นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย : 8 ความคาดหวังจากผลศึกษาปกครองชายแดนใต้

สัมมนาใหญ่ นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ความฝันที่จับต้องได้? นำเสนอผลการศึกษา การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ค้นพบ8ความคาดหวังจากผลศึกษาการปกครองชายแดนใต้

ในที่สุดความพยายามครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของภาคประชาสังคมในชายแดนใต้ ในการแสวงหาแนวทางการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นภายใต้การนำของ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เมื่อกำเนิดเป็นร่างผลการศึกษาเรื่องนี้ขึ้นมาแล้ว ซึ่งเป็นความพยายามในการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน

จากเวทีสาธารณะในพื้นที่ 47 เวที มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,370 คน ทั้งคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูและคนไทยพุทธ ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ถึงเดือนมิถุนายน 2553 โดยมีโจทย์สำคัญ 2 ข้อ คือ “ประชาชนในท้องถิ่นสามารถมีอานาจอย่างแท้จริงในการจัดการสังคมของตัวเองแล้วหรือไม่อย่างไร?” และ “จะทำอย่างไรให้ประชาชนในพื้นที่มีอำนาจทางการเมืองในระดับที่จะสามารถกำหนดและจัดการเรื่องของท้องถิ่นตัวเองได้?” ภายใต้รัฐธรรมนูญ

คำตอบที่ค้นพบ ในร่างผลการศึกษาเล่มนี้ คือ “ชาวบ้านทราบดีว่าตนเองต้องการอะไร และอะไรที่เหมาะสมกับตนเอง” เมื่อเป็นเช่นนี้ การปกครองท้องถิ่นที่เหมาะสมจึงควรเป็นการปกครองที่เอื้อให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ มีอำนาจในการดูแลจัดการเรื่องของตัวเองอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ หากไม่ต้องการให้ประชาชนรู้สึกอึดอัดใจจนส่วนหนึ่งเกิดความรู้สึกว่าไม่ต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทย รัฐต้อง “กระจายอำนาจเพื่อรักษาประเทศไทย

ร่างผลการศึกษาเล่มนี้ จัดทำโดยเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ 23 องค์กรและเครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น โดยมีองค์กรร่วมสนับสนุนด้านวิชาการ ได้แก่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง และสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

โดยเป็น ร่างผลการศึกษา ชื่อ “การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย : ความพยายามในการแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนจากมุมมองของคนพื้นที่” จะถูกนำมาเสนอใน การสัมมนา หัวข้อ “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความฝันที่จับต้องได้?”  ในวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2553 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

8 ความคาดหวังพื้นฐานต่อการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในร่างรายงานผลการศึกษา หน้า 42 – 43 ระบุ ถึงความคาดหวังพื้นฐานต่อการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การเมืองการปกครองที่จะมีการพัฒนาปรับปรุงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังพื้นฐานของประชาชนส่วนใหญ่ได้ 8 ข้อดังนี้

1. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามบังคับแห่งมาตรา 1 ที่กำหนดให้ “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”

2. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องเป็นการปกครองที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมทางการเมืองในลักษณะที่ทุกฝ่ายเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีที่ยืนและเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย (Inclusiveness) รับฟังเสียงส่วนใหญ่โดยไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย คำนึงถึงอัตลักษณ์ที่แตกต่าง รวมทั้งมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพที่เป็นรูปธรรมแก่คนไทยพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่

3. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นคนในพื้นที่ และมีจานวนข้าราชการไทยพุทธและไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสัดส่วนที่สอดคล้องกับจำนวนประชากร ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผู้บริหารและข้าราชการที่มีสานึกรักท้องถิ่น และมีความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความต้องการของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

4. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีกลไกที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการริเริ่ม เสนอแนะ และตัดสินใจในเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการของท้องถิ่น รวมทั้งกากับติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้บริหารท้องถิ่นได้ในระดับที่ทาให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองได้มีอำนาจในการจัดการชีวิตของตัวเองดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 281 ของรัฐธรรมนูญที่เน้น “หลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น”

5. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีระบบการกลั่นกรองผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่สามารถลดการแข่งขันแตกแยกในชุมชนและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในระดับหนึ่งว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งจานวนหนึ่งเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมและความรู้ความสามารถ เหมาะสมกับการเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง

6. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องใช้สองภาษา คือ ภาษาไทยและภาษามลายูปัตตานีควบคู่กันไปบนสถานที่และป้ายต่างๆ ของทางราชการ

7. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีระบบการศึกษาที่อยู่ในมาตรฐานกลางของกระทรวงศึกษาธิการ และในขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับความต้องการและอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วย โดยใช้หลักสูตรการศึกษาที่บูรณาการระหว่างสายสามัญและสายศาสนา รวมทั้งมีการเรียนการสอนวิชาภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐ ในลักษณะที่ผู้ปกครองจากทุกกลุ่มวัฒนธรรมต่างมีความสบายใจและมั่นใจที่จะส่งบุตรหลานของตนเข้ามาศึกษาเล่าเรียน

8. การปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรต้องมีการบังคับใช้ระบบกฎหมายอิสลามกับคนมุสลิมในพื้นที่ทั้งในแง่ของบทบัญญัติ การวินิจฉัยตัดสิน และการมีสภาพบังคับ โดยเน้นไปที่กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตโดยตรงมากที่สุด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท