Skip to main content
sharethis
องค์กรแรงงาน-สิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ "บัน คี มุน" ร้องยูเอ็นตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติพม่าที่ถูกผลักดันออกจากประเทศไทยโดยด่วนที่สุด แฉเจ้าหน้าที่ไทยร่วมขบวนการค้ามนุษย์ ซื้อ-ขายบนเรือระหว่างผลักดันกลับ ซัดรัฐบาลเมินแก้ปัญหา พร้อมแนะปรับนโยบาย 6 ข้อ 
 
วานนี้ (25 ต.ค.53) เครือข่ายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน อาทิ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์ในโอกาสการมาเยือนประเทศไทยของนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในวันนี้ (26 ต.ค.) เพื่อให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติพม่าที่ถูกผลักดันออกจากประเทศไทยเป็นการด่วน พร้อมกับมีข้อเสนอเเนะรัฐบาลไทยในการพัฒนานโยบายแรงงานข้ามชาติบนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
นอกจากนั้นยังมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการกวาดล้าง แรงงานข้ามชาติโดยเร่งด่วน ตลอดจนดำเนินการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดกฎหมาย เเละขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาทบทวนนโยบายการ จัดการแรงงานข้ามชาติ ให้อยู่บนพื้นฐานของการ เคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ
 
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุถึงการรายงานข่าวจากสื่อมวลชนว่าสื่อมวลชนต่างประเทศได้รายงานข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลจากนโยบายกวาดล้าง เเละผลักดันแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่แสดงความประสงค์ที่จะพิสูจน์สัญชาติ หรือแรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างต่อเนื่อง สำนักข่าว อัล จาซีรา (Al Jazeera) รายงาน ว่าแรงงานที่ถูกจับกุมเเละผลักดันออกนอกประเทศไทยถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไทยบางรายนำไปยังพื้นที่กักกันที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลัง ทหารกะเหรี่ยงพุทธ ตรงข้ามแม่น้ำเมยฝั่งไทย ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 
 
ล่าสุดหนังสือพิมพ์เซาท์ ไชนา มอร์นิงโพสท์ (South China Morning Post) เสนอข่าวแรงงานข้ามชาติพม่าที่ถูกจับโดยเจ้าหน้าที่ไทยบางรายถูกผลักดันออกนอกประเทศไทยทางเรือ ที่น่านน้ำระหว่างจังหวัดระนอง เเละเกาะสอง ประเทศพม่า และถูก "ขาย" ให้นายหน้าค้ามนุษย์ ก่อนจะถูกลักลอบนำพากลับประเทศไทยอีกครั้ง องค์กรด้านสิทธิแรงงาน องค์กรสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศเเละนานาชาติ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว ตั้งเเต่เดือน กรกฏาคม 2553 ซึ่งรัฐบาลไทยยังมิได้มีการดำเนินการใดๆ อย่างชัดเจน 
 
แถลงการณ์ระบุต่อมาว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 รัฐบาลไทยเริ่มนโยบายการปราบปรามแรงงานข้ามชาติ เข้าเมืองผิดกฎหมายและแรงงานที่ไม่แสดง ความประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 125/2553 เรื่อง “การจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปราม จับกุม เเละดำเนินคดีแรงงานข้ามชาติที่ไม่เเสดงความประสงค์จะพิสูจน์สัญชาติ ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553” เพื่อกวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนเเละแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เเสดงความประสงค์ในการพิสูจน์สัญชาติภายในเวลาที่กำหนด ศูนย์เฉพาะกิจฯ ดำเนินการโดยการสนธิกำลังตำรวจ ทหารบก ทหารเรือ เเละเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทั่วทั้ง 5 ภาค 
 
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังประกาศโครงการหักเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งกลับแรงงานข้ามชาติ จากแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่งผลกระทบกับแรงงานข้ามชาติที่มีรายได้น้อย ซึ่งการปรับสถานะแรงงานข้ามชาติให้ถูกกฎหมายและการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติ เป็นการเปิดโอกาสให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ ทั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิอันพึงได้รับ 
 
แถลงการณ์ระบุถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยว่า 1.รัฐบาลควรเชิญผู้รายงานพิเศษเเห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพ ผู้รายงานพิเศษเเห่งสหประชาชาติด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ ผู้รายงานพิเศษเเห่งสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน มาเยือนไทยเพื่อให้คำเเนะนำต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เเละให้ข้อเสนอเเนะปรับปรุงนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติเพื่อให้เคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติมากขึ้น
 
2.รัฐบาลควรระงับการผลักดันเเละจับกุมแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีทันที จนกว่าจะมีการตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อยุติการค้ามนุษย์ การแสวงประโยชน์โดยมิชอบ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมดังกล่าวต้องถูกดำเนินคดีเเละลงโทษโดยผ่านกระบวนการที่โปร่งใส
 
3.เมื่อรัฐบาลประกาศว่านโยบายเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติครั้งใหม่เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ ดังนั้น การยกเลิกการกวาดล้างจะสร้างแรงจูงใจเเก่นายจ้างเเละเเรงงานข้ามชาติให้กล้าแสดงตัวเพื่อเข้าจดทะเบียนตามกฎหมาย
 
4.รัฐบาลควรจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่โดยเร็วด้วยวิธีการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ยึดหลักนิติธรรมในการบริหารจัดการเเรงงานข้ามชาติ เเละหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนถึงผู้ติดตามเเละครอบครัว
 
5.รัฐบาลไทยควรทบทวนนโยบายการนำเข้าแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่แรงงานข้ามชาติพึงได้รับ เเละป้องกันการเเสวงประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานข้ามชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจเเละด้านอื่นๆ
 
6.รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายระยะยาว ให้มีหน่วยงานเฉพาะเพียงหน่วยงานเดียวทำหน้าที่บริหารการอพยพย้ายถิ่น เปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวเเรงงานข้ามชาติเอง นายจ้าง และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย
 
"สรส. คสรท. และ มสพ. เชื่อว่าข้อเสนอแนะข้างต้นจะช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถจัดการกับความท้าทายด้านการย้ายถิ่นอย่างผิดปกตินี้ได้ โดยการเคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ควบคู่กับการรักษาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ" แถลงการณ์ระบุ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net