Skip to main content
sharethis
 
เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ มูลนิธิหนังไทย โครงการสถาบันหนังไทยของหอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน) สมาคมผู้กำกับแห่งประเทศไทย เครือข่ายคนดูหนังแห่งประเทศไทย บริษัท ป็อบพิกเจอร์ และนิตยสารไปโอสโคป ร่วมกันจัดงานเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง “พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ กับรัฐธรรมนูญไทย”เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์
 
ตามกำหนดเดิมผู้จัดงานจะฉายภาพยนตร์เรื่อง “Insects in the backyard” ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกจัดว่าอยู่ในเรต “ห” หรือห้ามฉายในประเทศ ในกิจกรรมฉายหนังและเสวนาเรื่องกฎหมายภาพยนตร์กับรัฐธรรมนูญ แต่ก่อนการจัดงานหนึ่งวัน กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีจดหมายถึงผู้จัดงานเสวนาว่า หากฉายภาพยนตร์ที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดีทัศน์มีคำสั่งไม่อนุญาตจะมีโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
 
ทั้งนี้ Insects in the Backyard เป็นภาพยนตร์ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และมีประเด็นเกี่ยวกับเพศที่สาม ถูกคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์สั่งห้ามเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา
 
ธัญญ์วารินเศร้า ฌาปนกิจศพ “Insects in the backyard”หนังที่เปรียบเหมือนลูก
จากจดหมายของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รูปแบบกิจกรรมจึงปรับขึ้นใหม่ เริ่มต้นขึ้นด้วยงานฌาปนกิจภาพยนตร์เรื่อง “Insectsin the backyard” โดย นายทรงยศ สุขมากอนันต์ นายกสมาคมผู้กำกับไทย เป็นผู้นำวางดอกไม้จันทน์
 
ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับและนักแสดงนำ กล่าวไว้อาลัยเปรียบภาพยนตร์ดังกล่าวว่า “เหมือนลูกที่ใช้เวลาฟูมฟักมาถึงสองปีด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่เมื่อคลอดออกมากลับต้องถูกกระทืบตายต่อหน้าต่อตา”ธัญญ์วารินกล่าวและฝากถึงกระทรวงวัฒนธรรมให้กลับไปทำความเข้าใจคำว่า “วัฒนธรรม” ใหม่ พร้อมยืนยันจะเดินหน้าทำหนังต่อไป
 
นอกจากนี้ ในงานนำภาพยนตร์มาฉายแทนสองเรื่อง เรื่องแรกเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนวชวนเชื่อที่จัดทำโดยรัฐบาลสมัยนั้น และเรื่องที่สอง “ทองปาน” ภาพยนตร์ต้องห้ามที่มีเนื้อหากล่าวถึงเหตุการณ์หลัง 14 ตุลาคม 2516
 
 
 
นักวิชาการท้วง มีเรตห้ามฉาย อาจขัดรัฐธรรมนูญ
จากนั้น ในงานเสวนาเรื่องพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เราต้องพิจารณาว่าพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีเรตห้ามฉายอันขัดกับสาระสำคัญของมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งประกอบไปสองสิทธิที่ควบคู่กันเสมอ คือ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร ประชาชนมีสิทธิเลือกที่จะดูหรือไม่ซึ่งเป็นสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร รัฐมีหน้าที่เพียงจำแนกแยกแยะว่าควรอยู่ในเรตใดเท่านั้นไม่มีสิทธิที่จะปิดกั้นประชาชน
 
ทั้งนี้ หากจะยอมรับให้มีเรตห้ามฉายได้ จะต้องพิจารณาว่าอะไรคือศีลธรรมอันดีของประชาชน และภาพยนตร์นั้นต้องบ่มเพาะศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เนื่องจากภาพยนตร์ต่างจากสื่ออื่น โดยเป็นการสะท้อนมุมมองของคนสร้าง ไม่จำเป็นต้องพูดถึงข้อเท็จจริงเสมอไป รวมทั้งคนดูก็มีเสรีภาพสูงที่เลือกดูหรือไม่ดูหนังเรื่องใด
สาวตรีตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อหาในพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551มีความสับสนเป็นอย่างยิ่ง คือเป็นกฎหมายที่สอดไส้คำสั่งห้ามฉายเอาไว้ในระบบการจัดเรตติ้ง และเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องแก้
 
แนะ Insectsฟ้องศาลปกครองต่อหลังอุทธรณ์คำสั่ง
ด้านเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายนโยบายและแผนงานสภาทนายความ กล่าวว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงประชาชนต้องสามารถกำหนดเจตนารมณ์ที่แท้จริงของตนได้ ไม่ใช่เพียงมีรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะเผด็จการก็มีรัฐธรรมนูญได้เช่นเดียวกัน
 
เขากล่าวว่า กรณีภาพยนตร์เรื่อง Insects in the backyardหากผู้จัดเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่อันไม่ชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต้องเดินหน้าฟ้องร้องศาลปกครองต่อไปหลังการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่
 
นักกฎหมายจากสภาทนายความเห็นว่า สิ่งที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับพ.ร.บ.ฉบับนี้คือ ตัวคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่รัฐเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ต่างจากหลายประเทศที่คณะกรรรมการจะเป็นผู้ที่ประกอบวิชาชีพนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่า คำว่าศีลธรรมที่กำหนดไว้ในกฎหมายมีความหมายว่าอะไร ทั้งนี้ศีลธรรมของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน 
 
นายเจษฎาได้กล่าวถึงกรณีที่คนเก็บขยะถูกจับเนื่องจากเอาซีดีที่ตนเองเก็บได้ไปขายและ กรณีที่พ่อเอาซีดีเก่าของลูกไปขายจนถูกจับเช่นกัน ว่าเกิดจากการที่ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์  พ.ศ. 2551 ได้ทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์กลายเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ฝ่าฝืนได้โดยไม่ต้องมีผู้ร้องเรียน นอกจากนี้ยังมีโทษจำคุกซึ่งเป็นโทษทางอาญาด้วย ในขณะที่เดิมเป็นเพียงความผิดต่อเอกชนเท่านั้น ทั้งนี้กฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ แต่กลับเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมให้สูงขึ้น
 
นายเจษฎากล่าวว่า แม้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ.2551 จะเป็นกฎหมายที่ออกในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งว่ากันว่า แต่ละฉบับใช้เวลาพิจารณาในสภาไม่เกิน 5 นาที แต่เขาก็เห็นด้วยกับการจัดเรตติ้งห้ามฉายตามกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากหากมีกรณีที่รุนแรงมากๆ แล้วรัฐควรมีสิทธิที่จะเซ็นเซอร์ก่อนที่หนังนั้นจะฉายออกไป เพราะหากปล่อยให้หนังฉายออกไปแล้วอาจก่อให้เกิดความเสียหาย และต้องใช้เวลานานกว่าที่จะระงับความเสียหายนั้นได้
 
รัฐต้องทบทวน ยิ่งปิดคนยิ่งอยากรู้
ด้านสุภิญญา กลางณรงค์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็นนั้นเกี่ยวข้องกับความกินดีอยู่ดีของประชาชน เพราะหากผู้คนไม่มีปากมีเสียงแล้วก็ไม่อาจเรียกร้องความเป็นอยู่ที่ดีของตนเองได้ นี้เป็นเหตุผลที่หนังเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่ถูกแบนจะต้องออกมาเรียกร้องสิทธิในการแสดงความคิดเห็น โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทย นั้นดีในระดับหนึ่งเมื่อพิจารณาจากทั้ง สื่อภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีเสรีมากที่สุด และรัฐมีวิธีเลือกปิด ซึ่งอาจกระทบต่อคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้รับผลกระทบจึงไม่รับรู้ แต่การเลือกปิดก็สร้างความเกรงกลัวให้ขยายออกไป ทั้งนี้การปิดกั้นนั้นภาครัฐต้องพิจารณาให้ดีว่า ผลลัพธ์ที่ได้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่อยากจะปิดหูปิดตาประชาชนหรือไม่ เพราะยิ่งปิดยิ่งทำให้คนอยากรู้
 
สุภิญญาเห็นว่า การที่รัฐจะต้องควบคุมสื่อภาพยนตร์เป็นพิเศษก็เพราะว่าภาพยนตร์นั้นเป็นสื่อที่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง เหมือนกับที่มูลนิธิหนังไทยกล่าวไว้ว่า “ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา” เพราะเป็นสื่อที่รวมให้คนมาอยู่ในที่เดียวกัน สามารถดึงสมาธิของคนดูได้ดี และภาพยนตร์เรื่องหนึ่งสามารถสร้างแรงบันดาลใจและอาจเปลี่ยนชีวิตของบางคนไปได้โดยสิ้นเชิง
 
ทางออกของพ.ร.บ.ภาพยนตร์?
สาวตรี สุขศรี กล่าวถึงทางออกของพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551ว่า ควรยกเลิกเรตห้ามฉาย แต่ถ้ายังมีเรตห้ามฉายอยู่ต้องมีการนิยามความหมายของคำว่าศีลธรรมอันดีให้ชัดเจน เนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิตามกฎหมาย
 
ด้านสุภิญญาเห็นเช่นกันว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ต้องเน้นใช้ระบบแบบเรตติ้งจริงๆ ไม่มีการสอดไส้ รวมทั้งการพิจารณาเรตติ้งนั้นต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระ และมีคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ร่วมอยู่ในคณะกรรมการนั้นด้วย
 
ด้านเจษฎาแนะว่าการแก้ไขกฎหมายสามารถทำได้โดยประชาชนร่วมกันลงชื่อหนึ่งหมื่นคนขึ้นไป และหากกฎหมายลูกฉบับใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็สามารถยื่นฟ้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมา การแก้กฎหมายกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นการแก้ให้ตนมีอำนาจมากขึ้นและยิ่งผลักภาระไปให้ประชาชน
 
ที่มา: http://ilaw.or.th/node/636

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net