Skip to main content
sharethis

โดยปกติแล้วหากเราจะพูดถึงเรื่อง “สื่อใหม่” หลายคนคงจะนึกถึงช่องทางใหม่อย่างอินเตอร์เน็ต จนละเลยไปว่ามีสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันอย่าง “วิทยุชุมชน” ที่มีการแพร่ขยายไปในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย ควบคู่กันไป เพียงแต่เป็นคู่ขนานคอยรับใช้มวลชน ผู้บริโภค ตลาดแต่ละชั้นต่างกันไปตามระดับฐานะของคนในสังคม

ยิ่งในสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เป็นปกติตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 - การชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย - จวบจนเลยเถิดมาถึงการปราบปรามประชาชนคนเสื้อแดงโดยฝ่ายรัฐบาลประชาธิปัตย์ต่อเนื่องกันในเดือนเมษายน 2552 และเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมานั้น ในสมรภูมิรบด้านสื่อใหม่ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต ช่องทีวีดาวเทียว และวิทยุชุมชน ก็ต่างได้ทำหน้าที่อย่างสมภาคภูมิ และก็โดนตีโต้กลับจากฝ่ายรัฐอย่างเด็ดขาดด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการบล็อกเว็บ กวนสัญญาณดาวเทียม ปิดคลื่นวิทยุชุมชนเป็นว่าเล่น

สำหรับดีเจคลื่นวิทยุชุมชน ที่นอกเหนือจากจะมีบทบาทในการทำสื่อ บอกเล่าเรื่องราวสถานการณ์ทางการเมืองสู่ชาวบ้านแล้ว ภาพลักษณ์ของดีเจวิทยุชุมชนคลื่นเสื้อแดงส่วนใหญ่ก็ถูกมองว่ากลายเป็น “นักเคลื่อนไหวทางการเมือง” ไปพร้อมกันด้วย และพวกเขามักจะถูกฝ่ายความมั่นคงเข้าประกบตัวทันที เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองมีแนวโน้มที่จะมีการเคลื่อนไหวของมวลชน

วันนี้เราลองมาพูดคุยกับ “ดีเจหนึ่ง” ดีเจวิทยุชุมชนที่ถูกกล่าวขวัญมากที่สุดในเชียงใหม่ ในช่วงสถานการการเมืองร้อนระอุ เรื่องราวชีวิตจากที่เขาเคยเป็นแค่ผู้ฟังธรรมดาๆ คนหนึ่ง สู่การเป็นดีเจคลื่นเสื้อแดง - ติดโผแผนผัง “ล้มเจ้า” ของ ศอฉ.- ชีวิตถูกคุกคามหนัก พร้อมด้วยฝันครั้งใหม่ การทำสถานีวิทยุชุมชน ที่แฟนรายการร่วมพันบริจาคเงินมากว่าแสนบาทแล้ว

1.

“ก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร ความเกลียดชังมันไม่ได้มีถึงขนาดนี้ คนชอบทักษิณหรือคนเกลียดทักษิณ ก็ไม่ได้ชอบสุดขั้วหรือเกลียดสุดขั้วเหมือนในปัจจุบันนี้”

 

2.

“ลองคิดดูว่าตอนนั้นมีคนเลือกคุณทักษิณ 19 ล้านเสียง แล้วต้องมาดูข่าวการชุมนุมของเวทีพันธมิตรที่ทำซ้ำตลอดเวลา เสนอข่าวความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นใครตั้งกลุ่มด่าทักษิณดูเท่หมด มีการเสนอข่าวให้ดูเหมือนว่ามีการขับไล่ทักษิณอยู่ในทุกภาคส่วน แม้แต่ตั้งกลุ่มกันมา 3 – 4 คน ก็ได้ลงสื่อแล้ว แต่ในมุมกลับ คนที่เลือกทักษิณเข้ามา เขาก็มองสิ่งเหล่านี้ด้วยความไม่สบายใจ เจ็บปวดรวดร้าว บางคนต้องปิดทีวีไม่รับข่าวสาร นี่ถือว่าเป็นการสร้างความเกลียดชังมาตั้งแต่ต้น ยิ่งมามีการรัฐประหาร ก็เหมือนมาเป็นการตอกลิ่มความไม่พอใจนี้”

 

3.

“ยังไงสำหรับชาวบ้านผมคิดว่าการใช้วิทยุชุมชนถือว่าเป็นสื่อที่เข้าหาชาวบ้านได้ดีที่สุด ส่วนอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งหาข้อมูล ส่วนวิทยุชุมชนเอาไว้เผยแพร่กระจายข้อมูล ควบคู่กันไป”

 

เป็นใครมาจากไหน?

เป็นคนเชียงใหม่ เกิดและเติบโตที่เชียงใหม่ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พอเรียนจบก็ไปทำงานที่ กทม. กว่า 10 ปี ทำงานออฟฟิศ แล้วอยากออกมาทำธุรกิจเอง เลยออกมาตั้งออฟฟิศเล็กๆ ทำงานแบบฟรีแลนซ์ด้านการออกแบบจัดสวน Landscape พอดีไม่รู้จังหวะ ออกมาทำช่วงรัฐประหาร ปี 2549 รู้ได้เลยว่าเศรษฐกิจเริ่มแย่ เพราะงานออกแบบจัดสวนลูกค้าจะต้องเป็นคนที่มีกำลังจ่ายพอสมควร กอปรกับทุนเราน้อย เริ่มไม่มีเงินจ่ายคนงานจึงต้องอพยพกลับมาอยู่เชียงใหม่

เมื่อกลับมาเชียงใหม่ ก็มาทำธุรกิจค้าขายของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ แต่ด้วยความที่เราไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจค้าขาย เลยไม่รู้ว่าทำเลไหนดีหรือไม่ดี อาศัยการมองแบบตอนที่อยู่ กทม. เป็นหลัก ที่ขายของที่ไหนก็ขายได้แม้แต่บนสะพานลอย แต่ที่เชียงใหม่ไม่เป็นแบบนั้น ที่เชียงใหม่แม้แต่ถนนเส้นเดียวกันแต่อยู่คนละฝั่งก็อาจจะขายได้ไม่เท่ากัน

ปรากฏว่าเริ่มขาดทุนมาเรื่อยๆ จึงเปลี่ยนจากการขายหน้าร้านมาขายตามตลาดนัดแทน เพราะต้นทุนต่ำกว่าเดิม คนเดินจับจ่ายใช้สอยมากกว่า เลยมาอาศัยการขายแถวตลาดนัดแทน ก็เริ่มที่จะอยู่ได้ เพราะช่วงนั้นตรงกับช่วงพืชสวนโลกที่จัดที่จังหวัดเชียงใหม่พอดี แต่หลังพืชสวนโลกก็เริ่มจะย่ำแย่อีกครั้ง เพราะคนที่ทำธุรกิจที่ต้องอาศัยเรื่องการท่องเที่ยวนั้นถือว่าเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร

โดยในช่วงนั้นรู้สึกว่านักท่องเที่ยวลดลง ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นห่วงต่อเรื่องความปลอดภัยของตัวนักท่องเที่ยวเอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายๆ คนในธุรกิจท่องเที่ยว ไกด์ บริษัททัวร์ เจ้าของร้านอาหาร กระทบหมด เพราะเราอยู่เมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ มันก็ดูซบเซาเลยช่วงนั้น ยิ่งเราไม่มีสายป่าน ไม่มีเงินทุนมาก ต้องหากินวันต่อวันมันยิ่งกระทบต่อเราโดยตรง

ปูมหลังความสนใจทางการเมืองช่วงนั้น?

ต้องย้อนกลับตอนที่ไปอยู่ กทม. ด้วยความที่ตัวเองเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ได้ทำกิจกรรมนักศึกษาหรือกิจกรรมทางการเมืองใดๆ พอไปอยู่ที่ กทม. ก็สนใจแต่เรื่องปากท้องของตัวเองเป็นหลัก เพราะคน กทม. ผมเชื่อเลยว่าส่วนใหญ่คงไม่สนใจเรื่องการเมืองอย่างลึกซึ้ง แค่ตามกระแส โดยนิสัยคน กทม. ที่ผมได้สัมผัสมาอย่างหนึ่งก็คือ จะคิดว่าตัวเองจะดีกว่า จะสูงกว่า จะรู้มากกว่าคนต่างจังหวัด เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และคนพวกนี้จะไวต่อกระแสใหม่ๆ มากกว่าคนต่างจังหวัด

ตอนนั้นผมอยู่ กทม. ผมชอบทักษิณ เพราะหนึ่งแกเป็นคนเชียงใหม่ เป็นคนบ้านเดียวกันเลยเลือกแก แต่ขณะเดียวกันผู้ว่าราชการ กทม. ผมกลับเลือกอภิรักษ์ ตอนนั้นไม่ได้มีความสนใจว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทยหรือประชาธิปัตย์ เรื่องการเมืองในมุมมองส่วนตนยังเป็นเรื่องการเลือกตัวบุคคล ไม่ได้สนใจอะไรไปมากกว่านี้

สิ่งนี้ผมว่ามีความสำคัญ คือก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร ความเกลียดชังมันไม่ได้มีถึงขนาดนี้ คนชอบทักษิณหรือคนเกลียดทักษิณ ก็ไม่ได้ชอบสุดขั้วหรือเกลียดสุดขั้วเหมือนในปัจจุบันนี้ ตอนนั้นก็เหมือนเป็นสิ่งปกติของระบอบประชาธิปไตย มีพรรคโน้นพรรคนี้หลายๆ พรรค แล้วแต่คนจะเลือกและก็ไม่ได้มีความเกลียดชังกันมากมายถึงขนาดนี้

ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร ก่อนหน้าที่จะมีความแตกแยกแบบทุกวันนี้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนส่วนใหญ่ในขณะนั้น ผมมองว่าเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความเกลียดชังให้สังคมไทย เพราะลองคิดดูว่าตอนนั้นมีคนเลือกคุณทักษิณ 19 ล้านเสียง แล้วต้องมาดูข่าวการชุมนุมของเวทีพันธมิตรที่ทำซ้ำตลอดเวลา เสนอข่าวความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นใครตั้งกลุ่มด่าทักษิณดูเท่หมด มีการเสนอข่าวให้ดูเหมือนว่ามีการขับไล่ทักษิณอยู่ในทุกภาคส่วน แม้แต่ตั้งกลุ่มกันมา 3 – 4 คน ก็ได้ลงสื่อแล้ว แต่ในมุมกลับ คนที่เลือกทักษิณเข้ามา เขาก็มองสิ่งเหล่านี้ด้วยความไม่สบายใจ เจ็บปวดรวดร้าว บางคนต้องปิดทีวีไม่รับข่าวสาร นี่ถือว่าเป็นการสร้างความเกลียดชังมาตั้งแต่ต้น ยิ่งมามีการรัฐประหาร ก็เหมือนมาเป็นการตอกลิ่มความไม่พอใจนี้

แล้วมาเป็นดีเจคลื่นรักเชียงใหม่ 51 ได้อย่างไร?

ในแรกเริ่มก็เป็นเพียงคนที่ไม่พอใจกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร หรือหลังจากการเลือกตั้งที่เราได้พรรคพลังประชาชนมาบริหารประเทศ แต่ก็กลับถูกกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลนายสมัคร เลยเถิดไปถึงการยึดทำเนียบรัฐบาล ชุมนุมปิดสนามบิน ก็เลยอยากจะหาสื่อทางเลือกเพื่อรับข่าวสาร ซึ่งเชียงใหม่ในขณะนั้นคลื่นวิทยุทางเลือกสำหรับคนที่ไม่พอใจกับการรัฐประหารและกลุ่มพันธมิตร ก็มีเพียงคลื่น 92.5 ของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่เปิดตัวเป็นคลื่นแรก ผมก็เริ่มจากการเป็นผู้ฟังก่อน ก่อนที่จะเข้ามาร่วมเป็นผู้จัดรายการ

โดยมีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้มีโอกาสเข้ามาเป็นผู้จัดรายการ คือหลังการลงเลือกตั้งซ่อม ส.. ที่ จ.ลำพูน โดย ผอ.เพชร (เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และผู้อำนวยการสถานีวิทยุคลื่น 92.5) ลงสมัครแต่สอบตก ผมก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรในสถานีตอนนั้น เพราะดีเจของคลื่นได้ออกยกแผง เหลือดีเจอ้อม ผอ.เพชร และดีเจอีกหนึ่งคน ทางสถานีจึงมีการประกาศรับสมัครดีเจ ว่าใครอยากมาเป็นก็ให้เข้ามาจัดรายการที่สถานี ช่วงนั้นผมว่างจากการขายของ ที่ขายในช่วงการคืน จึงว่างมาจัดรายการในช่วงกลางวัน

จัดรายการลักษณะไหน?

ต้องย้อนไปตอนก่อนที่จะมาเป็นดีเจ เราก็เป็นผู้ฟังคนหนึ่ง ซึ่งเราฟังรายการคลื่นเสื้อแดงเราก็จะรู้ได้เลยว่าเขาไม่ได้เป็นดีเจอาชีพ คือเป็นชาวบ้านมาเลย รวมถึงการนโยบายของ ผอ.เพชร ที่บอกว่าคลื่นเราเป็นคลื่นชุมชนชาวบ้าน ต้องเน้นชาวบ้านเป็นหลัก เวลาเราฟังช่วงนั้นก็รู้ได้เลยว่าเป็นการพูดออกมาจากใจชาวบ้านธรรมดาๆ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเราไปฟังฝั่งของคลื่นพันธมิตร เห็นได้ว่าพวกเขานำเสนอได้อย่างเป็นระบบ เน้นเรื่องข้อมูลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ประกอบกับผมไม่มีสื่อกระแสหลักจะเสพย์จะเอามาเป็นข้อมูลในช่วงนั้น ทำให้ต้องหันมาใช้สื่ออย่างอินเตอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลตามเว็บไซต์ต่างๆ เช่น พันทิป, ประชาไท, ฟ้าเดียวกัน ซึ่งมันมีข้อมูลดีๆ บทความดีๆ ของนักวิชาการที่น่าสนใจอย่าง ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เราเห็นทีแรกก็สนใจ เพราะคิดว่าเขาเป็นถึงระดับด็อกเตอร์ แต่เขาก็สนับสนุนเสื้อแดงนี่หว่า แล้วทำไมตอนนั้นกระแสมีแต่การพูดว่าเสื้อแดงมีแค่คนรากหญ้าอย่างเดียว

พอผมมีโอกาสมาจัดรายการที่คลื่น 92.5 จึงนำข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตเหล่านี้มาจัดรายการ ย่อยบทความของนักวิชาการที่น่าเชื่อถือ เช่น อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ หรือแม้แต่บทความของ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และคนอื่นๆ นำมาถ่ายทอดผ่านวิทยุชุมชน

ในช่วงนั้นการหาข้อมูลในการจัดรายการยากขึ้นไหม เพราะสื่อทางอินเตอร์เน็ตเริ่มโดนปิดกั้น?

คิดว่าไม่ยาก เพราะเมื่อเว็บโดนปิด ก็มีโปรแกรมทะลวงการบล็อกต่างๆ ออกมาใช้ เราก็เริ่มได้ใช้ รวมถึงมีเว็บการเมืองที่งอกออกมาใหม่ๆ มีเฟซบุ๊คซึ่งเริ่มบูมในช่วงนั้น ทำให้ไม่ค่อยเป็นอุปสรรคต่อการหาข่าวทางอินเตอร์เน็ตเท่าไหร่

คิดว่ามีพลังไหม สื่ออินเตอร์เน็ต?

มีพลังพอสมควร กลุ่มของผมเองก็มีเว็บไซต์ ในช่วงที่ไม่ได้จัดรายการในคลื่นวิทยุชุมชนก็มาจัดรายการทางเว็บไซต์ ปัจจุบันต้องยอมรับว่าอินเตอร์เน็ตมีผลต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างสูง แต่ก็อย่าลืมว่ามันไม่ได้สะดวกไปเสียทุกอย่าง เพราะว่าแม้แต่คนที่เล่นอินเตอร์เน็ตเป็น ก็ไม่มีสมาร์ทโฟนติดมือกันทุกคน เวลาออกไปข้างนอกก็ไม่ได้พกโน๊ตบุ๊คหรือคอมพิวเตอร์ติดตัวไปทุกคน ส่วนชาวบ้านยิ่งไปกันใหญ่ ถึงแม้ลูกหลานจะมีคอมพิวเตอร์มีอินเตอร์เน็ต แต่ชาวบ้านก็ยังเข้าถึงอยากอยู่ดี

ยังไงสำหรับชาวบ้านผมคิดว่าการใช้วิทยุชุมชนถือว่าเป็นสื่อที่เข้าหาชาวบ้านได้ดีที่สุด ส่วนอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งหาข้อมูล ส่วนวิทยุชุมชนเอาไว้เผยแพร่กระจายข้อมูล ควบคู่กันไป

ผลตอบรับจากการจัดรายการ?

ต้องเข้าใจว่าวิทยุชุมชนมันมีกลุ่มผู้ฟังหลากหลายอยู่เหมือนกัน ในการจัดรายการผมก็จะมีช่วงให้ผู้ฟังโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็น ซึ่งเมื่อก่อนนั้นต้องยอมรับว่าช่วงที่ให้คนโทรเข้ามาจะเหมือนเป็นการให้โทรเข้ามาระบายอารมณ์ของชาวบ้าน โทรศัพท์มาด่าทอฝ่ายที่เขาไม่ชอบ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลุ่มคนฟังมันกว้างกว่านั้น มีคนฟังที่มีความรู้ ซึ่งพอเราเอาบทความจากอินเตอร์เน็ตมาเผยแพร่ ก็เหมือนมันไปโดนใจคนอีกกลุ่มหนึ่งก่อน อันดับแรกก็คือไปถูกใจคนที่มีการศึกษา ปัญญาชนก่อน ก็เลยเริ่มมีแฟนรายการเป็นคนกลุ่มนี้ก่อน พอเราจัดรายการไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกได้ว่าเริ่มมีชาวบ้านให้ความสนใจมากขึ้น เริ่มมีฐานแฟนรายการที่เป็นชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น

ลงไปพบปะแฟนรายการได้ยังไง?

ช่วงแรกไม่คิดว่าจะได้รับผลตอบรับดีขนาดนี้ ผมจัดรายการในช่วง 12.00 – 14.00 . โดยในช่วงนั้นกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 จะมีกิจกรรมที่สถานีบ่อย ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัย งานบุญ งานคอนเสิร์ตหรือโต๊ะจีนต่างๆ ผมจึงมีโอกาสได้ร่วม ได้เจอผู้คนที่เข้ามาพูดมาฟัง มาทักทายอยากรู้จักเรา บอกว่าชอบรายการช่วงที่เราจัด ซึ่งส่วนใหญ่ที่มาทักทายก็เป็นชาวบ้าน เราก็เริ่มเห็นว่าชาวบ้านก็อยากรับรู้ข้อมูลที่มีสาระ

ช่วงนั้นก็เลิกขายของ มาเป็นดีเจ แต่ก็ไม่ได้เลี้ยงชีพด้วยการเป็นดีเจ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ จากสถานี เช่น ค่าน้ำมันรถบ้างพันสองพันในบางวัน ซึ่งเราก็ไม่มีเงินเดือนอะไรจากการจัดรายการ ตอนนั้นอยู่ได้ด้วยภรรยาคอยช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย

โดยเราจัดรายการในช่วง 12.00 – 14.00 . พอเลิกรายการก็มีคนโทรเข้ามาหาตลอด สอบถามข้อมูล อยากที่จะพูดคุยด้วย ซึ่งผมก็ไม่มีสถานที่ที่จะจัดพูดคุยกัน ก็เลยปรึกษากับแฟนรายการ เลยร่วมลงทุนเปิดร้านกาแฟ Red Cofee Corners

แต่ก่อนหน้าที่จะมีร้านกาแฟ ต้องยอมรับว่าในการจัดรายการแบบที่ผมทำนี้ มันต้องอาศัยการหาข้อมูลทำการบ้านอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าไม่ทำการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม ให้ทำเต็มที่ก็คงจัดรายการได้เดือนเดียวก็ตันแล้ว ตอนนั้นจึงทำการค้นคว้าว่าเราจะหาเนื้อหาใหม่ๆ มาคุยในรายการด้วยวิธีใดได้บ้าง ไปสะดุดอยู่กับแนวทางหนึ่ง ที่เป็นแนวทางที่บอกว่าเราต้องลงไปจัดกลุ่มย่อยพบปะชาวบ้านเพื่อพูดคุยวิเคราะห์สถานการกัน

ผมจึงเริ่มไปตั้งกลุ่มย่อยที่บ้านแฟนรายการท่านหนึ่งที่ อ.สันทราย มีการโฆษณาในรายการว่าเราควรจะพบปะกันนอกรอบ อาทิตย์ละ 2 ครั้ง ก็มีแฟนรายการไปร่วมฟังร่วมแลกเปลี่ยนกันทุกอาทิตย์ เริ่มต้นจากสิบกว่าคน จนบางครั้งถึงหลักร้อย พอมาทำร้านกาแฟก็กลับไปคุยกับกลุ่มเก่าว่าเราคงลงไปคุยอาทิตย์ละ 2 ครั้งไม่ไหวแล้ว ก็ให้ทำกลุ่มกันเอง ใครใกล้ที่ไหนก็ไปที่นั่น ถ้าผมว่างผมก็จะไปพูดคุยด้วย ผมต้องมาประจำอยู่ที่ร้านกาแฟ และมีการมาพูดคุยที่ร้านกาแฟบ้าง

เริ่มมีการคุกคามจากรัฐยังไง?

ในช่วงนั้น (ก่อนการชุมนุมเมษายน 2552) การแทรกซึมเข้ามาทำงานด้านข่าวกรองของฝ่ายรัฐก็คงจะมีแล้วในหมู่คนเสื้อแดง และผมคิดว่าการโฟกัสของฝ่ายรัฐน่าจะเป็น ผอ.เพชร และดีเจอ้อม มากกว่า ซึ่งฝ่ายรัฐคงมองเรื่องมวลชนของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ในการทำกิจกรรมทางการเมืองมากกว่า ซึ่งการดำเนินรายการของผมก็ไม่เคยมีการปลุกระดมให้คนไปปิดสถานที่ใดมาก่อน จนในช่วงเมษาเลือด (การชุมนุมเมษายน 2552) ที่มีการระดมคนไปปิดถนนที่แยกดอยติ ทำให้เป็นคดีความมาจนถึงขณะนี้

โดยดำเนินคดีเลยทันที?

คือในช่วงสงกรานต์เลือด ที่เชียงใหม่นั้นมีเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์ คือเมื่อวันที่ 10 เม.. 2552 ที่มีการรวมตัวกันปิดถนนที่บริเวณประตูท่าแพ ทางคลื่นรักเชียงใหม่ 51 ก็ได้ร่วมจัดรายการ มีคนบอกว่าผมเป็นคนร่วมจัดรายการในวันนั้น จากนั้นก็มาในวันที่ระดมคนปิดถนนตรงแยกดอยติในวันที่ 12 เม.. 2552 โดยคดีในวันที่ 10 เม.. 2552 นั้น ถูกดำเนินคดีในอีกหนึ่งเดือนถัดมา (พ.. 2552) ผมก็ได้ไปรับทราบข้อกล่าวหา และหลังจากนั้นอัยการก็ยกคำฟ้อง เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ แต่คดีในวันที่ 12 เม.. 2552 นั้นมาออกหมายจับผมหลังจากการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ที่ผ่านมานี้ คือหมายจับออกมาหลัง 1 ปี

ก่อนหน้านั้นผมก็ไม่ได้รับหมายเรียกใดๆ แต่มีหมายจับมาจับผมที่ร้านกาแฟเลย มาจับในตอนเย็นทำให้ต้องไปนอนคุกอยู่ 1 คืน จำได้ว่าถูกจับวันพฤหัส จากนั้นเช้าวันศุกร์ก็ถูกส่งตัวไปที่ศาล จึงได้ประกันตัวออกมา โดยผมต้องไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุกๆ 12 วัน ผมไปรายงานตัวได้ 3 ครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ปล่อยให้คดีขาดไป เพราะว่าไม่สามารถรวบรวมหลักฐานมาส่งฟ้องได้ ทางศาลจึงต้องปล่อยตัวผมออกมา

แต่ปรากฏว่า 2 เดือนถัดมา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมหลักฐานใหม่และไปยื่นที่อัยการเพื่อจะส่งฟ้องผมใหม่อีกครั้ง และอัยการก็ได้รับฟ้อง ก็เลยเป็นคดีความกันใหม่อีกครั้ง ตอนนี้ผมจึงทำเรื่องขอความเป็นธรรมโดยขอให้มีการชะลอการสั่งฟ้องออกไปก่อน

ในระหว่างการชุมนุมครั้งนี้มีชื่อเราไปโผล่ในแผนผังล้มเจ้าของ ศอฉ. คิดว่าการปัดฝุ่นคดีเมื่อปีที่แล้ว มาเล่นงานเราหลังสลายการชุมนุมครั้งล่าสุด มันเกี่ยวโยงกันไหม?

ผมไม่คิดว่ามันเกี่ยวกับแผนผังฯ ผมมองว่าที่ผมโดนคดีนี้ เพราะว่าผมมีลิสต์รายชื่ออยู่ในกลุ่มดีเจคลื่นรักเชียงใหม่ 51 เท่านั้น เพราะว่าในผังฯ ของ ศอฉ. มันไม่ได้มีข้อกล่าวหา มันมีแต่การวิเคราะห์ ดังนั้นผมคิดว่าที่เราโดนคดีความ รื้ออันเก่าขึ้นมา เป็นเพราะเขาต้องการกดไม่ให้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองในเชียงใหม่มากกว่า เพราะว่าผมเป็นที่รู้จักของมวลชนในเชียงใหม่

แล้วแผนผังฯ นี้มันมีผลกระทบต่อชีวิตเราไหม?

มี ผมถือว่ามีอย่างยิ่ง ประเทศไทยใครก็รู้อยู่แล้วว่าข้อหานี้เป็นข้อหาที่ร้ายแรง และเป็นข้อหาที่สังคมไม่ยอมรับ การนำข้อหาแบบนี้ไปยัดใส่ประชาชนคนใดคนหนึ่งที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกันข้าม ถือว่าเป็นการกระทำที่สกปรกมากๆ

ผมโดนค้นบ้านหลังจากที่ผมได้รับการประกันตัวออกมา ตอนหกโมงเช้า ซึ่งผมก็ไม่สามารถจะนอนที่บ้านได้อยู่แล้วในระหว่างมีคดีความ ต้องไปหาที่นอนที่อื่น และบ้านผมก็มีผู้สูงอายุคือแม่และพ่อผมอยู่กับลูกของผมอายุ 7 ขวบ ตำรวจ 10 กว่าคนไปค้นที่บ้านในตอนเช้า แต่ก็ไม่เจอสิ่งผิดปกติอะไร ส่วนพ่อก็เป็นโรคหัวใจกำเริบ แล้วบอกว่ามาค้นตามหน้าที่เฉยๆ ซึ่งพ่อผมตกใจมาก

มีการข่มขู่คุกคามเป็นระยะๆ ผ่านจากคนที่อ้างว่าเป็นสายตำรวจ สายทหาร ว่าร้านกาแฟที่ผมทำธุรกิจอยู่นี้ไม่ปลอดภัย คือผมค้าขาย ส่วนใหญ่ลูกค้าผมก็จะเป็นคนเสื้อแดงที่มากินกาแฟ แต่กลับมีการปล่อยข่าวไปตามกลุ่มต่างๆ จากคนที่อ้างว่าเป็นตำรวจมะเขือเทศบ้าง ทหารแตงโมบ้าง ปล่อยข่าวว่าร้านผมไม่ปลอดภัย ซึ่งมันกระทบต่อเรื่องการค้าขายทำมาหากินของผมโดยตรง ผมทำการค้าขายสุจริตแต่ก็กลับค้าขายไม่ได้

จนกระทั่งมาวันหนึ่งมีทหารแตงโมมาบอกผมว่าให้ผมหยุดขายกาแฟ เขาบอกว่ามีคำสั่งที่จะเก็บผมออกมา บอกว่าผมเป็นเป้าล่าสังหารอันดับหนึ่งในเชียงใหม่ ให้ผมหนีไปเสีย แต่ผมก็คิดว่าไม่รู้จะหนีไปไหน และถ้าหนีก็ไม่รู้ว่าจะหนีไปกี่วันกี่เดือนกี่ปีจะได้กลับมา เลยตัดสินใจอยู่ต่อ ทำร้านกาแฟต่อ

ถามว่ามันยุติธรรมไหม ต่อคนที่ทำการค้าขายโดยสุจริต ต้องถูกคุกคามอยู่อย่างทุกวันนี้ เพราะมีชื่อไปโผล่ที่แผนผัง ศอฉ. อันนั้น ซึ่งเป็นแผนผังที่ผมดูว่ามันมั่วมาก คุณจะจับใครมาใส่ในแผนผังก็ทำโยงเส้นไปโยงเส้นมา โดยไม่คำถึงความเดือดร้อนของคนเหล่านั้น

ตัดสินใจเปิดร้านต่อ มีฝ่ายความมั่นคงมาเยี่ยมเยียนไหม?

มีครับ มีทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย เปิดเผยคือเข้ามาที่ร้านเลย มาแสดงตัวมาตักเตือนที่ร้าน มาบอกให้ระวังตัว กับอีกแบบคือไม่แสดงตัว มาเฝ้าตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น เป็นเวลาสามสี่วันติดต่อกัน

ย้อนไปถาม ก่อนหน้านั้นได้ยุติบทบาทการเป็นดีเจคลื่นรักเชียงใหม่ 51 ช่วงไหน?

ช่วงที่มีการเดินทางลงไปยัง กทม. ของมวลชนเสื้อแดงเชียงใหม่ ในวันที่ 14 มี.. 2553

ยุติบทบาทเพราะเหตุใด?

เพราะว่าผมจัดรายการในช่วง 12.00 – 14.00 . โดยรูปแบบรายการเป็นการนำเสนอข่าวสารและบทความต่างๆ ที่ได้มาจากเว็บไซต์ รวมถึงการวิเคราะห์ทางการเมือง แต่ในสถานการที่ต้องระดมคนลงไปยัง กทม. ทางสถานีจึงมีนโยบายระดมทรัพยากรไปช่วยการชุมนุมส่วนกลาง และจะเน้นการถ่ายทอดสดจากเวทีส่วนกลางที่ กทม. ช่วงเวลาที่ผมจัดรายการจึงต้องถูกขอคืนไป และผมก็ไม่ถนัดจัดรายการแบบขอระดมทุนขอรับบริจาค จึงได้ยุติบทบาทไปโดยปริยายและก็ยาวต่อเนื่องมา

หลังจากยุติบทบาทกับคลื่นรักเชียงใหม่ 51 แล้วไปทำอะไรต่อ?

โดยปกติแล้วคลื่นวิทยุชุมชนเสื้อแดงหลักๆ ในเชียงใหม่ จะมี 4 คลื่น แต่หลังการสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2553 นั้น ถูกปิดไปเสีย 3 คลื่น เหลืออีกคลื่นที่อยู่ได้ โดยที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองกลายเป็นรายการเพลงปกติทั่วไป

หลังจากที่ผมได้ประกันตัวในคดีที่กล่าวไป ออกมาผมก็มองถึงธุรกิจร้านกาแฟของผม และมีการเล่ากันปากต่อปากบอกว่าผมปิดร้านไปแล้วบ้าง ผมหนีไปแล้วบ้าง ผมเลยอยากอาศัยสื่อวิทยุเพื่อโฆษณาร้านผม เริ่มแรกผมก็ไปซื้อเวลาของสถานีวิทยุชุมชนแห่งหนึ่ง จัดรายการเพลงไม่เกี่ยวกับการเมืองเพื่อโฆษณาร้านกาแฟ พูดเรื่องสารประโยชน์ เรื่องสุขภาพ เรื่องความรัก เพื่อพยายามสื่อสารว่าผมยังขายกาแฟอยู่ที่ร้านเหมือนเดิม พอจัดได้สักระยะหนึ่งเจ้าของคลื่นรู้ว่าผมเป็นเสื้อแดง เขาก็ไม่ให้ผมจัดต่อขอยกเลิกสัญญา

จากนั้นคลื่นเสื้อแดงที่เหลืออยู่คลื่นหนึ่งนั้น ได้ทำการติดต่อว่าอยากจะไปจัดรายการไหมจะขายเวลาให้ แต่มีข้อแม้ว่าห้ามพูดเรื่องการเมือง ให้เปิดเพลงได้แต่ห้ามบอกชื่อแซ่ว่าเป็นใคร ผมก็ตกลงในเงื่อนไข ไปซื้อเวลา 3,000 บาทต่อเดือน ไปจัดรายการโดยไม่ได้บอกกับผู้ฟังว่าเราเป็นใคร จัดรายการไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ในรายการจะพูดถึงเรื่องหนังเรื่องเพลง เช่น เพลงของจอห์น เลนนอน เพลงของบ๊อบ ดีแลน ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ อะไรพวกนี้เป็นต้น

ซึ่งผมไม่รู้ว่าฝ่ายความมั่นคงตีความยังไง ฝ่ายความมั่นคงบอกว่าผมจัดรายการปลุกระดม ใช้อำนาจของ พ... ฉุกเฉิน มาปิดสถานีที่ผมดำเนินรายการ โดยอ้างว่าผมเคยเป็นดีเจของคลื่นรักเชียงใหม่ 51 ได้จัดรายการที่มีเนื้อหาปลุกระดมมวลชน และจะมีการแจ้งข้อกล่าวหากับผมต่อไป ซึ่งต่อมาก็ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ กับผม เพราะไม่มีหลักฐาน เพราะผมไม่ได้จัดรายการปลุกระดมใดๆ ในช่วงนั้น ก็อยากถามว่าการเป็นดีเจคลื่นรักเชียงใหม่ 51 การเป็นดีเจคลื่นคนเสื้อแดงมันเหมือนกับการเป็นฆาตกร ทำให้เป็นตราบาป แล้วไม่สามารถไปประกอบอาชีพอะไรได้อีกหรือ จัดรายการธรรมดาก็ไม่ได้ โฆษณาร้านกาแฟตัวเองก็ไม่ได้ใช่ไหม

ในช่วงที่มี พ... ฉุกเฉิน นั้นที่ร้านกาแฟผมก็จะมีการจัดกิจกรรมกินบุฟเฟ่ต์ขนมจีนทุกวันอาทิตย์ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย ไม่ได้ผิด พ... ฉุกเฉิน เพราะผมไม่ได้ชุมนุมเรื่องการเมือง แค่มีการกินขนมจีนและพบปะกัน พบว่าความต้องการของชาวบ้านและแฟนรายการต้องการรับสื่อที่พวกเขาเคยรับ แน่นอนเมื่อสื่อที่เคยได้รับถูกปิดกั้น ไม่ว่าจะเป็นคลื่นเสื้อแดงต่างๆ ที่โดนปิดไป ความโหยหาในคลื่นวิทยุชุมชนเหล่านี้มันมีอยู่แล้ว แม้แต่สื่ออย่างพีเพิลชาแนลก็ยังโดนปิด

ผมจึงคิดว่าน่าจะมีสื่อตรงนี้ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อที่จะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน จึงได้ทำซองบริจาคแต่ก็ไม่มีใครกล้าที่จะลงชื่อร่วมในการก่อสร้างสถานีวิทยุในช่วงนั้น เพราะถือว่ามันยังเป็นช่วงที่น้ำเชี่ยวอย่าพึ่งนำเรือไปขวาง จึงสรุปว่าให้ใช้ชื่อผมออกหน้าไปคนเดียวก่อน

แต่ผมก็ขาดสื่อประชาสัมพันธ์ว่าผมจะมีการรับบริจาคเพื่อเปิดสถานีวิทยุ เลยใช้แค่ปากต่อปากและก็อาศัยการเดินแจกซองตามตลาด แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่ามันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมาก ในช่วงสถานการณ์แบบนั้น มันแสดงให้เห็นถึงความอัดอั้นตันใจของประชาชนที่อยากรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ได้รับเงินบริจาครวมเป็นเงิน 150,000 บาท เป็นทุนแรกเริ่มในการจัดตั้งสถานีวิทยุ

เราไม่ได้ไปเข้าไปหานักธุรกิจใหญ่หรือนักการเมือง ไม่มีท่อน้ำเลี้ยงใดๆ ซองที่เราไปแจกก็จะเป็นชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยจนถึงเจ้าของคลินิก เจ้าของโรงงานในท้องถิ่น ไปแจกตามตลาดโดยเฉลี่ยแล้วเขาก็บริจาคคนละ 10-100 บาท

สถานีวิทยุแห่งใหม่นี้วาดฝันว่าจะให้เป็นอย่างไร?

เบื้องต้นสมาชิกของกลุ่มก็ได้เข้าร่วมอบรมกับสมาคมสภาองค์กรวิชาชีพวิทยุ-โทรทัศน์ภาคประชาชน (สอทช.) และไปเป็นสมัครสมาชิกไว้ เพื่อดำเนินตามกรอบกฎเกณฑ์ตามสถานีวิทยุชุมชนแห่งอื่นๆ

โดยวัตถุประสงค์หลักๆ ของสถานีที่จะสร้างขึ้นมานี้ คือ เป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนโดยตรง คือผมแทบไม่น่าเชื่อว่าวิทยุชุมชมจะมีพลังขนาดนี้ เมื่อก่อนที่ผมกลับมาจาก กทม. ใหม่ๆ คิดว่าคนไม่ค่อยฟังกันหรอกเพราะคนก็ดูทีวีกันอยู่แล้ว แต่พอกลับมาเชียงใหม่พบว่าคนฟังวิทยุชุมชนเยอะมาก มันเป็นสื่อที่เข้าหาประชาชนได้ง่ายสุดแล้ว

ที่คุยกันไว้ก็อยากมีรายการที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เราได้มาจากภายนอกชุมชน ที่เราหาข้อมูลได้ผ่านอินเตอร์เน็ต เช่น เรื่องราคาน้ำมันว่าขณะนี้มันราคาเท่าไร และในราคาน้ำมันที่ชาวบ้านซื้อนั้นมันมีค่าอะไรบ้าง อะไรแบบนี้เป็นต้น

ในอีกด้านผู้ฟังของเราในชุมชนต่างๆ เมื่อมีความเดือดร้อนในด้านต่างๆ ก็จะสามารถเสนอเรื่องราวสู่ภายนอกได้ เช่น มีปัญหาเรื่องบ่อขยะใกล้บ้านแล้วส่งกลิ่นเหม็น ไม่รู้จะร้องเรียนใครก็สามารถใช้สื่อของเราเป็นช่องทางร้องเรียน

ทำเป็นโมเดลธุรกิจ แบบวิทยุชุมชนทั่วไป?

ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าไม่ทำเป็นธุรกิจแล้วจะอยู่ได้อย่างไร เพราะว่าวิทยุชุมชนในเชียงใหม่ 200 กว่าคลื่นนั้นก็เป็นเรื่องธุรกิจ มีโฆษณา โฆษณาร้านลาบ ร้านหลู้ ร้านซักอบรีด มีโฆษณาหมด และก็ไม่ถนัดแบบแนวเอ็นจีโอ เพราะไม่ได้มุ่งไปหาเรื่องนั้นตั้งแต่แรก ไม่เคยทำกิจกรรมแบบนั้น จึงไม่รู้วิธีที่จะหาทุนแบบเอ็นจีโอได้อย่างไร เลยคิดง่ายๆ ว่าระดมทุนจากพี่น้องชาวบ้านแฟนรายการเป็นฐานก่อนเท่านั้น

ตอนนี้เงิน 150,000 บาท ที่ชาวบ้านบริจาคมา ก็ได้นำไปทำห้องส่งและเสาส่ง แต่ก็ยังขาดเครื่องส่งวิทยุและตัวแผงรับสัญญาณ รวมไปถึงระบบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ คิดว่าจะต้องมีการระดมทุนอีกครั้ง แต่จะให้แจกซองรอบสองก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะเหมือนไปพึ่งกลุ่มชาวบ้านเกินไป ดูเหมือนไปขอแล้วขออีก

ตอนนี้ขาดเงินอีกประมาณ 200,000 บาท ผมคิดว่าองค์กรต่างๆ ที่มีในประเทศไทย กลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ภาคประชาชน นักวิชาการ ศิลปิน หรือองค์กรต่างๆ ที่ต้องการสื่อไปหาชาวบ้าน น่าจะเห็นความสำคัญของวิทยุชุมชนที่แตกต่างจากที่มีอยู่ ที่มีแค่ความบันเทิงอย่างเดียว อยากให้เข้ามามีส่วนร่วมกับสถานีนี้ ถือว่าเป็นช่องทางอันดีที่จะเข้ามาร่วมกัน

เนื้อหาจะเป็นอย่างไร?

เนื้อหาส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องมีก็คือเรื่องประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นความต้องการของกลุ่มชาวบ้านที่ได้บริจาคกันมา  และจะไม่ใช่คลื่นปลุกระดมไม่ยุ่งเกี่ยวกับนักการเมือง อยากให้เป็น “ของประชาชน” จริงๆ ในความหมายที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย เช่น พ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจ คนทำงาน ลูกจ้างทั่วไป คนทั่วไปในสังคม ไม่ใช่กลุ่ม “ภาคประชาชน” อย่างที่กลุ่มพันธมิตรอ้างเรื่อยมา

เบื้องต้นที่ได้ประชุมกับคนที่ร่วมบริจาค ก็ได้ข้อสรุปบางส่วนว่าจะใช้ชื่อสถานีวิทยุชุมชน "สร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่" เพราะเราเห็นว่าการตื่นตัวของชาวเชียงใหม่ในเรื่องประชาธิปไตย เป็นฐานสำคัญในสร้างความก้าวหน้าให้จังหวัดเชียงใหม่ พูดถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ สิทธิพลเมือง เรื่องประชาธิปไตย พูดเรื่องวัฒนธรรม คุณภาพชีวิต เป็นเวทีของชาวบ้านจริงๆ

ในเรื่องการนำเสนอเนื้อหาคงจะเป็นการสื่อสารง่ายๆ กับชาวบ้าน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีหลักวิชาการเลย เพราะชาวบ้านปัจจุบันนี้ผมเชื่อว่าไม่ได้โง่เหมือนที่หลายๆ คนเคยสบประมาทไว้ .. แต่ก็ไม่ถึงขั้นต้องปีนบันไดฟัง ไม่เป็นแนวเอ็นจีโอจ๋า แต่ก็จะไม่ไร้สาระแน่นอน.

ดูรายละเอียดสถานีวิทยุแห่งใหม่ "สร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่" ได้ที่ http://chiangmai-turnleft.blogspot.com/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net