Skip to main content
sharethis

ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ "ฮอบบิท" กับการกดดันรัฐบาลนิวซีแลนด์ ให้ลดมาตรฐานแรงงานเพื่อแลกกับการลงทุนจากฮอลลีวู้ด ...หรือว่าเป็นการ "ลดศักดิ์ศรี" กลายเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงการลงทุนของบริษัทผลิตหนังอเมริกัน

เดอะฮอบบิท (The Hobbit) ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่คนทั้งโลกรอคอย เกี่ยวพันกับประเด็นแรงงานในนิวซีแลนด์

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาสหภาพนักแสดงนานาชาติ (International Federation of Actors - FIA) อันเป็นการรวมตัวของสหภาพแรงงานของนักแสดงของประเทศต่าง ๆ ได้เรียกร้องให้นักแสดงที่เป็นสมาชิกของสหภาพฯ ในนิวซีแลนด์ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมงานกับกองถ่ายภาพยนตร์เรื่องเดอะฮอบบิท (The Hobbit) โดยระบุว่าภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์นี้ มีความพยายามเอาเปรียบนักแสดงในนิวซีแลนด์ ด้วยการปฏิเสธที่จะทำข้อตกลงต่าง ๆ ตามข้อตกลงของสหภาพนักแสดงนานาชาติ อาทิ การประกันอุบัติเหตุ, ค่าแรง, ค่าชดเชยเลิกจ้าง และปฏิเสธจ่ายเงินเพิ่มพิเศษตามยอดรายได้ของหนัง

เมื่อ “ฮอบบิท” โต้กลับ

ปีเตอร์ แจ็คสัน ผู้กำกับชื่อดังชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งมีผลงานอันลือลั่นจากเรื่องลอร์ดออฟเดอะริงส์ ทั้ง 3 ภาค ที่รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกมากล่าวว่า พร้อมยืนยันว่ากองถ่ายหนังให้ความเป็นธรรมต่อลูกจ้างทุกคนอย่างแน่นอน "เป็นเรื่องธรรมดาที่มักจะมีความเห็นแตกต่างเกี่ยวกับเรื่องการจ้างงาน แต่ผมได้พยายามมาตลอดในการปฏิบัติต่อนักแสดงด้วยความเคารพ และเป็นธรรม เรายังให้ความเป็นธรรมต่อนักแสดงผู้ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานด้วย และในตอนนี้สหภาพแรงงานกลับมองเห็นเราเป็นเป้า ทั้ง ๆ ที่ในข้อเท็จจริงแล้ว เราเคารพต่อเงื่อนไขต่าง ๆ ของพวกเขามาโดยตลอด"

"มันช่วยไม่ได้ที่ผมรู้สึกว่าเราถูกโจมตีเราเป็นเป้าใหญ่ ไม่ใช่เพราะทำอะไรผิด หรืออาจจะพูดได้ว่าภาพยนตร์ของเราถูกใช้สำหรับผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกเขา" ซึ่งมาตรการรุนแรงที่สุดซึ่ง ปีเตอร์ แจ็คสัน ขู่ว่าอาจจะใช้มาตรการเพื่อตอบโต้สหภาพนักแสดง ก็คือการย้ายกองถ่ายไปประเทศอื่น

"ด้วยกฎหมาย ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่สามารถตกลงหรือพิจารณาได้ เราจึงอาจเหลือหนทางเดียว ถ้าต้องการสร้างฮอบบิทต่อไป ก็คือการยกกองถ่ายทำไปที่ยุโรปแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก"

ขณะนี้ฮอบบิทยังไม่มีกำหนดเปิดกล้องอย่างเป็นทางการ แต่หลายฝ่ายเชื่อกันว่าน่าจะเริ่มต้นถ่ายทำได้ในต้นปี 2011 โดยบริษัทแม่ของนิวไลน์ (New Line) อย่างวอร์เนอร์ บราเธอร์ (Warner Bros.) และ MGM ผู้ถือลิขสิทธิ์ร่วมซึ่งกำลังประสบกับปัญหาภาวะทางการเงินอย่างหนัก กำลังเร่งเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องทุนสร้างและแผนการจัดจำหน่าย นอกจากนั้นขั้นตอนของการคัดเลือกนักแสดงก็ยังคงดำเนินต่อไป

โดยในขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าใครจะมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ หลังจากที่ กิลเยร์โม่ เดล โทโร ถอนตัวออกไปเพราะภาพยนตร์มีปัญหาไม่สามารถเปิดกล้องได้ตามกำหนด โดยตามแผนการเดิมภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกแบ่งออกเป็นสองภาค ภาคแรกมีกำหนดเข้าฉายในวันที่ 12 ธ.ค. 2012 และภาคที่สองจะเข้าฉายในอีก 1 ปีให้หลัง

ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ

ต่อจากนั้นเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 53 นายจอห์น คีย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้ออกมากล่าวตำหนิสหภาพนักแสดงว่าไม่ควรจับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวประกันซึ่งอาจทำให้กองถ่ายหนังมูลค่า 2 พันล้านขู่จะย้ายไปถ่ายทำที่ประเทศอื่น โดยนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวว่า รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมจะเข้ามาช่วยให้เกิดการเจรจาระหว่างสองฝ่าย เขากล่าวว่านักแสดงซึ่งต้องการให้ปฏิรูประบบสิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึง ควรเจรจากับสมาคมผู้อำนวยการสร้าง ไม่ใช่พุ่งเป้าไปที่ภาพยนตร์เรื่องฮอบบิท

"ควรจะมีการพูดคุยกันกว้างขวาง ไม่ใช่พยายามจะจับภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง หรือผู้สร้างรายหนึ่งมาเป็นตัวประกันโดยเฉพาะเจาะจง" เขากล่าวต่อไปว่า รัฐบาลต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่ให้ขยายความขัดแย้ง อย่างที่สหภาพนักแสดงเรียกร้องให้บอยคอตภาพยนตร์เรื่องนี้ ในระดับนานาชาติ "ผมจะวิตกอย่างยิ่งถ้า ฮอบบิทไม่ได้ถ่ายทำในนิวซีแลนด์ นี่คืออุตสาหกรรมที่มีเงินทุนกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งจ้างคนจำนวนมาก ทั้งเป็นวิธีทำการตลาดให้นิวซีแลนด์อย่างยอดเยี่ยม"

ทั้งนี้ปีเตอร์ แจ๊คสัน ผู้อำนวยการสร้างมีความพยายามที่จะโจมตีสหภาพแรงงานของออสเตรเลียว่าพยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบงำอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของนิวซีแลนด์ โดยใช้ภาพยนตร์ของเขาเป็นเครื่องต่อรอง ซึ่งถ้ายังเป็นเช่นนี้ เขาก็จะยกกองถ่ายหนีไปถ่ายทำในประเทศอื่น เช่น ยุโรปตะวันออกแทน

ส่วนฟิลิปปา โบเยนส์ ผู้อำนวยการสร้างร่วม กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้มีหลายประเทศยื่นข้อเสนอมาว่าพร้อมจะให้ไปถ่ายทำ ทั้งสกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และยุโรปตะวันออก ขณะเดียวกันก็ทำให้ภาพลักษณ์ของนิวซีแลนด์ไม่น่าลงทุนสำหรับสตูดิโอฮอลลีวู้ด ซึ่งไม่ใช่เรื่องสิทธิประโยชน์ แต่เป็นเรื่องความไม่มั่นคง

ผู้สนับสนุนและประเด็นเศรษฐกิจ

ด้านผู้สนับสนุน ประชาชนชาวนิวซีแลนด์หลายพันคนได้ออกมาเดินขบวนตามท้องถนนที่กรุงเวลลิงตัน เพื่อคัดค้านแผนการย้ายสถานที่ถ่ายทำออกจากนิวซีแลนด์ในวันแรงงานของประเทศ โดยกลุ่มผู้ประท้วงได้ชูป้ายประท้วง ซึ่งเขียนข้อความ อาทิ "นิวซีแลนด์คือมิดเดิลเอิร์ธ" และ "เรารักฮ็อบบิท" และบางคนยังแต่งกายเลียนแบบตัวละครในเรื่องอีกด้วย

ด้วยทิวทัศน์อันสวยงามของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ในการดำเนินภาพยนตร์ไตรภาคเรื่อง "ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง" ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของนิวซีแลนด์ให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ด้วยมูลค่ากว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ยังกล่าวว่า ตนยังคงมีความต้องการที่จะให้ภาพยนตร์เรื่องฮ็อบบิท ใช้นิวซีแลนด์เป็นสถานที่ถ่ายทำอยู่ แต่ยังคงแสดงความเป็นห่วงต่อมาตรการการผ่อนปรนภาษีพิเศษให้แก่ผู้สร้าง ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบต่อภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศ "การกระทำใดๆในประเทศนี้ย่อมมีขีดจำกัด" และกล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราภาษี 15% ที่รัฐบาลเก็บกับกองถ่ายภาพยนตร์ขนาดใหญ่ สามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐกว่า 60-80 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ในกรณีของภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเขาจะพิจารณาถึงการปรับเปลี่ยนกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานภาพทางกฎหมายของนักแสดงซึ่งเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการผลิต แต่ก็ชี้ว่าปัจจัยอื่นๆ อาทิ การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์ของนิวซีแลนด์ การมีผลต่อการตัดสินใจของสตูดิโอหนัง

แก้กฎหมายแรงงานเพื่อ “ฮอบบิท”

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลนิวซีแลนด์ได้เร่งผ่านร่างแก้ไขกฎหมายแรงงาน อันเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงกับวอร์เนอร์ บราเธอร์เพื่อให้ปีเตอร์ แจ็กสัน ผู้อำนวยการสร้างชาวนิวซีแลนด์สามารถถ่ายทำภาพยนตร์ 2 เรื่องนี้ในนิวซีแลนด์ต่อไปได้

รัฐบาลนิวซีแลนด์ออกมาให้ข่าวหลังจากนายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์เป็นหัวหน้าคณะเจรจากับผู้บริหารวอร์เนอร์ บราเธอร์ว่า จะให้ถ่ายทำในประเทศต่อไปแม้ถูกบีบให้ต้องให้สิทธิประโยชน์แก่วอร์เนอร์ บราเธอร์ มากถึง 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 750 ล้านบาท) โดยเป็นการยกเว้นภาษีถึง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 450 ล้านบาท) โดยก่อนหน้านั้นผู้บริหารวอร์เนอร์ บราเธอร์ได้ข่มขู่ว่าว่าจะย้ายไปถ่ายทำประเทศอื่นซึ่งจะทำให้นิวซีแลนด์เสียรายได้ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้เสียชื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์นิวซีแลนด์ที่เพิ่งจะเริ่มต้น

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานที่ออกมาประท้วงในกรณีนี้ เปิดเผยว่าบางคนถูกขู่เอาชีวิตระหว่างประท้วงสภาพการทำงานในการถ่ายทำภาพยนตร์ ด้านพรรคฝ่ายค้านของนิวซีแลนด์ออกมากล่าวว่า รัฐบาลยอมอ่อนข้อให้บริษัทข้ามชาติที่ขอให้ลดมาตรฐานแรงงานเพื่อแลกกับการลงทุนบางอย่าง เป็นการกระทำที่เท่ากับว่าลดศักดิ์ศรีสถานภาพนิวซีแลนด์ ไปเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงการลงทุนของบริษัทผลิตหนังอเมริกัน.
 

* ดาวน์โหลดวารสารออนไลน์คนทำงานได้ที่ http://www.prachatai3.info/multimedia/pdf/labournews

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net