Skip to main content
sharethis
เครือข่ายองค์กรแรงงาน ชวนผู้ประกันตนร่วมลงชื่อ 20,000 รายชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับบูรณาการแรงงาน) เพื่อการปรับปรุงสำนักงานประกันสังคมไปสูงการบริหารจัดการองค์กรในรูปแบบองค์กรอิสระ ขยายสิทธิประโยชน์ และการขยายการคุ้มครองไปสู่ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุม
 
• ทำไมต้องปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533
 
สำนักงานประกันสังคมดำเนินภายใต้ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2553 บังคับใช้มานานร่วม20 ปี(กันยายน 2533- กันยายน 2553) และการบังคับใช้กฎหมาย ในช่วงที่ผ่านมามีประเด็นปัญหาที่ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิที่ควรจะได้รับ การมีส่วนร่วม ความไม่โปร่งใส และสิทธิประโยชน์บางส่วนไม่สอดคล้องกับพลวัตรการจ้างงานที่เปลี่ยนไป
 
กฎระเบียบและเนื้อหาบางส่วนของพระราชบัญญัติฯ ล้าสมัยไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน อันส่งผลกระทบต่อรูปแบบการบริหารงานที่ขาดความคล่องตัว รวมไปถึงกรณีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของผู้ประกันตนที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , เครือข่ายแรงงานนอกระบบ, เครือข่ายองค์กรแรงงาน และเครือข่ายผู้ประกันตนต่างๆ เล็งเห็นความสำคัญของสภาพปัญหา จึงได้ร่วมกันยกร่าง “พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. … (ฉบับบูรณาการแรงงาน)” เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อเสนอทิศทางในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสำนักงานประกันสังคม ทั้งในส่วนของการบริหารจัดการองค์กรที่ควรเป็นองค์กรอิสระ การขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และการขยายการคุ้มครองไปสู่ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. …. (ฉบับบูรณาการแรงงาน) สู่การปฏิรูป เป็นองค์กรอิสระ โดยการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนที่เห็นด้วยต่อการปฏิรูปประกันสังคม ด้วยการมีส่วนร่วมลงรายมือชื่อเสนอกฎหมายร่วมกัน (ดาวโหลดแบบฟอร์มล่ารายชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม)
 
แนวทางการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ดังนี้
 
(1)   ที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมซึ่งมีสามฝ่าย คือ รัฐ/นายจ้าง/ลูกจ้าง โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้างซึ่งจะเป็นคนเดิมๆ ประกอบกับผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการก็มีเพียงองค์กรสหภาพแรงงานเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับ จำนวนผู้ประกันตนประมาณเก้าล้านกว่าคน
 
(2)   จำนวนเงินของกองทุนประกันสังคมมีเป็นจำนวนมากในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะด้านการเงินและการประสานความร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแนวนโยบายได้สำเร็จ จึงให้เปลี่ยนตำแหน่งของผู้ที่จะเป็นประธานกรรมการ
 
(3)   การดำเนินการภายในสำนักงานประกันสังคม เลขาธิการสำนักงานมีอำนาจในการบริหารจัดการ ทำให้บทบาทของคณะกรรมการ ไม่สามารถบริหารจัดการให้เป็นไปตามแนวนโยบายได้ จึงเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการสามารถควบคุมบริหารสั่งการ ให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมปฏิบัติตามคำสั่ง
 
(4) เมื่อผู้ประกันตนพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างก็จะไม่มีรายได้ในการยังชีพของลูกจ้างไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจึงให้ขยายความคุ้มครองลูกจ้างเพิ่มขึ้น
 
(5)   ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และยังไม่สามารถหางานใหม่ จะขาดรายได้เมื่อจะสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งก็ต้องจ่ายเงินสมทบเป็นสองเท่า รัฐออกหนึ่งเท่า ในขณะที่ลูกจ้างตกงานไม่มีรายได้ เป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประสงค์จะประกันตน
 
(6)   กรณีนายจ้างหักเงินค่าจ้างเพื่อนำส่งเงินสมทบประกันสังคม รวมทั้งเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง แต่ไม่นำส่งหรือนำส่งไม่ครบจำนวน ทำให้ผู้ประกันตนมีปัญหาในกรณีประสงค์จะใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ต้องร้องเรียนหรือฟ้องร้องไม่สามารถใช้สิทธิได้ทันทีตามที่ควร จะเป็น และบางคนไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ นายจ้างต้องรับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้น
 
(7)   การใช้บริการทางการแพทย์สามารถใช้ได้เฉพาะสถานพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น ยกเว้นกรณีฉุกเฉินจำเป็น ทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับการบริการทางการแพทย์อย่างดีเท่าที่ควรและไม่ได้รับความสะดวก
 
(8)   การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยไม่สามารถใช้บริการทางการแพทย์ได้ ต้องเป็นผู้ประกันตนแล้วอย่างน้อยสามเดือน หากในระหว่างครบกำหนดสามเดือนเกิดประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยทำให้ลูกจ้างผู้ประกันตนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เอง
 
สถานการณ์ดังกล่าวทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยการสนับสนุนของแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้มีกระบวนการยกร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ฉบับบูรณาการแรงงาน) มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 โดยอิงกับร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดในบางมาตรา และเพิ่มมาตราใหม่หรือบทเฉพาะกาล โดยพิจารณาถึงความครอบคลุม ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ มุ่งหลักประกันระยะยาวและประสิทธิภาพในการให้บริการ รวมถึงการมุ่งเน้นให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์การอิสระ
 
การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกันสังคมดังกล่าว คณะทำงานได้ศึกษาพิจารณากฎหมาย4 ฉบับ เพื่อเป็นแนวทางประกอบการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมได้แก่
 
1. พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
 
2. พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
 
3. พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542
 
4. รายงานการศึกษาวิจัยเรื่องการจัดตั้งสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์การมหาชน และร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2546)
 
 
• สาระสำคัญของร่างกฎหมายประกันสังคม (ฉบับบูรณาการแรงงาน) สรุปได้ดังนี้
 
(1) ขอบเขตการคุ้มครอง
 
1.1 ขยายคุ้มครองถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของราชการรวมถึงลูกจ้างผู้รับงานมาทำที่บ้านและลูกจ้างทำงานบ้าน อันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
 
1.2 ห้ามมิให้ส่วนราชการใดออกกฎหมายเพื่อยกเลิกการใช้บังคับแก่กิจการและลูกจ้างที่กฎหมายนี้ใช้บังคับในภายหลัง
 
1.3 การยกเว้นคุ้มครองกิจการหรือลูกจ้างกลุ่มใดในอนาคต ต้องได้รับการเห็นชอบโดยคณะกรรมการประกันสังคม
 
(2) ปรับปรุงคำนิยาม 4 คำได้แก่
 
2.1 “ลูกจ้าง” ให้หมายรวมถึง ลูกจ้างทำงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย และลูกจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน
 
2.2 “นายจ้าง” หมายรวมถึง นายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและผู้จ้างงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน
 
2.3 “ค่าจ้าง” หมายรวมถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันที่ลูกจ้างหยุดงานโดยมิได้เป็นความผิดของลูกจ้าง
 
2.4 “ทุพพลภาพ” หมายรวมถึง ผู้ประกันตนที่สูญเสียอวัยวะส่วนใดหรือสูญเสียสมรรถภาพของร่างกาย โดยตัดคำว่า “จนไม่สามารถทำงานได้”เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนที่เป็นธรรมตามความเป็นจริง
 
(3) ปรับปรุงองค์ประกอบ คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ ที่มาและวาระของคณะกรรมการประกันสังคม ประกอบด้วยประธานและกรรมการอีก 4 ฝ่ายๆ ละ 8 คนรวมเป็น 33 คน ดังนี้
 
1. ประธานกรรมการ มาจากการสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับงานประกันสังคม โดยการสรรหาของกรรมการโดยตำแหน่ง, ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง, ฝ่ายผู้ประกันตนและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
 
2. กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงแรงงาน สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ สปส. รวม 8 คน
 
3. กรรมการฝ่ายนายจ้างและกรรมการฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 8 คน
 
4. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สรรหาโดยกรรมการข้อ 2 และ 3 เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ด้านต่างๆ ด้านงานประกันสังคม, งานหลักประกันสุขภาพ, ด้านการแพทย์, ด้านเศรษฐศาสตร์การคลัง, บริหารการลงทุน, ด้านกฎหมาย,ด้านสวัสดิการสังคม และด้านสิทธิมนุษยชนด้านละ 1 คน รวม 8 คน
 
3.1 กรรมการฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้าง
 
- มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของผู้ประกันตนและนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับ สปส.
 
- ผู้ประกันตนอาจลงสมัครรับเลือกตั้งโดยอิสระหรือองค์กรเอกชน องค์กรด้านแรงงานที่ไม่ว่าจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ และดำเนินกิจกรรมด้านสวัสดิการแรงงานไม่น้อยกว่า5 ปี ส่งลงสมัครได้
 
- กำหนดคุณสมบัติผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างให้กว้างขวางชัดเจน เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนหรือมีส่วนได้เสียกับการดำรงตำแหน่ง หรือเกี่ยวข้องกับการเมืองและเป็นบุคคลสุจริตเชื่อถือได้ เช่น ไม่เคยต้องโทษคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก, ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออกจากราชการหรือหน่วยงานเอกชน, กรรมการรวมถึงคู่สมรส บุตรและบุพการีต้องไม่ประกอบกิจการที่มีส่วนได้เสียกับสำนักงานไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม, ไม่เป็นผู้มีตำแหน่งทางการเมืองหรือรับผิดชอบบริหารพรรคการเมือง ฯลฯ
 
3.2 กำหนดให้กรรมการประกันสังคมถือเป็นตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะชน และถือเป็นพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย
 
3.3 คณะกรรมการประกันสังคม มีอำนาจกำหนดนโยบายบริหารงานและควบคุมดูแลการบริหารงานประกันสังคมอย่างเต็มที่,รวมทั้งการเห็นชอบแผนงาน แผนการเงินงบประมาณของสำนักงานแต่ละปี, การกำหนดกฎเกณฑ์การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินประจำปีการบริหารงานทั่วไปและบริหารบุคลากร, การกำหนดหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย, หลักเกณฑ์การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้เสียหายจากบริการทางการแพทย์โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือไม่ได้รับค่าเสียหายในเวลาอันควร ฯลฯ
 
3.4 ปรับปรุงวาระดำรงตำแหน่งของกรรมการให้อยู่คราวละ 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน และพ้นจากตำแหน่งได้ถ้ากรรมการขาดประชุม3 ครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร หรือมีมติกรรมการ2 ใน
 
3 ของเท่าที่มีอยู่ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะบกพร่องต่อหน้าที่, มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ และเปิดให้ผู้ประกันตนไม่น้อยกว่า 1,000 คน เข้าชื่อร้องขอให้คณะกรรมการพิจารณาถอดถอนกรรมการคนใดออกได้ด้วย
 
3.5 ปรับปรุงให้คณะกรรมการประกันสังคม (รวมทั้งคณะกรรมการอื่นๆ ตามกฎหมาย เช่น คณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการกองทุน) ที่มิใช่เป็นกรรมการมาโดยตำแหน่ง การแต่งตั้งต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของหญิงและชายกรรมการจะดำรงตำแหน่งอื่นตามกฎหมายนี้ไม่ได้ และกรรมการทุกชุดจะเป็นอนุกรรมการได้ไม่เกิน2 คณะ
 
(4) สำนักงานประกันสังคมและเลขาธิการ สปส.
 
4.1 กำหนดให้สำนักงาน มีฐานะนิติบุคคลที่ไม่ใช่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงแรงงานอยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
 
4.2 เลขาธิการต้องเป็นผู้ทำงานเต็มเวลาและมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมเกี่ยวกับการบริหารงานประกันสังคม และมีคุณสมบัติอีกหลายอย่างที่ต้องเป็นบุคคลมีวุฒิภาวะและตรวจสอบได้ว่าเป็นคนสุจริต เชื่อถือยอมรับได้ชัดเจนตามที่กฎหมายกำหนด ให้ดำรงตำแหน่งโดยมีสัญญาว่าจ้างกับสำนักงาน วาระ 4 ปี มีอำนาจบริหารควบคุมงานและบุคลากรตามนโยบายคณะกรรมการและกฎหมายโดยไม่ขึ้นกับรัฐมนตรีสั่งการ
 
(5) โครงสร้างการบริหารกองทุนประกันสังคม
 
นอกจากมีคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการอุทธรณ์และคณะกรรมการแพทย์ ตามรูปแบบกฎหมายเดิมแล้ว จะมีคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการลงทุนที่คณะกรรมการประกันสังคมออกระเบียบสรรหาขึ้นมา เพื่อเป็นหลักประกันในการตรวจสอบการบริหารกองทุนและจัดหาผลประโยชน์การลงทุนเป็นไปอย่างโปร่งใส ติดตามควบคุมได้โดยผู้มีความรู้ความสามารถ
 
และมีประสบการณ์
 
(6) อัตราเงินสมทบ และประโยชน์ทดแทน
 
6.1 ผู้ประกันตนมีโอกาสสามารถตรวจสอบนายจ้างได้ว่านำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนแก่ สปส. หรือไม่? เท่าไร? ทุกครั้งหรือไม่?โดยให้นายจ้างต้องเปิดเผยให้ทราบโดยปิดประกาศในสถานประกอบการโดยเปิดเผยตามระยะเวลาที่กำหนด
 
6.2 กำหนดให้ฐานค่าจ้างคำนวณเงินสมทบ ขึ้นกับค่าจ้างผู้ประกันตนแต่ละราย ไม่กำหนดอัตราสูงสุดไว้ และผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ เช่น จ่ายเงินสมทบไม่ถึง120 เดือน มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ70 ของค่าจ้าง หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่120 เดือนขึ้นไปมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ80 ของค่าจ้าง
 
6.3 ผู้ประกันตนที่ออกจากงาน จะขยายให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนยาวนานขึ้นตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ กล่าวคือ ถ้าจ่ายเงินสมทบไม่เกิน10 ปี มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนต่อเนื่องอีก 8 เดือน ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อไปได้อีก 12 เดือน
 
6.4 กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพที่มิใช่เนื่องจากการทำงาน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนบริการทางการแพทย์ ตั้งแต่วันแรกที่เป็นลูกจ้าง แม้ภายหลังออกจากงาน และรับประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพจนกระทั่งตาย เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกระทรวงสาธารณสุขดูแลอยู่ ประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยให้เพิ่มเติมค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และตรวจสุขภาพประจำปี แก่ผู้ประกันตนด้วย
 
6.5 กำหนดให้ผู้ประกันตนเลือกไปใช้บริการสถานพยาบาลทุกแห่งได้ตามที่มีข้อตกลงกับสำนักงานประกันสังคม ไม่ว่ากรณีปกติหรือกรณีฉุกเฉิน โดยเป็นหน้าที่ของ สปส. กับสถานพยาบาลจะตกลงจ่ายค่าบริการ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนดโดยไม่กำหนดให้ลูกจ้างต้องเลือกใช้สถานพยาบาลที่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานไว้ล่วงหน้าเหมือนเดิม
 
6.6 กำหนดให้ผู้ประกันตนหรือผู้อุปการะมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรอายุไม่เกิน20 ปีบริบูรณ์
 
6.7 กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิระบุเป็นหนังสือให้บุคคลใดรับประโยชน์ทดแทนกรณีค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีตายรวมทั้งรับประโยชน์ทดแทนกรณีบำเหน็จชราภาพได้
 
6.8 ผู้ประกันตนตามมาตรา 39
 
- กำหนดให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 7 เดือน (เดิม 12 เดือน) ต่อมาความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนยาวขึ้นคือภายใน12 เดือน (เดิม 6 เดือน) นับแต่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
 
- ผู้ประกันตน ม.39 ออกเงินสมทบ 1 เท่า และรัฐบาลออกเงินสมทบ 2 เท่า (เดิมรัฐจ่าย 1 เท่าผู้ประกันตนจ่าย 2 เท่า)
 
- ความเป็นผู้ประกันตน ม.39 สิ้นสุดลงเมื่อ
 
- ไม่ส่งเงินสมทบ 6 เดือนติดต่อกัน (เดิม 3 เดือน)
 
- ภายในระยะ 12 เดือนส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน (เดิม 9 เดือน)
 
6.9 ผู้ประกันตนตามมาตรา 40
 
ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าอัตราเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนมิใช่ลูกจ้าง(เดิมรัฐบาลไม่จ่าย และคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขเป็น ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่เกินกึ่งหนึ่งของอัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่าย)
 
6.10 กรณีว่างงาน
 
1. ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายเงินสมทบกรณีว่างงาน นับแต่เดือนถัดจากเดือนที่มีอายุ55 ปีบริบูรณ์
 
2. ผู้ประกันตนที่ว่างงาน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพพร้อมกับกรณีว่างงาน
 
3. ตัดเงื่อนไขเหตุยกเว้นไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้เหลือเพียงไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานจัดหางาน และเป็นผู้มีความสามารถทำงานได้ พร้อมทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้หรือไม่ปฏิเสธการฝึกงาน และได้ไปรายงานตัวไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
 
(7) ยกเลิก 2 มาตรา คือ
 
7.1 มาตรา 55 ยกเลิกบทบัญญัติที่ให้นายจ้างขอลดส่วนเงินสมทบได้ เนื่องจากไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป กฎหมายใช้บังคับมานานแล้ว
 
7.2 มาตรา 61 ยกเลิกเหตุที่ผู้ประกันตนไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนเพราะจงใจก่อให้เกิดขึ้น หรือยินยอมให้ผู้อื่นก่อให้เกิดขึ้น เพราะเป็นการนำหลักการประกันธุรกิจเอกชนมาใช้บังคับ โดยไม่สอดคล้องกับประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนจะได้รับจำนวนน้อยอยู่แล้ว
 
(8) เพิ่มบทลงโทษ
 
8.1 กรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบหรือนำส่งเงินสมทบไม่ครบ เป็นเงินเพิ่มร้อยละ 4 (เดิมร้อยละ 2)

8.2 หากนายจ้างเคยถูกลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ยังทำผิดซ้ำความผิดเดียวกันอีก ให้ศาลพิจารณาเพิ่มโทษแก่นายจ้างนั้นอีก 1 ใน 3 ของอัตราโทษจำคุก หรือเพิ่มอีกกึ่งหนึ่งของอัตราโทษปรับสำหรับความรับผิดนั้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net