Skip to main content
sharethis

ตร.สรุปคดีแพร่คลิปตุลาการศาล รธน. ก่อนขอศาลออกหมายจับ “พสิษฐ์-ชุติมา” ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เผยเตรียมสรุปสำนวนส่ง ป.ป.ช. ภายใน 20 พ.ย.นี้ ด้านตุลาการศาล รธน.ตั้ง “บวรศักดิ์” ประธานสอบทุกคลิปฉาว ให้เวลา 30 วัน 

 
 
ตร.ขอหมายจับ "พสิษฐ์-ชุติมา"
 
วันนี้ (15 พ.ย.53) เมื่อเวลา 10.00 น. กองปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ที่ปรึกษา (สบ.10) ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีมีผู้นำคลิปตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาเผยแพร่ ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนเพื่อติดตามความคืบหน้า โดยมี พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาท รักษาราชการแทน ผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) พล.ต.ต.สุรพล หอมชื่นชม ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) และพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
 
พล.ต.ต.ปัญญา กล่าวว่า เป็นการประชุมครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งในที่ประชุมมีมติที่สำคัญ 3 เรื่อง คือเรื่องแรกจะสรุปสำนวนส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากพบพยานหลักฐานว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ 1-2 คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เรื่องที่ 2 ในช่วงบ่ายวันนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ พ.ต.อ.สุพิศาล เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอออกหมายจับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 จำนวน 2 คน ซึ่งจะทราบว่าเป็นใครบ้างช่วงบ่าย
 
เรื่องสุดท้าย พล.ต.ต.ปัญญา ระบุว่าพบความผิดบางส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 พนักงานสอบสวนพบว่ามีผู้กระทำผิดบางส่วนอยู่นอกราชอาณาจักร ที่ประชุมจึงมีมติให้ทำหนังสือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อมาเป็นพนักงานสอบสวน ในการติดตามตัวผู้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 หรืออัยการสูงสุดจะมอบหมายให้พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) หรือพนักงานสอบสวน กองปราบปรามอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เป็นพนักงานสอบสวนต่อไป
 
ต่อมาเวลา 18.00 น พ.ต.ท.เกรียงไกร ขวัญไตรรัตน์ พงส.(สบ 3) กก.1 บก.ป. เข้ายื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้อนุมัติหมายจับนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนางชุติมา แสนสินรังสี ข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
 
ข่าวแจ้งว่า นางชุติมาเป็นเลขาฯ นายพสิษฐ์ และอยู่ในเหตุการณ์ที่นายพสิษฐ์พูดคุยกับนายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ร้านอาหารย่านประชาชื่น
 
 
ตั้ง “บวรศักดิ์” ปธ.สอบคลิปฉาว
 
ด้านที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคลิปวิดีโอที่พาดพิงถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงวันเดียวกัน (15 พ.ย.53) ว่า คณะกรรมการดังกล่าวมีองค์ประกอบ ดังนี้ 1.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ประธานกรรมการ 2.ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด 3.ผู้แทนสภาทนายความ 4.นายกำชัย จงจักรพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5.นายศักดา ธนิตกุล คณบดีนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ 6.นายเชาวนะ เป็นเลขานุการและกรรมการ และ 7.นายธีรพงษ์ ธิติธางกูร ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาบุคลากรและระเบียบสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับทราบคำสั่ง และให้รายงานผลการตรวจสอบต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ
 
“เท่าที่ดูจากคำสั่ง คิดว่าคณะกรรมการน่าจะตรวจสอบครอบคลุมทุกคลิปที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นที่จะตรวจสอบนั้น คณะกรรมการจะประชุมและกำหนดกรอบการทำงานอีกครั้งหนึ่ง คิดว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะมีความกว้างขวางกว่าคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ที่มีนายสนิท จรอนันต์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานก่อนหน้านี้” นายเชาวนะกล่าว
 
 
ยัน "ส." ไม่เกี่ยวออกข้อสอบ
 
นายเชาวนะกล่าวว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ความเป็นอิสระในการตรวจสอบ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะเห็นว่ามีความจำเป็นหรือต้องการที่จะเรียกบุคคลหรือเอกสารใดมาตรวจสอบสามารถทำได้ ต้องถือเป็นความก้าวหน้าของศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งคนภายนอกเข้ามาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
 
นายเชาวนะกล่าวว่า ส่วนที่ปรากฏเป็นข่าวว่า พรรคการเมืองหนึ่งได้รับเรื่องจากข้าราชการซี 9 ในศาลรัฐธรรมนูญ อักษรย่อ "ส" แจ้งว่า เป็นคนดำเนินการจัดสอบบรรจุเป็นข้าราชการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2552 และได้ถอนตัวหลังจากรู้ว่าการสอบน่าจะมีปัญหาไม่ชอบมาพากลนั้น จากการตรวจสอบได้ความว่า บุคคลดังกล่าวมิได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงานในการควบคุมกำกับดูแลการออกข้อสอบ แต่เมื่อข้าราชการคนดังกล่าวรู้ว่า ได้รับแต่งตั้งเป็นเพียงคณะทำงานรับและส่งข้อสอบที่ผลิตเสร็จแล้วเท่านั้น ก็ได้ชิงลาออกก่อนที่การออกข้อสอบและการสอบเกิดขึ้น ดังนั้น บุคคลดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการออกข้อสอบเพียงแต่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รับและส่งข้อสอบที่ผลิตเสร็จแล้ว และเป็นการเตรียมงานด้านธุรการเพื่อสนับสนุนการสอบที่จะมีขึ้น โดยยังไม่มีการออกข้อสอบหรือการสอบเกิดขึ้น
 
 
"สาโรช" ปัดแจงเหตุถอนตัว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงกว่าระดับ 9 มี 4 คน ประกอบด้วย นายสนิท จรอนันต์ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายสาโรช โชติพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีและวิชาการ นายสุทธิรักษ์ ทรงศิวไล ผู้อำนวยการสำนักอำนวยกิจการศาลรัฐธรรมนูญ และนายสิทธิพร เศาภายน ผู้อำนวยการกลุ่มงานคดี 6 ทั้งนี้ พบว่านายสาโรชไม่ได้เข้าเป็นคณะกรรมการควบคุมกำกับดูแลการออกข้อสอบในครั้งนั้นเพียงคนเดียว
 
ทั้งนี้ นายสาโรชกล่าวเพียงสั้นๆ กับผู้สื่อข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า "ไม่ขอพูดอะไร ขอให้ไปสอบถามกับผู้ที่ให้ข่าวก็แล้วกัน ผมเป็นเจ้าหน้าที่พูดอะไรไม่ได้"
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net