Skip to main content
sharethis

เตือนรบ.สกัดน้ำเหนือ มิฉะนั้นทุกจังหวัดสองฝั่งเจ้าพระยาจมบาดาล
นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งผ่านนายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จลงมาทอดพระเนตรปริมาณน้ำที่ท่าน้ำ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมผ่านมา ว่า ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์เร่งหามาตรการเตรียมรับมือน้ำท่วมใหญ่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งจะหนักกว่ากรุงเทพฯ เพราะปริมาณน้ำจากลำน้ำชี ลำน้ำมูล และลำน้ำปาว จะไหลมาสมทบเข้าท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จะหนักว่า จ.นครรราชสีมา และกรุงเทพฯ รัฐบาลควรตั้งทีมเฉพาะกิจระดับชาติที่มีทุกหน่วยงานมาบูรณาการเรื่องการตั้งรับและระบายน้ำออกจากพื้นที่หลักให้ทันท่วงทีมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำจำนวนมาก ต้องมีเจ้าภาพหลักในการสั่งการตลอดเวลา

"หากไม่หยุดน้ำเหนือไว้จะทำให้จังหวัดสองฝั่งเจ้าพระยาจมเป็นเมืองบาดาลทุกจังหวัด เพราะปริมาณน้ำเหนือหลายพันล้านลูกบาศก์เมตร ผนวกกับปริมาณน้ำฝนที่ค้างอยู่ในทุ่งต่างๆ และได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงสุดจะยิ่งทำให้ปริมาณน้ำในบางพื้นที่ยกระดับสูงขึ้นจากปกติ 5-6 เมตร รวมทั้งวันที่ 8 – 9 พฤศจิกายนนี้ ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดเกือบ 2 เมตร"

ครม.อนุมัติช่วยน้ำท่วม5,000บาท/ครัวเรือน คาดใช้งบ3พันล้าน รวม5-6แสนครัวเรือน
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนายการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) กล่าวว่า ครม.เห็นชอบในหลักการการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยจะให้เงินชดเชยเยียวยาครัวเรือนละ 5,000 บาท คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3พันล้านบาท มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนประมาณ 500,000- 600,000 ครัวเรือน โดยประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือต้องเป็นบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมฉับพลันและบ้านเรือนโดนน้ำท่วมเกิน 7 วัน ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือผ่านธนาคารธกส.และธนาคารออมสิน ยืนยันว่าจะมีความโปร่งใสเนื่องจากจะให้ความช่วยเหลือโดยดูจากภาพถ่ายทางอากาศและสำเนาทะเบียน ว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจริง ทั้งนี้ต้องนำข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เพื่อเสนอครม.อีกครั้งหนึ่ง

นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า นายกฯให้ความเป็นห่วงเรื่องหนี้สินเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย จึงมอบหมายให้นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์รวบรวมและศึกษาแนวทางในการพักหนี้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคาร ธกส. สหกรณ์ และกองทุนหมู่บ้านว่าจะมีแนวทางอย่างไร ตลอดจนจำนวนพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย เพื่อเสนอให้ครม.เศรษฐกิจพิจารณาหามาตรการเยียวยา นอกจากนี้นายกฯได้กำชับทุกหน่วยงานที่อยู่ใน คชอ. ขอให้ส่งบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมประชุม คชอ.ทุกครั้ง ไม่ให้ส่งตัวแทนเข้ามา เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว

กทม.พ้นวิกฤตน้ำท่วมสูงสุด26ต.ค.ระดับ2.10เมตรต่ำกว่าที่คาด
เมื่อเช้าวันที่ 26 ตุลาคม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะผู้บริหาร กทม.ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำรวจสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา

ผู้ว่ากทม.กล่าวหลังการตรวจพื้นที่ว่า นอกจากพื้นที่ กทม.แล้ว ยังบินสำรวจไปไปยังพื้นที่ จ.นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการด้วย ถือว่ามีน้ำปริมาณน้ำสูงมากและกินบริเวณกว้าง คาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งถึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ในส่วนของ กทม.วันนี้ระดับน้ำขึ้นสูงสุดเมื่อเวลา 09.09 น.ที่ระดับ 2.10 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนปริมาณน้ำเหนือที่ไหลจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 อยู่ที่ 4,652 ลบ.ม./วินาที และฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้ 1.17 เมตร ถือว่าเป็นระดับสูงสุดในรอบเดือนนี้ และจากนั้นจะค่อยลดลงเรื่อย ๆ จะขึ้นสูงสุดอีกครั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ระดับ 1-1.30 เมตร

"วันนี้ถือว่าได้ผ่านพ้นวิกฤติที่ระดับน้ำสูงสุดไปแล้ว หลังจากนี้จะต้องเฝ้าระวังกันต่อไปจนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่จะมีน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบปีนี้ ทั้งนี้ ยังคงมาตรการป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมของ กทม.ไว้จนถึงกว่าระดับน้ำเหนือจะเข้าสู่ปกติ ส่วนพื้นที่นอกคันกั้นน้ำที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำขึ้นสูงในช่วงสัปดาห์ นี้ กทม.ได้เตรียมสถานที่รองรับไว้แล้วกว่า 26 แห่ง ล่าสุดยังไม่มีชุมชนใดติดต่อเข้ามา หากติดต่อเข้ามา กทม.พร้อมจัดหาให้ภายใน 24 ชั่วโมง"

สำหรับพื้นที่น้ำท่วมในต่างจังหวัด กทม.พร้อมพร้อมให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย หากจังหวัดใดต้องการความช่วยเหลือให้ติดต่อมาที่ กทม.ได้ทันที

เจ้าพระยาทะลักท่วมเมืองนนท์ระดับสูง บางกรวยหลายหมู่บ้านจมน้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 26 ตุลาคม ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขต จ.นนทบุรี เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำได้ทะลักแนวป้องกันน้ำท่วมของเทศบาลนครนนทบุรี เข้าท่วมถนนนนทบุรี 1 บริเวณโค้งข้างกรมราชทัณฑ์ ไปจนถึงหน้าเรือนจำกลางบางขวาง สูง 20-30 เซนติเมตร ระยะทางกว่า 500 เมตร และถ.นนทบุรี 1 บริเวณโครงตลาดจิตเทวัญ น้ำท่วมสูง 20 เซนติเมตร บ้านพักทหารกรมพลาธิการ ทหารบก และบ้านเรือนประชาชน วัดตำหนักใต้ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณดังกล่าวถูกน้ำท่วมสูง 30-50 เซนติเมตร

ต่อมา นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรี เทศบาลนครนนทบุรี ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปเสริมแนวกระสอบทรายบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ให้ท่วมท่วมข้ามถนนนนทบุรี 1 เข้ามาในเขตเมืองได้

ด้าน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี แนวป้องกันน้ำท่วมของเทศบาลเมืองบางกรวย และริมแม่น้ำเจ้าพระยา และริมคลองบางกรวย ได้พังหลายจุด ส่งผลให้น้ำทะลักเข้าท่วมกระจายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะหมู่บ้านศรีบัณฑิต หมู่บ้านเทพประทาน ชุมชนวัดลุ่ม ชุมชนวัดจันทร์ น้ำท่วมสูง 30-50 เซนติเมตร บ้านเรือนกว่า 3,000 หลังได้รับความเดือดร้อน ส่วนถนนบางกรวย-ไทรน้อย รถยังสามารถวิ่งได้อยู่ ซึ่งนายสุรศักดิ์ วิชินโรจน์จรัล นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองบางกรวย ได้ระดมเจ้าหน้าที่ออกช่วยเหลือประชาชน และเสริมแนวป้องกันน้ำท่วมเพื่อไม่ให้ท่วมถนนบางกรวย-ไทรน้อย ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของเทศบาลเมืองบางกรวย

สถาบันการแพทย์แห่งชาติแจ้งตายสังเวยน้ำท่วม 56 ราย
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รายงานสรุปตัวเลขผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่จนถึงขณะนี้ (10-26ต.ค.) ว่า มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตวันนี้เพิ่มเข้ามา 15 ราย รวมทั้งสิ้น 56 ราย แบ่งเป็นเพศชาย 44 ราย หญิง 12 ราย แยกตามรายจังหวัด ที่มีผู้เสียชีวิตจากจำนวน 17 จังหวัด ประกอบด้วย

1. นครราชสีมา 9 ราย
2. บุรีรัมย์ 6 ราย
3. ลพบุรี 10 ราย
4. ขอนแก่น 3 ราย
5. เพชรบูรณ์ 3 ราย
6. ระยอง 2 ราย
7. ชัยภูมิ 2 ราย
8. ตราด 1ราย
9. สระแก้ว 1 ราย
10.สระบุรี 2 ราย
11.พระนครศรีอยุธยา 1 ราย
12.นนทบุรี 1 ราย
13.อุทัยธานี 1 ราย
14.ชัยนาท 1 ราย
15.กำแพงเพชร 3 ราย
16.นครสวรรค์ 8 ราย
17.สิงห์บุรี 2 ราย

คชอ.เสนอครม.ของบ 280 ล้านบาทช่วยน้ำท่วม
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณา 3 เรื่อง คือ 1.การดูแลการใช้จ่ายเงินช่วยน้ำท่วม ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส 2.มาตรการเฉพาะหน้า เรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย และ3.การเตรียมเครื่องมือ และอุปกรณ์ ที่ต้องของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อนำไปซื้อ เต็นท์ กระสอบทราย และเรือท้องแบน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยจะเสนอของบประมาณ 280 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการดังกล่าว

นายสาทิตย์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะเสนอครม. ให้อนุมัติการแก้ไขร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยให้สามารถนำเงินบริจาคของประชาชนมาใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่มีความจำเป็นได้อย่างรวดเร็ว และโปร่งใส ซึ่งขณะนี้มีเงินบริจาคคงเหลืออยู่ในบัญชีของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) 30 ล้านบาท และมีการบริจาคเข้ามาล่าสุดอีก 60 ล้านบาท ซึ่งภายหลังครม. อนุมัติให้มีการแก้ไขระเบียบดังกล่าว จะเรียกประชุมคชอ. เพื่อพิจารณาจัดลำดับความจำเป็นในการจัดซื้อและส่งลงพื้นที่ที่ประสบภัย

สธ. ขอ 50 ล.ซ่อม 4 รพ.-สั่งดูแล 6 โรคหลังน้ำลด
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จะเสนอของบประมาณจากครม. จำนวน 80 ล้านบาท โดยแบ่งงบ 50 ล้านบาทสำหรับบูรณะโรงพยาบาล 4 แห่งที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ประกอบด้วย โรงพยาบาลมหาราช โรงพยายาบาลจิตเวชนครราชสีมา โรงพยาบาลพิมาย จ. นครราชสีมา และโรงพยาบาลชัยภูมิ และอีก 30 ล้านบาทสำหรับการจัดซื้อยาและเครื่องเวชภัณฑ์ ซึ่งภายหลังน้ำลดลงแล้ว สธ. ได้เน้นย้ำให้ดูแลและป้องกันโรคที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมจำนวน 6 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไต และโรคเครียด

ด้านนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผอ.ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย กล่าวว่า วันนี้เวลา 09.00 น.เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงซึ่งจากการประชุมของคชอ.คาดการณ์ที่ระดับ 2.50 เมตร ซึ่งพื้นที่ประชาชนนอกคันกันน้ำ เช่นบริเวณ พระนคร บางซื่อ บางพลัด ได้เตรียมเฝ้าระวังในจุดน่าห่วงซึ่งกทม.ได้วางกระสอบทรายเสริม ระดมจนท.และเครื่องสูบน้ำแล้ว นอกจากนี้กรมชลประทานพยายามลดการผันน้ำที่ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่บางไทร และน้ำป่าสักลง เพื่อรักษาระดับน้ำทะเลหนุนสูงให้กระทบน้อยสุด หากฝนตกหนักก็เป็นอีกเรื่องและมีความเสี่ยงในการระบายน้ำเพราะเป็นการเติมน้ำลงไปอีกทั้งนี้ช่วงน้ำทะเลหนุนจะมีผลกระทบกับนนทบุรีและปทุมธานีเช่นกัน

ที่มา: มติชนออนไลน์  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net