Skip to main content
sharethis

ศาสตราจารย์เจมส์ ซี สก็อตต์พูดถึงเกษตรกรรมในฐานะการเมือง (Agriculture as politics) อันตรายจากการทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ( Dangers of Standardization) และการไม่ถูกปกครอง (Not being governed)* 

  

ตามความเห็นของอาจารย์ อะไรคือข้อท้าทายในปัจจุบันหรือข้อถกเถียงหัวใจของสังคมศาสตร์ที่เน้นการเมือง จุดยืนและคำตอบของอาจารย์ต่อข้อท้าทาย/ ข้อถกเถียงนั้นคือ?

นี่ไม่ใช่คำถามที่ผมถามตัวเองบ่อยนัก มีอยู่หนึ่งครั้งที่ผมเคยถาม แต่ก็หลายปีผ่านมาแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าคุณรู้จัก "กลุ่มเคลื่อนไหวเปเรสทรอยกา (Perestroika movement)" ในสายรัฐศาสตร์รึเปล่า ในช่วงที่ผ่านมามีแถลงการณ์ที่ไม่ลงชื่อแต่เซ็นต์ลงท้ายว่า "นายเปเรสทรอยกา" ปรากฎขึ้น ซึ่งเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า (ศาสตราจารย์) เบเนดิก แอนเดอร์สันและผมไม่เคยอ่าน American Political Review (วารสารวิชาการกระแสหลักด้านรัฐศาสตร์: ผู้แปล) และก็ยังถามต่อไปถึงเหตุผล โดยอ้างว่าบางทีวารสารนี้และองค์กรทรงอิทธิพลซึ่งสนับสนุนวารสารนี้อาจจะไม่สอดคล้องและเป็นอุปสรรคอย่างแท้จริง ต่อการขยับขยายความรู้   ตอนนี้กลุ่มเปเรสทรอยกาเชื่อมต่อกับกลุ่มเศรษฐศาสตร์โพสออทิสติก (Post- Autistic Economics movement)  ทางฝั่งยุโรปที่พยายามเผยแพร่เศรษฐศาสตร์กระแสรองเพื่อทัดทานกับเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ กลืนกินทุกอย่าง อันที่จริง ที่พวกเขาเชิญผมไปนั่งอยู่ในสภาบริหารของสมาคมรัฐศาสตร์ก็เป็นผลมาจากการ แข็งขืนของเปเรสทรอยกา และนั่นเป็นครั้งเดียวที่ผมได้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจริงจังกับความพยายามหา คำตอบว่ารัฐศาสตร์ควรจะเป็นอย่างไร  โดยภาพรวมแล้วผมได้ทำตามหน้าที่ของผมโดยไม่ได้กังวลกับผลที่จะตามมา ผมเลือกที่จะไม่เสียเวลาอยู่ในหลุมของวิวาทะเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกขุดอยู่รอบๆตัวผม
 

อย่างที่คุณเห็น ผมไม่ค่อยได้คิดจริงจังว่ารัฐศาสตร์ควรจะถูกปฏิรูปยังไง แต่ผมเชื่ออย่างแท้จริงว่าคนในรัฐศาสตร์พวกที่ชอบเสแสร้งเรื่อง "ความเป็นวิทยาศาสตร์" จริงๆ แล้วกำลังยุ่งมากอยู่กับการเรียนรู้สิ่งต่างๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ ความจริง มีจุดเปลี่ยนในลักษณะแนวทดลองกับรัฐศาสตร์ ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งกำลังทำสิ่งที่เขาเรียกว่า "การทดลองบริสุทธิ์" ที่มีการออกแบบอย่างที่ทำกันในการทดลองจิตวิทยา ที่มีการควบคุมกลุ่มตัวอย่างและอื่นๆ แต่คำถามที่พวกเขาถามกลับแคบอย่างน่าตกใจ! พวกเขาจินตนาการว่าคนทั่วไปจะคิดถึงคำถามพวกนี้มากเท่าที่จะเป็นไปได้และพวก เขาจะค่อยๆ สร้างป้อมปราการที่ไม่สามารถทำลายได้ของสังคมศาสตร์ ทั้งที่ผมเองคิดว่ามันเป็นแค่กองอิฐที่ไม่ได้เติมต่อยอดให้กับอะไรเลย

ผมเองประทับใจกับคนที่ค่อยๆ ขยับไปข้างหน้ากับประเด็นที่มีความสำคัญ มากกว่าพวกที่สร้างความรุดหน้าในคำถามที่โดยปกติแล้วไม่ควรค่ากับการถาม เท่าใด ตัวผมเองมักจะพยายามทุ่มเทงานไปยังประเด็นที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญมาก อย่างเช่น ต้นกำเนิดของรัฐหรือพลวัตรของความสัมพันธ์อำนาจ ไม่ว่าระหว่างรัฐและประชาชนหรือความสัมพันธ์โดยทั่วไปก็ตาม ยกตัวอย่าง หนังสือของผมสองเล่ม (Domination and the Arts of Resistance and Weapons of the Weak) นั้นคือความพยายามที่จะเข้าใจความสัมพันธ์อำนาจในโครงสร้างแบบจุลภาค (แทนที่จะเป็นมหภาค) ตอนนี้ เรากำลังให้ความสนใจต่อเงื่อนไขทางการเมืองแบบที่เอื้อต่อนโยบายเศรษฐกิจ มหภาคที่ไม่สร้างความหายนะและนี่เป็นคำถามที่ผมถือว่ามีความสำคัญมาก ไม่เพียงแต่สำหรับนักสังคมศาสตร์เท่านั้น แต่คนทั่วไปก็สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างคำถามที่สำคัญกับคำถามพื้นๆ ได้

 

คุณมาถึงจุดที่คุณอยู่นี้ ในเรื่องแนวคิดได้อย่างไร?

ย้อนหลังกลับไปนานมาแล้ว ก่อนที่ผมจะเรียนต่อ เพื่อนคนหนึ่งได้พูดว่า "ก่อนแกจะเรียนต่อ ต้องอ่าน The Great Transformation ของคาร์ล โปลันยี" ผมอ่านมันในช่วงซัมเมอร์ก่อนที่จะกลับไปเรียนต่อ และผมคิดว่าในบางแง่มุม มันเป็นหนังสือที่สำคัญที่สุดที่ผมเคยได้อ่าน หนังสืออีกเล่มที่มีอิทธิพลต่อผมอย่างมากคือ The Making of the English Working Class (1963) ของอี พี ธอมสัน (E. P. Thomson) ผมยังจดจำเก้าอี้ตัวที่ผมนั่งอ่านทั้ง 1,000 หน้ากระดาษหนาเตอะได้อย่างดี หนังสือเล่มนี้ขุดลงไปถึงต้นกำเนิดของจิตสำนึกชนชั้นแรงงานในช่วงเวลาเดียว กับที่โปลันยีได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดเพื่ออธิบายการดึงเศรษฐกิจออกจากการ กำกับของสังคม หนังสืออีกเล่มที่มีอิทธิพลคือ Primitive Rebels ของอิริก ฮอบสบอว์ม (Eric Hobsbawm) เพราะ เขาได้ชี้ไปที่รูปแบบต่างๆ ของอาชญากรรมและการฝ่าฝืนกฎหมายในฐานะปรากฏการณ์การเมืองซึ่งควรจะถูกอธิบาย อย่างนั้นในแง่ของระเบียบวิธี เพราะมักถูกวิเคราะห์ไปในลักษณะอื่น
 

ทำไม ผมถึงชอบนักวิชาการเหล่านี้ พวกเขาได้สอนผมว่าการเสนอแนวคิดใหม่ที่เปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนต่อสิ่งต่างๆ นั้นถือเป็นคุณูปการณ์ที่สำคัญต่อวงการสังคมศาสตร์  คุณคงรู้จักกล้องคาเลโดสโคปที่พอเขย่าแล้วมันจะเปลี่ยนเป็นสีต่างๆ และทำให้คุณเห็นโลกแตกต่างออกไป  งานทั้งหมดที่มีผลต่อผมคืองานมีผลต่อการมองโลกของผม  คือเมื่อผมมองโลกผ่านกล้องที่นักวิชาการเหล่านี้ยื่นให้ ผมเห็นโลกที่ต่างออกไปอย่างน่าทึ่ง และเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่ผมไม่เคยเข้าใจมาก่อน
 

มาถึงในแง่ของเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นและมีผลต่อตัวผม   แน่นอนว่าสงครามเวียตนาม ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่ผมเริ่มงานแรกเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอน ที่อยู่มหาวิทยาลับวิสคอนซินในปี 1967  คือหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญ ผมได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางการชุมนุมประท้วงและได้ให้สัมภาษณ์รวมทั้งสอนเกี่ยว กับปรากฏการณ์เหล่านี้   ในช่วงเวลานั้น ผมยังค้นพบว่าผมได้ทำวิทยานิพนธ์ที่น่าเบื่อซึ่งจมหายไปอย่างไร้ร่องรอย (ไร้คุณค่าในสายตาของผู้พูดและไม่ก่อให้เกิดผลอะไรตามมา: ผู้แปล) ผมจึงตัดสินใจในตอนนั้นว่า ในเมื่อชาวนาเป็นชนชั้นที่มีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ผมรู้สึกว่าการศึกษาชาวนาน่าจะทำให้เรามีคุณค่าในชีวิตมากขึ้น ถ้าหากการพัฒนาจะมีความหมายอะไรสักอย่าง มันก็ควรจะหมายถึงการพัฒนาวิถีชีวิตของชาวนาและการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของ พวกเขาในภาพรวม นอกจากนี้ พวกเขายังมีส่วนร่วมในจุดกำเนิดของสงครามการปลดปล่อยชาติ อย่างที่สงครามเวียตนามทำหน้าที่นั้นสำหรับคนเวียตนาม หนังสือของผม The Moral Economy of the Peasant เกิดขึ้นจากการต่อสู้ในสงครามเวียตนามโดยตรง มันเป็นความพยายามของผมที่จะทำความเข้าใจกับการต่อต้านของชาวนา

 

เพื่อที่จะเป็นนักวิชาการที่ชำนาญและสามารถเข้าใจโลกในมุมมองที่กว้างขวางนักศึกษาต้องการอะไร?

เรื่องนี้ผมมีคำตอบที่ชัดเจน (เมื่อเปรียบเทียบกับคำถามแรก: ผู้แปล) เราคงพอนึกภาพได้ว่าทุกคนจะเป็นนักวิชาการที่ถูกฝึกให้เชี่ยวชาญในความชำนาญ และสาขาของตน ในความหมายทำนองเดียวกับแรงงาน ดังนั้นผมจะไม่พูดเรื่องนั้น แต่สิ่งที่ผมรักที่จะเล่าให้นักศึกษาในปัจจุบันฟังก็คือ ถ้า 90% ของเวลาที่พวกคุณใช้อ่านตำรานั้น ถูกใช้ไปในตำรารัฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยากระแสหลักและถ้าพวกคุณใช้เวลาส่วนใหญ่อีกเช่นเดียว กันไปในการพูดคุยกับคนอื่นที่อ่านตำราประเภทเดียวกัน อย่างนั้นแล้วคุณก็จะผลิตซ้ำแต่รัฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยากระแสหลัก ความคิดก็ผมก็คือ ถ้าคุณทำได้ไม่เลวนัก อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสิ่งที่คุณอ่านควรจะมาจากนอกสาขาของคุณ อย่างที่แรงขับเคลื่อนที่น่าสนใจมักมาจากชายขอบของสาขาหรือแม้กระทั่งจาก ข้างนอก งานวิจัยที่น่าสนใจในสังคมศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อคุณมองเห็นแนวความคิดแปลกๆ ซึ่งสามารถปรับใช้และต่อยอดให้กับสาขาของคุณ ที่ผมแนะนำอยู่นี่ก็เป็นการสร้างทฤษฎีจากสิ่งที่ผมทำ ตอนที่ผมเขียน The Moral Economy of the Peasant  ผมอ่านวรรณกรรมชาวนาทั้งหมดที่ผมพอจะหาได้ อ่านประวัติศาสตร์บอกเล่าทั้งหมด โดยสรุปก็คือ ผมจับยัดทุกอย่างจากนอกรัฐศาสตร์มากเท่าที่จะทำได้ ถ้าคุณลองดูงานที่มีอิทธิพลในช่วงเวลาต่างๆ คุณจะบอกได้เลยจากดัชนีหรือบรรณานุกรมคนเขียนได้อ่านงานจำนวนมากที่อยู่นอก ข่ายงานกระแสหลักทั่วไป
 

แต่ ถ้าคุณเลือกที่จะทำอะไรบางอย่างที่กว้างขวางและท้าทาย คุณก็จะพบกับอุปสรรคและการต่อต้านบางอย่างจากเครื่องจักรกลวิชาการที่แข็ง ตัวไปแล้ว ลองดูตัวอย่างของ The Social Origins of Dictatorship and Democracy ของบาร์ริงตัน มัวร์ (Barrington Moore) ที่เป็นอีกงานที่ยิ่งใหญ่  หนังสือเล่มนี้ถูกปฏิเสธถึงหกครั้งจากสำนักพิมพ์  เพราะผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาที่เขาพูดถึงมีปัญหากับแต่ละบทที่เกี่ยวข้องกับสาขาเหล่านั้น   ในทางตรงกันข้าม มันสำคัญแค่ไหนที่จะตีพิมพ์บทความเหล่านั้น?   เพื่อนร่วมงานของผมวิจัยเกี่ยวกับจำนวนของคนที่อ่านบทความวิชาการจริงๆ และจำนวนเฉลี่ยก็ต่ำกว่าสามคน  ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้ว บทความส่วนใหญ่ที่ถูกตีพิมพ์กันก็เป็นเสมือนฟันเฟืองที่ปฏิเสธการเมืองขนาดใหญ่  ซึ่งประกอบกันขึ้นเพื่อให้คนได้รับตำแหน่งวิชาการ  อันนี้รวมถึงพวกบทความที่เป็น peer-reviewed ด้วย  ความก้าวหน้าทางวิชาชีพนั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของระบบประเมินที่ทำให้ได้จำนวนของบทความ peer-reviewed และอื่นๆเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งเป็นกลไกของระบบที่ปฏิเสธความเป็นการเมืองหรือเป็นความพยายามที่จะ ปฏิเสธการตัดสินเชิงคุณภาพเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ว่าดีเพียงใด   มันเป็นอะไรที่ดูจะเป็นเรื่องปกติในประชาธิปไตยที่คุณจำเป็นต้องโน้มน้าวให้ผู้คนมีภววิสัย  คุณต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่มีการตัดสินใจเชิงคุณภาพและคุณก็แค่เปรียบเทียบจำนวนเท่านั้น   ดังนั้นถ้าคุณจะผลิตบทความสักอันที่จะมีคนอ่านเพียงสามคนแล้วละก็   แล้วคุณจะคิดทำมันทำไมตั้งแต่ต้น?  คุณควรจะทำอะไรอย่างอื่นที่พอจะมีผลกระทบอะไรกับโลกบ้างจะดีกว่า   ถ้าคุณทำมันเพื่อเอาอกเอาใจสาขาวิชาที่กำลังเฝ้ามองคุณด้วยความวิตกกังวล   งานของคุณก็จะกลายเป็นแค่กำลังแรงงานที่แปลกแยกและผมพูดอย่างนี้   ผมเองก็ยอมรับว่าคุณไม่มีทางก้าวหน้าได้ถ้าคุณไม่ทำอย่างนี้ มันง่ายสำหรับผมที่จะพูด เพราะผมมาจากช่วงเวลาที่มีความรู้สึกโรแมนติกกับประเทศโลกที่สาม อะไรก็ตามที่พูดถึงโลกที่สามก็มีแนวโน้มว่าจะได้รับตีพิมพ์ ดังนั้น ผมค่อนข้างจะตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่าผมมีชีวิตที่ง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับ นักศึกษาในปัจจุบัน ยังไงก็ตาม นอกจากคุณจะปรารถนางานเสมียนแบบเข้าเก้าโมงเช้าออกห้าโมงเย็นที่ต้องตอกบัตร แล้ว คุณก็น่าจะทำอะไรที่มันน่าตื่นเต้นถึงมันจะขายยากก็ตาม

 

(จบตอนที่ 1/3)

 

บทความภาษาอังกฤษ http://www.theory-talks.org/2010/05/theory-talk-38.html

 

*หมาย เหตุ เนื่องจากสัมภาษณ์มีความยาวมาก ผู้แปลจึงขอตัดแบ่งออกเป็นสามตอน เพื่อให้ผู้อ่านไม่ต้องรอนาน โดยตอนแรกนี้จะเกี่ยวข้องกับประเด็นของการยึดตัดกับสาขาวิชาและวงการวิชาการ เป็นสำคัญ

 

ที่มา:ประชาธรรม สถานีข่าวประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net