Skip to main content
sharethis

ชุมชนปาตา ตันหยงลูโละ ที่ปัตตานีที่ถูกพายุถล่มบ้านพังราบ ยังอาจต้องเผชิญกับฝันร้ายซ้ำซ้อน เมื่อไม่อาจหาญสร้างบ้านใหม่ในที่เดิมได้ ชุมชนผิดกฎหมายแห่งนี้ยังรอความช่วยเหลืออยู่

 รอสร้างบ้าน – ทหารจากกองร้อย ร.1323 หน่วยเฉเพาะกิจปัตตานี 32 รอสร้างบ้านให้ชาวบ้านชุมชนปาตา ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ที่ถูกพายุถล่มเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา

วันรายอฮัจยีปีนี้ คลื่นมหาชลชาวมุสลิมต่างหลั่งไหลเข้าไปยังหมู่บ้านดาโต๊ะอย่างคึกคัก ไม่น่าจะใช่การเดินทางไปเยี่ยมญาติอย่างปกติในเทศกาลสำคัญนี้แน่ แต่ผู้คนต่างมุ่งไปยังพื้นที่ประสบภัยพายุและคลื่นถล่มหมู่บ้านจนราบไปถึงค่อนหมู่บ้าน โดยเฉพาะแถบริมทะเลอ่าวปัตตานี

เป็นคลื่นมหาชนที่มาพร้อมกับน้ำใจและความช่วยเหลือต่างๆ มากมาย ที่มาถึงหมู่บ้านบนแหลมตาชี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี แห่งนี้

บรรยากาศเช่นนี้ ช่างต่างกันลิบลับกับหมู่บ้านที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอ่าวปัตตานี นั่นคือชุมชนปาตา ซึ่งหากใครรู้จักชุมชนปาตา ก็จะรู้สึกเหมือนกับเป็นชุมชนที่อยู่ในซอกหลืบหนึ่งของชุมชนใหญ่ โดยตั้งอยู่ริมชายฝั่ง หลังหมู่บ้านตันหยงลูโละ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

ชุมชนแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากพายุดีเพรสชั่น เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา จนทำให้มีบ้านเรือนประชาชนพังเสียหายทั้งหมดจากพายุและคลื่นซัด โดยพังเสียหายทั้งหลัง จำนวน 13 หลัง จากทั้งหมด 40 กว่าหลัง

นอกจากเป็นชุมชนที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักแล้ว เจ้าของบ้านที่พังทั้งหลังบางหลังยังไม่กล้าสร้างบ้านใหม่แทนหลังเก่าได้ แม้ได้รับการช่วยเหลือในเรื่องวัสดุและมีทหารในพื้นที่มาช่วยสร้างให้อย่างพร้อมเพรียงเหมือนบ้านหลังอื่นแล้วก็ตาม

ไม่เพียงเพราะเป็นชุมชนผิดกฎหมาย เนื่องจากทั้งชุมชนตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุแล้ว บ้านหลายหลังยังตั้งอยู่ในแนวเขตโครงการก่อสร้างถนนเลียบอ่าวของจังหวัดปัตตานีด้วย

มะนาเซ ยูโซะ อายุ 38 ปี คือหนึ่งในจำนวนนั้น เขาบอกว่า แม้แต่พวกทหารที่จะมาช่วยสร้างบ้านให้ก็ยังไม่กล้าสร้าง เพราะไม่รู้ว่าถ้าสร้างให้แล้วต้องรื้ออีกหรือไม่ เพื่อหลีกทางให้กับโครงการก่อสร้างถนนเลียบอ่าว ซึ่งต่อเชื่อมมาจากบ้านแหลมนก ตำบลบานา อำเภอเมือง ไปยังตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง มีการพูดันกันว่าจะก่อสร้างปีหน้า

“ตอนนี้ผมกับภรรยาและลูกอีก 2 คน ได้แต่อาศัยอยู่บ้านน้องสาวที่ปลูกอยู่ในชุมชนด้วยกันไปก่อน ซึ่งบ้านน้องสาวก็ได้รับความเสียหายบางส่วนจากพายุและคลื่นที่สูงถึงคอ ระหว่างนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ต้องรอให้ทางราชการหาทางออกในเรื่องนี้ก่อน” มะนาเซ กล่าว

“ครั้นจะขยับไปสร้างบ้านตรงจุดอื่นก็ไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีคนอื่นจองไว้หมดแล้ว จะมีก็พื้นที่ไกลๆ เป็นที่ลุ่มหรือป่าชายเลน จึงจะไปสร้างบ้านได้ แต่ใครจะไปปลูกอยู่หลังเดียว น้ำไฟก็ไม่มี”

มะนาเซ เล่าต่อว่า ก่อนเกิดเหตุพายุกับคลื่นถล่มชุมชน ชาวบ้านก็อยู่อย่างลำบากอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่ยากจน มีอาชีพประมงพื้นบ้าน

“การที่ชุมชนตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุ ทำให้ชุมชนเสียโอกาสหลายอย่าง ทางรัฐจะเข้ามาพัฒนาก็ไม่ได้ หน่วยงานในพื้นที่ก็ไม่ยอมแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ ลำพังคนในหมู่บ้านจะต่อสู้เรียกร้องเองก็คงไม่ไหว”

แม้ชุมชนแห่งนี้จะมีมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังต้องอาศัยอยู่ในบ้านซึ่งไม่มีเลขที่ มีถนนลูกรังซึ่งเป็นทางเข้าชุมชน

เพียงสายเดียว ซึ่งแคบและทรุดโทรมมาก ส่วนไฟฟ้าใช้ระบบต่อพ่วงมาจากบ้านคนในหมู่บ้าน เช่นเดียวกับท่อประปา

“ชาวบ้านต้องอยู่อาศัยด้วยความไม่มั่นคง ต่างจากที่บ้านแหลมนกและบ้านรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี ที่ตั้งอยู่บนที่ดินสาธารณะเหมือนกันและเป็นชุมชนเกิดขึ้นที่หลังชุมชนปาตาด้วยซ้ำ แต่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ทำให้มีบ้านเลขที่ได้ มีถนน ไฟฟ้าและประปาเข้าไปถึงหน้าบ้าน” มะนาเซ กล่าว

นายบือราเฮง มะดีเยาะ อายุ 45 ปี ผู้มีตำแหน่งเป็นโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดของชุมชนปาตา เล่าว่า แม้แต่มัสยิดก็ไม่สามารถจนทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายได้

“หลังเหตุการณ์พายุถล่ม ก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อยู่บ้าง คือ มีเจ้าหน้าที่โครงการบ้านมั่นคง ของพอช.(สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) มาสัมภาษณ์ชาวบ้านว่า ต้องการอะไรมากที่สุด ชาวบ้านบอกไปว่า ต้องการบ้านเลขที่ ไฟฟ้าและถนนเข้าหมู่บ้าน ซึ่งอีกไม่กี่วันพวกเขาบอกว่า จะมาอีกครั้ง”นายบือราเฮง กล่าว

อันที่จริงก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาของชุมชนนี้อยู่บ้าง เช่น เรื่องถนนทางเข้าชุมชน ซึ่งตัดผ่านพื้นที่นาเกลือ ระยะทาง ประมาณ 500 เมตร เป็นที่ดินที่ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ดูแลอยู่ ทาง อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) ตันหยงลูโละ คิดที่ซื้อที่ดินตามแนวถนน เพื่อปรับปรุงถนนให้ดีขึ้น แต่ถนนสายนี้ก็อยู่ในเขตที่ราชพัสดุเหมือนกัน

นายบือราเฮง บอกว่า ถ้าซื้อก็คงเป็นการซื้อขายที่ดินที่ผิดกฎหมาย มันก็ยังทำอะไรไม่ได้

นายบือราเฮง เล่าต่อว่า ชุมชนปาตามีมากว่า 30 ปีแล้ว เดิมชาวบ้านมาปลูกบ้านประมาณ 20 หลัง ต่อมาคนในหมู่บ้านตันหยงลูโละมีมากขึ้น บางคนไม่มีที่ดินของตัวเอง และไม่มีเงินพอที่จะซื้อที่ดินสร้างบ้านได้ จึงเข้ามาจับจองที่ดินราชพัสดุในชุมชนแห่งนี้เพื่อสร้างบ้านมากขึ้น ทำให้ชุมชนขยายตัว

“ที่ตั้งชุมชน เดิมเป็นพื้นที่ดินงอก บางช่วงมีทรายมาทับถมหน้าหาดที่เป็นหาดโคลน ชาวบ้านจึงขุดทรายมาถมที่สร้างบ้าน พื้นที่งอกเพิ่มก็หายไป ช่วงหลังๆ ชายหาดไม่ได้งอกเพิ่มแล้ว” นายบือราเฮง กล่าง

นายแวหะมะนาวี มะรอแม นายก อบต.ตันหยงลูโละ กล่าวว่า ชุมชนนี้เป็นชุมชนผิดกฎหมาย เพราะตั้งอยู่ในที่ราชพัสดุ ทางอบต.พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยจะใช้โอกาสที่เกิดภัยพิบัติครั้งนี้ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน

โดยในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 นี้ ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปัตตานี จะเข้ามาหารือกับ อบต. เพื่อจักระเบียบชุมชนแห่งนี้กันใหม่ เนื่องจากชาวบ้านที่อยู่ในแนวเขตโครงการก่อสร้างถนนเลียบอ่าว ยังไม่กล้าสร้างบ้านใหม่ แทนหลังเก่าที่พัง เพราะเกรงว่าหากสร้างขึ้นใหม่แล้ว จะต้องรื้ออีก เมื่อโครงการเข้ามา

“ทางจังหวัดต้องการให้แก้ปัญหาเรื่องบ้านพังให้เร็วๆ อยากให้สร้างใหม่ทันที แต่ผมคิดว่า ถ้ายังไม่จัดระเบียบชุมชนให้ดีก่อน โครงการก่อสร้างถนนเลียบอ่าวเข้าก็จะมีปัญหาอีก คนที่จะมีปัญหาก็คือชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและอบต.ในพื้นที่นั่นเอง เพราะปัญหาที่นี่ซับซ้อน” นายแวหะมะนาวี กล่าว

นายแวหะมะนาวี กล่าวด้วยว่า ส่วนบ้านที่พังเสียหายแต่ไม่ได้อยู่ในแนวโครงการก่อสร้างถนน ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการสร้างบานใหม่ โดยได้รับงบประมาณหลังละ 8 หมื่นบาท ส่วนที่พังเสียหายบางส่วน ได้รับวัสดุก่อสร้าง ได้แก่กระเบื้องมุงหลังคาหรือสังกะสี

นอกจากปัญหาเรื่องบ้านแล้ว ผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับอีก 2 ประการ คือ เครื่องยนต์เรือประมงเสียหาย และเกลือที่เก็บไว้ในโรงเก็บเกลือละลายไปกับน้ำทั้งหมด ซึ่งโรงเก็บเกลือแต่ละหลังมีเกลือเก็บไว้มูลค่าประมาณ 2 แสนบาท เนื่องจากปีนี้มีช่วงแล้งยาวนานกว่าปกติ เจ้าของจึงผลิตเกลือเก็บไว้ได้เยอะ รอให้ราคาสูงค่อยขาย แต่ตอนนี้ไม่เหลืออะไรแล้ว

แม้บ้านคือสิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดในตอนนี้ แต่ถ้าสร้างเสร็จแล้วมีปัญหาใหม่ให้ต้องปวดหัว เหมือนกับมีเคราะห์ร้ายซ้อนเข้าอีก ชาวบ้านเองก็คงไม่ต้องการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net