นักข่าวพลเมือง: เหมืองทองวังสะพุง เมื่อผู้อารักษ์เป็นผู้บุกรุก?

รายงานจากพื้นที่ เมื่อ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น 8 คนและผู้นำชุมชนอีก 1 ถูกฟ้องข้อหาบุกรุกโดยบริษัทเหมืองทอง เนื่องจากไปสำรวจบ่อน้ำและบ่อเก็บกักแร่หลังพบแหล่งน้ำของชุมชนขุ่นข้นผิดปกติ

000

ผ่านวันที่ 16 มีนาคม 2553 มาได้สองเดือน นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น 8 คน และพ่อสมัย ภักดิ์มี ส.อบต.เขาหลวง แกนนำกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด เพิ่งทราบแน่ชัดว่าพวกเขาถูกฟ้องดำเนินคดีข้อหาบุกรุกจาก บริษัท ทุ่งคำ จำกัด

ย้อนกลับไปก่อนวันเกิดเหตุ 18 ปี เมื่อ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้ามาเจาะสำรวจและกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านในเขตตำบลเขาหลวง ก่อนจะเริ่มทำเหมืองแร่ทองคำในเวลาต่อมา ตอนนั้นบ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ยังคงสงบสุขเหมือนที่เป็นมากว่าร้อยปี ด้วยวิถีชีวิตในหมู่บ้านท่ามกลางภูเขาสลับซับซ้อน บนพื้นที่ราบมีนาข้าวเขียวขจี มีสวนยางพารา ปลูกถั่วเหลือง ลูกเดือย งา น้ำท่าอุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำฮวย ห้วยผุก ห้วยลิ้นควาย ห้วยดินดำ ห้วยเหล็ก เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ 5 สายที่ไหลผ่านพื้นที่ มีพื้นที่ในบ้านนาหนองบงเป็นทั้งแหล่งต้นน้ำ เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ อยู่ในเขตป่าสงวน มีป่าไม้ ป่าไผ่ รวมถึงพืชสมุนไพร ที่ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านดำรงอยู่ด้วยความมั่งคงทางอาหาร และทรัพยากรที่ดูแลใช้สอยมาอย่างยั่งยืนของชาวบ้าน 13 หมู่บ้าน ในตำบลเขาหลวง

แผนที่ผลกระทบ

เมื่อเหมืองทองเริ่มเปิดเหมืองขุดแร่ บนพื้นที่ 1,160 ไร่ ในปี 2549 ผลกระทบต่างๆ เริ่มปรากฎในหมู่บ้านรอบๆ เหมือง 6 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยผุก หมู่ 1 บ้านกกสะทอน หมู่ 2 บ้านนาหนองบง หมู่ 3 บ้านแก่งหิน หมู่ 4 บ้านโนนผาพุงพัฒนา หมู่ 12 และบ้านภูทับฟ้าพัฒนา

“เมื่อก่อนชาวบ้านตามบ้านไร่บ้านนาไม่มีเวลาหาความรู้ มีเหมืองมาตั้งในพื้นที่ก็คิดว่าไม่ใช่ปัญหาของเรา ผู้นำไม่เอาความรู้มาขยายให้พี่น้อง สิทธิของเราไม่ได้รับการดูแลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราถูกหลอกด้วยคนของเราเอง โดยบอกว่าชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ดังนั้นให้รับค่าชดเชยจากบริษัท 2,000 บาทต่อไร่ ทั้งๆ ที่ที่ดินของเราอยู่ใกล้เทศบาลแค่ไม่กี่กิโล เราถูกหลอกโดยเจ้าหน้าที่รัฐว่าเราไม่มีสิทธิในที่ดินของเราเอง” สำรวย ทองจันทร์ เครือข่ายอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ จ.เลย เล่าเหตุการณ์เมื่อหลายปีก่อน

1.	เหมืองทองคำของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด พื้นที่พื้นที่ทำเหมือง 1,160 ไร่ กำลังขอประทานบัตรเพิ่ม 13,000 ไร่

เหมืองทองคำของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด พื้นที่พื้นที่ทำเหมือง 1,160 ไร่ กำลังขอประทานบัตรเพิ่ม 13,000 ไร่

พ่อสมัยเป็นอีกคนหนึ่งในชาวบ้านรุ่นแรกที่เฝ้ามองปัญหาที่ตามมาด้วยความเจ็บปวด ชาวบ้านต้องเผชิญกับฝุ่นละอองจากการขนสินแร่ เสียงและแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดหิน และการประกอบกิจการในโรงงาน ซึ่งส่งเสียงดังรวบกวนทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน

ความเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติขยายตัวออกอย่างรวดเร็ว มีการผังทลายหน้าดินลงสู่พื้นที่การเกษตร ลำน้ำธรรมชาติปนเปื้อนโลหะหนัก ปลาตาย ในพื้นที่ใกล้ๆ บ่อเก็บกากแร่ในเขตหมู่บ้านกกสะทอนข้าวในนาของชาวบ้านตาย ชาวบ้าน 54 คน เกิดผดผื่นคัน และตรวจพบสารไซยาไนด์ในเลือด น้ำฝนไม่สะอาด บริโภคไม่ได้เหมือนเดิม ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ ชุมชนแตกแยกด้วยการชักนำและผลประโยชน์ที่โปรยหว่านลงในพื้นที่ การทำเหมืองทองได้ทำลายสุขภาพ เศรษฐกิจ ทรัพยากร และความสงบสุขของชาวบ้าน 3,625 คนใน 6 หมู่บ้าน

พ่อสมัย เล่าว่า ที่ผ่านมาชุมชนได้ติดต่อทั้งหน่วยงานราชการ และนักวิชาการหลายแห่งให้เข้ามาตรวจสอบผลกระทบจากการทำเหมือง โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับบ่อเก็บกากแร่ ซึ่งโรงงานสร้างขึ้นขวางทางต้นน้ำธรรมชาติ โดยผลสำรวจคุณภาพน้ำของกองวิเคราะห์น้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาลดาล พบสารหนู แคดเมียม และแมงกานิส มากผิดปกติในลำห้วย โดยเฉพาะในแม่น้ำฮวยซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่นำไปใช้ทำน้ำประปาของตำบล และนำไปสู่การประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข ห้ามใช้น้ำดื่มน้ำกิน ห้ามกินปลา หอยขม ในล้ำห้วย ในกุมภาพันธ์ – มีนาคม ปี 2551

แต่ความพยายามทั้งหลายของชาวบ้านก็สูญเปล่า ทุกข์ร้อนของชาวบ้านยังคงไม่ได้รับการแก้ไข

เมื่อพึ่งใครไม่ได้ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ชื่อ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ในปี 2550 และเลือกตั้งให้ พ่อสมัย เป็นประธานกลุ่ม โดยสมาชิกทุกคนมีบทบาทและภาระหน้าที่ในการเฝ้าระวังและตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติบริเวณรอบเหมือง รวมถึงการเฝ้าระวังเตือนภัยเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน

การดำเนินงานของกลุ่มชาวบ้านได้กระทำร่วมกันเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง จนวันที่ 16 มีนาคม 2553 วันเกิดเหตุ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 8 คน ได้เดินทางมายังบ้านนาหนองบง เพื่อสำรวจพื้นที่และศึกษาระบบนิเวศชุมชน สำหรับการจัดกิจกรรมค่าย ชื่อ “โครงการศึกษาระบบนิเวศบนเส้นทางการพัฒนาอีสาน” ของกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) ที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายน

พวกเขาได้รับฟังจากปากคำของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทอง และรับรู้ถึงสถานการณ์ที่ชาวบ้านเพิ่งตรวจพบบ่อน้ำในที่นาที่อยู่ติดกับเหมืองทองคำมีความขุ่นข้นผิดปกติ และกังวลว่าแหล่งน้ำจะมีสารพิษจากการทำเหมือง

ด้วยความสนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ธนดล คงเกษม และเพื่อนนักศึกษา ขอให้พ่อสมัยพาไปสำรวจพื้นที่ โดยมีเยาวชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ไปร่วมสำรวจด้วย

ธนดล เล่าว่า กลุ่มสำรวจที่มีพ่อสมัยเป็นผู้นำทางได้เดินศึกษาระบบนิเวศรอบๆ พื้นที่ สำรวจบ่อน้ำ และบ่อเก็บกากแร่ โดยไม่รู้ว่าอาณาเขตของเหมืองแร่อยู่ตรงไหนเพราะไม่มีรั้วหรือป้ายบอก ในขณะที่พวกเขากำลังดูบ่อเก็บกากแร่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทมาพบ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ของเหมือง 2 คนเข้ามาเจรจากับพ่อสมัย โดยในระหว่างการพูดคุยเจ้าหน้าของเหมืองได้ถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวระหว่างการพูดคุยไว้ด้วย

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทได้เข้ามาสอบถามนักศึกษา ม.ขอนแก่น และเยาวชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด

หลังเหตุการณ์นั้น บริษัท ทุ่งคำ ได้ดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกกับพ่อสมัย รวมถึงนักศึกษา 8 คนที่ลงสำรวจพื้นที่ แต่หลังจากการต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองมายาวนานถูกข่มขู่ใส่ร้ายมาหลายครั้ง ข้อกล่าวหาทางกฎหมายนี้สำหรับพ่อสมัยคงไม่ได้แปลกใจเท่าไหร่นัก

แต่กับ ธนดล และเพื่อน ในฐานะนักศึกษานิติศาสตร์ที่ได้เห็นพ่อสมัยและชาวบ้านผู้ทำหน้าที่ปกป้องทรัพยากร และเฝ้าระวังตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติบริเวณรอบเหมือง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ปมใหญ่ที่เกิดขึ้นในใจ คือ ชาวบ้านเหล่านี้กับกฎหมายกำลังกลายเป็นปฎิปักษ์กันไปได้อย่างไร...

“เราลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่และระบบนิเวศบริเวณพื้นที่นั้น โดยพ่อสมัยได้พาลงสำรวจ พอเกิดเรื่องขึ้น ความรู้สึกของผมตอนนั้นคือ นักศึกษาลงไปศึกษาในถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเองไม่ได้หรือ แล้วอีกอย่างพ่อสมัยก็เป็นสมาชิกอบต.ที่ตำบลนั้นและมีลูกบ้านมาแจ้งว่าเกิดสิ่งผิดปกติที่บริเวณนั้น จะไปตรวจไม่ได้เลยหรือ และที่สำคัญที่สนใจมากก็คือ รัฐปล่อยให้ใครก็ไม่รู้มาทำลายทรัพยากรธรรมชาติได้ง่ายๆ เลยเหรอ แล้วในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่เขียนไว้ วาดไว้ ศักดิ์สิทธิจริงหรือ ใช้ได้จริงหรือ ทำไมชาวบ้านถึงทำไม่ได้ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ” ธนดล กล่าวด้วยความไม่เข้าใจ

กลุ่มนักศึกษาและเยาวชนกำลังสำรวจพื้นที่

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 เหล่านิสิต นักศึกษา กลุ่มดาวดิน พร้อมจะยืนหยัดต่อสู้ร่วมกับพ่อสมัยและชาวบ้าน พวกเขาออกแถลงการณ์ ขอให้ บริษัท ทุ่งคำ ยุติการดำเนินคดีกับพ่อสมัย รวมทั้งเยาวชน นักศึกษา และให้หยุดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการยกเลิกการทำเหมืองแร่ทองคำ

เหล่านักศึกษา 8 คน และเพื่อนได้แสดงจุดยืนว่านี่คือสิ่งที่พวกเขาทำได้ในเบื้องต้น แต่รัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิอันชอบธรรมในการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง ตามที่พวกเขาได้เรียนมาจะเป็นสาระสำคัญในการดำเนินคดีจริงหรือไม่ ...พวกเขายังมีคำถาม

สำหรับพ่อสมัยไม่ว่าจะต้องต่อสู้อีกมากน้อยแค่ไหนยังคงยืนยันเจตนารมณ์ของชาวบ้านว่า ‘ไม่เอาเหมือง’ ยิ่งเมื่อรู้ว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังขอประทานบัตรขยายพื้นที่ทำเหมืองเพิ่มขึ้นอีก 13,000 ไร่ ที่ภูเหล็ก ใกล้ๆ กับโรงถลุงเหล็กภูทับฟ้า

“เราอยากให้ทุกคนรับรู้ว่าการสร้างเหมืองมีผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างไร มันไม่สมควรที่จะมีในประเทศไทยเลย ทรัพยากรธรรมชาติควรจะให้ชุมชนนั้นๆ เป็นคนกำหนดขึ้นมาว่าจะใช้อย่างไร”

ต่อกรณีที่กลายเป็นผู้ต้องหา พ่อสมัยกล่าวว่า “พ่อมีความรู้สึกว่า ถูกคนมีอำนาจใช้อำนาจข่มเหงรังแกชาวบ้าน แต่ไม่ว่าอย่างไรในส่วนงานของกลุ่มเราก็ทำงานต่อไป เพราะคืองานส่วนรวม กระบวนการต่อสู้ข้างหน้าเราจะเชื่อมกับเครือข่ายผู้รับผลกระทบจากเหมืองทั่วประเทศ ต้องกระจายปัญหาการทำเหมืองไปสู่สาธารณะว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนการต่อสู้เรื่องคดีก็มีเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิเข้ามาช่วยเหลือในการจัดทางรูปคดี”

ที่วังสะพุงวันนี้ และกรณีเดียวกันในอีกหลายพื้นที่ สำหรับเหล่าชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเมือง หรือแม้แต่นักศึกษานิติศาสตร์ที่เพิ่งถูกฟ้องข้อหาบุกรุกจากกรณีของการเป็นผู้ตรวจตรารักษาทรัพยากร พวกเขาเกิดความสงสัย ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะระบุไว้ชัดเจนตามมาตรา 66, 67 และมาตรา 85 ถึงสิทธิของชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรในแผ่นดิน แต่คงจะเป็นจริงไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

หากผู้มีอำนาจ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และผู้ถือกฎหมายอยู่ในมือ ไม่เคยมีความเข้าใจเรื่อง “สิทธิชุมชน” และความแตกต่างระหว่าง “ผู้ปกป้องทรัพยากร” กับ “ผู้บุกรุก”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท