Skip to main content
sharethis

มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ได้ให้ทุนวิจัยแก่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในการศึกษาผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโลกต่อคนไทยกลุ่มต่างๆ โดยคณะวิจัยของสถาบันฯ ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัล เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 โดยมี Ashvin Dayal, Managing Director, Asia Office The Rockefeller Foundation รับฟังการนำเสนอ

นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเห็นว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2551-52 มีผลกระทบต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ น้อยกว่าวิกฤติปี 2540-41 แต่มีผลต่อการส่งออกรุนแรงกว่าปี 2540-41 เพราะในปี 2551-52 ความต้องการของตลาดโลกลดลงทั่วโลก ขณะที่ในปี 2540-41 วิกฤติเกิดขึ้นภายในประเทศไทยเอง ตลาดโลกมิได้ซบเซา และการลอยตัวค่าเงินบาท ช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

ถึงแม้ว่าการพยากรณ์เศรษฐกิจในกลางปี 2552 จะคาดว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐอาจช่วยให้เศรษฐกิจไทยติดลบน้อยลงเกือบร้อยละหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง การเบิกจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล่าช้า และต่ำกว่าเป้า ทำให้รายจ่ายของรัฐมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่เกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจเอเซีย และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั่วโลก

การวิจัยได้สอบถามคนไทยกลุ่มต่างๆ รวมตั้งแต่ผู้ทำงานรับจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกรและผู้ตกงานในจังหวัดชลบุรีและนครราชสีมา พบว่า วิกฤติเศรษฐกิจตอนปลายปี 2551 และต้นปี 2552 ทำให้ลูกจ้างได้รับเงินโอทีลดลง ต้องหยุดงานชั่วคราว และผลประโยชน์เช่นค่าอาหาร ค่ารถ ก็ถูกตัดออกไป ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระทำมาค้าขายได้ลำบากขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบน้อยคือเกษตรกร ซึ่งได้ปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ง่ายกว่าลูกจ้าง นอกจากนี้ ภาคเกษตรยังช่วยเลี้ยงดูผู้ตกงานอีกด้วย

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ผลของวิกฤติเศรษฐกิจโลกต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างแรงในไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2552 ในปัจจุบันภาวะการจ้างงานและการทำงานโอทีได้กลับเข้าสู่แนวโน้มปกติแล้ว แต่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมควรเตรียมพร้อมในการรับมือโดยเฉพาะความเสี่ยงในแต่ละรอบของวิกฤตินั้นมีเส้นทางต่างกัน ในปี 2551 เป็นยอดสั่งซื้อผลผลิตที่ลดลง แต่ในปัจจุบันเป็นความเสี่ยงด้านราคาสินค้าที่ถูกกระทบโดยอัตราแลกเปลี่ยน

ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ศึกษาว่าการช่วยเหลือของรัฐด้วยโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยกระตุ้นการบริโภคได้พอควร จากการศึกษาพบว่าเงินที่อัดฉีดโดยตรงเข้าสู่คร้วเรือนผ่านโครงการเบี้ยผู้สูงอายุและเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า ทุกๆ 100 บาท จะช่วยเพิ่มการบริโภคครัวเรือนถึงประมาณ 60 บาท อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนที่ยากจนได้รับประโยชน์จากโครงการอัดฉีดเงินเหล่านี้น้อยกว่าครัวเรือนฐานะปานกลาง เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งเป็นเพราะเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า เช่น เช็ค 2,000 บาท เข้าไปไม่ถึงผู้ที่มีรายได้น้อยซึ่งส่วนใหญ่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม นอกจากนั้นผลกระทบของนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งเริ่มใช้ในปี 2552 มีผลช่วยให้ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนลดลงประมาณร้อยละ 13 การศึกษายังพบอีกว่าครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำได้รับประโยชน์คิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าครัวเรือนที่มีฐานะดี (ครัวเรือนจนที่สุด 10% ค่าใช้จ่ายลดลงประมาณร้อยละ 25 ในขณะที่ครัวเรือนรวยที่สุด 10% ลดลงประมาณร้อยละ 8)

ปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า นโยบายแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 นั้นมีการพัฒนาระบบประกันสังคมและการลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อรองรับคนตกงานจากวิกฤติ แต่ในปี 2551-52 มีความยากลำบากจากปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้ง การคอร์รัปชั่น ทำให้นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างไปจากปี 2540 คือ มุ่งผลเร็วในการแก้ปัญหาโดยเน้นการใช้จ่ายในรูปเงินโอนและเงินอุดหนุน ซึ่งส่งผลเพียงระยะสั้น แม้จะมีการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง แต่โดยลักษณะโครงการก็จะส่งผลต่อสาขาการผลิตคือการก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ การขนส่ง มากกว่าสาขาอื่นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net