฯวิจัยปีละ 600 กว่าล้าน ทั้งงบฯ ที่หาได้เอง กับงบฯ ที่รัฐสนับสนุน แต่อยู่ที่อาจารย์ไม่ค่อยทำงานวิจัย โดยอาจารย์มธ.มี 1,700 คน ทำวิจัยเพียง 20% เท่านั้น
 
ทั้งนี้ ตนจะเริ่มงานในฐานะรักษาการอธิการบดี มธ.ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.นี้เป็นต้นไป 
 
ต่อข้อถามถึงการนำ มธ.ออกนอกระบบนั้น ว่าที่อธิการบดี มธ.คนใหม่ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วอยากให้ มธ.ออกนอกระบบราชการ เพราะทำให้การบริการงานคล่องตัวมากขึ้น แต่ก็ต้องสร้างความเข้าใจกับประชาคม มธ.โดยเฉพาะการออกนอกระบบไม่ใช่การแสวงหากำไร ซึ่งคนส่วนใหญ่มีความกลัวว่าหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วจะทำให้ค่าเทอมสูง ขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง ตนคิดว่าจะทำให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่อยู่ที่นักศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยจะมีระบบตรวจสอบการทำงานของอาจารย์ที่เข้มข้นมากขึ้น 
 
อย่างไรก็ตามขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว รอเข้าที่ประชุม ครม.หากได้รับความเห็นชอบก็นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ทันที ซึ่งขณะนี้ก็ถือว่า มธ.ออกนอกระบบช้าเกินไปแล้ว
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net