ภาคประชาชนจี้รัฐบาลยกเลิก “ร่างแผนแม่บทโลกร้อน” ให้เวลาหนึ่งเดือนมาทวงคำตอบ

เครือข่ายภาคประชาชนกว่า 30 เครือข่าย แถลงข่าวเตรียมยื่นหนังสือนายกฯ จี้ยกเลิกแผนแม่บท 10 ปี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ สผ.พร้อมเรียกร้องให้มีกระบวนการยกร่างใหม่ที่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน ขู่ 1 เดือนไม่คืบจะไปทวงคำตอบที่ทำเนียบ

 
วันนี้ (1 พ.ย.2553) เวลา 10.30 น.ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายภาคประชาชน 30 เครือข่ายได้ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการเตรียมการยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีเรื่องขอให้ยกเลิกแผนแม่บท 10 ปี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยภาคประชาชนต้องการให้รัฐบาลยกเลิกร่างแผนแม่บทฉบับดังกล่าวและจัดทำร่างใหม่โดยภาคประชาชน 
 
นายพฤ โอ่โดเชา สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เราไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน แต่กลับได้รับผลกระทบเพราะฝนตกน้อยลง ทำให้ปลูกข้าวล่าช้า พอฝนตก ก็เข้าช่วงเก็บเกี่ยว ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ นอกจากนี้ คนในป่าปัจจุบันไม่มีสิทธิ์ รัฐประกาศเขตป่าทับ และกล่าวหาชาวบ้านว่าทำให้โลกร้อน ยิ่งเจอแผนแม่บทที่คิดจะแก้ไขปัญหา โดยโยนความผิดให้ภาคป่าและเกษตร แต่สาเหตุโลกร้อนเกิดในภาคอุตสาหกรรม พอรัฐไปทำข้อตกลงกับต่างประเทศ หมู่บ้านผมจะมีหลักประกันอย่างไรว่าจะไม่เดือดร้อน สิทธิ วัฒนธรรมจะอยู่อย่างไร โลกร้อนจะแก้อย่างไรถ้าสาเหตุหลักไม่ได้แก้ แผนแม่บทที่ออกมา ผมไม่เห็น ไม่รู้ว่าออกมาได้อย่างไร ล้มไปได้เลย” 
 
นายเกรียงไกร ชี้ช่วง เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชนเผ่า มาตรการรองรับหรือแก้ไขของรัฐบาลต้องเป็นธรรม ต้องยอมรับพี่น้องชนเผ่า เรากลัวว่าวิถีชีวิตของเราและการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจะเปลี่ยนไป สิทธิ์ของเราจะถูกจำกัด เพราะรัฐขาดความเข้าใจวิถีชีวิตของชนเผ่า นอกจากนี้ รัฐต้องรับรองสิทธิและยอมรับรูปแบบการใช้และการจัดการทรัพยากรตามประเพณีของชนเผ่าพื้นเมืองที่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ อย่าโยนความผิดเรื่องการปล่อยคาร์บอนให้ชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งให้ยอมรับองค์ความรู้พื้นบ้านของชุมชนเพราะมีการปรับ เรียนรู้และมีความสมดุลย์อยู่แล้ว การแก้ปัญหาต้องเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกส่วน เรากับพี่น้องพร้อมจะติดตามนโยบายรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะจะไม่ยอมให้การพัฒนาในอดีตที่สร้างความเจ็บปวดให้ชุมชนเกิดขึ้นอีก”
 
นายสายัณห์ อุทธาสม เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า “สถานการณ์ในปัจจุบันในพื้นที่ คือ ฤดูกาลเปลี่ยน ช่วงหน้าร้อนยาวนานขึ้นเป็นห้าเดือน เบียดให้หน้าฝนเหลือแค่สามเดือน ผลก็คือ ทำให้พืชผลการเกษตรได้ผลผลิตลดลง แต่ปริมาณน้ำฝนเท่าเดิม ทำให้ฝนตกมากขึ้นในแต่ละครั้ง ทำให้เกิดน้ำท่วม แต่แผนแม่บทที่ออกมา ไม่ได้มีการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่มีแผนมารองรับหรือหนุนเสริมกระบวนการของวิถีเกษตรกรรมยั่งยืน ชุมชนท้องถิ่น ไม่ได้พูดถึงความหลากหลายของพันธุ์พืชท้องถิ่น พูดถึงแต่พืชเศรษฐกิจ แค่ 4 อย่าง นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้เกิดโลกร้อน กระบวนการผลิตปุ๋ยก็ใช้พลังงานมหาศาล องค์ความรู้ปัจจุบันของชาวบ้าน สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนสูงมาทดแทนปุ๋ยเคมี แต่ในแผนแม่บทไม่ได้พูดถึงการสนับสนุนเรื่องนี้เลย”
 
นางจินตนา แก้วขาว เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า “ปัญหาแผนแม่บทเกิดจาก สผ.ไม่ใส่ใจว่าสาเหตุเกิดจากอะไรทั้งๆ ที่มีข้อมูลอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมทั้งเหล็กและปิโตรเคมีเป็นสาเหตุของโลกร้อนถึง 70% แต่รัฐบาลกลับไปตามการชี้นำของกลุ่มทุน ทำให้พัฒนาเละเทะไปหมด ภาคใต้ทั้งภาคถูกกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมหนัก ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้าที่จะนะเกิดปัญหามาก เราเห็นว่าแผนไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง วันนี้เกิดโรงไฟฟ้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นประจวบฯ ทับสะแก ชุมพร นครศรีธรรมราช เกิดปิโตรเคมีมากมาย ซึ่งสร้างปัญหาโลกร้อน แต่รัฐกลับเบี่ยงเบนประเด็นไปใส่ว่าป่าไม้สร้างให้เกิดโลกร้อน ยิ่งไปสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นอีก ดังนั้น เราเสนอว่าให้ยกเลิก และร่างใหม่โดยภาคประชาชนร่างแผนขึ้นมาเพื่อจะแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ตามความเป็นจริง และนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง” 
 
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวว่า “สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประมงตอนนี้ คือ หนึ่ง หน้าร้อนสำหรับชาวประมงคือ การกินของเก่า เพราะหาปลาไม่ค่อยได้ เกิดปรากฎการณ์ปลาตายในช่วงที่ร้อนมากๆ ช่วงมีนาคม เมษายน และยังมีปะการังฟอกขาว สอง การกัดเซาะชายฝั่ง เกิดมากโดยเฉพาะในอ่าวไทย บางหมู่บ้านหายไปทั้งหมู่บ้านเลยก็มี ด้านหนึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งน่าจะเป็นโลกร้อน แต่อีกด้านหนึ่งเกิดจากน้ำมือมนุษย์ การสร้างเขื่อนกั้นกระแสน้ำ รัฐบาลยังไม่สามารถฟันธงได้ สาม ภัยธรรมชาติ เช่น สินามิ คนตายเป็นแสน มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีกได้ แผนแม่บทไม่สามารถตอบโจทย์สองสามเรื่องนี้ได้เลย แต่อ้างว่าเป็นทิศทางการแก้ปัญหาของประเทศไทยในอีกสิบปีข้างหน้า หลายเรื่องที่เขียนออกมากยิ่งไปซ้ำเติม เช่น การลดโลกร้อนโดยการทำท่าเรือ หรือถนนเลียบชายฝั่ง เกี่ยวตรงไหน เราไม่ได้พูดๆไปเฉยๆ แต่เราพูดบนซากศพเกือบแสนศพ ขณะนี้ ภาคใต้กำลังน้ำท่วม ฝนยังตกไม่หยุด แผนแม่บทรับรองตรงนี้ได้ไหม ไม่ได้ก็ต้องเลิก”
 
ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนระบุตอนท้ายว่า ตอนนี้ภาคประชาชนหารือกันอยู่บ่อยๆ หากรัฐบาลไม่มีทีท่าเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ นับจากนี้อีกหนึ่งเดือนข้างหน้า เครือข่ายประชาชนจะไปทวงคำตอบที่หน้าทำเนียบ 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเสร็จสิ้นการแถลงข่าวตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนระบุว่าจะเดินทางไปยื่นหนังสือขอให้ยกเลิกร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ.2553-2562 และจัดกระบวนการยกร่างใหม่ที่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายยกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลบ่ายวันเดียวกันนี้ โดยหนังสือดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
1 พฤศจิกายน 2553 
 
เรื่อง ขอให้ยกเลิกร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. 2553-2562 และจัดกระบวนการยกร่างใหม่ที่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน
เรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
สิ่งที่ส่งมาด้วย เอกสารสรุปประเด็นเบื้องต้น วิพากษ์ร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. 2553-2562 โดยภาคประชาชน
 
ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นผู้ประสานงานจัดทำ “ร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ2553-2562” (ฉบับเผยแพร่ พฤศจิกายน 2552) ซึ่งตามร่างฉบับนี้จะผูกพันงบประมาณถึง 9,233 ล้านบาทนั้น
 
เครือข่ายภาคประชาชนขอให้มีการยกเลิกร่างแผนแม่บทฯ ดังกล่าวในทันที พร้อมทั้งขอให้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติดำเนินการสร้างกระบวนการทำแผนแม่บทฯ ใหม่ ด้วยเหตุผลดังนี้
 
1.วิธีการและกระบวนการจัดทำร่างเนื้อหาของแผนแม่บทฯเป็นไปอย่างรวบรัด ฉาบฉวย ขาดกระบวนการจัดทำแผนแบบมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมคิดและวางแผน ขัดแย้งกับกรอบวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทฯ เอง ซึ่งระบุชัดเจนว่าภาคพลังงานและอุตสาหกรรมเป็นผู้ก่อปัญหาหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่แผนฯ กลับผลักภาระไปยังภาคส่วนอื่น โดยหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างใดๆ
 
2.เนื้อหาของร่างแผนแม่บทฯ มีความสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง ไม่ครอบคลุมทุกมิติ จึงไม่สามารถตอบโจทย์นำสู่การแก้ปัญหาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง
 
จึงไม่ก่อประโยชน์ที่จะดันทุรังผลักดันร่างแผนแม่บทฯ ฉบับนี้ ออกมาใช้สำหรับเป็นยุทธศาสตร์ในการกำหนดหลักการและแนวทางเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เพราะถือว่าสอบตกตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาหรือรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จริง
 
ไม่สายเกินไปที่ท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ จะตัดสินใจยกเลิกร่างแผนแม่บทฯฉบับดังกล่าว เพื่อจัดกระบวนการทำแผนแม่บทฯใหม่ ที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้เนื้อหาที่ครอบคลุมในทุกมิติ และเป็นแผนแม่บทฯ ที่จะนำไปสู่การยอมรับจากทุกภาคส่วนได้ในอนาคต อันจะก่อประโยชน์ในการแสวงหาความร่วมมือเพื่อร่วมกันปฏิบัติให้แผนแม่บทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นจริงต่อไป
 
ทั้งนี้ ขอทราบคำตอบและความชัดเจนของท่าน ต่อข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ภายในสิ้นเดือน พฤศจิกายน 2553 (ภายในระยะเวลา 1 เดือน)
 
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมลงชื่อดังต่อไปนี้
 
1. สมัชชาคนจน
2. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
3. เครือข่ายทรัพยากรภาคเหนือล่าง
4. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง
5. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
6. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)
7. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
8. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)
9. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ (คปน.)
10. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ ลุ่มน้ำเซิน
11. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
12. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒธรรมและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันตก (เครือข่ายเฝ้าระวังเรื่องเรดด์)
13. สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้
14. เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์
15. เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน
16. เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ (นครศรีธรรมราช)
17. กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
18. กลุ่มปะทิวรักษ์ถิ่น จังหวัดชุมพร
19. เครือข่ายรักษ์ละแม จังหวัดชุมพร
20. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
21. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา
22. กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์
23. กลุ่มรักบ้านเกิดอ่าวน้อย จ. ประจวบคีรีขันธ์
24. กลุ่มประมงเรือเล็กอ่าวขั้นกระได ต.อ่าวน้อย จ. ประจวบคีรีขันธ์
25. กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์
26. กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
27. กลุ่มอนุรักษ์ห้วยยาง จ.ประจวบคีรีขันธ์
28. กลุ่มรักท้องถิ่นกุยบุรี-สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
29. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
30. เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
 
 
 
 
 
ข้อคิดเห็นของภาคประชาสังคม
ต่อ (ร่าง) “แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2553-2562)”
เสนอต่อนายกรัฐมนตรี วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553
 
            ภาคประชาสังคมไทย อันประกอบด้วยเครือข่ายประชาชนจากภูมิภาคต่างๆ ที่สนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตระหนักอย่างมากว่า ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องอนาคตอีกต่อไป ขณะนี้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคระบาด พายุ คลื่นยักษ์จากท้องทะเลและภัยธรรมชาติอื่น ๆ อีกมากมายกำลังเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเห็นว่า การจัดทำแผนแม่บทเพื่อรองรับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลเป็นการวางแผนระยะยาวเพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นที่สำคัญอย่างยิ่ง
 
อย่างไรก็ดี ในฐานะที่เป็นภาคประชาชนที่ได้ศึกษา (ร่าง) แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2553 – 2562) และการติดตามเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิด มีความเห็นว่า (ร่าง) แผนแม่บทฯ ฉบับนี้มีปัญหาหลายส่วนตั้งแต่ขั้นของกระบวนการจัดทำแผนและสาระสำคัญของแผนงานตามยุทธศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นต่อไปนี้
           
1. ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในกระบวนการจัดทำแผน
วิกฤตการณ์และปัญหาจากภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญและจะมีผลกระทบเกิดขึ้นกับทุกๆ ภาคส่วนของสังคม การจัดทำแผนแม่บทฯ เพื่อรองรับปัญหานี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีขั้นตอนและกระบวนการที่เปิดกว้างให้ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำ แต่แผนแม่บทฯ ฉบับปัจจุบันภายใต้การดำเนินการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ จัดทำขึ้นด้วยวิธีการว่าจ้างสถาบันวิชาการแห่งหนึ่งรวบรวมข้อมูลตามที่มีอยู่ และขาดการวิเคราะห์ปัญหาสำคัญๆ อีกหลายส่วน จริงอยู่ว่ารัฐบาลมีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามภูมิภาคและที่กรุงเทพฯ แต่การมีส่วนร่วมดังกล่าวจัดขึ้นอย่างรวบรัด ประชาชนหรือผู้มาเข้าร่วมเวทีทำได้เพียงการรับฟังข้อมูลที่ย่นย่อสั้นๆ ซึ่งไม่ก่อประโยชน์ที่แท้จริงอันใด
 
2. การดำเนินการภายใต้แผนฯ ไม่สามารถรองรับวิกฤตการณ์โลกร้อนได้ตรงจุดในหลายประเด็น
แผนงานและโครงการที่บรรจุอยู่ในร่างแผนแม่บทไร้ทิศทางที่ชัดเจน กระจัดกระจาย และไม่สอดคล้องกับสาเหตุของปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อนที่วิเคราะห์ไว้ แต่ขณะเดียวกันจะสร้างภาระผูกกันรัฐบาลเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือมากกว่านั้น จากการศึกษาร่างแผนแม่บทฉบับนี้ มีความเห็นว่า แผนงานและโครงการที่บรรจุ ไม่ครอบคลุมสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนหลายประเด็น เช่น
 
2.1 การไม่ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรม
การวิเคราะห์ทางวิชาการระบุชัดเจนว่า ภาคอุตสาหกรรมและพลังงานเป็นตัวการหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยคือ ร้อยละ 73 ของการปล่อยก๊าซฯ ทั้งหมดตามสถิติในปี 2548 โดยเฉพาะจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมหนักบางกลุ่ม เช่น อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า และปิโตรเคมี เป็นต้น ดังนั้นแนวทางของการแก้ปัญหาจึงจะต้องมีนโยบายและแผนงานที่ควบคุมให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานด้วยการจำกัดหรือระงับการพัฒนาโครงการที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินและน้ำมัน และมีนโยบายควบคุมการลงทุนอุตสาหกรรมหนักบางกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก รวมถึงการจำกัดการลงทุนหรือการพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมและพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนแม่บทควรจะต้องมีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากทั้งสองภาคนี้ สำหรับมาตรการและการส่งเสริมกลไกพัฒนาที่สะอาดหรือกลไกทางการตลาดอื่นๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซควรเป็นมาตรการที่ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคการผลิตต่างๆ และใช้กระตุ้นผู้บริโภคทั่วไปให้มีส่วนร่วมในเรื่องนี้
 
2.2 การขาดนโยบายมหภาคและการจัดการเชิงองค์รวมสำหรับภาคเกษตร
แผนแม่บทให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรระดับจุลภาคมากกว่าระดับมหภาค (เกษตรกรรายย่อยมากกว่าอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่) การดำเนินโครงการต่างๆที่มีแนวโน้มแก้ไขพฤติกรรมเกษตรกรเป็นรายปัจเจกบุคคล ทำให้มีแนวโน้มเน้นไปที่การจัดการกับกลุ่มคนที่ขาดอำนาจการต่อรองมากกว่าคนกลุ่มที่เป็นต้นเหตุของปัญหาจริงๆ นอกจากนี้ แผนฯ ยังขาดการวิเคราะห์ถึงรากเหง้าของปัญหาในภาคเกษตรที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเพียงพอ ทำให้ไม่ทราบแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซในประเทศไทย และไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างการปล่อยก๊าซในภาคเกษตรเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อความจำเป็นของเกษตรกรรายย่อย กับการปล่อยก๊าซเพื่อแสวงหากำไรของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งกลุ่มหลักในภาคเกษตรที่รัฐควรตั้งเป้าหมายให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 
ในมิติการปรับตัว แผนแม่บทฯ ไม่ได้พูดถึงอุปสรรคเชิงโครงสร้างของการปรับตัวในระดับมหภาค เช่น การป้องกันไม่ให้บรรษัทข้ามชาติผูกขาดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และสิ่งมีชีวิต เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวและการแก้ปัญหาโลกร้อนของเกษตรกรรายย่อย และในระดับจุลภาคเองก็ขาดการเชื่อมโยงองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเพียงพอ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากเมื่อพิจารณาว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่มีความเฉพาะตัว และการใช้มาตรการเดียวกันที่สั่งการมาจากส่วนกลางมีแนวโน้มจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ในประเด็นความมั่นคงทางอาหารก็ให้ความสำคัญกับพืชเพื่อส่งออกซึ่งเป็นมิติที่คับแคบมาก และไม่ได้รับประกันการเข้าถึงอาหารของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิของเกษตรกรและชุมชน แต่เห็นชัดว่าเน้นการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ซึ่งจะเปิดช่องให้เกิดการเข้ามาผูกขาดการจัดการเมล็ดพันธ์โดยบรรษัทการเกษตรขนาดใหญ่ อันเป็นเรื่องอันตรายในระยะยาวสำหรับสังคมเกษตรอย่างประเทศไทย
 
2.3 การขาดความรอบด้านและสิทธิชุมชนในการจัดการป่าไม้กับเรื่องโลกร้อน
ป่าไม้เป็นทั้งแหล่งปล่อยและแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังผูกโยงกับการหล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชนจำนวนมากทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นภาคส่วนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ดังนั้นการจัดการป่าไม้ในบริบทนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างยิ่ง แต่แผนงานในแผนแม่บทฯ เน้นเฉพาะการส่งเสริมการจัดการป่าในแง่ของการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนเพื่อค้าขายเครดิตในตลาดคาร์บอน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและคุ้มครองคุณค่าทางระบบนิเวศของป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และฐานทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตของประชาชน ในด้านที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด
 
นอกจากนี้ยังเน้นการคุ้มครองป่าด้วยการยึดกฎหมายป่าไม้เป็นหลักโดยไม่มองในแง่มุมของชุมชนที่ควรมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการปกป้องรักษาป่าไม้ อันเป็นมิติที่คับแคบเช่นกัน ยิ่งกว่านั้นแผนงานบางอย่างอาจไปซ้ำเติมปัญหาความขัดยังกับประชาชนที่อยู่ในเขตป่า ตัวอย่างเช่น โครงการศึกษาผลกรทบจากการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ โครงการพัฒนาระบบการตรวจสอบและติดตามการปริมาณการดูดซับคาร์บอนจากการสูญเสียพื้นที่ป่าในอุทยานทั่วประเทศ โครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า (REDD) เป็นต้น
 
2.4 การขาดการให้ความสำคัญกับประชาชนที่เป็นกลุ่มอ่อนไหวหรือมีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของโลกร้อน
การวิเคราะห์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตของร่างแผนแม่บทฯ มีลักษณะแยกส่วนและไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนกลุ่มอ่อนไหวที่จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น เกษตรกรรายย่อย ประมงรายย่อย ชนเผ่า และประชาชนที่อยู่ในป่า เป็นต้น ตัวอย่างเช่นกลุ่มชุมชนในภาคประมงและที่อยู่ตามพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหลากหลายและรุนแรงจากภัยพิบัติที่จะเกิดจากความแปรปรวนของภูมิอากาศ
 
การจัดทำแผนแม่บทฯ ควรมีการวิเคราะห์ความเปราะบางและความล่อแหลมของชุมชนฝายฝั่งทะเล รวมถึงศักยภาพและขีดความสามารถของชุมชนในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีความรอบด้านเพียงพอ เช่น ควรมองให้เชื่อมโยงกันตั้งแต่นโยบายและแผนงานเกี่ยวกับการประมง การพัฒนาการท่องเที่ยว การขยายตัวของพื้นที่เมืองในพื้นที่ชายฝั่งทะเล การขยายการลงทุนภาคพลังงานและอุตสาหกรรมหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของพื้นที่ชายฝั่งทั้งหมดของภูมิภาคนี้
 
            นอกจากนี้ การจัดทำแผนแม่บทฯ ควรคำนึงถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบถ้วน เช่น ชุมชนที่อาศัยตามพื้นที่ชายฝั่ง ชุมชนประมงพื้นบ้าน เกษตรกรรายย่อย แรงงานนอกระบบและแรงงานต่างด้าว และการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมและผลกระทบระยะยาวด้วย
 
3. สรุปความเห็นต่อร่างแผนแม่บทฯ
โดยภาพรวมแล้ว แผนแม่บทฯ ฉบับนี้จะไม่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่รัฐบาลไปพยายามเน้นย้ำในหลายโอกาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเครือข่ายภาคประชาชนก็ได้ต่อสู้และสนับสนุนทิศทางนี้อย่างแท้จริงมาตลอดเวลา โครงการต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บทฯ เป็นเพียงการนำโครงการที่มีอยู่แล้วของหน่วยงานต่างๆ เข้ามาบรรจุไว้ ไร้ทิศทาง ไร้ระบบและไร้เอกภาพ ทำให้เกิดคำถามตามมาถึงความจริงจังในการแก้ปัญหาโลกร้อนของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ
 
ดังนั้น ภาคประชาชนที่ได้ยื่นหนังสือถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2553-2562) และจัดให้มีกระบวนการในจัดทำร่างแผนแม่บทฯ ใหม่ เปิดให้ประชาชนภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และให้การจัดทำแผนงานมีความครอบคลุมรอบด้าน มีทิศทางของแผนงานและการรับมือกับปัญหานี้ที่ชัดเจนตามที่แผนแม่บทควรจะเป็น
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท