Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เผยแพร่ครั้งแรกที่ เว็บไซต์นิติราษฎร์

ตุลาการภิวัตน์ในความหมายที่ให้ศาลแผ่ขยาย บทบาทมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๔๙ ผู้ที่นำเสนอความคิดนี้ได้พยายามนำเอาหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารโดยองค์กรตุลาการอันเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของการปกครอง ในนิติรัฐมาอธิบายสนับสนุนบทบาทของศาลในการตัดสินคดีสำคัญ ๆ ซึ่งกระทบกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อันที่จริงแล้ว การที่องค์กรตุลาการทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารโดย เกณฑ์ในทาง “กฎหมาย” โดยตระหนักรู้ถึงขอบเขตแห่งอำนาจของตน ตระหนักรู้ถึงภารกิจและความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยของตนย่อมไม่ใช่เรื่อง ประหลาด การตีความกฎหมายไปในทางสร้างสรรค์ สนับสนุนสิทธิเสรีภาพของราษฎร การตีความกฎหมายให้คุณค่าต่าง ๆ ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญอันเป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยปรากฏขึ้น เป็นจริงย่อมเป็นสิ่งที่วิญญูชนได้แต่สนับสนุน

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่า ตุลาการภิวัตน์ (หรือที่บางท่านเรียกว่า ตลก.ภิวัตน์) ในประเทศไทยก็คือ...

การตัดสินคดีหลายคดีในช่วงระยะเวลานับ ตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เรื่อยมาจนกระทั่งหลังการรัฐประหาร ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เป็นการตัดสินคดีที่องค์กรตุลาการ (ผู้พิพากษา ตุลาการ) เข้าทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรือตรวจสอบบรรดาบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในทางการเมืองโดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ที่ถูกต้องเป็นธรรมจริงหรือไม่ การกล่าวอ้างสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการให้คุณค่า ในถ้อยคำดังกล่าวด้วยว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นตัวแทนของคุณธรรมความดีงามทั้งปวง (ดังที่ภิกษุบางรูปเปรียบเทียบตุลาการภิวัตน์ว่าคือธรรมาธิปไตย) ในที่สุดแล้วจะมีผลเป็นการปิดปากผู้คนไม่ให้ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์การใช้ อำนาจตุลาการซึ่งแสดงออกในคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลหรือไม่ ผู้ที่เสนอหรือสนับสนุนกระแสความคิดเรื่องตุลาการภิวัตน์ในบริบทของการ ต่อสู้ทางการเมืองที่มีขอบข่ายกว้างขวาง ครอบคลุมไปในทุกอณูของสังคมดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้แน่ ใจได้อย่างไรว่าการเรียกร้องให้ศาลขยายบทบาทออกไปเพื่อตอบสนองความต้องการ ทางการเมืองของตนนั้นจะไม่ทำให้ศาลใช้โอกาสนี้ปลดปล่อยตัวเองให้พ้นจากความ ผูกพันต่อกฎหมายและความยุติธรรมไปด้วย และในที่สุดแล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าตุลาการภิวัตน์ไม่ใช่เสื้อคลุมที่สวม ทับการบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

ในระบบกฎหมายไทย ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติความผิดฐานบิดเบือนหรือบิดผันการใช้อำนาจ ตุลาการ (ตลอดจนความผิดฐานบิดเบือนกฎหมาย) เอาไว้ การบิดเบือนหรือการบิดผันการใช้อำนาจตุลาการ คือ การที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการใช้หรือตีความกฎหมายไปในทางที่ผิดโดยเจตนา พิพากษาคดีไปในทางให้ประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือให้ร้ายแก่คู่ ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การใช้หรือการตีความกฎหมายไปทางที่ผิดอย่างประสงค์จงใจดังกล่าวถือว่าเป็น อาชญากรรมอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามพึงเข้าใจว่าการที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการใช้หรือตีความกฎหมาย อย่างไม่ถูกต้องหรือยากที่คล้อยตามได้ยังไม่พอที่จะถือว่าผู้พิพากษาหรือ ตุลาการผู้นั้นบิดเบือนกฎหมาย มิฉะนั้นแล้วย่อมจะกระทบกับความเป็นอิสระของตุลาการ และอาจจะทำให้เกิดการฟ้องร้องผู้พิพากษาหรือตุลาการโดยง่ายอันจะทำให้ในที่ สุดแล้ว บรรดาคดีความต่าง ๆ จะหาจุดสิ้นสุดไม่ได้

การวินิจฉัยว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการใช้อำนาจ ตุลาการอย่างบิดเบือนในทางที่เป็นประโยชน์หรือเป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก แต่อย่างใดก็ตามการพิเคราะห์ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ตลอดจนเหตุผลที่ปรากฏในคำพิพากษาก็สามารถทำให้เรารู้ได้ว่าผู้พิพากษาหรือ ตุลาการผู้นั้นบิดเบือนกฎหมายหรือใช้อำนาจตุลาการอย่างบิดเบือนหรือไม่ กรณีที่ปรากฏในต่างประเทศ เช่น ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาเพื่อ ประโยชน์แก่บุตรสาวของตนทั้ง ๆ ที่คดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองและผู้พิพากษาผู้นั้นไม่สามารถ ตัดสินคดีได้ เนื่องจากถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี

ในทรรศนะของผู้เขียน การบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผู้พิพากษาหรือ ตุลาการถูกสั่งการให้พิจารณาพิพากษาคดีไปทางใดทางหนึ่ง และผู้พิพากษาหรือตุลาการยอมดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปตามนั้น ทั้ง ๆ ที่การปรับบทกฎหมายหรือการตีความกฎหมายเช่นนั้นเห็นได้ชัดว่าผิดพลาดอย่าง ชัดแจ้ง หรือผู้พิพากษาตุลาการมีอคติ เกิดความเกลียดชังคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอคติหรือความเกลียดชังดังกล่าวอาจเป็นมาจากอิทธิพลหรือกระแสความรู้สึก นึกคิดของคนในสังคม หรืออิทธิพลจากสื่อมวลชนก็ได้ ภายใต้อิทธิพลหรือกระแสดังกล่าวดังกล่าวนั้น ผู้พิพากษาหรือตุลาการจึงดำเนินกระบวนพิจารณาโดยคัดเลือกเฉพาะข้อเท็จจริง หรือพยานหลักฐานที่สอดคล้องกับผลของคดีที่ตนต้องการเข้าสู่การพิจารณา ตัดข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานตลอดจนพยานบุคคลที่จะทำให้เห็นความจริงของคดี ออกไปโดยอำเภอใจ และในที่สุดแล้วจึงพิพากษาคดีไปตามที่ตนต้องการนั้น

ปัญหาหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอในการ วินิจฉัยว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการหรือไม่ ก็คือกรณีที่การดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีนั้นกระทำในรูปขององค์คณะ และปรากฏว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการบางท่านในองค์คณะนั้นได้ออกเสียงไปในทาง คัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการฝ่ายข้างมากที่บิดเบือนกฎหมายหรือบิดเบือนการ ใช้อำนาจตุลาการ แต่ในที่สุดแล้วก็ร่วมลงชื่อในคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยนั้นด้วย ในกรณีเช่นนี้จะถือว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการผู้นั้นบิดเบือนการใช้อำนาจ ตุลาการด้วยหรือไม่ เรื่องนี้มีความเห็นในทางตำราแตกต่างกันออกเป็นสองแนว แนวแรกเห็นว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ออกเสียงคัดค้านผู้พิพากษาหรือ ตุลาการฝ่ายข้างมากที่บิดเบือนกฎหมายหรือบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการไม่มี ความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายและไม่ถือว่าเป็นผู้สนับสนุน ถึงแม้ว่าจะร่วมลงชื่อเป็นองค์คณะด้วยก็ตาม เพราะได้ออกเสียงคัดค้านไปแล้ว อีกแนวหนึ่งเห็นว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการฝ่ายข้างน้อยดังกล่าวกระทำความผิด ฐานเป็นผู้สนับสนุนการบิดเบือนกฎหมาย แม้ว่าจะออกเสียงคัดค้านฝ่ายข้างมากไว้ก็ตาม เนื่องจากหากผู้พิพากษาหรือตุลาการฝ่ายข้างน้อยไม่ร่วมลงชื่อในคำพิพากษา หรือคำวินิจฉัยด้วยแล้ว คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยที่บิดเบือนกฎหมายย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับความเห็นหลัง เพราะผู้พิพากษาหรือตุลาการในองค์คณะที่เห็นการบิดเบือนกฎหมายหรือบิดเบือน การใช้อำนาจตุลาการซึ่งเป็นการกระทำความผิด ย่อมต้องมีหน้าที่ต้องปฏิเสธการกระทำความผิดนั้น (ส่วนประเด็นที่ว่าผู้พิพากษาตุลาการฝ่ายข้างน้อยดังกล่าวสมควรถูกลงโทษหรือ ไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง) อย่างไรก็ตามความผิดฐานนี้ไม่ได้รับการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาของไทย และหากจะมีการบัญญัติเรื่องดังกล่าวขึ้นในอนาคต ก็ควรที่จะบัญญัติประเด็นที่กล่าวถึงนี้เสียให้ชัดเจน

ควรตั้งไว้เป็นข้อสังเกตด้วยว่าการป้องกันไม่ ให้ผู้พิพากษาตุลาการบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการนั้น ไม่ได้อยู่ที่การกำหนดความผิดฐานดังกล่าวไว้ แต่อยู่ที่การจัดการปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตยและการจัดโครงสร้าง องค์กรตุลาการที่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตยเป็นสำคัญ การกำหนดความผิดฐานดังกล่าวย่อมจะไร้ประโยชน์ หากผู้พิพากษาตุลาการไม่ได้รับการปลูกฝังกล่อมเกลาให้เห็นในคุณค่าของการ ปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากยังปรากฏว่าการจ่ายสำนวนเข้าองค์คณะนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้า หากปรากฏว่ากลไกการคัดเลือกผู้พิพากษาตุลาการนั้นยังเป็นระบบปิด ฯลฯ ด้วยเหตุนี้การอภิปรายถึงความชอบธรรมทางประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการจึงเป็น ความจำเป็นอย่างยิ่งในเวลานี้

การแสดงออกซึ่งอำนาจตุลาการ ไม่ว่าจะในลักษณะของการเป็นองค์กรคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ธรรมนูญ (ศาลรัฐธรรมนูญ) องค์กรตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองหรือการคุ้มครองสิทธิ ของปัจเจกบุคคลจากการล่วงละเมิดโดยอำนาจปกครอง (ศาลปกครอง) หรือองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่น (ศาลยุติธรรม) ผู้พิพากษาหรือตุลาการไม่อาจแสดงออกซึ่งอำนาจตุลาการตามอำเภอใจเพื่อตอบสนอง ข้อเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ทั้งหลายทั้งปวงได้ ไม่ว่ากลุ่มผลประโยชน์นั้นจะยิ่งใหญ่สักเพียงใดก็ตาม การใช้อำนาจตุลาการพิจารณาพิพากษาคดี ผู้พิพากษาตุลาการจะต้องผูกพันตนต่อกฎหมายและความยุติธรรม และต้องสำนึกและตระหนักอยู่เสมอว่าอำนาจตุลาการที่ตนกำลังใช้อยู่นั้น โดยเนื้อแท้แล้วเป็นของประชาชน

หากข้อเสนอที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ หน้าฉากคือข้อเรียกร้องให้ศาลแผ่ขยายบทบาทเข้าไปแก้ปัญหาทางการเมือง โดยอ้างอิงหลักการจากประเทศที่เป็นนิติรัฐ หลังฉากคือข้อเรียกร้องให้ศาลใช้อำนาจทางกฎหมายเข้าจัดการกับปรปักษ์ทางการ เมืองของตนโดยอ้างหลักกฎหมายจากต่างประเทศอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ และไม่ได้คำนึงถึงลักษณะโครงสร้างของอำนาจตุลาการของไทยว่ามีพัฒนาการมา อย่างไร ตลอดจนไม่ได้คำนึงถึงโครงข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองโดย เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองในระดับบนแล้ว คำว่า “ตุลาการภิวัตน์” คงมีความหมายเท่ากับ “การบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการ” ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายถือว่าเป็นความผิดอาญาเท่านั้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net