Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อภิเชต ผัดวงศ์ กับ “เรื่องราว” ที่สร้างมูลค่าให้กับแหล่งท่องเที่ยวท่ามกลางกระแสทุนนิยม และบทเรียนเด่น-ด้อยเพื่อเตรียมชุมชนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดหลังเปิดตัวต้อนรับผู้มาเยือน

 
ข้อมูลเบื้องต้นที่จูงใจให้ชาวต่างชาตินึกภาพอยากเดินทางไปท่องเที่ยว ณ สถานที่หรือประเทศใด ที่แห่งนั้นมักจะมี “เรื่องราว” กระตุ้นให้ตื่นตาตื่นใจอยากไปสัมผัส
 
แต่ไม่ง่ายครับ…ไม่ง่ายที่ใครจะสร้าง “เรื่องราว” ของประเทศ ของเมือง หรือสถานที่ท่องเที่ยวให้ติดแบบโดนใจ ชนิดที่ใครต่อใครอยากรู้จัก อยากไปให้เห็นกับตา เรื่องนี้ท้าทายให้ชุมชนแต่ละแห่งร่วมคิด เพราะเป็นการ “เพิ่มมูลค่า” ให้กับสถานที่เหล่านั้น 
 
ภูฎานเป็นประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีพื้นที่ราบและทุ่งหญ้าระหว่างหุบเขาอยู่บ้าง ชาวภูฎานยังคงรักษารูปแบบทางวัฒนธรรมของตัวเองไว้ได้อย่างดี ชวนกันใส่ชุดประจำชาติเป็นชุดประจำ วัน สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติยังมีอยู่มาก นักท่องเที่ยวสามารถที่จะเดินป่า ล่องเรือ เพื่อชื่นชมกับทัศนียภาพได้ 
 
เมื่อพูดถึงภูฎานจะนึกภาพเห็นเมืองในหุบเขาที่มุ่งความสุขมวลรวมของประเทศ เขานำตรงนี้มาเป็นจุดขาย และขายอย่างมีมุมมองที่น่าสนใจคือแต่ละปีจะจำกัดนักท่องเที่ยว เป็นการคัดกรองปริมาณและคุณภาพผู้ไปเยือนได้อย่างน่าสนใจ
 
ที่อินเดีย “ทัชมาฮาล” นอกจากงดงามและทรงคุณค่าแล้ว เขายังสร้างเรื่องราวของเศษกระจกชิ้นเล็กๆ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต้องเข้าแถวกันยาวเหยียด เพื่อต้องทนรอดูภาพทัชมาฮาลในเศษกระจกชิ้นนั้น ทั้งที่หากจะดูภาพทัชมาฮาลจากกระจกอื่นๆ อาจได้ภาพที่กว้างกว่า สวยกว่าด้วยซ้ำไป 
 
แต่เพราะเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังกระจกชิ้นนี้ทำให้นักท่องเที่ยวเกือบทุกคนต้องยอมทนรอ เพื่อมองภาพสะท้อนของทัชมาฮาล ก็เพราะเป็น “กระจก” ที่กษัตริย์ผู้สร้างทัชมาฮาลใช้สำหรับเพ่งมองมายังสิ่งบูชาความรักของพระองค์จากห้องคุมขังนั่นเอง 
 
อยู่ในคุกพระองค์อาศัยเงาสะท้อนจากกระจกนี้แหละ ทำให้มองเห็นทัชมาฮาลตำนานความรักที่ซาบซึ้งและเรื่องราวที่ผูกมาด้วย นักท่องเที่ยวก็เลยต้องยอมเข้าคิวเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ “เรื่องราว” 
 
สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหากเอ่ยถึงประเทศไทยชาวต่างชาติมักนึกถึงกรุงเทพฯ วัดพระแก้ว แหล่งโลกีย์แถวพัทยา หรือไม่ก็บรรยากาศท่องทะเลแถบภูเก็ต เป็นอาทิ
 
หากแต่ในช่วงฤดูหนาวเช่นนี้ แหล่งท่องเที่ยวทางภาคเหนือมักเป็นที่หมายปองของทั้งชาวไทยและต่างชาติ หลายจังหวัดจึงคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ต้องการผ่อนคลายไปกับการท่องเทียวในมิติเชิงธรรมชาติ การได้ต้อนรับผู้มาเยือนนอกจากเพิ่มสีสันที่ได้พบได้สนทนาแลกเปลี่ยนกับคนต่างถิ่นต่างภาษาแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสินค้าพื้นบ้าน ร้านอาหาร โรงแรมให้คึกคักอีกด้วย
 
ในอีกด้านหนึ่ง ไม่อาจปฏิเสธว่าเพื่อรองรับการท่องเทียวเชิงธรรมชาตินี้ เพียงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา พื้นที่ทางธรรมชาติหลายแห่งต่างถูกปรับเปลี่ยนโดยมีการพัฒนา ปรับปรุง และก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสบายที่ขัดแย้งกับความคิดด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ควรจะเป็น จนสวนทางกับเป้าหมายความยั่งยืนที่ประชาคมโลกต่างพยายามร่วมกันทำให้เกิด
 
บางแห่งภาครัฐและเอกชน สร้างอาคารศูนย์บริการ ที่พักนักท่องเที่ยว โรงแรม Home Stay สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกินความจำเป็นและไม่กลมกลืนกับธรรมชาติขาดการวางแผนที่ดี ภายหลังจากเปิดแหล่งท่องเที่ยวเพียงไม่นาน บางพื้นที่ถูกพัฒนาผิดทิศทาง เกิดการเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ชุมชนท้องถิ่นรู้ตัวอีกทีก็ดูจะสายไป
 
ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาแหล่งท่องเที่ยว “ปาย” ที่แม่ฮ่องสอน กับ “บ้านฮวก” ที่พะเยา ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อจุดประกายให้นักท่องเที่ยวสนใจไปเยือน ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนให้ร่วมกันสรุปบทเรียนข้อดีข้อด้อยของทั้งสองแห่งเพื่อเตรียมชุมชนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นกับชุมชนหลังเปิดตัวต้อนรับผู้มาเยือน
 
เมื่อพูดถึง "ปาย" อำเภอเล็กๆ กลางหุบเขาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน (1) น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกัน ในฐานะที่เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อเลื่องลือขจรไปทั่วโลก ว่าเป็นเมืองในฝันของใครหลายคน เมืองของวัฒนธรรมอันดีงาม เมืองแห่งความสงบเงียบอยู่ท่ามกลางธรรมชาติขุนเขา สายน้ำ และวัฒนธรรมพื้นเมืองอันหลากหลาย
 
แต่เมื่อหันไปฟังเสียงของคนท้องถิ่นดั้งเดิมของปาย พวกเขากลับสะท้อนความรู้สึกออกมาและช่างแปลกแยกแตกต่าง จนทำให้ใครหลายคนรู้สึกอึ้งไปตามๆ กัน
 
พ่อครูใจ อินยา ผู้อาวุโสวัย79 ปี เป็นคนปายดั้งเดิมและเป็นอดีตครูประชาบาล ปัจจุบันเป็นประธานสภาวัฒนธรรมแม่ฮี้ อำเภอปาย บอกเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงหม่นเศร้า
 
"เมืองปายตอนนี้เปลี่ยนไปมาก ปกติคนปายเขานอนกันแต่หัวค่ำ หลังจากทำสวนทำนากันมา ก็เข้านอนกันแล้ว ชาวบ้านต้องการความสงบ ต้องการนอนพักผ่อน มันเพลีย เพราะทำงานกลางทุ่ง แต่นอนไม่ได้ เสียงมันดัง อึกทึก นักท่องเที่ยวเขาร้องรำทำเพลงกันจนดึกดื่น..."
 
"รู้มั้ย ตอนนี้คนปาย ต้องยอมขายที่ดินให้นายทุน ยกตัวอย่าง บ้านป่าขาม คนเก่าแก่ต้องอพยพย้ายออกไปอยู่ข้างนอก เมื่อฝรั่ง นักท่องเที่ยว นักลงทุนมาเห็นทำเลดี เขามาขอซื้อ ขอเช่า ให้ราคาดี บวกกับทนเสียงดังไม่ไหว ก็พากันอพยพย้ายไปอยู่ตามเชิงเขาแทน..." 
 
นั่นคือเสียงสะท้อนของคนเฒ่าคนแก่ในอำเภอปาย ที่พยายามจะบอกย้ำให้กับผู้คนที่มาเยือนปายได้รับรู้ว่า...ปายกำลังเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง! 
 
ปายเปรียบเหมือนหญิงสาวที่กำลังถูกกระทำจากผู้ชายที่ชื่อ "การพัฒนา" กับ "การท่องเที่ยว" 
 
ทำให้หลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ในอนาคตปายจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด ผู้คนในท้องถิ่นจะดำรงวิถีวัฒนธรรมอันดีงามดั้งเดิมอยู่ต่อไปหรือไม่ การมุ่งด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวจะนำพา "ปาย" พัฒนาไปสู่ความยั่งยืนหรือเสื่อมถอย!?
 
ถ้าถามว่าตอนนี้ปายอยู่ในช่วงไหน บอกได้เลยว่า ปายอยู่ในช่วง "ขาลง" แล้ว...นี่คือเสียงสะท้อนของคนอยู่ปาย (2) ที่พัก ที่กิน ราคาถูก หายากในปาย จนต้องบอกว่าปายกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบเต็มขั้นไปเสียแล้ว ท้องทุ่งนา ที่เคยเป็นวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น ที่นักท่องเที่ยวยุคแบ็คแพ็คหวลหา อยากมาชมเมืองปาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้เริ่มกลายเป็น “ท้องนาพาณิชย์” ทำเลร้อนที่นักลงทุนใฝ่หา 
 
โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าส่วนที่ดีของปายหลังจากพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็มีอยู่มาก ข้อดีข้อด้อยของปายหากนำมาแจกแจงจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอีกหลายแห่งที่กำลังจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
 
สำหรับที่ “บ้านฮวก” อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เป็นหมู่บ้านชายแดนไทย-ลาวอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 100 กิโลเมตร ทำเลที่ตั้งอยู่ห่างจากภูชี้ฟ้าและผาตั้งจังหวัดเชียงรายเพียงไม่ถึง 40 กิโลเมตร
 
จุดเด่นของที่นี่นอกจากจะมีตลาดชายแดนทุกวันที่ 10 และ 30 ของเดือนแล้ว บ้านฮวกยังเป็นสถานที่สำคัญที่ฝ่ายไทยและลาวร่วมกันจัดประเพณีตักบาตรสองแผ่นดินเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
 
ดังนั้น ที่บ้านฮวกนอกจาก High Season ช่วงฤดูหนาวแล้ว ความงดงามของน้ำตกภูซางและน้ำตกห้วยโป่งผาที่มีเต่าปูลาหายาก ตลอดถึงผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในธรรมชาติมาเยือนได้ทุกช่วงฤดูตลอดทั้งปี
 
การเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวบ้านฮวกอย่างเป็นทางการ และโปรโมทยกระดับเป็น ปาย 2 พร้อมข่าวภาครัฐทุ่มงบเกือบ 100 ล้านเพื่อเนรมิตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคล้ายอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ในอีกด้านก็มีเสียงคัดค้านจากสังคมและคนในพื้นที่อย่างรุนแรง ด้วยเกรงว่าจะไปซ้ำรอยกับปาย อีกทั้งคนในพื้นที่ประสงค์ที่จะให้บ้านฮวกเป็นอย่างบ้านฮวก ภูมิใจในความเป็นชุมชนของตน ไม่ต้องไปโหนกระแสหรือพึ่งพิงชื่อเสียงจากที่ใด ซึ่งก็น่าฟัง
 
แต่โดยความเป็นจริงแล้ว น่าห่วงว่าจะสามารถต้านกระแสทุนได้แค่ไหน 
 
อันที่จริงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในบ้านฮวกบางส่วนจะต้องการความเจริญเข้ามาสู่ชุมชนของตน การขายที่ดินแล้วนำเงินมาจับจ่ายใช้สอยด้านปัจจัย 4 เพื่อยกระดับให้ความจำเป็นพื้นฐาน กิน ยา ผ้า บ้าน ของตนเองและครัวครัวมีคุณภาพดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่ปกติชนปรารถนา
 
หากจะลองให้นึกภาพเปรียบเทียบระหว่างชาวบ้านที่ต้องทนสวมรองเท้าแตะพื้นผุขาด ใส่เสื้อม่อฮ่อมผืนเก่าซีด กับการมีอาหารเลิศรสถูกหลักโภชนาการกิน เจ็บป่วยได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายทันสมัย มีบ้านเรือนสวยงามมั่นคง คิดว่าชาวบ้านควรจะเลือกเอาอย่างไหน
 
อีกมุมหนึ่ง หากต้องแลกให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น โดยที่คนต่างถิ่นเข้ามายึดครองที่ดินของชาวบ้านในคราบของนักธุรกิจจนเบียดคนท้องถิ่นเป็นกลุ่มชายขอบ คนท้องถิ่นต้องเช่าที่ดินจากนายทุนทำกิน บางส่วนต้องไปเป็นลูกจ้างเขา วิถีชีวิตเปลี่ยนไป คุ้มหรือไม่กับสิ่งที่สูญเสียไป ย่อมเป็นประเด็นที่น่าถกเถียงเช่นกัน
 
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้คำว่า “พัฒนา” “แหล่งท่องเที่ยว” การอนุรักษ์” “วัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น” ก้าวไปพร้อมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย การจัดการแหล่งท่องเที่ยวเป็นไปตามเจตนารมณ์ของชุมชนท้องถิ่น
 
มิติการจัดการแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (3) เดิมอยู่ในการดูแลของภาครัฐ แต่ในปัจจุบันชุมชนท้องถิ่นถูกคาดหวังให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งในด้านการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ การให้ความรู้ และการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
 
เป็นการดีที่ชุมชนจะได้ทำความเข้าใจจุดยืนและยอมรับภาระและหน้าที่ว่าก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการท่องเที่ยวควรเตรียมความพร้อมอย่างไร
 
การจัดการท่องเทียวโดยชุมชุมควรสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างจริงจัง ควรจะต้องมีส่วนรับรู้ ร่วมคิด และตัดสินใจร่วมกันตั้งแต่ต้น
 
ให้ตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว ทั้งแง่บวกและลบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาหลายชุมชนรับรู้เพียงด้านบวกและผลประโยชน์เพียงส่วนเดียว
 
ชุมชนควรยึดมั่นและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและประเพณีของตน โดยเข้าใจถึงผลการเปลี่ยนแปลงหากการท่องเที่ยวเข้ามาแล้วจะไม่ทำให้สิ่งดีดีเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปได้โดยง่าย
 
มุ่งเน้นการจัดการที่ดี เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวส่วนมากจะจัดการได้ไม่เหมาะสมกับความมีคุณค่าในตัวเอง บางครั้งมุ่งจัดการเพื่อให้นักท่องเที่ยวสะดวกแต่ลืมคำนึงถึงสภาพการดูแลรักษาธรรมชาติและวัฒนธรรม
 
การจัดการด้านขยะและคุณภาพน้ำต้องให้มีผลกระทบน้อยที่สุด ระบบนิเวศตามธรรมชาติต้องรักษาให้คงอยู่ การจัดการเสียงด้านควบคุมไม่ให้อึกทึกครึกโครม ไม่ว่าจะมาจากนักท่องเที่ยว เครื่องยนต์ หรือแม้กระทั่งเสียงเพลง หรือเครื่องเสียง เพราะนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติมักชอบความสงบด้วย
รวมถึงการแบ่งพื้นที่ให้เหมาะสม เป็นสัดเป็นส่วน ไม่ควรเปิดให้ท่องเที่ยวได้ทั้งหมด เพราะในบางครั้งอาจเป็นการรบกวนความสงบสุขของชุมชน หรือพื้นที่ธรรมชาติที่ควรจะสงวนให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวด้วย ดังนั้นควรวางแผนเรื่องการจัดแบ่งสรรพื้นที่ตั้งแต่แรก
 
ชุมชนควรคำนึงถึงความสามารถรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งด้านแหล่งท่องเที่ยว ด้านการจัดการและบริการที่มีขีดจำกัด ไม่ใช่จะรับได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด มิฉะนั้นจะส่งผลทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่เสื่อมโทรมและเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว
 
การเปิดพื้นที่บ้านฮวกเป็น “ปาย 2” จึงเป็นโอกาสดีที่คนบ้านฮวกจะได้หันกลับมาทบทวนสิ่งที่จะเกิดขึ้นทุกแง่มุมทั้งบวกและลบ พร้อมกับพิจารณาโอกาสของชุมชนต่อไปในอนาคตว่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนนั้น ส่งผลดีต่อชุมชนในระยะยาวจริงหรือไม่ ชุมชนจะจัดการอย่างไรต่อไป
 
เพราะในภาพรวมเราไม่สามารถแยกการพัฒนาการท่องเที่ยวออกจากการพัฒนาด้านอื่นๆ ของชุมชนได้ หากการพัฒนาขั้นพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สาธารณสุข คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่มั่นคงเรียบง่าย วัฒนธรรมที่ดีงาม น้ำใจไมตรีและรอยยิ้มจากใจคนไทยด้วยกัน ยังถูกละเลยเพิกเฉย การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่หลายคนคิดว่าเป็นทางรอดของความเป็นไทยก็คงไม่อาจจะถึงฝั่งฝันได้
 
นอกจากบ้านฮวกแล้ว พะเยายังมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นต้นทุนดั่งเดิมอีกหลายแห่ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดทำหนังสือ “12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน” โปรโมทปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ถูกคัดสรรว่าสวยที่สุด น่าดูที่สุด ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปสัมผัส โดยมีแนวคิดมาจากการได้ไปชื่นชมแหล่งท่องเที่ยวในตำแหน่งและช่วงเวลาที่สวยที่สุด
 
ได้มีการคัดเลือกการเวียนเทียนวัดติโลการามกลางกว๊านพะเยา เป็นแหล่งท่องเที่ยวปรากฏอยู่ในปฏิทินที่เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาดู
 
ประเพณีลอยกระทงที่เพิ่งพ้นผ่าน ภาพความงดงามของกว๊านพะเยาและจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาเยือนปรากฏตามสื่อมวลชน เป็นภาพน่าประทับใจไม่น้อย
 
พะเยามี “เรื่องราว” พญานาคกลางกว๊าน บริเวณท่าเรือวัดติโลกอารามริมกว๊านพะเยามีรูปปั้นพญานาคธุมะสขี (ในตำนานเรียกจาตุ๊มะสักขี) เป็นรูปเหมือนองค์เทพนั่งบนแท่นบัลลังก์ มีนาค 5 หัว แผ่พังพานล้อมองค์เทพ ตามตำนานเล่าว่าพญานาคตนนี้ได้นำเอาทองคำจากนาคพิภพมามอบให้สองตายายเป็นผู้ก่อสร้าง “พระเจ้าตนหลวง” และยังถือว่าเป็นอารักษ์องค์หนึ่งที่รักษาเมืองพะเยา
 
ถึงตอนนี้ ผมแม่แน่ใจว่า สำหรับนักธุรกิจที่ดิน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พ่อค้าหัวใสทั้งหลาย “เรื่องราว” ของปายที่แม่ฮ่องสอนกับปาย 2 ที่พะเยา เรื่องไหนจะชวนน้ำลายไหลมากกว่ากัน
 
 
อ้างอิง
(1) องอาจ เดชา , "ปาย" เปลี่ยนไป , http://www.prachatai.com/journal/2006/12/11039?ref=nf
(2) สุกัญญา สินถิรศักดิ์ , ฤา-ปาย-ขาลง, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 
(3) จิตศักดิ์ พุฒจร ,การจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชน ,สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net