Skip to main content
sharethis

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์เผย ภาษาแสลงเป็นเรื่องธรรมชาติ เอามาใช้ช่วยสื่อความหมายพอยุคหนึ่งจะหมดไปเอง แต่อย่ายกแสลงขึ้นมาเป็นภาษามาตรฐานเช่นนำมาใช้เป็นชื่อภาพยนตร์

เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (11 พ.ย.) นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวถึง กรณี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ 9/2553 ว่า มีความเป็นห่วงวัฒนธรรมมีความเสื่อมถอยมากขึ้น เห็นได้จากการใช้ภาษาผ่านเพลง ละคร ภาพยนตร์ มารยาทของวัยรุ่น โดยใช้คำที่ดูไม่เหมาะสม บางคำไม่ทราบว่าเป็นภาษาไทย หรือภาษาต่างประเทศ เช่น คำว่า “ชิมิ” ว่า เรื่องภาษาต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น ภาษาที่เป็นทางการ กับภาษาที่ไม่เป็นทางการ ภาษาที่เป็นทางการก็น่าเป็นห่วง ส่วนภาษาไม่เป็นทางการ หรือ เรียกว่าภาษาแสลงนั้น ที่จริงแล้วเป็นไปตามธรรมชาติของสังคมใดสังคมหนึ่งในการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม

“กลุ่มวัยรุ่นมีภาษาของเขา ถ้าเป็นที่นิยมจะอยู่ได้ หากไม่เป็นที่นิยมจะหมดไปเอง เช่น ภาษาแสลงสมัยโบราณคำว่า "ชิ้น" หมายถึง คู่รัก เหมือนกับคำว่า "กิ๊ก" ของภาษาแสลงวัยรุ่นปัจจุบัน ซึ่งหากใช้เวลาสักพักก็จะหมดความนิยมไป ลักษณะเดียวกับคำว่า “ชิมิ” ก็จะหมดไปเช่นกัน ถ้าไม่แพร่หลาย ดังนั้น ภาษาแสลงจึงสามารถมองได้สองด้าน ซึ่งภาษาแสลงในแง่บวก เมื่อคนอับจนหาคำมาแทนความหมายที่ตนเองต้องการไม่ได้ ก็ต้องหาคำมาแทนให้ได้ บางครั้งออกมาในลักษณะหลุดออกมา เช่น คำว่า ชิมิ กิ๊ก แต่พอยุคหนึ่งจะหมดไป ไม่น่าเป็นห่วง” ศิลปินแห่งชาติ กล่าว

นายเนาวรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนภาษาแสลงในแง่ลบ ถ้าหากว่ามีการยกย่อง หรือยกระดับคำแสลงขึ้นมาสู่ภาษามาตรฐาน เช่น เอามาทำเป็นชื่อภาพยนตร์ เป็นการยกย่องแบบเลยเถิดไปหน่อย ไม่ได้ยกย่องในมุมที่ดี แต่มีลักษณะจงใจจะให้ลามกมากกว่า หรือภาษาโฆษณา นักครีเอทีฟ ชอบกระเดียดมาทางเรื่องเพศ สิ่งนี้ ไม่เหมาะสม เหมือนนำภาษาพื้นบ้านมาประจานเมือง อีกประเด็น ภาษาเพลง ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษาแสลงกัน เช่น คำว่า ฉัน เป็น ชัน เธอ เป็น เชอ รัก เป็น ร้าก มันไปเขย่าทอนรากฐานเสียงอักษรไทย ก ข ค ง การนำภาษามาทำเช่นนี้ ทำให้ฐานเสียงเปลี่ยนไป ดังนั้น การใช้ภาษาควรคำนึงบริบท การขยายผลมากกว่า

ด้าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาภาษาวิบัติ และการรณรงค์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง นับเป็นนโยบายหลักของ วธ. ที่ได้พยายามดำเนินการมาโดยตลอด ควบคู่กับการผลักดันนโยบายให้เด็กเยาวชนได้ใช้คำภาษาถิ่น อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าว ถือเป็นภาวะความเบี่ยงเบนของสังคม ดังนั้น เมื่อขนาดปัญหาใหญ่ขนาดนี้ จึงควรได้รับความร่วมมือจากหลายกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการให้การศึกษาที่ถูกต้องแก่เด็ก เยาวชน ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนได้เคยส่งหนังสือขอความร่วมมือการแก้ปัญหาภาษาไทยในเด็กเยาวชนต่อ ศธ.ไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ

“ในส่วนของปัญหาคำที่วัยรุ่นนิยมใช้กัน อย่างคำว่า ชิมิ ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีความหมายในคำภาษาไทย ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเช่นกัน แต่ก็มองว่าเรื่องคำอุบาทว์ คำพูดเสียดสี หยาบคาย ก้าวร้าวน่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะคำศัพท์วัยรุ่นที่เกิดขึ้นนั้น เป็นไปตามยุคสมัย แม้จะมีการห้ามไม่ให้ใช้คำใดคำหนึ่ง ก็จะมีคำแปลกใหม่กว่าเดิมออกมาอยู่ดี” รมว.วธ. กล่าว.

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net