สุรพศ ทวีศักดิ์: บทเติม “กษัตริย์ตามทัศนะของพุทธศาสนา”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในบทความ กษัตริย์ตามทัศนะของพุทธศาสนา” ผมอ้างถึงอัคคัญญสูตรว่า พุทธศาสนาปฏิเสธระบบชนชั้นแบบพราหมณ์ และเสนอว่าพุทธศาสนามองว่า “มนุษย์เท่าเทียมกับภายใต้กฎแห่งกรรม” ประเด็นที่ผมต้องการขยายความต่อ คือ

1. การปฏิเสธระบบวรรณะแบบพราหมณ์ หมายถึงการปฏิเสธความคิดหลักสำคัญสองเรื่อง คือ 1) ปฏิเสธอภิปรัชญาที่ว่าพระพรหมสร้างโลกสร้างมนุษย์ และกำหนดสถานะทางชนชั้นอย่างตายตัว เป็น กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร 2) ปฏิเสธสถานะทางศีลธรรมที่ตัดสินคุณค่าความเป็นคน ความดี ความเลว การได้รับการปฏิบัติ หรือยกเว้นการปฏิบัติ ฯลฯ โดยอ้างอิงสถานะทางชนชั้น

2. เมื่อปฏิเสธเช่นนั้นพระพุทธองค์เสนอว่า “...เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกันก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม...” ฉะนั้น เกณฑ์ตัดสินดีเลวของมนุษย์ คือ “ธรรม” ซึ่งได้แก่ กุศลธรรม กับอกุศลธรรม ใครประพฤติกุศลธรรมก็คือทำกรรมดี ได้รับผลดี ประพฤติอกุศลธรรมก็คือทำกรรมชั่ว ได้รับผลชั่ว หรือทำดี ก็เป็นคนดี ทำชั่ว ก็เป็นคนชั่ว นี่คือความหมายตรงๆ ของคำว่า “ธรรม หรือกรรมจำแนกคนให้ต่างกันหรือเหมือนกัน” ซึ่งเจาะจงที่เรื่องทางศีลธรรม ไม่ใช่เรื่องสถานะทางสังคม (แน่นอนว่า ตามคำสอนเรื่องกรรมระบุว่าคนทำดี ทำชั่วแล้วทำให้เกิดมามีสถานะทางสังคมที่ต่างกัน แต่นั่นคือ “ทำให้เกิด” ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเกิดมาในชนชั้นใดๆ แล้วเขาควรจะได้รับข้อยกเว้นเป็นพิเศษ เช่น เกิดในชนชั้นกษัตริย์แล้ว สั่งฆ่าคนต้องได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องรับผิดทางศีลธรรม ฯลฯ ในทศชาติชาดก “พระเตมีใบ้” ทำตัวเป็นคนใบ้เพราะไม่ต้องการเป็นกษัตริย์ เนื่องจากเห็นว่าถ้าเป็นกษัตริย์อาจหลีกเลี่ยงการทำบาปไม่ได้ เช่น ต้องสั่งประหารชีวิตนักโทษ เป็นต้น)

3. ประเด็นสำคัญคือหลักคิดเรื่องกรรมบ่งบอก “ความเป็นมนุษย์” อย่างไร พุทธศาสนาระบุว่า “กรรมคือเจตนา” (เจตนาหัง กัมมัง วทามิ - ภิกษุทั้งหลายเรากล่าเจตนาว่าเป็นกรรม) หมายความว่า กรรมหรือการกระทำเกิดจากความจงใจ เมื่อมีความจงใจก็หมายถึงมี “การเลือก” (ว่าจะทำอะไร จะทำหรือไม่ทำ ฯลฯ) เมื่อมีการเลือกก็หมายความว่ามี “เสรีภาพ” และเพราะใช้เสรีภาพในการเลือกกระทำจึงต้องรับผิดชอบต่อผลกรรมหรือผลของการกระทำ ฉะนั้น หลักคิดเรื่องกรรมหรือการกระทำทางศีลธรรมตามทัศนะของพุทธศาสนา จึงแสดงให้เห็น “ความเป็นมนุษย์” ว่าคือ “ความมีเสรีภาพและความรับผิดชอบ”

4. ประเด็นที่ว่า “ความเป็นมนุษย์คือเสรีภาพ” นี้ ผมคิดว่าพุทธศาสนามองในระดับเดียวกับทัศนะของ existentialism (แม้จะมีรายละเอียดอื่นๆ ต่างกันมาก) คือมองว่า “เสรีภาพ เป็น essence หรือเป็นธรรมชาติอันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์” ในความหมายที่ว่า ถ้าปราศจากเสรีภาพมนุษย์ก็ไม่เหลือความเป็นมนุษย์ พุทธศาสนาอาจไม่มีคำศัพท์ freedom เหมือนที่ใช้กันในปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ แต่คำสำคัญที่ยืนยันว่า “เสรีภาพ เป็น essence หรือเป็นธรรมชาติอันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์” คือคำว่า “วิมุติ” (พจนานุกรมพุทธศาสน์ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “วิมุติ” ว่า freedom) หมายถึงความหลุดพ้น ความมีเสรี หรือความเป็นอิสระจากพันธนาการของกิเลส สาระสำคัญก็คือว่า สัญชาตญาณ อารมณ์ความรู้สึก ความโลภ โกรธ หลง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นคุณลักษณะด้านหนึ่งของมนุษย์ แต่ก็ไม่ใช่ essence ของมนุษย์ในความหมายที่ว่าเมื่อเอาสิ่งเหล่านี้ออกไป หรือขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปจากความเป็นมนุษย์ได้หมดสิ้น (เช่นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์) ความเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้หมดไป [มีพุทธพจน์ยืนยันว่ากิเลสต่างๆเป็นเหมือนอาคันตุกะที่จรมาในจิตเรา] แต่พุทธศาสนากลับมองว่าเมื่อขจัดสิ่งเหล่านั้นออกไป เสรีภาพที่สมบูรณ์ของมนุษย์ปรากฏขึ้น ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ปรากฏขึ้น!

5. เรื่อง “เสรีภาพ (ทางจิต) ที่สมบูรณ์ = ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์” เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ (เพราะเกี่ยวข้องกับความหมาย/คุณค่าของ “สมบูรณ์” ว่าคืออะไร น่าพึงปรารถนาหรือไม่ ฯลฯ) แต่ความหมายสำคัญคือว่า ถ้ามนุษย์ไม่มี “เสรีภาพ เป็น essence หรือเป็นธรรมชาติอันเป็นแก่นแท้” มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนให้สามารถบรรลุถึงวิมุติหรือความมีเสรีภาพที่สมบูรณ์ได้อย่างไร

สรุปตรงนี้ว่า เพราะมนุษย์มีเสรีภาพเป็นแก่นสาร ฉะนั้น มนุษย์จึงสามารถเลือกกระทำกรรมต่างๆ และหากมนุษย์เลือกกระทำกรรมดี จนถึงเลือกปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ได้สมบูรณ์ มนุษย์ก็จะหลุดพ้นจากอำนาจของสัญชาตญาณหรือกิเลสต่างๆ กลายเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพสมบูรณ์ หรือเสรีภาพที่เป็นแก่นสารซึ่งอยู่ในสภาพแฝง (potentiality) คลี่คลายกลายเป็นสภาพจริง (actuality)

6. ทีนี้เราจะมอง “ความเป็นคนที่เท่าเทียม” ในมุมไหน สำหรับผมเราจะบอกว่า “ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมคือความมีเสรีภาพ เป็น essence  เหมือนกัน” ก็ได้ และเนื่องจากความคิดเรื่องเสรีภาพในพุทธศาสนาแยกไม่ออกจากความคิดเรื่องกฎแห่งกรรมหรือกฎแห่งการกระทำทางศีลธรรม ในความหมายที่ว่าเสรีภาพในการเลือกกระทำเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของ “กรรม” หรือการกระทำทางศีลธรรม

คือถ้ามนุษย์ไม่มีเสรีภาพในการเลือก กรรมหรือการกระทำและความรับผิดชอบก็มีไม่ได้ การพัฒนาตนไปสู่ความหลุดพ้นก็เป็นไปไม่ได้ และภายใต้กฎแห่งกรรมมนุษย์ย่อมมีความเสมอภาคทางศีลธรรม คือ “ทุกคนใช้เสรีภาพเลือกกระทำสิ่งเดียวกันด้วยคุณภาพจิต (เช่น โกรธ เมตตา ฯลฯ) แบบเดียวกันย่อมได้รับผลแบบเดียวกัน” หรือ “เมื่อใช้เสรีภาพเลือกทำสิ่งที่ถูกก็ถูก เลือกทำสิ่งที่ผิดก็ผิด ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม”

7. ฉะนั้น ความเสมอภาคภายใต้กฎแห่งกรรม หรือ “ความเท่าเทียมทางศีลธรรม” บ่งบอกถึง “ความเสมอภาคในความเป็นคน” คือ “ความมีเสรีภาพ-ความรับผิดขอบ-อิสรภาพที่จะลิขิตชีวิตตนเองที่มนุษย์มีอย่างเท่าเทียมกัน” ถ้า apply หลักการนี้กับหลักการทางสังคมการเมือง จะเห็นได้ชัดว่าขัดแย้งกับระบบสังคมการการเมืองที่ยอมรับระบบชนชั้น แต่เข้ากันได้กับระบบสังคมการเมืองที่ยืนยัน “ความเท่าเทียมในความเป็นคน"

 

บทส่งท้าย

ที่ผมเขียนมานี้ ไม่ได้ต้องการเสนอว่าพุทธศาสนาเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย พุทธศาสนาย่อมเป็นพุทธศาสนาที่ให้คำตอบแน่นอนเฉพาะเพาะเรื่อง (ไม่ใช่ให้คำตอบได้ทุกเรื่อง) แต่ต้องการเสนอว่า พุทธศาสนาปฏิเสธระบบชนชั้นอย่างชัดเจน ทั้งในแง่หลักการสำคัญของคำสอน (เช่น ดังอภิปรายมา เป็นต้น) และความพยายามสร้างความเท่าเทียมทางสังคม เช่น สร้างสังคมสงฆ์ อนุญาตให้สตรีบวช เป็นต้น (แม้จะทำได้อย่างจำกัดในบริบทสังคมเมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว แต่ก็เห็นได้ว่าพยายามทำ)

การตีความพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนระบบชนชั้น (หรือ apply พุทธเพื่อรับใช้การเมือง) อาจพิจารณาได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเราต้องยอมรับอย่างซื่อสัตย์ว่านั่นเป็น “การบิดเบือน” เมื่อประวัติศาสตร์เปลี่ยนไป หรือผู้เขียน (ที่มีอำนาจอันชอบธรรมในการเขียน) ประวัติศาสตร์เปลี่ยนมาเป็นประชาชนของประเทศ เราย่อมไม่อาจยอมรับการบิดเบือนแบบอดีตอีกต่อไป

ซึ่งทำได้ง่ายๆ คือ ต้องซื่อสัตย์ต่อหลักการที่แท้จริง!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท