Skip to main content
sharethis

 

(18 พฤศจิกายน 2553) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ มีการจัดงานสัมมนา "อุตสาหกรรมสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และโทรคมนาคม หลังกฎหมายคลื่นความถี่ฉบับใหม่บังคับใช้: โจทย์ต่อไปคืออะไร" จัดขึ้นโดยสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย” โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ บทบาทด้านสื่อและโทรคมนาคมของรัฐบาล หลังพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯฉบับใหม่บังคับใช้”

ในการกล่าวปาฐกถาในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงบทบาทที่รัฐบาลจะกระทำภายหลังจากที่ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และกิจการและกิจการโทรคมนาคมบังคับใช้ ซึ่งในตอนหนึ่งของการกล่าวปาฐกถาได้กล่าวถึงการควบคุมสื่อใหม่ว่า ต้องได้รับการจัดระบบและกำกับดูแลการใช้สื่อสมัยใหม่ เพราะในปัจจุบันสังคมออนไลน์กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนทุกคนสามารถสื่อสารข้อมูลข่าวสารได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง แต่คนเหล่านี้ไม่ใช่มืออาชีพ ไม่ได้เป็นผู้มีวิชาชีพสื่อ จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องวางแนวทางเพื่อให้มีมารยาทและกติกา และไม่ไปละเมิดสิทธิบุคคลอื่นหรือเกิดอันตรายต่อความมั่นคง

ทั้งนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วและวุฒิสภาก็เห็นชอบเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งขั้นตอนต่อไปรัฐสภาจะส่งเรื่องให้รัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าต่อไป

(ชันษา สุพรรณเมือง รายงาน)

----------------------------------------------
ปาฐกถาฉบับเต็ม

"บทบาทด้านสื่อและโทรคมนาคมของรัฐบาล
หลังพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่บังคับใช้"
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ท่านประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
ท่านผู้ประกอบการธุรกิจด้านสื่อทุกประเภท
นักสื่อสารมวลชน
ตัวแทนภาคประชาชน
และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่านครับ

ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานเสวนาของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่องอุตสาหกรรมสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และโทรคมนาคม หลังกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่บังคับใช้: โจทย์ต่อไปคืออะไร? ที่ได้จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการด้านคลื่นความถี่และสื่อทุกประเภท นักสื่อสารมวลชน นักวิชาการ และประชาชน เกี่ยวกับพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานะครับ คือวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้เอง ดังนั้นขั้นตอนต่อไปก็คือขั้นตอนที่ทางรัฐสภาจะส่งเรื่องมาให้ผมเพื่อดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งจะต้องทำภายใน 20 วันหลังจากที่สภาฯ ให้ความเห็นชอบ

สำหรับบทบาทของรัฐบาลหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมได้รับเชิญให้มาพูดในวันนี้ ก็ขอเรียนว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ซึ่งก็คาดว่าเป็นระยะเวลาอีกไม่นาน กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และตระหนักดีว่าเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อ ประโยชน์สาธารณะ จึงต้องมีการดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชนและความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งประโยชน์ของส่วนรวมในด้านอื่น ๆ ก็อยากจะขอเรียนครับว่ากฎหมายฉบับนี้ความจริงก็ถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความพยายามที่จะปรับปรุงกฎ กติกาต่าง ๆ หลังจากที่เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วเราได้มีความพยายามที่จะสร้างกฎ กติกา ในเรื่องของการมีองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ องค์กรอิสระ ที่มาดูแลในเรื่องของกิจการโทรคมนาคม และกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งหลายท่านจะทราบดีครับว่าตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสาขาการกระจายเสียง และสาขาวิทยุโทรทัศน์ มีปัญหามาโดยตลอด ในเรื่องของการได้ตัวองค์กรที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ และความจริงตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้วผมเองเป็นผู้หนึ่งซึ่งเห็นว่ากิจการโทรคมนาคมและกิจการในการสื่อสารมวลชนนั้นเป็นกิจการซึ่งจะแยกกันไม่ออก ด้วยเหตุผลทางเทคโนโลยีและด้วยเหตุผลในแง่ของความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เพราะฉะนั้นครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งในการที่จะจัดระเบียบ ถ้าจะใช้คำนั้นนะครับ แต่ว่าข้อเท็จจริงก็คือการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชนนั่นเอง

ในแง่ของรัฐบาลนะครับ นโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็เป็นบทบาทที่มีความสำคัญที่สุด ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้เช่นเดียวกันตามกฎหมายเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วก็มีความสับสนกันพอสมควรว่า องค์กรที่เกิดขึ้นจะรับผิดชอบในแง่ของการกำกับดูแล หรือจะต้องรับผิดชอบในเรื่องของนโยบายด้วย ขณะนี้ก็มีความชัดเจนในการกำหนดอำนาจหน้าที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนของรัฐบาลนั้นก็ยังมีทั้งนโยบายของรัฐบาลเอง และมีเป้าหมายที่ได้ถูกกำหนดไว้ในแนวนโยบายของรัฐ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า เรามีหน้าที่ในการที่จะต้องพัฒนาเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกัน และส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และผลักดันให้กฎหมายมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ซึ่งอันนี้เป็นแนวทางซึ่งรัฐบาลและโดยตัวผมเองนั้นได้พยายามที่จะผลักดันมาโดยตลอด

กฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงแต่จะกำหนดให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการทั้งกระจายเสียง ทั้งโทรทัศน์ และโทรคมนาคมนะครับ ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีเฉพาะ กทช. ซึ่งดูแลทางด้านโทรคมนาคม แต่ว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ก็จะครอบคลุมไปถึงการที่จะแก้ปัญหาและวางกติกาในด้านการกำกับดูแลกิจการบางเรื่อง อย่างเช่น กรณีของ 3จี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีการอยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก และโดยเฉพาะก็คือแก้ปัญหาที่ผมได้กล่าวมาแล้วก็คือสภาวะการหลอมรวมทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของปัญหาในการกำกับเนื้อหาซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้สื่อต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย

กฎหมายนี้ได้เพิ่มเติมบทบัญญัติ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมกระจายเสียง ทั้งโทรทัศน์และโทรคมนาคมนั้น ได้มีการพัฒนามากขึ้น มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และที่สำคัญคือจะมีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ได้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่าง กสทช. กับรัฐบาล ที่จะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ มีความเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และรวมไปถึงการมีประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการป้องกันไม่ให้มีการปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสาร และการส่งเสริมการรวมกลุ่มของภาคเอกชน ในการทำมาตรฐานทางด้านจริยธรรม ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็อยากจะเรียนว่า บทบาทของรัฐบาลที่ได้วางเอาไว้ในขณะนี้ ก็จะมีอยู่หลายด้านที่เราถือเป็นเรื่องสำคัญ

ข้อแรก คือ การสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง กสทช. โดยเร็ว ตรงนี้ดูผิวเผินก็อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนเพราะว่ากฎหมาย ก็เขียนอยู่แล้วนะครับว่าจะต้องมีการจัดตั้งขึ้น มีการกำหนดขั้นตอน แต่ประสบการณ์จากอดีตเมื่อรอบ 10 ปีที่ผ่านมาก็บ่งชี้ชัดครับว่า การจัดตั้งตัวคณะกรรมการนั้นมักจะประสบปัญหาการโต้แย้งอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งทำให้ความล่าช้าเกิดขึ้นกับ กทช. และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความล้มเหลวในการจัดตั้ง กสช. ในอดีต ครั้งนี้บทบัญญัติของกฎหมายก็ดูจะเอื้อให้มีแนวทางที่เป็นหลักประกันในระดับหนึ่งว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามกรอบของเวลา เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็จะเร่งรัดจัดตั้ง กสทช. โดยเร็วด้วยความตระหนักถึงความสำคัญขององค์กรนี้

บทบาทที่ 2 คือการกำหนดนโยบายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งมาตรา 74 ของกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อสภาฯ ในแง่ที่ว่ารัฐบาลยังคงบทบาทในฐานะที่เป็นผู้กำหนดนโยบายด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งครอบคลุมและเกี่ยวข้องกับงานทางด้านโทรคมนาคมด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ก็อยากจะย้ำครับว่า รัฐบาลชุดนี้มีความชัดเจนมากในเรื่องของการที่จะผลักดันให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้นมีเป้าหมายสูงสุดก็คือการเข้าถึงการได้รับบริการทางด้านข้อมูลข่าวสารของประชาชนทั่วประเทศให้มากที่สุด เราตระหนักดีว่าปัจจุบันนี้เทคโนโลยีนี้เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการพัฒนาคนหรือในการพัฒนาประเทศ เราตั้งเป้าว่าเครือข่ายของข้อมูลข่าวสารนั้นจะต้องมาสนับสนุนทั้งเรื่องของการศึกษา ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ ในแง่ของการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน อย่างเช่น ในเรื่องของสุขภาพ และในแง่ของการปรับปรุงเครือข่ายหรือระบบการบริการภาครัฐทั้งหมด ซึ่งเป้าหมายอันนี้ก็ได้มีการกำหนดมาตรการ มีการออกมติคณะรัฐมนตรีและนโยบายต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ในกรอบของภาพรวมนั้นนะครับ ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฉบับที่ 2 ซึ่งแผนนี้ใช้ไปจนถึงปี 2556 สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจ ที่เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการก็คือ ดูแลว่ากติกาการแข่งขันในธุรกิจเหล่านี้เป็นการแข่งขันที่มีความเป็นธรรม มีความเสมอภาค และแก้ปัญหาซึ่งถือว่าเป็นมรดกจากในอดีต ที่มีระบบการแข่งขันที่มีความไม่เท่าเทียม และมีความเหลื่อมกันอยู่ในแง่ขององค์กรที่กำกับดูแลการแข่งขันในกิจการต่าง ๆ เหล่านี้ และเมื่อเร็ว ๆ นี้นะครับรัฐบาลก็ได้อนุมัตินโยบายด้านการพัฒนาบรอดแบนด์แห่งชาติ ซึ่งได้มีการดำเนินการมาโดยลำดับ และตระหนักถึงความจำเป็นอย่างที่ผมได้เรียนให้ทราบแล้วว่าเป้าหมายของรัฐบาล ก็คือการทำให้พี่น้องประชาชนนั้นจะได้มีโอกาสเข้าถึงเรื่องของบริการทางด้านข้อมูลข่าวสารให้มากที่สุด

บทบาทที่ 3 ที่เป็นบทบาทสำคัญของรัฐบาลก็คือเรื่องของการเจรจาและการทำความตกลงระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กสทช. และสำนักงานจะมีหน้าที่ตามกฎหมายในการให้ข้อมูล ร่วมดำเนินการตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือในการที่จะมีการเจรจา หรือทำความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นรัฐบาลไทยก็ยังจะต้องมีบทบาทสำคัญเวลาที่มีการไปทำการเจรจา ทำความตกลงกับประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับคลื่นความถี่เรื่องกระจายเสียง เรื่องโทรทัศน์ เรื่องโทรคมนาคมและกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพราะว่าปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งกติกานั้นเราจะดูเฉพาะภายในประเทศไม่ได้ แต่มีความร่วมมือ มีข้อตกลงในระดับระหว่างประเทศ และบทบาทของรัฐบาลก็มีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง เร็ว ๆ นี้ทางตัวแทนของเราก็ยังได้รับเลือกตั้งเข้าไปอยู่ใน ITU Council ซึ่งถือเป็นองค์กรสำคัญในระดับโลกที่จะดูแลในเรื่องนี้

บทบาทที่ 4 นะครับ ก็คือการติดตามการปฏิบัติงานของ กสทช. นั่นเอง ซึ่งอันนี้ในมาตรา 76 กสทช. นั้นจะต้องทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี ด้านการบริหารคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และแผนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งผมในฐานะนายกรัฐมนตรีอาจจะขอให้ กสทช. หรือเลขาธิการ ชี้แจงการดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ เพราะฉะนั้นบทบาทในการติดตามการทำงานของ กสทช. นั้นก็จะเป็นบทบาทที่สำคัญอีกบทบาทหนึ่ง

ถัดมานะ ครับก็คือการที่เราจะต้องเร่งรัดให้ประเทศของเราเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือกรณีของวิทยุโทรทัศน์ที่พัฒนาไปสู่ยุคดิจิตอลแล้ว ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยนั้นสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีดังกล่าว การกำหนดนโยบาย แผนงาน มาตรการที่จำเป็นในการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบการรับ-ส่งสัญญาณในระบบดิจิทัล ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ ก็จะเป็นบทบาทที่สำคัญอีกบทบาทหนึ่งของรัฐบาล

ถัดมานะครับก็เป็นเรื่องของการกำกับดูแลหน่วยงานซึ่งสังกัดฝ่ายบริหาร หรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหารให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เพราะว่าต้องยอมรับว่าปัจจุบันนั้นการใช้คลื่นความถี่ ทั้งในด้านวิทยุโทรทัศน์ โทรคมนาคม ก็อยู่ในความครอบครองหรือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่น ๆ นะครับ เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ มีการจัดระบบในเรื่องของการกำกับดูแลกันแล้ว ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลในการที่จะต้องดูว่าหน่วยงานของรัฐนั้นได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของการที่จะต้องมีการคืนคลื่นความถี่ หรือเรื่องของการจัดทำแผนแม่บทของ กสทช. ซึ่งรัฐบาลก็มีหน้าที่ในการสอดส่องดูแลให้หน่วยงานใช้คลื่นนั้นดำเนินการตามหลักเกณฑ์ตามมาตรการต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนด

บทบาทที่ 7 นะครับ ที่ผมขอเรียนก็คือเรื่องของจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อต่าง ๆ ซึ่งแม้ว่ากฎหมายฉบับใหม่จะกำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนให้เป็นองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพและควบคุมการประกอบวิชาชีพ แต่คงไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไม่มีบทบาทในเรื่องนี้ จุดยืนของผมและรัฐบาลก็ชัดเจนอยู่แล้วนะครับว่าการกำกับดูแลในวิชาชีพสื่อนั้นเราต้องการที่จะให้คนในวงการวิชาชีพนั้นได้มีการดำเนินการกันเองเป็นสำคัญหรือเป็นหลัก ซึ่งหลังจากที่เราเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในสังคม ผมก็ได้เดินสายไปพบปะกับสื่อหลายแขนง หลายสังกัด เพื่อที่จะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ และเร่งให้องค์กรวิชาชีพต่าง ๆ นั้นมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้มีนโยบายว่าจะผลักดันให้มีกฎหมายในการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ซึ่งก็ทำขึ้นโดยการรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนของวิชาชีพนั่นเอง ขณะนี้ผมก็กำลังเร่งรัดเพื่อที่จะให้กฎหมายฉบับนี้สามารถนำเสนอต่อสภาฯ และประกาศใช้ให้ได้โดยเร็วต่อไป ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มหลักประกันในเรื่องของเสรีภาพ ควบคู่กันไปนะครับก็จะเป็นปัญหาที่มีการบังคับใช้กฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ค่อนข้างมาก อันนี้ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการมาทบทวนแนวทางของการใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าจะต้องเป็นบทบาทสำคัญของรัฐบาลต่อไป

ก็มาถึงเรื่องสุดท้ายนะครับ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็คือการจัดระบบและกำกับดูแลการใช้สื่อสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือปัจจุบันนั้นโครงข่ายที่เป็นโครงข่ายการสื่อสารทางสังคม มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นช่องทางสำคัญที่ประชาชนนั้นใช้ในการสื่อสารและกระจายข้อมูลถึงกันและกัน ซึ่งบางครั้งก็คือไม่ต้องผ่านตัวกลางใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นการสื่อสารโดยตรง ซึ่งตรงนี้ผมก็ได้พูดกับผู้ที่อยู่ในวงการและในวิชาชีพว่า ปัจจุบันนั้นเสมือนกับว่าประชาชนหรือใครก็ตามที่เข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ สามารถทำตัวเป็นสื่อมวลชนได้เกือบทั้งหมด ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาเพราะว่าคนเหล่านี้ก็ไม่ใช่คนที่มีวิชาชีพ หรือเป็นมืออาชีพ แต่สามารถที่จะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้ไม่แพ้สื่อสารมวลชน ก็เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นที่สังคมของเราและในส่วนของรัฐบาลเองจะต้องมาช่วยกันหาแนวทางในการวาง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีมารยาท หรือกติกา ในการที่จะใช้สื่อและโครงข่ายเหล่านี้เพื่อไม่ให้เป็นการไปละเมิดสิทธิ์คนอื่น หรือรวมไปถึงไม่ให้เกิดอันตราย กระทบต่อเรื่องของความมั่นคง หรือประโยชน์ของส่วนรวม

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ ผมก็หวังว่าวันนี้เวทีที่ได้จัดขึ้น จะเป็นเวทีที่จะมีการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อมุ่งไปสู่การเตรียมความพร้อมให้กับทุกฝ่าย ในการที่จะได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและของรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมขอย้ำอีกครั้งว่ามีเป้าหมายสูงสุดคือการให้พี่น้องประชาชนนั้นได้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรสาธารณะ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งหวังว่าสมาคมต่าง ๆ สภาวิชาชีพ ตลอดจนผู้ปฏิบัติทุกท่าน และนักวิชาการที่ได้สนใจติดตามในเรื่องของการปฏิรูปคลื่นความถี่ ต้องการที่จะเห็นความเป็นธรรม ความโปร่งใสเกิดขึ้น และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพจิตสำนึกของคนข่าววิทยุและโทรทัศน์ และการทำงานภายใต้กฎหมายใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สุดท้ายนี้ขออวยพรให้การจัดงานในครั้งนี้บรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ทุกประการ และขอให้ทุกท่านประสบแต่ความสุขความเจริญโดยทั่วกัน ขอขอบคุณครับ

-----------------------------------------

ที่มา: กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

(หมายเหตุ: ตัวเน้นโดยประชาไท)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net